วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ฮ้านน้ำหม้อ


ฮ้านน้ำหม้อ
     ฮ้านน้ำหม้อ คือ ที่สำหรับวางหม้อน้ำดื่ม พร้อมที่แขวนกระบวย ตัวฮ้านมีลักษณะเป็นชั้นวางมีหลังคาทรงจั่วด้านบน เพื่อป้องกันไม่ให้มีแสงแดดส่องลงมาที่หม้อน้ำ หม้อน้ำเป็นหม้อดินเผาสีอิฐแดงระบายความร้อนได้ดีส่วนใหญ่จะมีตะไคร่สีเขียวเกาะบริเวณรอบๆตัวหม้อ ทำให้น้ำในหม้อมีความเย็นตลอดเวลา ด้านข้างมีที่แขวนกระบวยน้ำที่ทำมาจากกะลามะพร้าว ฮ้านน้ำหม้อส่วนใหญ่จะตั้งอยู่หน้าบ้าน เพื่อไว้บริการผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ด้วยว่าในอดีตนั้นการสัญจรเดินทางนั้น มักจะเดินด้วยเท้าไปยังที่ต่างๆ เมื่อหิวน้ำก็จะแวะพักดื่มน้ำตามฮ้านน้ำหม้อที่ชาวบ้านแถวนั้นได้จัดตั้งไว้ และด้วยความเชื่อของชาวล้านนาที่ว่าการทำบุญด้วยน้ำเป็นอานิสงค์ที่ยิ่งใหญ่ ทำให้ชีวิตคล่อง ทรัพย์สินเงินทอง ความสุขต่างๆ นั้นไหลรื่นสะดวกขึ้น จากที่เคยติดขัดก็จะราบรื่น จากที่เคยมาแบบกระเซ็นกระสายก็จะไหลมาเทมาไม่หยุดยั้ง
 
     จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าเจ้าของฮ้านน้ำหม้อจะคอยดุแลขัดถูทำความสะอาดสวยงาม ตักน้ำสะอาดใส่จนเต็มและคอยเต็ม มิให้พร่องลงไปมากหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆวัน เพื่อให้น้ำสะอาดน่าดื่มอยู่เสมอ เพราะการดูแลฮ้านน้าหม้อให้สะอาดและมีน้ำเต็มอยู่เสมอ ถือเป็นหน้าเป็นตาของเจ้าของบ้าน และในยามศึกสงครามฮ้านน้ำหม้อนั้นยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สำหรับแสดงฝ่ายหรือส่งข่าวสำหรับทหารไทยด้วย โดยจะสังเกตที่ด้ามน้ำบวย(กระบวยน้ำ) จะมีการแกะสลักเป็นรูปสัตว์หรือสัญลักษณ์ต่างๆเพื่อบ่งบอกว่าบ้านหลังนี้เป็นทหารฝ่ายไทย

      วัฒนธรรมการให้ทานน้ำนั้นได้เริ่มจางหายไปจากสังคมไทยที่ละนิด เพราะบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากมาย เดี๋ยวนี้กระหากหิวน้ำก็จะต้องซื้อเอา หรือไปไหนก็ต้องพกขวดน้ำติดตัวไปด้วย อีกอย่างมีโรคภัยเกิดขึ้นมากมายหลายชนิดเกิดจากการใช้ภาชนะร่วมกัน ทำให้ไม่มีใครกล้าใช้กระบวยหรือแก้วซ้าๆกัน และน้ำที่มีอยู่ในหม้อคนมักไม่แน่ใจว่าสะอาดหรือไม่ เนื่องจากน้ำบ่อหรือน้ำฝนไม่สะอาดเหมือนแต่ก่อน แม้วัฒนธรรมฮ้านน้ำหม้อหายไปจากสังคมไทย คงเหลือแต่ชั้นวางหม้อน้ำประดับหน้าบ้านเพียงเท่านั้น แต่คนไทยยังคงมีน้ำใจบริการน้ำอยู่ด้วยว่า “อานิสงค์ที่ยิ่งใหญ่ของการทำบุญด้วยน้ำ”
โดย คมสัน   หน่อคำ
083-7373307




               







   


2 ความคิดเห็น: