วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ตาแหลว ป้องกันอาถรรพ์

ตาแหลว/เฉลว


    ตาแหลว หรือ เฉลว ทำขึ้นจากตอกไม้ไผ่ผ่าซิกบางๆสาน ใช้เป็นเครื่องรางป้องกันสิ่งไม่ดี สเนียดจัญไร เรื่องเลวร้ายหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ ชาวล้านนาใช้ต๋าแหลวเป็นเครื่องหมายถือพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยเฉพาะการแสดงอาณาเขตหวงห้าม แสดงเขตที่มีเจ้าของ เป็นเครื่องช่วยให้ที่นั้น คลาดแคล้วจากภัยพิบัติ มักพบต๋าแหลวแขวนร่วมกับด้ายสายสิญจน์และหญ้าคาฟั่นเวลามีงานสำคัญ อาทิ สืบชะตา ทำบุญเมือง และพิธีกรรมต่างๆ

   
     ชาวล้านนาเชื่อว่า ตาแหลว หมายถึง ดวงตาของนกเหยี่ยวที่ชอบโฉบเฉี่ยวงับจับเหยื่อไปกิน ดวงตาของเหยี่ยวหรือนกแหลว ที่สามารถมองเห็นได้เป็นระยะไกลๆและเฉียบคม อย่างเช่นมันบินร่อนไปมาในท้องฟ้า แต่ดวงตามันสอดส่องดูมาเบื้องล่าง จึงนำตอกมาสานเป็นคล้ายรูปดวงตา เพื่อสอดส่องดูแลสิ่งอาถรรพ์ขึด เสนียดจัญไร มิให้เข้ามากรายใกล้ โดยการไปตัดไม้ไผ่มาจักตอกขนาดตามที่ต้องการ แล้วเลาะเหลาปาดเอาคมผิวไม้ออกให้หมด หลังจากนั้นจึงนำเส้นตอกมาสานเป็นวงกลมหักทบปลายเส้นตอกให้สานกัน แล้วปล่อยปลายเส้นตอกคลี่ออกไปคล้ายลำแสงพุ่งออกจากศูนย์กลางหรือดวงตาของแหลวหรือตาเหยี่ยวนกเขา เมื่อสานเสร็จนำต๋าแหลวไปปักไว้ตามที่ต้องการป้องกันเภทภัย

   

     ตาแหลวถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่ง ที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งหวงห้ามอันมีเจ้าของอยู่แล้ว เป็นสัญลักษณ์ความพิเศษอีกด้วย โดยเฉพาะหม้อต้มยา หลังจากปิดหรือไม่ปิดด้วยใบตองอ่อนก็ดี จะมีการปักตาแหลวเล็กไว้บนหม้อต้มยา มีนัยว่าเพื่อบอกว่าหม้อนี้คือยาต้มนะไม่ใช้น้ำต้มหรือแกงต้ม แต่ทางความเชื่อแล้วหม้อยามีครูบาอาจารย์มีสิ่งศักดิ์สิทธ์สถิตอยู่ เพื่อรักษาคุณยาที่ต้มทั้งปวง โบราณจารย์กล่าวว่าอย่าให้ผีข้ามหม้อยา เพราะจะทำให้ยาต้มเสื่อมคุณประโยชน์ ดังนั้นตาแหลวเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ป้องกันผีร้ายหรือสิ่งชั่วร้ายทำลายคุณของยา ในการสู่ขวัญข้าว เฉลวถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันมีให้ผีร้ายเข้ามาทำลายพระแม่โพสพ

     ตาแหลว ถูกแบ่งออกตามจำนวนแฉก คือ ตาแหลวเป็นรูปสาม,ตาแหลวที่เป็นรูปดาวห้าแฉก,ตาแหลวที่เป็นรูปแปดแฉก ซึ่งตาแหลวแต่ละชนิดจะมีคาถาแตกต่างกันไปเวลาตั้งจะต้องท่องคาถากำกับทำให้ผีไม่กล้าเข้าใกล้ ในชาวล้านนามีตาแหลวอีกประเภทหนึ่ง มีลักษณะพิเศษคือมีเจ็ดชั้น สานต่อกันโดยสานต่อไปเรื่อยๆ สามารถสานต่อชั้นขึ้นไปได้อีก และไม่ใช่การสานเจ็ดอันเอามามัดรวมกัน แต่เป็นการสานต่อชั่นแต่ละชั้น มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ตาแหลวเจ็ดจั้น ตาแหลวใบคา ตาแหลวคาเขียว ตาแหลวหญ้าคา เป็นต้น ก็คือตาแหลวจะมี 7ชั้น แล้วนำหญ้าคามาสานพันธ์กันใช้ขึงติดกับตาแหลว ดังนั้นเข้าจึงเรียกว่า ต๋าแหลวคาเขียว เพราะใบคาที่นำมาสานพันกันเป็นสีเขียว ในอดีตความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของมุนษย์ ฝั่งรากเคียงคู่กับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ล้อมรวมเป็นประเพณีที่สวยงาม แต่ปัจจุบัน “ตาแหลว เครื่องรางกันขึดแห่งล้านานกำลังจะหายไปกับกาลเวลา”
ที่มา 9 Mahawed - สารานุกรมแห่งจอมเวทย์,ศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมล้านนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, วิกิพีเดีย

เรียบเรียงโดย มะเดี่ยว
คมสัน  หน่อคำ
083-7373307

1 ความคิดเห็น:

  1. วันนี้คุณตากะสานต๋าแหลวเจ็ดมาให้ลูกสาวที่บ้านจ้า

    ตอบลบ