วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ศูนย์ไบโอเทค สวทช. นำร่องถ่ายทอดความรู้การใช้เอนไซม์เอนอีซให้กับผู้ประกอบการสิ่งทอในจังหวัดแพร่

   ศูนย์ไบโอเทค สวทช. จัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เอนไซม์เอนอีซในกระบวนการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายในขั้นตอนเดียวให้กับผู้ประกอบการสิ่งทอในจังหวัดแพร่ ลดการใช้สารเคมี ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดเวลาและพลังงาน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทาง Thailand 4.0

     วันนี้ (20 กรกฎาคม 2560) เวลา 09.30 น. ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เอนไซม์เอนอีซในกระบวนการผลิตสิ่งทอให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการสิ่งทอในจังหวัดแพร่ ณ ร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

     ดร.ธิดารัตน์ กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมักจะใช้สารเคมีในปริมาณมากก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในการเคลือบแป้งเพื่อให้เส้นด้ายมีความแข็งแรง การลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกก่อนนำไปย้อมสี ซึ่งใช้เวลาและพลังงานสูง คณะผู้วิจัยจึงได้คิดค้นและพัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ” มาใช้ในกระบวนการดังกล่าว จากเดิมที่จะต้องทำกันคนละขั้นตอนก็สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกได้ในขั้นตอนเดียว ใช้เวลาเร็วขึ้นจาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียงแค่ 1 ชั่วโมง อีกทั้งยังทำให้ผ้ามีคุณภาพดีขึ้นมากกว่าการใช้สารเคมี โดยที่ผ่านมาศูนย์ไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมกับผู้ประกอบการสิ่งทอทำการทดลองมาอย่างต่อเนื่องจนได้เป็นเอนไซม์อัจฉริยะดังกล่าวเพื่อผลิตและใช้ในเชิงพาณิชย์

     นอกจากนี้ ศูนย์ไบโอเทค สวทช. ได้เล็งเห็นคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาไทยด้านสิ่งทอ จึงได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เอนไซม์เอนอีซให้กับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นการลดใช้สารเคมี ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดเวลาและพลังงาน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้มีรายได้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการนำเอานวัตกรรมมาใช้ โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่จังหวัดแพร่ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของผ้าหม้อห้อมเป็นที่แรก ก่อนที่จะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

ด้าน นางชวัลณัฏฐ์ ถิ่นจอมธ์ เจ้าของร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น กล่าวว่า หลังจากที่ได้นำเอนไซม์เอนอีซมาใช้ในการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรก ไม่เกิดกลิ่นเหม็นเหมือนวิธีการแบบดั้งเดิม ผ้าที่ย้อมแบบธรรมชาติมีสีสดขึ้น ย้อมติดสม่ำเสมอ ประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้มากขึ้น ผลิตเสื้อผ้าได้มากขึ้นในเวลาที่เท่ากัน


ข่าวโดย : ชาติชาย คะมา
บรรณาธิการ : วัชระ เพชรพลอย 
หน่วยงาน : สวท.แพร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น