วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

จังหวัดแพร่จัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) ประจำปี 2560



      จังหวัดแพร่จัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) ประจำปี 2560 เพื่อเป็นการยกย่อง ให้กำลังใจแก่ผู้ปฎิบัติหน้าที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ พร้อมทั้งระลึกถึงวีกรรม และความเสียสละทุ่มเทของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต

     สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ด้วยวันที่ 31 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก ที่ได้ริเริ่มขึ้นโดยสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศหรือ International Ranger Federation (IRF) เพื่อเป็นการยกย่องให้เกียรติ ให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ พร้อมทั้งระลึกถึงวีกรรมความเสียสละทุ่มเทของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่
   และวันนี้(31ก.ค.60) เวลา 13.00 น. ที่สถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า อำเภอเมืองแพร่ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานเปิดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) ซึ่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 แพร่ จัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่ได้ทำงานเสียสละอุทิศตนเพื่อปกป้องรักษาผืนป่า ระลึกถึงวีกรรมความเสียสละทุ่มเทของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต และบาดเจ็บ โดยมีพิธีสวนสนามของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า การวางพวงมาลาสดุดีและไว้อาลัยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต การอ่านสารขอวงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิธีมอบประกาศเกียรติคุณแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า การมอบรถยนต์เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 8 คัน และมอบเสื้อแก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 แพร่ จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้ปลูกต้นไม้เนื่องในวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลกด้วย /.







ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์


"ประชารัฐรวมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม" ตามโครงการปณิธานความดีปีมหามงคล



   เทศบาลเมืองแพร่ และประชาชน พร้อมด้วยหน่วยงานต่างๆ ร่วมใจกันทำความสะอาดคูเมืองและกำแพงเมืองเก่า ตามโครงการปณิธานความดีปีมหามงคล "ประชารัฐรวมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม" ถวายเป็นพระราชกุศลและสร้างความรักความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์


  

     วันนี้ (31 กรกฎาคม 2560) เวลา 09.00 น. นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปณิธานความดีปีมหามงคล “ประชารัฐรวมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม” ซึ่งเทศบาลเมืองแพร่และประชาชนในชุมชนต่างๆ ร่วมใจกันจัดขึ้น ณ บริเวณสถานีสูบน้ำคูเมืองประตูใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา 28 กรกฎาคม 2560 และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ที่ทรงอุทิศพระองค์ในพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อพสกนิกรชาวไทยและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ และเพื่อเป็นการสร้างพลัง ความรักความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ สร้างความสุขของคนในชาติ

     สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ มีประชาชนจากชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ทั้ง 18 ชุมชน, กำลังพลจากกองพันทหารม้าที่ 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์, ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองแพร่, ผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดแพร่, นักเรียนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ , และองค์กรภาคเอกชน กว่า 800 คน ร่วมกันทำความสะอาดลอกรื้อกำจัดวัชพืช เก็บขยะบริเวณคูเมืองสถานีสูบน้ำประตูใหม่ บนกำแพงเมืองเก่าและคูเมืองตลอดสาย









ข่าวโดย : ชาติชาย คะมา
บรรณาธิการ : วัชระ เพชรพลอย
หน่วยงาน : สวท.แพร่

วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เทศบาลเมืองแพร่ล้างทำความสะอาดเมืองแพร่

     เทศบาลเมืองแพร่จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ล้างทำความสะอาดศาลหลักเมืองแพร่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา 28 กค 60











cr.ภาพ-ข่าว พี่ต่าย นพมาศ อินจันทร์

Slow life Slow roads

Slow life Slow roads/สโลว์ไลท์ สโลว์ โรด

      ยามเช้า แสงแดดอ่อนๆ เสียงไก่ขัน เสียงจ้อกแจ้กจอแจของชาวบ้าน พูดคุยแววกระทบโสตประสาท โปกๆเสียงโขกพริกแกงดังเป็นจังหวะสม่ำเสมอ บ่งบอกถึงความหนักแน่นและความชำนาญในงานครัว 

      ชั่วครู่อึดใจ กลิ่นหมอเย้ายวนลอยปะทะจมูก เป็นสัญญาณต้องผะจากที่นอนอันแสนจะอบอุ่น สะบัดไล่ความง่วงเหงาออกจากพะวัง จัดแจงธุระส่วนตัว ชำระร่างกาย ล้างหน้าแปรงฟัน เรียกความสดชื่นพร้อมรับกับวันใหม่อันสดใส เดินตามกลิ่นแกงมายังเตาที่มีหม้อตั้งอยู่ เปิดฝาดูไอร้อนและกลิ่นหอมของแกงฮังเลก็ลอยมากระทบหน้า เสียงดังมาจากด้านหลังบอกว่าวันนี้จะทำใส่บาตรพระหน้าบ้าน สักพักแม่ก็เตรียมกับข้าว อาหารคาวหวาน น้ำดื่ม ดอกไม้ ออกมารอพระหน้าบ้าน เวลาหกโมงกว่าๆเสียงโมงๆจากฆ้องที่ลูกศิษย์วัดตัวน้อยเดินนำขบวนพระ ตีส่งสัญญาณแก่ชาวบ้านสองข้างทางบอกว่าพระสงฆ์เดินใกล้ถึงหน้าบ้านแล้ว มองดูด้านซ้ายและด้านขวาหลายบ้านก็ออกมาใส่บาตรเช่นเดียวกับบ้านเรา ต่างนิมนต์พระสงฆ์รับบาตรเมื่อถึงหน้าบ้านของตน เสียงสวดดังอย่างต่อเนื่องกว่าครึ่งชั่วโมงตามระยะทางบ้านที่ใส่บาตร ไม่มีบ้านไหนบ่นว่าช้าหรือนานเลย ต่างอยากได้ใส่บาตรให้ได้บุญกันทุกๆบ้านทุกๆคน หลังจากใส่บาตรเสร็จแล้ว

           ก็จัดแจงกับกระเพาะของตัวเองด้วยแกงฮังเลและกับข้าวอื่นๆที่แยกไว้ นั่งกินข้าวฟังเพลงที่ข้างบ้านเปิดคลอเบาจากบทเพลงของคุณจรัส มโนเพชร ศิลปินโฟคซองล้านนา แววมาว่า “อ้ายคนจน จำต้องทนปั่นรถถีบ จะไปจีบอีน้องคนงาม......” ฟังไปกินไป ค่อยๆลิ้มรสชาดฝีมือแม่ อิ่มแล้วออกมาเดินย่อยหน้าบ้านดูโน่นดูนี่ เด็กน้อยกลุ่มหนึ่งสี่ห้าคนมีทั้งเด็กเล็กและเด็กโต พี่จูงน้องตัวเล็กๆกำลังพากันเดินไปโรงเรียนทุกคนถือห่อข้าวหรือปิ่นโตอาหารสำหรับมื้อเที่ยง เด็กโตอีกกลุ่มหนึ่งก็พากันขี่รถจักรยานเรียงแถวชิดขอบซ้ายถนนเพื่อไปเรียนหนังสือ ส่วนผู้ใหญ่ที่ขี่รถมอเตอร์ไซด์หรือรถยนต์ เมื่อเห็นเด็กๆเดินหรือขี่จักรยานก็จะชะลอรถก่อนจะผ่านไป เห็นบรรยากาศแบบนี้อดไม่ได้ที่จะต้องขว้าจักรยานคันเก่าออกมาปั่นเที่ยวสักหน่อย พอเปิดประตูบานจูงจักรยานออกมาก็มีเสียงทักมาว่าจะไปไหน ยิ้มแล้วตอบว่า “กาด”(ตลาด) ไม่รู้เพราะอะไรจึงตอบแบบนี้ แต่ก็ดีทำให้มีจุดหมายเป็นกาดโดยปริยายไป 

     เริ่มปั่นจักรยานตามทางไปเรื่อยๆตามถนน เรียกเหงื่อได้พอดูหลังจากไม่ได้ปั่นจักรยานมานานหลายปี(เนื่องจากไม่ว่าจะไปไหนใกล้หรือไกลมักจะใช้รถมอเตอร์ไซด์หรือรถยนต์ตลอด)พอปั่นไปได้สักระยะกำลังก็เริ่มอยู่ตัว บวกกับแสงแดดอ่อนๆลมเย็นๆยามเช้า แปบเดียวก็ถึงตลาดเทศบาลเมืองแพร่ บรรยากาศยังครึกคักเหมือนเดิม เสียงดังจากนักปั่นน่องเหล็กผู้ชำนาญการถีบรถสามล้มที่บรรทุกทั้งผู้โดยสารและพืชผักสัมภาระเต็มรถสามล้อห้อยพะลุงพะลังที่ต้องปลุกกำลังด้วยเสียงก่อนออกตัว บิ๊บๆเสียงแตรรถโดยสารสองแถวเรียกผู้คนจากต่างอำเภอที่มาจับจ่ายในตลาดเป็นสัญญาณเรียกก่อนรถเที่ยวล้าสุดกำลังจากออก ออกจะเอะอะวุ่ยวาย สับสนแต่ผู้คนก็ยิ้มพูดจากันด้วยความสุข 

     ภาพความเป็นกันเองกับวัฒนธรรมกาดยังคงมีมนต์ขลังอยู่เสมอ แวะซื้อผักสด เนื้อสัตว์และขนมพื้นบ้าน โดยเฉพาะขนมจ๊อก(ขนมเทียนหรือขนมใส่ไส้) ไปฝากคนที่บ้าน ก็ปั่นจักรยานคันเก่าคันเก่งออกจากตลาด ลุงๆอาๆสามล้อ ช่วยบริการโปกรถเวลาจะข้ามถนนให้ ทำให้การจราจรคล่องตัวและเคลื่อนอย่างราบรื่น รถที่ผ่านไปผ่านมาต่างเข้าใจและจอดหรือชะลอเมื่อเห็น นี่คือน้ำใจบนท้องถนนที่มีให้กันและกัน ปัจจุบันจำนวนรถราจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นแต่ถนนยังมีเท่าเดิม ดังนั้นเราควรมีน้ำใจบนท้องให้แก่กันแบ่งปัน เสียสละเวลาและมีสติในการสัญจรบนถนนให้เหมือนเช่นอดีตแล้วถนนอัดแออัดก็จะยัง “Slow life Slow roads/สโลว์ไลท์ สโลว์ โรด” อยู่คู่คนแพร่และแขกผู้มาเยือนตลอดไป....










     เขียนโดย
คมสัน หน่อคำ 083-7373307

วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

จังหวัดแพร่จัดขับเคลื่อนโครงการพัฒนากลไกสนับสนุนเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐ เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ 2560

     


    จังหวัดแพร่จัดขับเคลื่อนโครงการพัฒนากลไกสนับสนุนเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐ เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ 2560 โดยประชุมพัฒนาศักยภาพแกนนำระดับอำเภอ เพื่อสังคมไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรม
     สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(27ก.ค.60) ที่โรงแรมแพร่นครา นายนิพันธ์ บุญหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดการประชุมการพัฒนาศักยภาพแกนนำระกับอำเภอ ในการดำเนินงานโครงการพัฒนากลไกสนับสนุนเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐ เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ 2560 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติร่วมกับสมาคมภาคีพัฒนาจังหวัดแพร่และภาคีเครือข่ายจัดขึ้น
     ทั้งนี้จังหวัดแพร่ได้มีการขับเคลื่อนงานพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนไปสู่กระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้การทำงาน แบบปรึกษาหารือ โดยใช้เวทีกลางของจังหวัด อำเภอและตำบล เป็นตัวขับเคลื่อน ให้เกิดการเสริมสร้างสังคมสุขภาวะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ภายใต้การขับเคลื่อนสานพลังประชารัฐของรัฐบาล ในเรื่องของเศรษฐกิจฐานรากและด้านประชารัฐเพื่อสังคม ที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรมไปพร้อมกัน โดยมีคณะทำงานระดับจังหวัด และแกนนำจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมในระดับอำเภอและสื่อมวลชน จำนวน 130 คน เข้าร่วมประชุม /.










ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์

คลินิกเกษตรเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ


    สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ จัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ให้บริการความรู้ด้านวิชาการและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างครบวงจร


     วันนี้ (27 กรกฎาคม 2560) เวลา 10.30 น. นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานเปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา 28 กรกฎาคม 2560 และมอบเงินทุนการดำเนินงานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ให้กับตัวแทนชุมชนต่างๆ จากทั้ง 8 อำเภอ รวม 97 ชุมชน 439 โครงการ รวม 201,533,607 บาท ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองหม้อ อำเภอเมืองแพร่ โดยมีเกษตรกรและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานกว่า 600 คน


     นายธวัชชัย สิทธิวีระกุล เกษตรจังหวัดแพร่ กล่าวว่า สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา 28 กรกฎาคม 2560 เพื่อร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี พร้อมทั้งให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านการเกษตร สามารถเข้าถึงบริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ได้รับความรู้ด้านวิชาการ และได้รับการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างครบวงจรในคราวเดียวกัน จำนวน 12 คลินิก คือ คลินิกดิน, พืช, ปศุสัตว์, ประมง, ชลประทาน, สหกรณ์, บัญชี, กฎหมาย, ข้าว, หม่อนไหม, คลินิกด้านสุขภาพเกษตรกร และคลินิกอื่นๆ

      นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เกษตรและประชาชนทั่วไปได้ร่วมลงนามถวายพระพร, การจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ “สองกษัตริย์นักพัฒนา” และนิทรรศการ “โครงการ 9101 ตายรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน”, นิทรรศการส่งเสริมการเกษตร, นิทรรศการแก้ไขปัญหาในพื้นที่, การฝึกอาชีพการประกวดผลผลิตทางการเกษตร, การจำหน่ายสินค้าคุณภาพจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และการให้บริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง







ข่าวโดย : ชาติชาย คะมา
บรรณาธิการ : วัชระ เพชรพลอย 
หน่วยงาน : สวท.แพร่

วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

จังหวัดแพร่จัดงานมหกรรมสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน Phrae Money Fair 2017


     
     คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดแพร่ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดแพร่ จัดงานมหกรรมสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อชาวแพร่ ครั้งที่ 2 "Phrae Money Fair 2017" กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการอย่างหลากหลายครบวงจร
     วันนี้ (26 กรกฎาคม 2560) เวลา 09.00 น. นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อชาวแพร่ ครั้งที่ 2 “Phrae Money Fair 2017” ณ บริเวณกาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่ โดยมีนายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่, คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดแพร่, หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารธนาคารและสถาบันทางการเงิน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

     นางสุทธิณี สำราญจิตต์ คลังจังหวัดแพร่ ในฐานะประธานคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดแพร่ (คบจ.) กล่าวว่า การจัดงาน Phrae Money Fair 2017 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการที่หลากหลายครบวงจร โดยมีสถาบันการเงินในสังกัดกระทรวงการคลังและหน่วยงานต่างๆ จำนวน 15 แห่งมาร่วมให้บริการ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนต่อไป

      สำหรับกิจกรรรมในงานประกอบด้วย การเสวนา คบจ. ชี้ช่องทุน ให้ความรู้ทางการเงินและผลิตภัณฑ์เงินทุนในรูปแบบต่างๆ, การประกันภัยกับการลงทุน, การจัดตกแต่งร้าน ให้ได้ ล้าน, คลินิกให้คำปรึกษาและสนับสนุนเงินทุน, แนะนำการออมเงิน, การปรึกษาปัญหาด้านการประกันภัย, ภาษีสรรพสามิต, การประเมินที่ดิน, สิทธิประโยชน์ทางภาษี, การจับรางวัลเงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค ครั้งที่ 2 ของ ธ.ก.ส. และการจำหน่ายสินค้าของดี สินค้าเกษตร สินค้าธงฟ้าราคาประหยัด

   










ข่าวโดย : ชาติชาย คะมา
บรรณาธิการ : วัชระ เพชรพลอย

ข้าวห่อลิลิตพระลอ


     วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปร่วมงาน “สัมผัสรักนิรันดร์ตำนานพระลอ 1188 ปี เที่ยวแพร่ สนุก สุขไม่รู้จบ” ซึ่งจัดงานบริเวณอนุสาวรีย์พระลอ พระเพื่อน พระแพง อ.สอง จ.แพร่ โดยภายในงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น การประกวดไก่สวยงาม ไก่ต่อไก่ตั้ง ไก่พระลอ การออกร้านจำหน่ายสินค้าของดีของเด่นอำเภอสอง กาดมั่วคัวแลง ขบวนแห่ขันหมากสู่ขอไก่ และขบวนแห่ของดีของแต่ละตำบลในอำเภอสอง การแสดงพิธีเปิดชุดเล่าขานตำนานพระลอ การแสดงจากเยาวชน การแสดงวัฒนธรรมดนตรี การประกวดพระเพื่อนพี่ พระแพงน้อง การประกวดนางฟ้าตัวและขันโตกดินเนอร์ ที่นำเอาข้าวห่อลิลิตพระลอมาแจกให้ได้รองท้องแก้หิว โดยห่อข้าวด้วยใบตองจึงแล้วมัดด้วยตอก(ธรรมชาติดี ชอบๆๆๆ)และที่ติดกับตอกมามีกระดาษสีน้ำตาลพิมพ์ด้วยหมึกดำพิมพ์ข้อความที่มาที่ไปของข้าวห่อพระลอให้ได้อ่านกัน เลยเอามาเขียนให้อ่านกันกับ “ข้าวห่อลิลิตพระลอ”
       
      ในอดีตกาลนานเท่าใดไม่ปรากฏ มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อ “แมนสรวง” มีเจ้าเมืองคือ “ท้าวแมนสรวง” ซึ่งมีพระโอรสองค์หนึ่งนามว่า “พระลอ” พระวรกายงดงามจนเป็นที่เลื่องลือไปไกลทั่วทุกสาระทิศ  กล่าวเมืองสรอง(ปัจจุบัน คือ อ.สอง จ.แพร่)ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองแมนสรวงเจ้าเมืองสรองชื่อ ท้าวไชยพิษณูกร มีพระราชธิดาฝาแฝด พระนามว่า “พระเพื่อน-พระแพง” ราชธิดาทั้งสองมีพระสิริโฉมที่งดงามเกินกว่าสตรีใดในหล้าจะสวยเทียมเท่า
วันนี้มีนักขับเพลงพเนจร ได้นับเพลงชมความงามของพระลอว่ามีรูปโฉมงามหล่อดุจเทพพระบุตร เมื่อพระเพื่อน-พระแพง ได้ฟังก็ทรงเคลิบเคลิ้มหลงรักพระลอ พระพี่เลี้ยงของสองพระนาง คือนางรื่นและนางโรย ได้พยายามหาวิธีต่างๆเพื่อจะให้ทั้งสองพระธิดาสมหวังในความรัก จึงได้ปรึกษากันไปเฝ้าปู่เจ้าสมิงพราย ร้องขอให้ปู้เจ้าสมิงพรายดลใจให้พระลอเดินทางมายังเมืองสรองให้ได้ ปู่เจ้าฯได้นั่งยามตรวจดูแล้วเห็นว่าเป็นบุพกรรมแต่ปางก่อนของสามกษัตริย์ จึงรีบให้ความช่วยเหลือดลใจให้พระลอร้อนใจต้องเดินทางมายังเมืองสรอง

     
     ครั้นได้ฤกษ์พระลอ จึงเข้าไปปลอบและอำลามเหสี แม่นมและเหล่าสนมกำนัน ยิ่งก่อเกิดความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ไปทั่วทั้งวัง แม่นมของพระลอชื่อ นางศรีเพ็ญ ได้ทำข้าวห่อให้ด้วยความเป็นห่วงว่าระหว่างเดินทางหนทางจะทุรกันดาร กลัวว่าพระลอจะอดอยาก จึงได้จัดเตรียมห่อข้าวไว้ให้เสวยระหว่างทางยามหิว ห่อข้าวนั้นห่อด้วยใบตองตึง ภายในมีข้าวเข็มทอง(ข้าวเหนี่ยว)เป็นข้าวพันธุ์ดี จิ้นปิ้ง น้ำพริก ไข่ต้มและผักลวก ระหว่างเดินทางมาเมืองสรอง พระลอได้นำข้าวห่อมาเสวยและรำลึกนึกถึงความห่วงใยของแม่นมที่ได้เลี้ยงดูตนเองมาตั้งแต่ครั้นเป็นทารกจนกระทั่งเติบใหญ่ หยิบข้าวเข็มทองที่แม่นมเคยป้อนที่ละคำๆ ก็อดรำพันคิดถึงแม่นมผู้คอยเฝ้าเลี้ยงดูมาแต่อ้อนแต่อ้อดไม่ได้ ด้วยลักษณ์ห่อข้าวดังกล่าว ชาวบ้านได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการห่อข้าวสำหรับการเดินทาง
     ปัจจุบันข้าวห่อดังกล่าว ก็คือข้าวเหนี่ยวพันธุ์เข็มทอง แต่เนื่องจากว่าแม่นมของพระลอไม่มีผัว จึงมีการเรียกล้อเลียนเป็นข้าวคานทอง จึงเป็นเหตุให้เกิดมีการเรียกหญิงสาวที่ไม่ได้แต่งงานว่า “ขึ้นคาน” เกิดเป้นตำนานข้าวห่อลิลิตพระลอ และคำเรียกหญิงสาวที่ไม่แต่งงานว่าขึ้นคานรวมถึงข้าวสายพันธุ์เข้มทองที่ถูกเรียกว่า “ข้าวคานทอง”
เก็บตก การห่อข้าวลิลิตพระลอ จะมีการห่อเป็นชั้นๆ ชั้นนอกใช้ใบตองตึงห่อสำหรับห่อกับข้าวต่างๆรวม ชั้นในประกอบด้วยไข่ต้ม 1 ฟอง เกลือ 4 ห่อ น้ำพริกตาแดง 1 ห่อ จิ้นย่าง(หมู,เนื้อ,ปลา)ข้าวเหนียวหนึ่งห่อ ส่วนผักนั้นแต่เดิมสามารถหาเก็บระหว่างทาง แต่ปัจจุบันห่อรวมเข้าไปเลย
ข้อมูลจาก ตำนานลิลิตพระลอ รวบรวมโดย อบต.บ้านกลาง อ.สอง จ.แพร่
เรียบเรียงโดย นายคมสัน   หน่อคำ
083-7373307 

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

แพร่-มอบบ้านผู้ด้อยโอกาส



     มอบบ้าน-วันที่ 24 กรกฎาคม 2560 เวลา 14.00 น. นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธาน
มอบบ้านตามโครงการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้แก่ครอบครัวผู้ด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจนและเป็นคนดีของสังคมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา 28 กรกฎาคม 2560 ให้กับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่อำเภอเด่นชัย จำนวน 3 ครอบครัว ประกอบด้วย (1) นายเกรียงไกร อินต๊ะเสน บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 5 ตำบลเด่นชัย (2) นายวิสูตร เชื้อโนแดง บ้านเลขที่ 71/2 หมู่ที่ 8 ตำบลปงป่าหวาย และ (3) นายมูล ใจห่วง บ้านเลขที่ 65/2 หมู่ที่ 4 ตำบลเด่นชัย โดยมี นางมัลลิกา พุฒิชาติ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ ปลัดจังหวัดแพร่ พ.อ.ชินทัศ หมวกละมัย รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดแพร่ จักเรศ ศิริพงศ์ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 12 นายอิศรา สุขแจ่มใส นายอำเภอเด่นชัย นายศรชัย สุวรรณกาศ นายกเทศมนตรีตำบลเด่นชัย รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ สมาชิกเหล่ากาชาดและกิ่งกาชาดอำเภอเด่นชัยและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมมอบบ้านในครั้งนี้
ภาพ-ข่าว  Cr.ป.เสถียร 

วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ร่วมกับเทศบาลเมืองแพร่ มอบป้ายบ้านให้กับผู้สูงอายุตามโครงการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก ที่เอื้อต่อคนทุกวัย ประจำปีงบประมาณ 2560




     งานประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองแพร่ รายงานว่า สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ร่วมกับเทศบาลเมืองแพร่มอบป้ายบ้านให้กับผู้สูงอายุตามโครงการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อคนทุกวัย ประจำปีงบประมาณ 2560 ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 เวลา 11.45 น. ที่บ้านนางเล็ก จิตอรุณ อายุ 76 ปี บ้านเลขที่ 142 ถนน น้ำคือ ชุมชนสระบ่อแก้ว ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายเล็กๆน้อยๆ โดยนางเล็ก อาศัยอยู่กับหลาน 2 คน คนแรก นางอำภา เมืองแก้ว อายุ 65 ปี เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว คนที่ 2 ด.ญ. ศิริลักษณ์ เวียงนาค อายุ 12 ปี กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดเมธังกราวาส สภาพบ้านที่อยู่อาศัยก่อนได้รับการซ่อมแซม มีปัญหาหลังคารั่ว ถ้าฝนตกจะไม่สามารถอาศัยหลับนอนได้ หน้าต่าง ประตูบ้านชำรุด สภาพที่อาศัยไม่ปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมที่ไม่สะดวก หรือ เอื้อต่อการดำรงชีวิต

     ดังนั้นเทศบาลเมืองแพร่จึงประสานขอรับงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเงินทั้งสิ้น 16,292 บาท ขณะนี้ได้ดำเนินการซ่อมแซมแล้วเสร็จ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีพิธีมอบป้ายให้กับผู้สูงอายุ ตามโครงการโครงการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อคนทุกวัย ประจำปีงบประมาณ 2560

แพร่-ถวายเทียนพรรษาพระราชทานในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี









   จังหวัดแพร่ถวายเทียนพรรษาพระราชทานในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2560 ที่วัดแพร่ธรรมาราม อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเทียนพรรษา เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2560 แก่วัดต่างๆทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ณ หอประชุมพุทธมณฑล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอัญเชิญไปจัดกิจกรรมอันเป็นบุญกุศลให้สมพระเกียรตินั้น

     ในส่วนของจังหวัดแพร่ วันนี้(21ก.ค.60) เวลา 11.00 น. ที่วัดแพร่ธรรมาราม ตำบลเด่นชัย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานในพิธีถวายเทียนพรรษาพระราชทานในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2560 โดยมีส่วนราชการ ประชาชนทุกหมู่เหล่า นักเรียน นักศึกษา ร่วมถวายเทียนพรรษาพระราชทานในครั้งนี้ ยังความสำนึกในพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น /.



ฉัตรชัย พวงขจร /ข่าว /พิมพ์

ศูนย์ไบโอเทค สวทช. นำร่องถ่ายทอดความรู้การใช้เอนไซม์เอนอีซให้กับผู้ประกอบการสิ่งทอในจังหวัดแพร่

   ศูนย์ไบโอเทค สวทช. จัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เอนไซม์เอนอีซในกระบวนการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายในขั้นตอนเดียวให้กับผู้ประกอบการสิ่งทอในจังหวัดแพร่ ลดการใช้สารเคมี ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดเวลาและพลังงาน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทาง Thailand 4.0

     วันนี้ (20 กรกฎาคม 2560) เวลา 09.30 น. ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เอนไซม์เอนอีซในกระบวนการผลิตสิ่งทอให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการสิ่งทอในจังหวัดแพร่ ณ ร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

     ดร.ธิดารัตน์ กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมักจะใช้สารเคมีในปริมาณมากก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในการเคลือบแป้งเพื่อให้เส้นด้ายมีความแข็งแรง การลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกก่อนนำไปย้อมสี ซึ่งใช้เวลาและพลังงานสูง คณะผู้วิจัยจึงได้คิดค้นและพัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ” มาใช้ในกระบวนการดังกล่าว จากเดิมที่จะต้องทำกันคนละขั้นตอนก็สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกได้ในขั้นตอนเดียว ใช้เวลาเร็วขึ้นจาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียงแค่ 1 ชั่วโมง อีกทั้งยังทำให้ผ้ามีคุณภาพดีขึ้นมากกว่าการใช้สารเคมี โดยที่ผ่านมาศูนย์ไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมกับผู้ประกอบการสิ่งทอทำการทดลองมาอย่างต่อเนื่องจนได้เป็นเอนไซม์อัจฉริยะดังกล่าวเพื่อผลิตและใช้ในเชิงพาณิชย์

     นอกจากนี้ ศูนย์ไบโอเทค สวทช. ได้เล็งเห็นคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาไทยด้านสิ่งทอ จึงได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เอนไซม์เอนอีซให้กับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นการลดใช้สารเคมี ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดเวลาและพลังงาน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้มีรายได้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการนำเอานวัตกรรมมาใช้ โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่จังหวัดแพร่ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของผ้าหม้อห้อมเป็นที่แรก ก่อนที่จะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

ด้าน นางชวัลณัฏฐ์ ถิ่นจอมธ์ เจ้าของร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น กล่าวว่า หลังจากที่ได้นำเอนไซม์เอนอีซมาใช้ในการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรก ไม่เกิดกลิ่นเหม็นเหมือนวิธีการแบบดั้งเดิม ผ้าที่ย้อมแบบธรรมชาติมีสีสดขึ้น ย้อมติดสม่ำเสมอ ประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้มากขึ้น ผลิตเสื้อผ้าได้มากขึ้นในเวลาที่เท่ากัน


ข่าวโดย : ชาติชาย คะมา
บรรณาธิการ : วัชระ เพชรพลอย 
หน่วยงาน : สวท.แพร่

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สมาพันธ์ เอสเอ็มอี ไทย จังหวัดแพร่ ลงนามบันทึกส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEsไทย เติบโตอย่างยั่งยืน


สมาพันธ์ เอสเอ็มอี ไทย จังหวัดแพร่ ลงนามบันทึกส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEsไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

     วันนี้(19 ก.ค.2560)เวลา 13.30 น. ณ ห้องนคราแอทไนน์ ชั้น 9 โรงแรมแพร่นครา อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงทางวิชาการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEsไทย ให้เติบดตอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการเครือข่ายพัฒนาและส่งเสริมทักษะการประกอบอาชีพ โดยมีผู้ประกอบการ,นักธุรกิจ,สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดแพร่,สมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม,ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคดนโลยีและนวัติกรรมแห่งชาติ,องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ มหาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และประชาชนทั่วไปจำนวนกว่า 300 รายเข้ารวมกิจกรรม

     นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพของคนไทยนั้นเป็นหัวใจอันสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย ให้ตอบสนองวิสันทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล “นโยบายไทยแลนด์ 4.0”ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษิความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่บริหารประเทศบนวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน) แบ่งยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาแรงงาน เป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1. Productive Manpower 2.Innovation Workforce 3.Creative Workforce 4.Brain Power ที่ก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ให้สร้างความ “มั่งคั่ง” ให้แรงงานมีรายได้สูง (High Income) มีผลิตภาพแรงงานสูง (High Productiivty) นำสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่าง “ยั่งยืน” ของประชาชนชาวไทยในที่สุด ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนปฎิรูปประเทศในด้านต่างๆ จังหวัดแพร่จึงรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้รู้ กูรูที่มากด้วยประสบการณ์ทางธุรกิจ มาปรับแก้ จัดระบบ เปลี่ยนทิศทาง เพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการ SMEs ของจังหวัดแพร่ ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ให้สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ๆที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในศตวรรษที่ 21 และนโยบายไทยแลนด์4.0 ต่อไป
















ภาพ/ข่าว คมสัน หน่อคำ 083-7373307


แพร่-ทหารร่วมกับชาวบ้าน ร่วมกำจัดผักตบชวา กีดขวางทางน้ำ



      วันนี้(19 ก.ค.2560) เวลา 09.00 น. ที่บริเวณหนองกอรอปอกลาง บ้านหนองใหม่ ม.6 ต.ป่าแมต อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ พ.อ.จักเรศ ศิริพงศ์ ผบ.ม.พัน.12 พล.ม.1/ผบ.ร้อย.รส.ม.พัน.12 จัดกำลังพล ม.พัน.12 พล.ม.1 จำนวน 20 นาย พร้อม ร้อย.รส.ที่ .1 ม.พัน.12 (อ.เมืองแพร่) ร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอเมืองแพร่/ทต.ป่าแมต /อบจ.แพร่ /นศท.จิตอาสาวิทยาลัยอาชีวศึกษา/นศท.จิตอาสา รร.นารีรัตน์จังหวัดแพร่และราษฏรตำบลป่าแมต ร่วมกิจกรรมกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำ แก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางการระบายของแม่น้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากสิ่งปฎิกูลขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของน้ำท่วม

     สำหรับผักตบชวาจัดเป็นพืชพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแพร่ระบาดรุกราน จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำในประเทศไทยอย่างมาก โดยในเวลาเพียง 1 เดือน ผักตบชวาเพียง 1 ต้นอาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาอย่างไม่สิ้นสุด ประเทศไทยนั้นเริ่มมีการกำจัดผักตบชวามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีการออกพระราชบัญญัติกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 มารองรับ ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือในการกำจัด เช่น นำไปผลิตเป็นของใช้ อาหารสัตว์ หรือปุ๋ย แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะผักตบชวาที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วได้
















ภาพ-ข่าว โดย คมสัน หน่อคำ 083-7373307

อบจ.แพร่ ร่วมกับมิวเซียมสยาม จัดแสดงนิทรรศการ "มิวเซียมติดล้อ Muse Mobile" ชุด "เรียงความประเทศไทย"







    
     องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ร่วมกับมิวเซียมสยาม เปิดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ "มิวเซียมติดล้อ Muse Mobile" ชุด "เรียงความประเทศไทย" ขยายโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนในส่วนภูมิภาคได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยอย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย วันนี้ - 31 ตุลาคม 2560

     วันนี้ (18 กรกฎาคม 2560) เวลา 10.00 น. นายบรรพ์ ใสแจ่ม ศึกษาธิการจังหวัดแพร่ เป็นประธานเปิดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ “มิวเซียมติดล้อ Muse Mobile” ชุด “เรียงความประเทศไทย” พร้อมทำพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยาม กับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดแพร่ เพื่อสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่แปลกใหม่ จัดแสดงทั้งวัตถุที่จับต้องได้, งานกราฟฟิก, วิดิโอ, เกม, แอนิเมชั่น และอินเตอร์แอคทีฟมีเดีย ที่สนุกสนาน กระชับ และง่ายต่อความเข้าใจของคนทุกเพศทุกวัย ภายใต้แนวคิด “ให้ทุกการเรียนรู้ สนุกกว่าที่คิด” ณ บริเวณลานวัฒนธรรม ภายในสนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่

     ด้าน นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า มิวเซียมสยาม ในฐานะองค์การจัดการความรู้ขนาดใหญ่ที่มุ่งสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ได้จัดทำนิทรรศการเคลื่อนที่ “มิวเซียมติดล้อ Muse Mobile” นำเสนอสาระประวัติศาสตร์ไทยใส่จัดแสดงในตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 5 ใบ ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปจัดแสดงยังที่ต่างๆ ได้ โดยได้พัฒนาเนื้อหาและเทคนิคมาจากนิทรรศการชุดเรียงความประเทศไทย ที่เคยจัดแสดงอยู่ในมิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ เป็นการขยายโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนในส่วนภูมิภาคได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยอย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

      สำหรับนิทรรศการชุด “เรียงความประเทศไทย” ประกอบด้วย 5 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.ไทยแท้ กระตุ้นความอยากรู้ว่าไทยแท้คืออะไร และเป็นอย่างไรจึงเรียกว่าไทยแท้, 2. เปิดตำนานสุวรรณภูมิ ทำความรู้จักกับสุวรรณภูมิ ดินแดนแห่งความมั่งคั่งผ่านผู้คน การเกษตร การค้า ฯลฯ, 3.สยามประเทศ สัมผัสความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย, 4.กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยาเรื่องราวเมื่อครั้งสิ้นกรุงศรีอยุธยา กับการถือกำเนิดของบางกอก และ 5.กำเนิดประเทศไทย

     ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ “มิวเซียมติดล้อ Muse Mobile” ชุด “เรียงความประเทศไทย” ได้ฟรี ตั้งแต่บัดนี้ – 31 ตุลาคม 2560 ณ บริเวณลานวัฒนธรรม(หน้าห้องสมุดของเล่นเด็ก) ภายในสนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ระหว่างเวลา 09.00-17.00 น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์และวันอังคาร) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและจองรอบสำหรับการเข้าชมเป็นหมู่คณะได้ที่ 093 – 690 2041, 086 – 392 8875


ข่าวโดย : ชาติชาย คะมา
บรรณาธิการ : วัชระ เพชรพลอ 
หน่วยงาน : สวท.แพร่