วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560

มะแข่วน แซ่บซ่า ราชาเครื่องเทศแห่งล้านนา

มะแข่วนแห้ง/ดิบ
     มะแขว่นเครื่องเทศแห่งเมืองเหนือที่มีรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัว ชาวเหนือนิยมรับประทานมานานแล้ว ยอดใบอ่อนกินกับน้ำพริก ผลสดนำไปดองทานคู่กับผักแหนมกับลาบ หลู้ ส้า ส่วนเมล็ดแห้งนำไปทำน้ำพริกมะแขว่น น้ำพริกผักและที่สำคัญเป็นเครื่องเทศผสมกับลาย หลู้ ส้า หรือยำพื้นเมืองต่างๆ มะแข่วนเป็นส่วนผสมที่ช่วยดับกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์ มีกลิ่นหอมชวนให้อยากอาหารมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแกงอ่อมเนื้อ แกงไก่ใส่ฟัก คั่วไก่ ฯลฯ มะแข่วนเป็นไม้ยืนต้นสูง 10-15 เมตร มีกิ่งก้านสาขา ใบ ใบเดี่ยวรูปไข่ ดอก ออกเป็นช่อ ผล กลมเท่าเม็ดพริกไทย เปลือกสีแดง ออกเป็นช่อ เมื่อแก่แตกออก มีเมล็ดเล็กลมขนาดเล็ก สีดำ ผิวมัน ขยายพันธุ์ โดยใช้เมล็ด ขึ้นอยู่ตามป่าดิบบนพื้นที่ระดับต่ำไปจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเล 500 เมตร ขึ้นไปมะแขว่นที่มีคุณภาพที่ดีและให้กลิ่นหอมควรจะอยู่ที่ระดับควมสูงตั้งแต่ 800-1400 เมตร แหล่งของมะแขว่นใหญ่ๆ จะมาจาก จ.แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา และ เชียงราย มะแขว่นจากป่าธรรมชาติถือว่าเป็นเครื่องเทศชั้นยอด โดยทั่วไปจะให้ความหอม และ รสชาติที่ดีกว่ามะแขว่นปลูกแบบเกษตรกรรม
 



     มะแข่วนเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา เช่น ใบ รสเผ็ด แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน เมล็ด รสเผ็ดหอม แก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ถอนพิษฟกบวม แก้หนองใน ราก, เนื้อไม้ รสร้อนขื่น ขับลมในลำไส้ แก้ลมเบื้องบน หน้ามือ ตาลาย วิงเวียน ขับระดู แต่ไม่ใช้กับหญิงมีครรภ์

     หลายๆ คนมักจะเข้าใจว่า มะแขว่นสามารถใช้ทดแทน พริกหอม หรือ ชวงเจียว ของจีนได้ที่เขานิยมนำมาใส่ปูอบวุ้นเส้น หรือ มาหล่า เพราะเห็นว่ามันมีลักษณะเดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมะแขว่น และ พริกหอมนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกันมากเพราะเป็นพืชในตระกูลเดียวกัน และให้รสชาติที่ซ่าลิ้นเหมือนกัน แต่ขนาดของผลและกลิ่นนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ก็คงจะเปรียบได้กับ มะกรูด และ มะนาวของไทย อันที่จริงแล้วยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับมะแขว่นจนบางทีก็ทำให้สับสนเช่นกัน คือ มะข่วง
ที่มาข้อมูล ศูนย์สารสนเทศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่,วิกีพีเดีย

เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
083-7373307

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น