วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

One Phrae Day


แผนที่เมืองเก่าจังหวัดแพร่

 ทริปเมืองแพร่

       ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ มีวันหยุดราชการอยู่หลายวัน เพื่อนที่เคยเรียนหนังสือด้วยสมัยวัยละอ๋อนโทรศัพท์มาหาว่าจะพาครอบครัวมาเที่ยวแพร่สักวัน ให้ช่วยเป็นไกด์จัดโปรแกรมให้สักหนึ่งวันโดยระบุเงื่อนไขว่าจะต้องถึงเมืองแพร่ นั่งคิดนอนคิดว่าจะพาไปเที่ยว ไปกิน ยังไงให้ประทับใจแบบไม่ผิดหวัง คิดไปคิดมาก็รวบรวมข่าวสารจากGoogle,นิตยสารท่องเที่ยวต่างๆ,หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เผื่อได้ไอเดียดีๆมาสักโปรแกรม แต่แล้วก็ได้เพียงสถานที่มามากมายใกล้บ้างไกลบ้าง เพราะแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจมากมายแต่ด้วยเงื่อนไขเวลาที่จำกัดกับสมองอันน้อยนิดทำให้ตัดสินใจเลือกไม่ถูกสักที เลยไปปรึกษาสาวๆเจ้าหน้าที่ ททท.สำนักงานแพร่ ทำให้สามารถตัดสินใจได้โดยเรียกทริปเที่ยวหนึ่งวันในเมืองแพร่ว่า One Phrae Day วันแอ่วเมืองแพร่ และแล้ววันนัดหมายก็มาถึงคณะเที่ยวมากันหนึ่งครอบครัวจำนวน 4 คนมีคุณพ่อ,คุณแม่และคุณลูกสาว 2 คน และอีก 1 ไกด์จำเป็นที่มีความรู้แบบFishๆSnakeๆภาระอิดเริ่มการแอ่วขึ้นในยามเช้าตรู ด้วยการพาไปคณะแอ่วของเราไปยังตลาดเทศบาล






     เวลา 6.00 น. ที่มีพ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามากมายรอผู้คนมาจับจ่ายใช้สอย คณะเราเลือกซื้อกับข้าวถุงและข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม ขนมหลายๆอย่างรวมกัน จุดประสงค์เพื่อนำไปใส่บาตรบริเวณบนเมกซึ่งทางเทศบาลเมืองแพร่เป็นผู้ริเริ่มตักบาตรบนเมกในทุกเช้าวันพุธ และหากมีคณะทัวร์ใหญ่ๆมาก็สามารถติดต่อประสานงานกับเทศบาลเมืองแพร่ให้จัดการตักบาตรได้ แต่คณะแอ่วเรามาในเช้าวันพุธพอดี ใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงก็ตักบาตรบนเมกเสร็จ ก็ตามธรรมเนียมครับ คือ ถ่ายรูป ซึ่งบนเมกนั้นมีต้นไม้อวดช่อดอกสีสันสดสวยแข่งสีเขียวสดของต้นหญ้าตัดด้วยทางเดินดูเป็นลงตัว บรรยากาศร่มรื่นสดชื่น เลยต้องบริการพิเศษเป็นตากล้องจำเป็นอีกตำแหน่งหนึ่งควบกับหน้าที่ไกด์ ถ่ายมุมนั้นมุมนี้มากมาย ได้ยินหลานๆถามพ่อแม่ว่า “เมก” คือ เฆนบนท้องฟ้าใช่ไม เรามาตักบาตรกันบนฟ้าเลยหรอ???ตามความใสซื่อของเด็กๆ เลยงั้นเอาความรู้ในคนฐานะคนแป้โดยกำเนิดเกิดที่โรงยาแพร่(โรงพยาบาลแพร่)อธิบายให้เด็กๆฟังว่า
กำแพงเมืองแพร่
     คำว่า “เมก” มีความหมายว่ากำแพงเมือง สำหรับกำแพงเมืองแพร่นั้น สร้างจากดินและอิฐเป็นกำแพงชั้นเดียวเพื่อขึ้นป้องกันข้าศึก และภยันตรายต่างๆในยามหน้าน้ำหลากไหลล้นฝั่ง น้ำยมเซาะตลิ่งพัง กำแพงเมืองและคูเมืองก็จะเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมเมืองได้ น้ำก็จะไหลคืนสู่คูคลอง สำหรับกำแพงเมืองแพร่นั้นสร้างในสมัยใดนั้นไม่หลักฐานบันทึกไว้ แต่สันนิษฐานได้ว่ามีอายุมากกว่า 1100 ปีมีหลักฐานจากประวัติวัดหลวง ที่กล่าวว่า " ....พ.ศ. 1374 ท้าวพหุสิงห์ราชโอรสของ พ่อขุนหลวงพล ขึ้นครองเมืองพลทรงรับสั่งให้ ขุนพระวิษณุวังไชย เป็นแม่งานทำการบูรณะอาราม วัดหลวง มีการหุ้มทองพระเจ้าแสนหลวงทั้งองค์ ขยายกำแพงวัดออกไปถมกำแพงเมือง ก่ออิฐ ให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำขุนยมไหลเอ่อท่วมเวียง แล้วฉลองสมโภช 5 วัน 5 คืน..." แสดงว่า กำแพงเมืองมีการสร้างมาก่อนแล้ว ปัจจุบันยังมีแนวกำแพงเมืองยังปรากฎหลักฐานให้เห็นอย่างเด่นชัดและยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก ช่วยป้องกันน้ำแม่ยมท่วม ในเมืองไว้ได้จนตราบเท่าทุกวันนี้
พระพุทธโกศัย วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
    ปัจจุบันชาวบ้านเรียกคูน้ำว่า "คือเมือง" หรือ "น้ำคือ" และเรียก กำแพงเมืองว่า"เมฆ" อธิบายจบท้องก็เริ่มร้อง ดูนาฬิกาก็เวลาแปดโมงกว่าแล้วเลยชวนกันลงจากเมก(กำแพงเมือง)เดินเรียงแถวมาหน้าตลาดเทศบาล มื้อนี้บรรจุกระเพาะกันด้วยอาหารงานง่ายๆกับต้มเลือดหมู โจ๊ก และข้าวต้มกับร้านอร่อยดั้งเดิมที่ตั้งเรียกรายให้เลือกทานกันหลายร้าน แต่ถ้าหากอยากทานข้าวเหนียวหมูปิ้ง น้ำพริกตาแดง แคบหมู ไส้อั่ว แอ๊บหมู แอ็บอ่องอ้อ ยำมะหนุน ฯลฯ อาหารเมืองเมืองทั้งหลายก็สามารถซื้อหาได้ตลอดบนสองฟากถนนบนประตูชัยและในตลาดเทศบาลแน่ละลูกข้าวนึ่งอย่าเฮามันต้องข้าวเหนียวถึงจะอยู่ท้อง เลยจัดแจงกระเพาะตัวเองด้วยหมูปิ้ง น้ำพริกตาแดง ผักดอง แต่แล้วก็ต้องโดนเพื่อนแย่งเพราะอยากอาหารเมืองพื้นเมืองกินกันพออิ่ม ก็ถึงโปรแกรมถัดมาคือ การไหว้พระกราบขอพรจากพระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ที่ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัยกันแล้ว ก็พาคณะแอ่วแป้เข้าชม
   





 พิพิธภัณฑ์พระวิหารมิ่งเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร เป็นพระวิหารเก่าที่มีความสวยงามโดดเด่นด้วยมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมรูปแบบศิลปะล้านนาพื้นเมืองแพร่ที่ไม่เหมือนวัดอื่น ๆ มีมุขด้านหน้า 2 มุข ผนังก่ออิฐฉาบปูน โครงสร้างภายในเป็นไม้สัก หลังคาแอ่นลดหลั่น 2 ชั้น มุงด้วยแป้นเกล็ดไม้สัก เครื่องประดับหลังคาประกอบด้วยช่อฟ้า 5 หัว และใบระกา 18 หัว ส่วนหน้าบันทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ลวดลายดอกเถาวัลย์ มีรูปเทวดา ราชสีห์ หนุมาน และราหูอมจันทร์ บริเวณโดยรอบจัดเป็นสวนไม้ดอก ไม้ประดับ ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูป และเครื่องปั้นดินเผา สิ่งของ เครื่องใช้ทางพระพุทธศาสนา ธรรมาสน์, บุษบก, ตุง, ตาลปัตร และเครื่องอัฐบริขาร,เครื่องมือเครื่องใช้ ได้แก่ เครื่องมือทอผ้า, ผ้าทอ, เครื่องจักสาน, เครื่องดนตรี, เครื่องแก้ว, เครื่องไม้, เครื่องเคลือบ, เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน, และอาวุธ ,เงินตรา จำพวกธนบัตร และเหรียญกษาปณ์,เอกสารโบราณ ได้แก่ คัมภีร์ใบลาน,ภาพถ่ายเก่าๆภาพวาด และสิ่งที่พลาดไม่ได้คือพระคัมภีร์โบราณปักด้วยไหม ปักขึ้นเมื่อ จ.ศ.1235 (พ.ศ.2416) อายุกว่า 130 ปี ปักถวายโดยเจ้าแม่บัวไหล พระมเหสีของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย พระคัมภีร์นี้เป็นอักขระภาษาล้านนาทั้งหมด มีเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทยเสร็จจากชมพิพิธภัณฑ์พระวิหารมิ่งเมืองก็พากันมาต่อที่

คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่

   คุ้มเจ้าหลวง เมื่อมาถึงก็เหมือน เช่นเดิมเช็คอินด้วยการถ่ายรูปกันก่อนซึ่งหน้าคุ้มเจ้าหลวงมีกรอบรูปไม้สักขนาดใหญ่ให้เก็บภาพสวยๆอวดบนโซเชียลตามมุมมองของแต่ละคนให้เลือกถ่ายตามอัธยาศัย สำหรับคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น ซึ่งมีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป หรือทรงขนมปังขิง ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูน มี 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็มแต่ใช้ไม้ซุงท่อน ส่วนใหญ่เป็นไม้แก่น ไม้แดง และไม้เนื้อแข็ง รองรับฐานเสาทั้งหลัง ภายใต้ตัวอาคารซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตรคุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้เคยใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2501และได้รับพระราชทาน รางวัล จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภท อาคารสถาบันและสาธารณะ ซึ่งภายในก็จะมีแท่นบรรทมของพระองค์รวมอยู่ด้านใน

     ผู้คนมักรู้จักคุ้มเจ้าหลวงในด้านเรื่องราวความลี้ลับด้วยตำนานที่น่าสะพรึ่งกลัว ที่ด้วยในอดีตบริเวณใต้ถุนอาคารหลังนี้เคยเป็นที่คุมขังนักโทษมานานนับศตวรรษ จากคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาถึงเกี่ยวกับภูตผีวิญญาณต่างๆ ของบรรดาผีทาสที่เสียชีวิตจากการถูกพันธนาการอย่างโหดเหี้ยมและเสียชีวิตภายใต้อาคารคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ยังคงวนเวียนชดใช้หนี้กรรมอยู่ ภายใต้ถุนคุ้มเจ้าหลวงเคยใช้เป็นที่คุมขังทาสเป็นเวลาอันยาวนานจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ประกาศเลิกทาสคุกทาสแห่งนี้เลยกลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษทั่วๆไปของเจ้าเมืองหรือข้าหลวงแทน จนกระทั่งมีการสร้างเรือนจำเมืองแพร่ขึ้นคุกทาสใต้อาคารคุ้มเจ้าหลวง เมืองแพร่จึงว่างลงหลงเหลือไว้เพียงตำนานภาพหลอน และวิญญาณพยาบาทเล่าขานสืบต่อกัน คุ้มเจ้าหลวงยังมีพื้นที่อีกหนึ่งส่วนที่น่าสนใจแปลกกว่าอาคารไหนๆ นั้นก็คือ ส่วนคุมขังนักโทษหรือคุกในชั้นใต้ดิน แบ่งเป็นคุกปีกซ้ายและปีกขวาภายในห้องมีแสงส่องถึงบางส่วน เอาไว้คุมขังผู้ที่ทำความผิดสถานเบา(ลหุโทษ)มีช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กที่เอาไว้หย่อนอาหารให้นักโทษด้วย) โดยที่คุกปีกขวามี"ตูบผี” ส่วนผู้ที่ทำผิดร้ายแรง ผิดสถานหนักจะถูกคุมขังในคุกมืดที่ห้องกลาง สำหรับการเข้าชมในคุกใต้ดินนั้น มีเคล็ดอยู่ว่า อย่าเดินหน้าหันหน้าเข้าคุกแต่ให้เดินถอยหลังเข้าคุกแทน ส่วนตอนออกก็เดินหน้าออกมาอย่าหันหลังไปมองคุก เพราะอาจจะทำให้ต้องโทษเข้าคุกในอนาคตได้

    คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ยังมีเรื่องราวสำคัญเกิดขึ้นในสมัยเจ้าพิริยะวงศ์เจ้าหลวงคนสุดท้ายว่าในสมัยขอมเรืองอำนาจ ระหว่างปี พ.ศ.1470-1560 พระนางจามเทวีเข้าครอบครองแคว้นล้านนาได้เปลี่ยนชื่อเมืองจากเมืองพลนครเป็น โกศัยนคร หรือ เวียงโกศัย ซึ่งแปลว่า ผ้าแพร นับแต่นั้นมาก็มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมาโดยตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์ที่ 18 เป็นเจ้าหลวงกำกับด้วยข้าหลวงซึ่งได้โปรดเกล้าฯให้พระยาไชยบูรณ์ มาเป็นข้าหลวงองค์แรกต่อมาในปี พ.ศ.2445 พวกเงี้ยวได้ก่อการกบฏขึ้นโดยยึดสถานีตำรวจ ศาลากลาง ปล้นเงินคลังและปล่อยนักโทษออกจากคุก พระยาไชยบูรณ์ถูกพวกเงี้ยวจับตัวและถูกบังคับให้ยกเมืองให้ แต่พระยาไชยบูรณ์ไม่ยินยอมจึงถูกจับประหารชีวิต เมื่อความทราบถึงในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงเข้าปราบปรามพวกเงี้ยวจนราบคาบ เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เกรงพระราชอาญาจึงลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางและถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2452 นับแต่นั้นมาก็ไม่มีเจ้าผู้ครองนครแพร่อีกเลย

   
บ้านวงศ์บุรี



   ชมความงามและเก็บภาพของคุ้มเจ้าหลวงด้วยเวลาอันสมควร จึงพาคณะแอ่วเมืองแป้ออกจากคุ้มเจ้าหลวงเลี้ยวรถมาทางขวาแต่ก็ไม่ลืมแวะไหว้ศาลหลักเมืองอีกสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแล้วจึงไปต่อกันที่บ้านวงศ์บุรี บ้านสีชมพูที่โด่งดังจากละครทีวีหลากเรื่อง กับอาคารสีชมพูโดดเด่น อายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ที่ ถนนคำลือ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ คุ้มวงศ์บุรี สร้างขึ้น ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา ชายาองค์แรกในเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เพื่อเป็นของกำนัลในการเสกสมรส ระว่างเจ้าสุนันตา ผู้เป็นบุตรีเจ้าบุรีรัตน์ และหลวงพงษ์พิบูลย์ คุ้มหลังนี้อาคารแบบไทยผสมยุโรปสีชมพูอ่อน ซึ่งเป็นสีโปรดของแม่เจ้า บัวถา เป็นเรือนไม้สักทองขนาดใหญ่ 2 ชั้นทรงไทยล้านนาผสมยุโรป ประดับตกตกแต่งลวดลายด้วยไม้ฉลุที่เรียกว่าลาย“ขนมปังขิง” ตามความนิยมกันใน รัชกาลที่ 5 ที่ถูกสร้างไว้อย่างสวยงามอยู่ทั่วตัวอาคาร เช่น หน้าจั่ว สันหลังคา ชายน้ำ ช่องลม กรอบเช็ด หน้าต่าง เหนือประตูและหน้าต่าง ระเบียง ภายในอาคารปรากฎลายพรรณพฤกษาและเครือเถาว์ ฐานรากของอาคารเป็น ท่อนไม้ซุง เนื้อแข็งขนาดใหญ่วางเรียงกันก่อนจะก่ออิฐเทปูนทับลงไป เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของอาคาร คุ้มวงศ์บุรี ประกอบด้วย ห้องที่น่าสนใจ คือ ห้องของเจ้าบัวถา ห้องรับแขก ห้องนอน ซึ่งแต่ละห้องมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ตู้ เตียงนอน โต๊ะ เก้าอี้ โต๊ะเครื่องแป้ง ถ้วย ชาม เครื่องเงิน กำปั่นเหล็ก อาวุธโบราณ พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน อู่ทอง รวมถึงรูปภาพเก่าแก่ต่างๆ ที่ประดับบอกเรื่องราวของบ้านวงศ์บุรี ใช้เวลาเดินดูรู้สึกว่าท้องเริ่มหิว มองดูเวลาจากนาฬิกาก็เที่ยงกว่าๆแล้ว กลิ่นหอมเครื่องแกงลอยมาเตะจมูก นึกขึ้นได้ว่าที่บ้านวงศ์บุรีก็มีข้าวซอยเคยบริการนักท่องเที่ยว กำจัดความหิวกันด้วยข้าวซอยละกัน ส่วนเด็กๆกินเผ็ดไม่ได้ก็ทานขนมจีนน้ำใสกัน หลังจากอิ่มกันแล้วก็นั่งหลบร้อนกับอากาศยามเที่ยงพากันกลับที่พักนั่งคุยเรี่องโน้นเรื่องนี้ตามประสาเพื่อนส่วนเด็กๆก็ให้นอนพัก คุยไปคุยมานึกสนุกยอยากจะคลายร้อนด้วยการเล่นน้ำจึงพากันไปเล่นน้ำที่น้ำตกเชิงทอง ซึ่งถนนหนทางสองฟากเต็มไปด้วยต้นไม้และลำธารที่ไหลขนาบข้างถนน แม้จะเป็นเวลาบ่ายสองแต่บรรยากาศนั้นร่มเย็นมีเสียงน้ำไหลและนกไพรร้องต้อนรับตลอดส้นทางเข้ายังตัวน้ำตก
 
น้ำตกเชิงทอง(ห้วยมุ่น)

   เมื่อไปถึงยังตัวน้ำตกก็จัดแจงนำสัมภาระข้าวของเครื่องใช้ อาหาร ปูเสื่อนั่งบริเวณริมน้ำ เอาขาแช่น้ำดื่มดำความเย็นของน้ำตกชมนกชมไม้ตามประสา เด็กกับน้ำดูมีความสุขหลังจากช่วงเช้าพาเที่ยวเป็นการเป็นงานไปหน่อย นาฬิกาเดินเร็วเหลือเกินแปบเดียวเข็มบอกเวลาก็ชี้ที่ 16.30 น. บรรยากาศเริ่มเย็นและมืดลงอย่างรวดเร็วจึงพากันเก็บข้าวของกลับกัน

วัดพระธาตุช่อแฮ
  แต่ก็ยังไม่ลืมแวะไหว้นมัสการพระธาตุช่อแฮพระธาตุประจำคนเกิดปีขาลสักหน่อยใช้เวลาไม่นานมาก เพราะต้องรีบไปแอ่วกาดมหาโพธิ์ เพื่อซื้อจิ้นไปทำลาบ แต่ก็ไม่ลืมสะระแนและพวงเพื่อนผักกับแล้วจึงเดินกาดช็อปโน่นช็อปนี้ถือของเต็มไม้เต็มมือหมดเงินไม่ถึงพัน คนกรุงเตบก็ตกใจ คุยว่าตลาดในกรุงเทพหากซื้อมากมายขนาดนี้ต้องจ่ายเงินไม่น้อยกว่าสองถึงสามพันบาท เลยตอบไปว่าข้าวของที่ชาวบ้านนำมาขายกาดหมั๊วทั่วไปเมืองแพร่นั้น สนงราคาผักสดเพียงกำละห้าบาทสิบบาท ที่จะแพงหน่อยก็ประเภทเนื้อสัตว์เท่านั้น เมื่อได้ของครบก็รีบกลับมายังบ้าน เตรียมเขียงมีดสับ แล้วลงมือสับหมู โป๊กๆด้วยจังหวะจะโคนสม่ำเสมอ ระหว่างนั้นก็โทรเรียกบรรดามิตรสหายที่รู้จักกันมานั่งสังสรรค์ดื่มกินและโอดลาบกระชับมิตรภาพย้อนอดีตเล่าความหลังเฮฮากัน
ลาบเหนือ(มะแข่วน)
        รุ่งเช้าก็ได้เวลาจำต้องลาจากกันเพื่อกลับไปทำหน้าที่ยังภูมิลำเนาของตน โดยทิ้งคำขอบคุณและคำชมพร้อม คำสัญญาว่าจะกลับมา แอ่วเมืองแพร่อีกแน่ๆ และครั้งหน้าของจองตัวไกด์จำเป็นหลายๆวัน กับทริปม่วนๆ One Phrae Day


โดย มะเดี่ยวศรี
083-7373307




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น