วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาชน หันมาใช้ก๊าซชีวภาพ แทนก๊าซหุงต้ม ไม่หวั่นแม้จะราคาสูง


     ชาวบ้านอัมพวัน ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่กว่า 200 ครัวเรือน หันมาใช้ก๊าซชีวภาพแทนก๊าซหุงต้ม ไม่หวั่นแม้จะราคาสูง
 
 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า จากฟาร์มหมู "จำลองฟาร์ม"ของนายจำลอง ขัดมูล บ้านเลขที่ 305 หมู่ 8 บ้านอัมพวัน ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเลี้ยงสุกรกว่าสามพันตัว เคยถูกชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลิ่นรบกวนมายาวนาน จนต้องแก้ไขปัญหาร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน ทดลองทำก๊าซชีวภาพ โดยศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่ และตั้งกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวะภาพบ้านอัมพวัน ตำบลเตาปูน นำน้ำมูลหมูมาหมักตามกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพแล้วปล่อยก๊าซให้ชุมชนข้างเคียงใช้ก๊าซฟรี โดยเริ่มต้น 50 ครัวเรือน ทำให้ชาวบ้านลดรายจ่ายด้านเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร ทั้งการนึ้งข้าว ต้มหน่อไม้ แทนการใช้ฟืนและใช้ก๊าซหุงต้มที่มีขายตามร้านทั่วไป
 
  จากนั้นได้มีการขยายพื้นที่ใช้ก๊าซชีวภาพเพิ่มขึ้นกับหมู่บ้านใกล้เคียง วัด และโรงเรียนกว่า 200 ราย และทางสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ได้สนับสนุนงบประมาณช่วยทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรขนาด 300 ลูกบาศก์เมตรอีกจำนวน 1 ถัง เพิ่มจากถังหมักเดิมที่มีอยู่แล้ว ทำให้มีขีดขาดความสามารถส่งพลังงานก๊าซชีวภาพมูลสุกรให้ชาวบ้านใช้ได้อย่างทั่วถึง
 
    นอกจากนี้ยังมีการตัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรบ้านอัมพวัน หมู่ 8 ตำบลเตาปูนขึ้น โดยตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ได้มีการจัดเก็บค่าบำรุงรักษาครัวเรือนละ 50 บาท โดยจะสร้างท่อส่งก๊าซต่อให้ถึงห้องครัวและจุดที่ประกอบอาหาร โดยใช้ระบบส่งก๊าซท่อพลาสติก มีวาวปิด-เปิด ทำให้ลดการตัดไม้ทำฟืนประกอบอาหาร ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากการทำระบบกำจัดมูลสุกร มาสร้างประโยชน์ให้ชุมชนใช้ทั้งปี แก้ไขปัญหาการส่งกลิ่นรบกวนของฟาร์มปศุสัตว์
 
     นางประนอม หมายหมั่น อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 331 หมู่ 8 ตำบลเตาปูน เจ้าของร้านอาหารตามสั่งในหมู่บ้านกล่าวว่า ตนเองใช้ก๊าซหุงต้มปกติเดือนละ สองถึงสามถัง มีค่าใช้จ่ายค่าก๊าซเดือนละกว่า 1,000 บาท เมื่อสองเดือนก่อนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ ได้ต่อท่อก๊าซมาให้ใช้ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเสียแต่ค่าบำรุงเดือน 50 บาท เท่ากับครัวเรือนทั่วไป จึงไม่หวั่นเรื่องแก็สหุงต้มขึ้นราคา ราคาอาหารตามสั่งก็ยังราคาปกติ และไม่ต้องกังวลว่าก๊าซจะหมดเมื่อไหร่ มีใช้ตลอด จึงนับว่าหมู่บ้านตนเองโชคดีที่สุดในจังหวัดแพร่
 
ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

วังหงส์ นามสกุล หงส์



บ้านวังหงส์ เป็นชุมชนที่มีนามสกุลขึ้นต้นด้วยคำว่า “หงส์” เช่น หงส์หนึ่ง หงส์สอง หงส์สาม..... หลายคนคงสงสัยว่าจะมีนามสกุลหงส์มีถึงลำดับที่เท่าไร??? คำตอบและที่มาก็คือ เมื่อมีกฎหมายให้ทุกคนต้องมีนามสกุล ชาวบ้านที่อยู่ในบ้านวังหงส์ จึงพากันไปแจ้งชื่อสกุลของตนเอง ซึ่งคนที่ไปเป็นคนแรกเลยตั้งนามสกุลของตนเอง ว่า หงส์หนึ่ง  และคนต่อๆ มาก็ตั้งต่อๆ  กันไปเรื่อยๆ  เป็น หงส์สอง หงส์สาม จนถึง หงส์สามสิบเก้า  เลยมีนามสกุลปราบหงส์ เพื่อยุติการตั้งนามสกุลหงส์เรียงตามตัวเลข และเมื่อมีการแจ้งนามสกุลเพิ่มเติมอีก จึงเกิดนามสกุลที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “หงส์” เช่น หงส์ทอง หงส์ร่อน หงส์เหิน ฯลฯ


โดยมีตำนานเล่าขานสืบต่อกันว่า บ้านวังหงส์”  ตั้งขึ้นมาก่อน  พ.ศ.  2440  มีอายุนับถึงปัจจุบันกว่า 200  ปี  บรรพบุรุษของชาววังหงส์เป็นผู้อพยพมาจากบ้านน้ำคือ  บ้านเชตวันและบ้านประตูมาน  ตำบลในเวียง  อำเภอเมืองแพร่  อพยพมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินยังบริเวณแห่งนี้ ซึ่งพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับเพาะปลูก เนื่องทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีหนองน้ำขนาดใหญ่  น้ำใสสะอาดและระดับน้ำลึกมากชาวบ้าน จึงเรียกหนองน้ำนี้ว่า วังน้ำลึก”  ซึ่งหนองแห่งนี้เกิดจากการเปลี่ยนทางเดินของลำน้ำยม รอบหนองน้ำมีป่าขนาดใหญ่มีพืชพันธุ์นานาชนิดขึ้นอยู่หนาแน่นเขียวชอุ่มตลอดปี  และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด  อยู่มาวันหนึ่งได้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นคือ  มีหงส์สีขาวบริสุทธิ์รูปร่างสวยงามมากคู่หนึ่ง   บินลงมาเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน แล้วจึงบินกลับไป  ซึ่งเป็นภาพมหัศจรรย์ที่ชาวบ้านไม่เคยพบเห็นมาก่อน  จึงได้ปรึกษากันว่าจะตั้งชื่อหนองน้ำนี้ว่า หนองหงส์”  และตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า  บ้านหนองหงส์ 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  5(พ.ศ.2440)  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองท้องถิ่นที่ออกเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น บ้านวังหงส์ จนทุกวันนี้  (สันนิษฐานว่าเกิดจากการนำคำว่า วังน้ำลึกและ หนองหงส์”  มารวมกัน)  ต่อมา (พ.ศ. 2479) ลำน้ำยมได้เปลี่ยนทางเดินกลับมาที่หนองน้ำแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง  ทำให้หนองน้ำกลายเป็นลำน้ำยมจวบจน  พ.ศ. 2518  ลำน้ำยมได้เปลี่ยนไปทิศทางเดิมอีกครั้ง  กรรมการพัฒนาที่ดินจึงได้จัดสรรงบประมาณพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณหนองหงส์ขึ้นในปี  พ.ศ.  2543  ทำให้บริเวณนี้เป็นที่ร่มรื่นและเป็นแหล่งธรรมชาติอยู่จนปัจจุบันบริเวณบนฝั่งใกล้ๆ  กับหนองน้ำได้มีรูปปูนปั้นหงส์ 2  ตัวเกาะอยู่บนเสาคอนกรีต   มีรูปร่างสวยงามและสง่างามมาก  ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเมื่อใด  ต่อมาเกิดการชำรุดขึ้นตามกาลเวลา  มีพ่อล่านนท์  จันต๊ะสงคราม  ได้ปั้นรูปหงส์คู่ใหม่ขึ้นแทนหงส์คู่เดิม  ต่อมาในปี 2525  ชาวบ้านวังหงส์ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างศาลาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นหงส์  โดยมีพ่อกี  ตื้อยศ  และครูวรเดช  ตื้อยศ  เป็นผู้ปั้น  เพื่อเป็นสัญลักษณ์และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาของชาวตำบลวังหงส์  มีการกล่าวขานกันว่า  ก่อนที่จะมีการสร้างรูปปั้นหงส์ขึ้นมานั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า  เมื่อก่อนชาวบ้านอยู่ไม่เป็นสุข  มักจะมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นเสมอ  หลังจากได้สร้างหงส์คู่นี้แล้ว  ชาวบ้านได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงในวันปากปีของทุกปี  (วันที่ 16  เมษายน  ของทุกปี)  และทำให้ชาวบ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา  นับแต่นั้นเป็นต้นมาชาววังหงส์จึงได้จัดให้มีพิธีดำหัวหงส์ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา สภาวัฒนธรรมบ้านวังหงส์/ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook/บ้านวังหงส์


เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หห่อคำ 083-7373307




เทศบาลเมืองแพร่ จัดโครงการอบรมผู้ดูแลเด็กศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้ครูผู้ดูแลเด็ก มีความรู้เรื่องโรคติดต่อและการป้องกันโรคติดต่อ



เทศบาลเมืองแพร่ จัดโครงการอบรมผู้ดูแลเด็กศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น. ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองแพร่     ชั้น 3 สำนักงานเทศบาลเมืองแพร่ เพื่อให้ครูผู้ดูแลเด็ก มีความรู้เรื่องโรคติดต่อและการป้องกันโรคติดต่อ      โดยมีครูผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองแพร่ จำนวน 9 แห่ง เข้าร่วมการอบรม    จำนวน 60 คน

นายพัฒนพงษ์  พงษ์นวล รองนายกเทศมนตรีรักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ เผยว่า      เด็กเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต การพัฒนาเด็กให้ได้รับความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา จึงนับเป็นภารกิจสำคัญที่หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องตระหนักและให้ความสนใจ จากสภาสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีเวลาที่จะเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยตนเอง จึงนิยมนำบุตรหลานไปฝากศูนย์เด็กเล็กหรือ โรงเรียนอนุบาลเร็วขึ้น ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลจึงเป็นสถานที่ที่เด็กมารวมกันเป็นจำนวนมาก พฤติกรรมเด็กที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น การเล่นรวมกัน การใช้ของใช้หรือของเล่นร่วมกัน เมื่อเด็กทีมีอาการเจ็บป่วยก็จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคสู่เด็กอื่นได้ง่าย โรคติดต่อที่สำคัญและพบบ่อยได้แก่ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคมือ เท้า ปาก โรคอุจจาระร่วง ครูผู้ดูแลเด็กเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดการเกิดและการแพร่กระจายของโรคติดต่อดังกล่าว เพื่อให้ครูผู้ดูแลเด็กมีความรู้ และความเข้าใจ ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ดังนั้นเทศบาลเมืองแพร่ จัดโครงการอบรมผู้ดูแลเด็กศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น. ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองแพร่ ชั้น 3 สำนักงานเทศบาลเมืองแพร่ โดยมีครูผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองแพร่ จำนวน 9 แห่ง เข้าร่วมการอบรมจำนวน 60 คน

วิทยาลัยชุมชนแพร่ จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ 2561




ในวันนี้ (28 พฤษภาคม 2561) เวลา 09.00 น. วิทยาลัยชุมชนแพร่ นำโดยนายอุบลศักดิ์ ขีดสร้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่ พร้อมด้วยรองผู้อำนวยการ และบุคลากรวิทยาลัยชุมชนแพร่ จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ เนื่องในวัน ปลูกต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ.2561 ซึ่งตรงกับวันที่ 29 พฤษภาคม ของทุกปี ณ อาคารวิทยบริการวิทยาลัยชุมชนแพร่แห่งใหม่ ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่


จังหวัดแพร่ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ 2561

     จังหวัดแพร่ร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมตามโครงการประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2561
 
     สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(28พ.ค.61) ที่วนอุทยานผาหลักหมื่น หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ปาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานนำคณะข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทุกหมู่เหล่า ปลูกต้นไม้ ตามโครงการประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2561 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชการที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และได้พระราชทานแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ โดยให้ความสำคัญกับการปลูกป่าในใจคน เพื่อให้ประชาชนเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ เป็นการเพิ่มความหลากหลายทางระบบนิเวศในพื้นที่วนอุทยานผาหลักหมื่นและบริเวณป่าโดยรอบ เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับผืนป่า
 
     โดยทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ได้นำเอาพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่มีค่า ไม้ป่าที่มีดอก ไม้ป่าพืชอาหารสัตว์ ได้แก่ ไม้อินทนิล ยางนา ราชพฤกษ์ ยมหิน สัก หว้า หวาย ปลูกบนพื้นที่ 10 ไร่ ใช้กล้าไม้ประมาณ 2,000 กล้า และมอบกล้าไม้อีกจำนวน 1,000 กล้า ให้ผู้เข้าร่วมงานนำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ
 
นอกจากการปลูกต้นไม้แล้ว ยังมีกิจกรรมทำฝายชะลอน้ำ การทำโป่งเทียม โปรยเมล็ดพันธุ์ไม้ เป็นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวันต้นไม้ประจำปีของชาติ เกิดจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ อีกทั้งเป็นการสร้างความรักความสามัคคีและร่วมกันทำความดีให้กับประเทศชาติ /.
 
ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ผลไม้พันธ์พื้นบ้าน




     ประเทศไทยมีผลไม้ออกตลอดทั้งปีทั้งผลไม้ตามฤดูกาลและนอกฤดูกาลราคาแตกต่างไปตามความนิยมและปริมาณผลผลิตความต้องการของตลาด 
     ผลไม้พันธ์ใหม่ๆถูกปรับปรุงสายพันธ์ให้เป็นไปตามที่ตลาดต้องการ คือมีผลใหญ่สีสันสวยงาม มีน้ำหนักดี หอม น่าทาน ที่สำคัญราคาต้องดีทำให้เกษตรกรชาวสวนแห่กันปลูก เมื่อผลผลิตออกมา ล้นตลาดราคาตกต่ำส่งผลให้ขาดทุน
เกษตรกรต้องกู้เงินมาลงทุนเพิ่มหรือปลูกไม้ผลตัวอื่นทดแทน  แต่การปลูกไม้ผลนั้นต้องใช้เวลาเงินทุนและความรู้ความเชี่ยวชาญประกอบกันจึงจะได้ผลกำไร ที่สำคัญต้องดูช่องทางแนวโน้มการตลาดล่วงหน้า เช่น การบังคับให้มีผลผลิตก่อนฤดูกาลเพื่อออกสนองความต้องการโดยเพิ่มเพ็จเกจให้สวยงามเท่านี้มูลค่าของสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ไม้ผลพื้นเมืองก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กำลังกลับมาเป็นที่ นิยมปัจจุบันกระแสความนิยมของผลไม้ท้องถิ่นมีความต้องการสูงขึ้น
     เนื่องจากมีรสชาติเฉพาะปริมาณผลผลิตน้อย เพราะเป็นไปตามธรรมชาติ อย่างเช่น ทุเรียน ที่ราคาลูกละหลายร้อยบาท ด้วยพื้นที่ปลูกดินแร่ธาตุดีทำให้รสชาติทุเรียนที่มีเอกลักษณ์  ต่างจากทุเรียนพันธุ์ก้านยาว,หมอนทองหรือชะนีที่วางขายตามท้องตลาดสำหรับจังหวัดแพร่นั้นสามารถปลูกผลไม้ได้หลายชนิดแต่ที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับ  คือพุทธานมสด,ลางสาด,ลองก๋อง,สับปะรดห้วยหมุ่น ส่วนทุเรียนป่าแดงยังคงรู้จักในวงแคบแต่มีรสชาติลักษณะคล้ายหลงลับแลของอุตรดิตถ์ หากมีการสนับสนุนคงจะเป็นที่ต้องการของตลาด และยังมีผลไม้อีกหลายชนิดที่เริ่มหารับประทานได้ยากแล้วที่ยังมีโอกาสกลายเป็นผลไม้มีมูลค่า เช่น มะม่วงแก้วพื้นบ้านที่ลูกดก มีรสเปรี้ยว เมื่อสุกจะหอมหวานที่หลายบ้านปลูกไว้หรือมีอยู่ในสวนโดยไม่ต้องปลูกและดูแลก็ให้ผลผลิตเยอะนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น มะม่วงดอง-แช่อิ่ม-กวน-ตาก ทำได้มากมายหรือจะทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ได้ เช่น การทำแยมบรรจุขวด,ผลไม้กระป๋อง ฯลฯ ผลไม้พื้นบ้านที่เคยปลูกไว้ตามเขียงนา ท้ายสวน มุมบ้าน จากที่เคยคิดว่าปลูกไว้รับประทานกันเองไม่ได้มีไว้จำหน่าย ไม่เคยดูแล ใส่ปุ๋ย เป็นพันธุ์พื้นบ้านที่กำลังจะหมดไปเพราะสายพันธุ์ใหม่เข้ามาแทนที่หากเกษตรกรคิดให้ดีและศึกษาช่องทางตลาด พัฒนา เพิ่มมูลค่า มะม่วงแก้ว มะขามปรี้ยว
มะเฟือง พุทธา มะยม ฯลฯ ตามรอบรั้วบ้านก็เปลี่ยนเป็นผลไม้ที่ตลาดต้องการได้



โดย นายคมสัน  หน่อคำ
083-7373307

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สำนักงานประมงจังหวัดแพร่ เตือนงดจับปลาในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่


     สำนักงานประมงจังหวัดแพร่เตือนงดจับปลาในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม ถึง 15 กันยายนนี้ ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท
 
     สำนักงานประมงจังหวัดแพร่แจ้งว่า ด้วยประกาศกระทรวงเกษตร กำหนดให้วันที่ 16 พฤษภาคม ถึง วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี เป็นฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อน โดยกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมการทำการประมงในแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ เพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำมิให้ถูกทำลายไปมาก จนเกินกำลังธรรมชาติจะผลิตได้ ทั้งนี้ในระยะเวลาดังกล่าว ห้ามมิให้ทำการประมงด้วยเครื่องมือ ทำการประมงหรือด้วยวิธีใดๆ ในที่จับสัตว์น้ำจืดโดยเด็ดขาด
 
     แต่ได้ยกเว้น 1. เบ็ดทุกชนิด ห้ามเพียงเบ็ดราว 2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และห้ามมิให้ทำการประมง ด้วยวิธีการติดตั้งเรียงกันตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป 3. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จาก การทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
 
     สำนักงานประมงจังหวัดแพร่ จึงขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชนได้ช่วยกันดูแลคุ้มครองสัตว์น้ำจืด ให้ทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่คู่ลูกหลานสืบไป เช่น การดูแลแหล่งวางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนของสัตว์น้ำ และการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องถิ่นของตน นับเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังคำขวัญ "การอนุรักษ์ จะได้ผล ถ้าประชาชนมีส่วนร่วม” ภายใต้นโยบาย "ประชาสัมพันธ์ นำการจับกุม” และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนกรุณาแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ กรณีพบผู้กระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น สามารถแจ้งได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอในพื้นที่ สำนักงานประมงจังหวัดแพร่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5451-1999 หรือที่หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนสิริกิติ์ อุตรดิตถ์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5540-2094 /.
 
กลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง
สำนักงานประมงจังหวัดแพร่ / ข่าว

วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร






      วัดพระบาทมิ่งเมือง วรวิหาร เป็นวัดที่เกิดจากการรวมวัด 2 วัด คือ วัดพระบาท กับวัดมิ่งเมือง เป็นวัดพระบาทมิ่งเมือง เมื่อปี 2490
สมัยพระปริยัติวงศาจารย์ (ฟู อตฺตสิโว) เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบาท และเป็น เจ้าคณะจังหวัดแพร่ (ต่อมาได้รับสถาปนา เป็น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์) และพระมหาสุจี กตสาโรเป็นเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น พระมหาโพธิวงศาจารย์) วัดพระบาท กับ วัดมิ่งเมือง อยู่ห่างกันเพียงมีตรอกคั่น เจ้าอาวาสทั้ง ๒ วัดได้ปรึกษากับเจ้าตุ่น วังซ้าย ซึ่งเป็นศรัทธาต้น (ศรัทธาเก๊า) ของวัดมิ่งเมือง ว่าจะจัดงานกิ๋นสลาก ที่วัดมิ่งเมือง แต่วัดมิ่งเมืองคับแคบ จึงได้ตกลงที่จะทุบกำแพง รวมวัดทั้งสองเข้าด้วยกัน ซึ่งพระมหาสุจี กตสาโร ได้ทำหนังสือขอความเมตตาจาก อาจารย์ลือ ไชยประวัติ ครูใหญ่โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ ขอนักเรียนโรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ มาช่วยทุบกำแพง ต่อมาในปี 2491 พระปริยัติวงศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระบาท เจ้าคณะจังหวัดแพร่ ได้ทำหนังสือ ขออนุญาตสังฆมนตรี ให้รวมวัดพระบาทกับ วัดมิ่งเมือง เป็นวัดเดียวกัน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2492 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศรวม วัดพระบาท กับวัดมิ่งเมืองเข้าด้วยกัน เป็นวัดพระบาทมิ่งเมือง มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2498 กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศว่า วัดพระบาทมิ่งเมืองได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ยกฐานะจากวัดราษฎร์ ให้เป็น พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร โดยมีพระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2498 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธศิลป์เชียงแสนผสมสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแพร่,รอยพระพุทธบาท 4 รอยซ้อน เป็นโบราณสถาน ที่เก่าแก่ตามตำนานว่าสร้างพร้อมกับพระธาตุช่อแฮ, พระเจดีย์มิ่งเมือง เป็นพระเจดีย์ก่อบุทองเหลืองจังโก ฐานล่างสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็น พระเจดีย์โบราณศิลปะพื้นเมืองแพร่,พิพิธภัณฑ์พระวิหารมิ่งเมือง ฯลฯ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตย์กรรมที่สำคัญของจังหวัดแพร่

       ประวัติวัดพระบาท ตามตำนานกล่าวว่า สมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดเวไนยสัตว์แล้วได้เสด็จลงมายังเมืองพลนครหรือนครพลได้มาประทับพักพระอิริยาบถ ณ ปากถํ้าพญานาคซึ่งมีลมออกจากปากถํ้าแรงมาก จากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จประทับรอยพระพุทธบาท 4 รอย ไว้ ณ ปากถํ้า สถานที่ดังกล่าว ก็คือ วัดพระพุทธบาท ต่อมาเจ้ามหาอุปราช ได้สร้างพระวิหารครอบรอย พระพุทธบาท 4 รอย จากนั้นปากถํ้าก็ถูกปิดทันที

     ประวัติวัดมิ่งเมือง ตามตำนานเล่าว่า วัดมิ่งเมือง เป็นวัดที่เจ้าผู้ครองนครแพร่เป็นผู้สร้าง ยุคแรกๆ เจ้าผู้ครองนคร จะมาร่วมทำบุญพร้อมกับราษฎร ต่อมามีราชกิจมาก ทำให้มาทำบุญตักบาตรร่วมกับราษฎรไม่ค่อยทันเวลา จึงได้ปรึกษากับเจ้านายบุตรหลาน ซึ่งสร้างวัดขึ้นใหม่ในสวนอุทยานของเจ้าผู้ครองนคร ชื่อ วัดสวนมิ่ง หรือ วัดสมมิ่ง หรือวัดมิ่งเมือง ต่อมาได้สร้างพระเจดีย์มิ่งเมืองให้เป็นสัญลักษณ์ว่า เป็นวัดที่อยู่ใจกลางเมือง ต่อมาได้มีการสร้างหอธรรม และพระวิหารหลวงมิ่งเมือง ซึ่งได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์มิ่งเมือง หอธรรม และพระวิหารหลวงมิ่งเมือง จากเจ้านายบุตรหลานของเชื้อสายเจ้าเมืองแพร่ ให้อยู่ในสภาพเดิม ปัจจุบันพระวิหารหลวงมิ่งเมือง ได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ พระวิหารมิ่งเมือง

     ปัจจุบันวัดพระบาทมิ่งเมือง ตั้งอยู่เลขที่ 16 ถนนเจริญเมือง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองจังหวัดแพร่ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวแพร่

ที่มาข้อมูลและรูปภาพ วิกีพีเดีย,ททท.สำนักงานแพร่,สำนักงานจังหวัดแพร่,google
เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ 095-4486157




วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ผู้ว่าฯแพร่ เปิดงานแสดงสินค้าใหญ่กลางเมือง กระตุ้นสินค้าเกษตรปลอดภัย



     จังหวัดแพร่โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแพร่ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) จัดกิจกรรมแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยภายใต้ชื่องาน “มหกรรมสินค้าเกษตรปลอดภัย นวัตกรรมก้าวไกล เกษตรกรไทยพัฒนา” ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2561 ณ ลานหน้าศาลากลางจังหวัดแพร่ (กาดสามวัย) อำเภอเมือง จังหวัดแพร่


      นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่) กล่าวว่า “กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่และน่าน เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองเกษตรกรรม โดยมีโครงสร้างเศรษฐกิจมาจากภาคเกษตร มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มีทัศนียภาพที่สวยงาม และยังมีเขตแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพทางการเกษตร โดยเฉพาะการเกษตร ที่สามารถหลอมรวมกับการท่องเที่ยว การพัฒนาศักยภาพนั้น ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เกษตรกรจำเป็นต้องยกระดับผลิตภาพการผลิต และการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในสาขาอุตสาหกรรม เกษตรและบริการ การสร้างความมั่นคง และปลอดภัยด้านอาหาร การเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า และการเป็นผู้ประกอบการ การยกระดับและสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจชุมชน จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร สนับสนุนเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ ตามแนวทางการพัฒนาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งจากภายใน และสร้างความยั่งยืนและมั่นคงให้ประเทศยิ่งขึ้ง”

      ด้านนางดรุณี รักษ์วงศ์ (พาณิชย์จังหวัดแพร่)กล่าวว่า “การจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้ามหกรรมสินค้าเกษตรปลอดภัย นวัตกรรมก้าวไกล เกษตรกรไทยพัฒนานี้ เป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร โครงการส่งเสริมอาชีพตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแปลงใหญ่ โครงการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพการผลิตข้าวปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแพร่ จัดกิจกรรมบูรณาการ ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ โดยกิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน – วันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ณ ลานหน้าศาลากลางจังหวัดแพร่ (กาดสามวัย) อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ กิจกรรมในงานประกอบไปด้วย

1) การจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย ผลิตภัณฑ์แปรรูป จากสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์กลุ่มแปลงใหญ่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จากกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) จำนวน 60 คูหา

2) การจัดนิทรรศการ แปลงใหญ่ต้นแบบ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน)

3) คูหาให้คำปรึกษาแนะนำ และความรู้ที่จำเป็นในการผลิตข้าวและพืชเศรษฐกิจที่สำคัญให้มีคุณภาพปลอดภัยและได้มาตรฐาน

4) กิจกรรมการแข่งขันทำอาหารจากสินค้าเกษตรปลอดภัย ตลอดจนกิจกรรมบันเทิงต่างๆอาทิ การแสดงดนตรี และการแสดงศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

กิจกรรมดังกล่าวนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแพร่ และสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ บูรณาการจัดงานร่วมกัน ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ในการสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าเกษตรปลอดภัยที่มีศักยภาพ โครงการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยการพัฒนาสินค้าและอาหารที่ผลิตจากภาคเกษตรให้มีความปลอดภัย และเป็นฐานหลักเชื่อมโยงโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยว ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิต ทั้งภาคผู้ผลิตและผู้บริโภค สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนภายในประเทศ”

วัดหัวข่วงสิงห์ชัย




 “วัดหัวข่วงมีเจดีย์ยืนตั้งมั่นอันสง่างามสูงตระหง่าน๒๕.๖๐เมตรเป็นหลักฐานและสัญลักษณ์อันเก่าแก่ของการแรกเริ่มการก่อสร้างพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่มีอายุร่วม 1212 ปีซึ่งมีอายุยืนยิ่งกว่าโบราณสถานของกรุงศรีอยุธยาที่มีอายุเพียง 662 ปีแม้แต่กรุงสุโขทัยซึ่งตั้งราชธานีเมื่อปีพ.. 1800 ก็ภายหลังวัดหัวข่วงถึง 454 ปี

  พุทธศักราช 1387 ขุนหลวงพล เจ้าหลวงเมืองแพร่ ที่ชราภาพมากแล้ว ได้มอบให้  ท้าวพหุสิงห์ ครองเมืองพลแทน ท้าวพหุสิงห์เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก หลังจากครองเมืองพลได้ 1ปี จึงให้ขุนพระพิษณุวังไชย ไปว่าจ้างช่างจากเวียงพางคำ เชียงแสน มาบูรณะซ่อมแซมวัดหลวง  แม่เฒ่าจันคำวงศ์  แม่ของขุนหลวงพล  เห็นฝีมือของช่างจากเวียงพางคำ  เชียงแสน มีฝีมือวิจิตร  จึงว่าจ้างให้ช่างดังกล่าวสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง โดยเลือกเอาที่ดินซึ่งเป็นลานกว้างขวาง แต่เดิมใช้เป็นสนามกีฬาประจำเมือง (ข่วงเล่นกีฬาประจำเมือง )                ขุนพระพิษณุวังไชย จึงให้ช่างทำพิธีสู่ขวัญเสาแก้วของวัด ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปีเล้า และตั้งชื่อว่าวัดหัวข่วงสิงห์ชัยท้าวพหุสิงห์ โปรดให้จัดงานเฉลิมฉลองพร้อมกับวัดหลวงเป็นเวลา 5 วัน 5 คืน  มีการละเล่น จ๊อย ซอ เล่าค่าว ให้ขุนแขกลือราช สร้างโรงทานไว้ 4 มุมวัด และนิมนต์พระจากหลวงพระบางมาจำพรรษาสั่งสอนอบรมชาวเมืองพล                พุทธศักราช 1435 ขุนพนมสิงห์ ขึ้นครองเมืองพล บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ชาวเมืองต่างทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ขุนพนมสิงห์จึงให้บูรณะซ่อมแซมวัดหัวข่วงสิงห์ชัย โดยให้ชาวเมืองช่วยกันปั้นอิฐ (ดินกี่) ก่อสร้างกำแพงวัดขึ้นใหม่ เพราะกำแพงเดิมถูกน้ำยมเซาะจนพังทลายไป เมื่อสร้างเสร็จโปรดให้จัดงานฉลอง 3 วัน 3 คืน                ต่อมาใน พุทธศักราช 1443 ขุนพนมสิงห์ สถาปนาเมืองพลเป็น “ พลรัฐนคร และเลื่อนตัวเองเป็น พญาพนมสิงห์ โปรดให้ขุนอภัยเดินทางไปเมืองลัมปะนคร (ลำปาง) อาราธนาครูบาศรีใจ มาเป็นประธานก่อสร้างเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งทางด้านตะวันตกของวิหาร ฐานเจดีย์กว้าง 12 ศอก 9 นิ้ว องค์เจดีย์ตอนบนห่อหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่ามตา   กล่าวกันว่าในเดือนแรมราว 14-15 ค่ำ  จะปรากฏดวงแก้วสุกใส  ลอยจากยอดเจดีย์  พุ่งวาบ ๆ ไปทางทิศตะวันออกของเมืองพลรัฐนครเสมอ                เมื่อพุทธศักราช 1524 ขอมส่งกองทัพจำนวนหลายหมื่นคน เข้ารุกรานอาณาจักรโยนกเชียงแสน พลรัฐนครถูกกองทหารขอมโจมตี เผาวัดวาอาราม ลอกเอาทองคำหุ้มพระและเจดีย์ไปเป็นจำนวนมาก วัดหัวข่วงสิงห์ชัยถูกทำลายเสียหายย่อยยับ จนกลายเป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง ภายหลังชาวเมืองพลรวบรวบกำลังพลขับไล่ขอม จึงมีการบูรฅณะวัดขึ้นอีกครั้ง          ปัจจุบัน วัดหัวข่วง ตั้งอยู่เลขที่ 21 ถนนคำแสน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่  มีเนื้อที่ 3 ไร่2 งาน 1 ตารางวา  ตำนานวัดหัวข่วง ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนได้เล่าสืบต่อๆกันมาว่า ภายในองค์พระธาตุเจดีย์วัดหัวข่วงนั้นมี สำเภาเงินสำเภาทอง ลักษณะคล้ายเรือสุพรรณหงส์ เป็นยานพาหนะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับบรรจุแก้วแหวนเงินทองที่ไม่อาจประมาณมูลค่าได้และยังมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า พระขึดหรือพระมืด มีลักษณะสีดำเป็นทองสัมฤทธ์ มีความมหัศจรรย์คือ เมื่อนำเอาพระพุทธรูปองค์นี้จุ่มลงในบ่อน้ำ ก็จะปราฎมีทั้งลมและฝนตกอย่างหนักสร้างความเดือดร้อนกับผู้จัดงานเทศกาล อตีดเจ้าอาวาสจึงได้นำไปฝังซ่อนไว้และทำพิธีสาบแช่งไม่ให้ใครนำออกมาสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกต่อไปเพราะฉนั้นพระเจดีย์วัดหัวข่วง จึงมีดวงแก้วแสดงปาฎิหารย์มาปรากฎให้เห็นที่พ้นวิสัยที่สามัญชนจะทำได้ คือ ดวงแก้วจะปราฎในวันสำคัญทางพุทธศาสนาและดวงแก้วจะท่องเที่ยวไปตามพระเจดีย์ต่างๆ โดยลอยจากเจดีย์วัดหัวข่วงไปพระธาตุช่อแฮและพระธาตุหลวงธาตุเนิ้ง ซึ่งแต่ละแห่งอยู่ห่างกัน 9 กิโลเมตร

โดยนายคมสัน  หน่อคำ 083-7373307


เทศบาลเมืองแพร่กำหนดจัดโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำด้านสุขภาพ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะการทำงานด้านสาธารณสุขมูลฐาน ให้แก่แกนนำด้านสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน




เทศบาลเมืองแพร่กำหนดจัดโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำด้านสุขภาพ
เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะการทำงานด้านสาธารณสุขมูลฐาน
 ให้แก่แกนนำด้านสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน

เทศบาลเมืองแพร่กำหนดจัดโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำด้านสุขภาพ วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองแพร่ ชั้น ๓ สำนักงานเทศบาลเมืองแพร่ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะการทำงานด้านสาธารณสุขมูลฐาน ให้แก่แกนนำด้านสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน           จำนวน ๑๓๐ คน
นายพัฒนพงษ์ พงษ์นวล รองนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ เผยว่า ประเทศไทยได้นำกลวิธีสาธารณสุขมูลฐาน เป็นแนวทางการพัฒนาสุขภาพของประชาชน โดยบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ เป็นต้นมา และการสาธารณสุขมูลฐาน เป็นส่วนสำคัญในวิวัฒนาการของการสาธารณสุขไทยมาโดยตลอด และยังเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพที่ปฏิวัติบทบาทภาคประชาชน ด้านสุขภาพ กล่าวคือ การสร้างความรู้สึกและจิตสำนึกให้ประชาชนทุกคนมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการปรับบทบาทครั้งใหญ่จากรัฐเป็นผู้ให้ ประชาชนเป็นผู้รับ กลายเป็นรัฐเป็นผู้สนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทในการดูแลแก้ปัญหาสุขภาพของชุมชนเอง ตลอดจนเป็นเวทีเปิดโอกาสให้มีการเสนอรูปแบบและแนวทางการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขเท่านั้น
เทศบาลเมืองแพร่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลประชาชน โดยใช้การบริหารบ้านเมืองที่ดี และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งในด้านการสาธารณสุข ใช้หลักการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดยมีแกนนำส่งเสริมสุขภาพเป็นผู้ขับเคลื่อนระดับชุมชน ดังนั้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะการทำงานด้านสาธารณสุขมูลฐาน ให้แก่แกนนำด้านสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน ผู้ที่มีส่วนขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขมูลฐานในเขตเมือง การส่งเสริมการเฝ้าระวังโรคต่างๆ การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และเพื่อให้แกนนำสุขภาพในชุมชน มีประสบการณ์การเรียนรู้ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม การจัดทำแผนสุขภาพ โครงการต่างๆ เป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ เทศบาลเมืองแพร่จึงกำหนดจัด โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำด้านสุขภาพ ในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑  เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองแพร่ ชั้น ๓ สำนักงานเทศบาลเมืองแพร่  มีผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย แกนนำสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ทั้ง ๑๘ ชุมชน จำนวน ๑๓๐ คน