วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

คำมะเก่า


     “แก่นตาควักออก เอาบ่ากอกเข้ายัด” หมายถึง ของมีค่าอยู่กับตนไม่รู้จักใช้ แต่ไปหาสิ่งไร้ค่ามาแทน

     “ของกิ๋นลำอยู่ตี้คนมัก ของฮักอยู่ตี้คนเปิงใจ๋”  หมายถึง ความพึงพอใจของแต่ละบุคคล ไม่สามารถบังคับกันได้

    “ขี้โลภปันเสีย ขี้เหลือปันได้” หมายถึง คนโลภมักจะเสียของ คนไม่โลภมักจะได้ทรัพย์

    “คนจะดี ตึงดีเมื่อผ้าอ้อมปอก คนจะวอก มันตึงวอกต๊าวต๋าย” หมายถึง คนดีก็จะดีตั้งแต่แรก คนโป้ปดมดเท็จ มันก็เป็นแบบนั้นไปตลอด

    “คนหมั่น ยากไร้ มีคนสงสาร ขี้คร้านแอวยาน ไผบ่ผ่อหน้า” หมายถึง คนขยันหมั่นเพียร แม้ยากไร้ ก็มีคนสงสาร คนขี้เกียจสันหลังยาว ไม่มีใครสนใจ

    “คนอู้ได้ปากนัก อมแพะเต็มปากยังบ่ฮู้ตัว” หมายถึง การห้ามคนพูดมากให้หยุดพูดเป็นการยาก

    “คนเฮามนุษย์ อย่าไปหัวแข็ง หื้อร่ำเปิดแยง ต๋ามธรรมพระเจ้า” หมายถึง อย่าทำเป็นคนหัวแข็งดื้อด้านว่ายาก สอนยาก

    “ใคร่ขี้ล่นหาขอน ใคร่นอนล่นหาสาด” หมายถึง คนที่อยู่ไปวันๆอย่างไม่มีความกระตือรือร้น ถึงเวลาจำเป็นจึงจะเตรียมตัว

    “เฒ่าหัวเฒ่าหาง ตางกลางยังบ่เฒ่า” หมายถึง คนแก่ที่แก่แต่ตัวหัวใจไม่ยอมแก่

    “ตกต๋าเปิ้นเป๋นดีใคร่หัว ตกต๋าตัวเป๋นดีใคร่ไห้” หมายถึง อย่าหัวเราะเยาะเมื่อผู้อื่นทำพลาด เพราะเมื่อเราทำพลาดเราก็จะถูกหัวเราะเยาะเช่นกัน   

    “ตางไปวัดหมอง ตางไปหนองเหลี้ยม” หมายถึง คนที่หลงผิดจนยากจะเห็นธรรม

    “ต๋าอยู่หน้า ผ่อหน้าบ่หัน” หมายถึง ความบกพร่องของคนอื่นนั้น เรามองเห็นได้ชัด แต่ความบกพร่องของตนแล้วมักจะมองไม่เห็น

    “เปิ้นว่าเสือ ตั๋วว่าพระเจ้า บ่ดีเน้อปี้น้อง” หมายถึง สิ่งที่คนอื่นมองว่าไม่ดี แต่เรากลับมองว่าดี


กีฬาสีโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวัน





     โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวันกำหนดจัดการแข่งขันกีฬาสีภายในสถานศึกษา “ สาธิตเกมส์ ” วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ณ สนามโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวัน เพื่อส่งเสริม สนับสนุน นักเรียนให้เกิดทักษะทางการกีฬา ปลูกฝังความมีน้ำใจ รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และห่างไกลจากยาเสพติด

     นางจินตนา ทุ่งเก้า ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวัน เผยว่า โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวันกำหนดจัดการแข่งขันกีฬาสีภายในสถานศึกษา“ สาธิตเกมส์ ” วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ณ สนามโรงเรียนสาธิตเทศบาล บ้านเชตวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน นักเรียนให้เกิดทักษะทางการกีฬา ปลูกฝังความมีน้ำใจ รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และห่างไกลจากยาเสพติด เพื่อสร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์อันดีของนักเรียนทุกระดับชั้น ให้นักเรียนมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี สอดคล้องกับมาตรฐานด้านผู้เรียนเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี เพื่อส่งเสริมทักษะการทำงานของนักเรียน เพื่อธำรงไว้ซึ่งประเพณีการแข่งขันกีฬาสีและกรีฑาภายในของโรงเรียนให้สืบต่อไปเป็นประจำทุกปี การแข่งขันกีฬาสีภายในโรงเรียน “สาธิตเกมส์” ในครั้งนี้แบ่งนักกีฬาออกเป็น 4 สีได้แก่สีเขียว สีแดง สีฟ้า และสีเหลือง มีการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ได้แก่ ตะกร้อ วอลเลย์บอล ฟุตบอล เปตอง กีฬาพื้นบ้าน และกรีฑา



งานประชาสัมพันธ์ / ข่าว / พิมพ์

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ศาลหลักเมือง ตอนที่ 1




      ศาลหลักเมือง คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ตั้งของหลักเมือง ซึ่งตามธรรมเนียมพิธีของศาสนาพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ประเทศไทย เชื่อว่าทำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่ากันว่า พิธีสร้างเมืองต้องฝังอาถรรพ์ ๔ ประตูเมืองและเสาหลักเมือง คือ ต้องเอาคนมาฝังในหลุม เพื่อให้เฝ้าบ้านเมือง ซึ่ง จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "เป็นเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ไม่มีบันทึกในพงศาวดาร ไม่น่าจะเป็นไปได้ คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่ามาจากนิทานที่เล่าสืบต่อกันมา เหมือนกับการโล้ชิงช้าที่เล่ากันว่าพราหมณ์ตกลงมา ก็ให้ฝังไว้ตรงเสาชิงช้า

     เมืองแพร่เองก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของชื่อประตูมารว่ามาจากการฝังคนท้องมานไว้ที่ประตูนั้น แต่ในเรื่องเล่านั้น เรียกว่า พิธีเบิกประตูเวียง ตามความเชื่อว่าการสร้างเวียงใหม่ ต้องทำ "ประตูบาก" ไว้ประตูหนึ่ง โดยจะมีพิธีประหารผู้มีชะตาถึงฆาต เพื่อให้วิญญาณรักษาประตูแห่งนี้ไว้ ไม่ใช่การฝังอาถรรพ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับชื่อของประตูด้านทิศใต้ของเวียงแพร่แห่งนี้ ก็มีการเสนอที่มาอื่นอีก เช่น คำว่า "มาร" คงหมายถึง สิ่งล้างผลาญคุณความดีเป็นมาร ๕ คือ กิเลสมาร, ขันฑมาร, เทวปุตตมาร, อภิสังขารมาร, มัจจุราชมาร และเทพประจำทิศใต้มีท้าววิรุฬหก (กุมภัณฑ์ จอมเทวดา) มหาราชเป็นผู้ปกครองและเป็นใหญ่ทางทิศใต้ ตามความเชื่อในเรื่อง "ต้าวทั้งสี่" หรืออีกด้านหนึ่ง มีการเสนอว่า "ประตูมาร" มาจากการเป็นประตูที่เป็นเส้นทางออกจากเวียงแพร่ มุ่งไปสู่เมืองมาน ซึ่งเป็นเมืองด่านด้านทิศใต้ แต่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏว่า เมื่อครั้งสร้างเมืองแพร่มีการฝังเสาหลักเมืองเหมือนกรุงเทพฯ หรือเสาอินทขิลเหมือนอย่างเมืองเชียงใหม่

     สำหรับศาลและเสาหลักเมืองแพร่ในปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่บนถนนคุ้มเดิม เยื้องจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เข้าใจว่าศาลหลักเมืองแพร่สร้างในครั้งแรก­พร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ มีหลักเมืองเดิมเป็นรูปใบเสมา เรียกกันว่า ศิลาจารึกศาลหลักเมืองแพร่ ถูกนำมาไว้ใจกลางเมือง ซึ่งถือว่าเป็น สะดือ เดิมมีสภาพเป็นพื้นที่ร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่เป็นที่ตั้งของศาลเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ตูบผี ต่อมาพื้นที่นี้ได้ถูกถางตัดต้นไม้ใหญ่ออก และนำเอาหลักศิลาจารึกที่พบหลักหนึ่ง(ในวัดร้างศรีบุญเริง ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณเรือนจำจังหวัดแพร่) ยึดถือเป็นหลักเมืองแพร่ ภายหลังจึงได้มีการสร้างศาลหลักเมืองเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขึ้น เป็นหลักใหม่สร้างตามนโยบายมหาดไทย ปี ๒๕๓๕ ติดตามต่อตอนที่ 2


อบจ.แพร่ นำชุดนิทรรศการจิตอาสาเพื่อพัฒนาลำน้ำแม่แคม





     อบจ.แพร่ นำชุดนิทรรศการจิตอาสาเพื่อพัฒนาลำน้ำแม่แคม บนวิถีแห่งความพอเพียงเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน จังหวัดแพร่ นำเสนอในงานกิจกรรมเดินรณรงค์ “คน รัก คลอง” … “ไม่ทิ้ง ไม่เท ทุ่มทำความดี”


     เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดกิจกรรมเดินรณรงค์ “คน รัก คลอง” … “ไม่ทิ้ง ไม่เท ทุ่มทำความดี” พร้อมทั้งกล่าวน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมทั้งนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมกล่าวคำปฏิญาณตน “เราทำความดีด้วยหัวใจ” 3 ครั้ง โดยมีจิตอาสา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินรณรงค์ ประกอบด้วย ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ภาคีเอกชนหลักของรัฐบาล ตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ นักเรียนที่อยู่ในเขตจัดกิจกรรม และตัวแทนภาคประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนประมาณ 5,000 คน ณ บริเวณคลองเปรมประชากร ในส่วนภูมิภาคจะจัดกิจกรรมเดินรณรงค์พร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด ทั่วประเทศในวันและเวลาเดียวกันนี้ โดยที่จังหวัดแพร่จัดกิจกรรม ณ ลำห้วยแม่แคม

    นอกจากนี้ยังได้จัดนิทรรศการและกิจกรรมรวมพลคนรักคลอง ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเชิญ อบจ.แพร่ เข้าร่วมจัดนิทรรศการ ได้นำเสนอนิทรรศการโครงการจิตอาสาเพื่อพัฒนาลำน้ำแม่แคม บนวิถีแห่งความพอเพียงเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน จังหวัดแพร่ จัดกิจกรรมพัฒนาลุ่มน้ำแม่แคมที่ไหลผ่านพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอเมืองแพร่ ต้นน้ำ ตำบลสวนเขื่อน พัฒนาด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและลอกลื้อวัชพืช เพิ่มการไหลของน้ำ กลางน้ำ ตำบลบ้านถิ่น ตำบลเหมืองหม้อ พัฒนาแหล่งน้ำให้เก็บกักน้ำไว้ในลำแม่แคมเพื่อการประกอบอาชีพของประชาชน ปลายน้ำ ตำบลทุ่งกวาว ตำบลในเวียง เป็นพื้นที่เขตเมืองชุมชนหนาแน่น มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย พัฒนาด้วยการส่งเสริมและฝึกอบรมให้บำบัดน้ำเสียในครัวเรือน ด้วยการทำถังดักไขมันระดับครัวเรือนบำบัดน้ำก่อนทิ้งลงลำน้ำแม่แคมและไหลไปลงแม่น้ำยม








วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561

จังหวัดแพร่จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2561


     จังหวัดแพร่ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำแพร่ ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2561 เพื่อร่วมรณรงค์ ปลุกจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วน ตระหนักในผลเสียหายร้ายแรง จากการทุจริตคอร์รัปชัน


     สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(7ธ.ค.61) ที่ห้องประชุมมเหสักข์ ชั้น 3 วิทยาลัยเทคนิคแพร่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด "Zero Tolerane คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” พร้อมกันกับส่วนกลาง เพื่อร่วมรณรงค์ ปลุกจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วน ตระหนักในผลเสียหายร้ายแรง จากการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร ภาคีเครือข่าย หน่วยงานและทุกภาคส่วน ในการร่วมมือกันป้องกันการทุจริต ตลอดจนเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่จังหวัดแพร่ และสร้างกลุ่มเครือข่ายป้องกันการทุจริตที่ยั่งยืน

     ในการจัดงานได้มอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติสมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงด้านทุจริตจังหวัดแพร่ นอกจากนี้ยังมีการแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ

     สำหรับแนวคิด "Zero Tolerane คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” นั้นมุ่งเน้นให้คนไทยต้องลุกขึ้นทำหน้าที่และปกป้องสิทธิของตนเองและประเทศชาติโดยไม่ทนต่อการทุจริต และมีจิตสำนึกที่ถูกต้อง ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และความพอเพียง พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุจริต เพื่อให้ประเทศไทยโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล /.

ฉัตรชัย พวงขจร/ ข่าว /พิมพ์ /
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

ข้าวหนุกงา ของลำคนเมือง



     เข้าฤดูหนาวแล้ว ชาวนาเสร็จจากการเกี่ยวข้าว ทำให้มีข้าวใหม่กินกัน และในขณะเดียวกันชาวไร่ก็เกี่ยวงาขี้ม้อน ซึ่งช่วงเป็นเวลาใกล้เคียงกันพอดี ชาวล้านนาจึงนำข้าวเหนียวและงาขี้ม้อนมาทำเป็น “ข้าวหนุกงา” เพื่อเป็นอาหารว่างและขนม อันเป็นที่ชื่นชอบของทั้งเด็กและผู้ใหญ่

     ข้าวหนุกงา ( หนุก แปลว่า คลุกหรือนวด) หรือข้าวคลุกงา มีส่วนผสมที่สำคัญคือ ข้าวเหนียวนึ่งสุก,งาขี้ม้อน,เกลือ วิธีทำข้าวหนุกงา คือ นำข้าวเหนียวมาล้างให้สะอาด แช่น้ำไว้หนึ่งคืน แล้วนำข้าวที่แช่ไว้ นึ่งด้วยไฟกลางประมาณ 5- 10 นาที พอข้าวสุกให้เทลงภาชนะที่เตรียมไว้ คนให้ไอรอนลดลง แล้วบรรจุใส่ในแอ๊บข้าวที่เตรียมไว้ ต่อมานำงาขี้ม้อน มาคั่วด้วยไฟอ่อนๆ จนมีกลิ่นหอม โขลกงาขี้ม้อนกับเกลือให้และเอียด ใส่ข้าวเหนียวร้อนๆลองโขลกรวมกัน นวดจนเป็นเนื้อเดียวกัน เท่านี้ก็จะได้ข้าวหนุกงาที่แสนอร่อยมาทานกันแล้ว เคล็ดลับความอร่อย ข้าวเหนียวที่นำมาทำข้าวหนุกงาต้องเป็นข้าวที่นึ่งสุกใหม่ๆและร้อนๆ จะทำให้ข้าวและงาม้อน โขลกเข้าเป็นเนื้อเดียวกันง่าย และมีรสชาติดี

     สำหรับงาขี้ม้อน เป็นพืชตระกูลเดียวกับกระเพรา โหระพา และใบแมงลัก มีลักษณะเป็นงาเม็ดกลมเล็กๆ สีน้ำตาล นิยมบริโภคกันในแถบประเทศเอเชีย งาขี้ม่อน นิยมปลูกกันมากในภาคเหนือของประเทศไทย ปัจจุบันมีการนำงาขี้ม้อนมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชาขี้ม้อน คุกกี้งาขี้ม้อน หรือนำไปเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นธัญญาพืชที่มีประโยชน์มากมาย เช่น

     งาขี้ม้อนถูกใช้ทำยามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น แต่ได้รับความนิยมมากเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยถูกนำไปเป็นส่วนประกอบของยาหลายๆสูตรมาจนถึงทุกวันนี้,งาขี้ม้อนเป็นพืชที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงและสูงกว่าเมล็ดเจีย 2 เท่า,เป็นพืชที่อัตราส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 อย่างสมดุล เนื่องจากน้ำมันงาขี้ม้อนมีโอเมก้า 3 สูง จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหัวใจ บำรุงระบบประสาทและสมอง สามารถใช้ทดแทนน้ำปลาได้ ในกรณีของผู้ที่แพ้น้ำมันปลาหรือทานมังสวิรัติ ทานเจ

      ข้าวหนุกงาขี้ม่อน นอกจากเป็นอาหารพื้นบ้านขอชาวล้านนาแล้วยังแฝงด้วยคุณประโยชน์อีกมากมาย โดยมีทั้งสรรพคุณทางยาอีกมากมาย จึงเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่บรรพบรุษได้สืบถอดและส่งต่อองค์ความรู้ที่อยู่อยู่คู่กับวัฒนธรรมประเพณีในรูปแบบของอาหาร จึงควรดูแลและรักษาอาหารที่ ทำมาจาก ข้าวเหนียว เกลือ และงาขี้ม่อน กับ “ข้าวหนุกงา”

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, http://livelonglife.co/perilla-frutescens/,และรูปภาพจาก Google


วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

บอกไฟ



     ในช่วงเทศกาลยี่เป็ง(ลอยกระทง) ที่ผ่านมาชาวล้านนาจะจัดทำพุลไฟหรือบอกไฟ เพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี จุดบูชาประกอบพิธีเทศน์มหาชาติหรือตั้งธรรมหลวง และเป็นเครื่องเล่นของเด็กๆล้านนา ทำให้บรรยากาศแห่งยี่เป็งเต็มไปด้วยสีสันที่สนุกสนาน บอกไฟล้านนา หรือดอกไม้ไฟที่ทำขึ้นมีหลายชนิด เช่น บอกไฟยิง บอกไฟข้าวต้ม บอกไฟหมื่น บอกไฟขึ้น บอกไฟจักจั่น บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟน้ำต้น หรือบอกไฟมะขี้เบ้า บอกไฟช้างร้อง บอกไฟเทียน เป็นต้น ส่วนเด็กๆก็มักจะเล่นบอกถบ หรือประทัด หรือจุดมะผาบ และสะโปก เพื่อให้เกิดเสียงดัง ซึ่งสัญลักษณ์ของประเพณียี่เป็ง


      บอกไฟที่นิยมจุดบูชาในช่วงประเพณียี่เป็ง เน้นที่เกิดประกายแสงงดงาม เพราะใช้จุดในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ลับฟ้าเป็นต้นไป บอกไฟที่นิยมจุด ได้แก่ บอกไฟยิง บอกไฟข้าวต้ม บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟบะขี้เบ้า หรือบอกไฟน้ำต้น การทำบอกไฟแต่ละชนิดมีสูตรการทำ ซึ่งแตกต่างกันไปตามสูตรของสล่าหรือช่างแต่ละคน โดยช่างบอกไฟจะใช้กระบอกไม้ไผ่เป็นภาชนะบรรจุขี้เฝ่า ที่ทำมาจากดินไฟ(ดินประสิว) ผสมกับขี้ขาง (เสื้อสูบรถยนต์ที่กลึงแล้วอย่างละเอียด) ผสมกับมาด (กำมะถัน) และถ่านตามสัดส่วน แล้ว ตอกลงในกระบอกไม้ไผ่ คือ การอัดลงในกระบอกไม้ไผ่ซาง ไม้ไผ่ที่ใช้คือส่วนโคนของไม้ไผ่ ที่มีความหนากว่าส่วนปลาย อัดให้แน่นพอดี ปิดส่วนก้นกระบอกด้วยดินเหนียวแห้ง การจุด ฝังกระบอกลงไปที่พื้นดิน และอัดดินรอบๆให้แน่น ให้ปากกระบอกโผล่พ้นดิน เพื่อใส่สายสายชนวนจุดไฟแล้วลงรูปากกระบอก

     เมื่อจุดบอกไฟแล้วจะมีประกายไฟเป็นพุ่มสวยงาม เปรียบเสมือนดอกไม้เงิน ดอกไม้คำ หรือฝนห่าแก้ว ที่ปรากฏในธรรมมหาชาตินครกัณฑ์ เป็นเวสสันดรชาดกกัณฑ์สุดท้าย ที่กล่าวถึงเหตุการณ์พระเวสสันดรเสด็จออกจากป่ากลับเข้าสู่นคร ปรากฏเป็นฝนห่าแก้วตกทั่วแผ่นดิน บ้างอธิษฐานด้วยข้าวตอกดอกไม้จุดเป็นพุทธบูชา เพื่อให้ชีวิตโชติช่วงเหมือนดอกไฟที่พวยพุ่ง และในขณะที่บอกไฟพวยพุ่ง ชาวล้านนาและผู้คนที่มาชมบอกไฟนั้นก็จะพากันออกมาฟ้อนรำใต้พุ่มไฟ พร้อมด้วยเสียงฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ กลองก็จะบรรเลงกันอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะสล่าบอกไฟและทีมงาน ต่างออกมาโชว์ลีลากันอย่างสนุกสนาน เป็นอีกสีสันของประเพณียี่เป็งที่นับวันเริ่มจะจางหายไปจากสังคม

ขอบคุณที่มาจาก สำนักหอสมุดและสำนักบริการเทคโนโลยีและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ตังเม ลุงเสาร์



      กริ่ง กริ่ง กริ่งๆๆๆปิ๊บ ปิ๊บ ปิ๊บบบบๆๆๆ เสียงสวรรค์ เป็นสัญญาณบอกว่า ขวัญใจของเด็กและผู้ใหญ่หลายๆคน ที่มีรส-สะ-นิ-ยม ชอบขนมหวามที่แสนอร่อย หอม ขาวนวล เต็มไปด้วยถั่วลิสงกรอบๆ เพียงกัดคำเดียวก็หยุดไม่ได้ ต้องเคี้ยว ต้องขบ ต้องดึงจนกว่าจะขาดจากกัน และเมื่อเข้าไปอยู่ในปากแล้วยังไม่วายที่จะต้องขยับบริหารขากรรไกรจนกว่าจะกลืนลงคอ มันคือ ขนมตังเมที่เหนียวๆยืดๆยาวๆขาว ที่ทำจากน้ำตาลน้ำตาลหรือน้ำอ้อยที่เคี่ยวจนเหนียวสอดไส้ด้วยถั่วลิสงคั่ว กินแล้วติดฟันอร่อยดี!!!


     “ลุงเสาร์” คือใครหลายคนคงนึกไม่ออกว่าคือใคร แต่ถ้าบอกหรือพูดว่า “ตังเม ลุงเสาร์” ทุกคนก็จะร้อง อ้อ!!!ตามๆกัน โดยเอาลักษณ์การเร่ขายตังเมสดกว่า 50 ปี ของลุงเสาร์ สินรา ชายชราอายุ 73 ปี(พ.ศ.2561) ชาวบ้านท่าข้าม อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ผู้เริ่มปั่นจักรยานเร่ขายตังเมสดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 จนถึงปัจจุบัน(4 ก.พ. 2558) ซึ่งผมเองเป็นแฟนเหนียวแน่นของลุงเสาร์มาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กนักเรียนจนกระทั่งทุกวันนี้ทำงานแล้ว เมื่อเจอรถลุงเสาร์จอดขายตังเมอยู่ที่ไหนแวะซื้อทุกครั้งไป หรือถ้าวันไหนอยากกินตังเมก็จะขี่รถวนหาซื้อตังเมที่แถวหน้าโรงเรียนเวลาประมาณ 3-4 โมงเย็น โดยเฉพาะโรงเรียนเด็กประถม เวลาซื้อต้องเข้าแถวต่อคิวกับเด็กตัวเล็กๆ หลายครั้งต่อหลายครั้งจะถูกเด็กถามว่า “ลุงๆมาจื้อหื้อลูกกะ อายแทบแทรกแผ่นดิน แต่ด้วยความหอมหวานของขนมตังเมจำต้อง ทำหน้าทนตอบเด็กมันไปว่า “อา(ลดอายุ)มาซื้อไปฝากหลาน ขายผ้าเอาหน้ารอดไปได้อีกครั้งหนึ่ง ใครหนอจะเข้าใจหัวอกคนชอบขนมตังเม???” ด้วยความที่เป็นลูกค้าอุดหนุนขนมตังเมของลุงเสาร์มากว่ายี่สิบปี จึงได้มีโอกาสพูดคุยและถามความเป็นมาของอาชีพการเร่ขายตังเมของลุงเสาร์ โดยลุงเสาร์เล่าให้ฟังว่า “ได้สูตรการทำตังเมมาจากลุงบาน(ลุงบานหมูยอ เด่นชัย) สมัยเป็นหนุ่มตัวลุงเสาร์ไปทำงานเป็นลูกน้องของลุงบานและมีโอกาสรู้จักขนมตังเม จึงขอให้ลุงบานสอน เพื่อเป็นวิชาติดตัวเลี้ยงชีพ ลุงบานจึงถ่ายทอดวิชาแก่ลุงเสาร์ เมื่อสำเร็จวิชาตังเมแล้วลุงเสาร์จึงลาพระอาจารย์ออกมาเป็น จอมยุทธ์ตังเม ปั่นจักรยานเร่ขายตังเมตั้งแต่ปี 2508 ปั่นขายตั้งแต่อันละสลึง(25 สตางค์) ,50 สตางค์,1 บาท,2 บาท,5 บาท จนเดี๋ยวนี้ขายที่ราคา 10 บาท ก็ยังขายดิบขายดีเหมือนเดิม ลุงเสาร์บอกว่าเมื่อก่อนอันละสลึงใหญ่กว่าอันสิบบาทเดี๋ยวนี้เยอะ อันเดียวกินได้ทั้งวัน เพราะเมื่อก่อนข้าวของที่นำมาทำตังเมราคาถูก วันหนึ่งลงทุนไม่เยอะทำตังเม 4-5 กิโลกรัม ขายได้พันกว่าบาท ทุกวันนี้ต้องลงทุนซื้อของวันละประมาณ 500-600 บาท ได้ตังเมน้ำหนักเท่าเดิม พอมีกำไรเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวได้

     ปัจจุบัน(17 พ.ย. 61)ลุงเสาร์อายุ 73ปี แล้วแต่ยังแข็งแรงอยู่ ลุงเสาร์บอกว่าจะขายตังเมจนกว่าจะเดินไม่ไหว สมัยก่อนปั่นจักรยานขายวันหนึ่งไปไกล 10 กิโล 20 กิโลยังไปได้ เดี๋ยวนี้สบายมีมอเตอร์ไซค์ขี่ไปขายตังเม ค่อยๆขี่ไปขายไป ได้คุยได้พูดกับลูกค้าสนุกดี ขี่จนรถมอเตอร์ไซด์พังมา 5 คันแล้ว ถ้าพังก็จะซื้อคันใหม่เอามาขายตังเมไปเรื่อยๆ โดยรถมอเตอร์ไซค์ มีกะบะไม้ใส่ตังเม บนเบาะรถ มาพร้อมเสียงกระดิ่ง กริ่งๆๆๆ เสียงแตร ปิ๊บ ปิ๊บ ปิ๊บบบบๆๆๆ ไปบริการขนมตังเม สีขาว เหนียวนุ่ม หอมอร่อย แก่ชาวเมืองแพร่อยู่เสมอ “ตังเม ลุงเสาร์”

คำมะเก่า ตอน คำเตือน คำสอน



“จิกปิกไหนก่อป้อ จ้อหว้อไหนก่อ ขวัก” หมายถึง คนที่เห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น

“กิ๋นข้าวงายแล้วนอน กินข้าวตอนแล้วแอ่ว แอ่วๆแหวงๆปิ๊กมากินน้ำแกงถ้วยเก่า” หมายถึง ถ้าเอาแต่กิน นอน เที่ยว ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

“กิ๋นข้าวแล้วนอน ผีปั๋นปอนวันละเจ็ดเตื้อ” หมายถึง คนที่ใช้ชีวิตแบบกินๆนอนๆ ไม่รู้จักออกกำลังกาย มักมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอๆ

กิ๋นข้าวหื้อไว้ต่าน้ำ” หมายถึง ทำอะไรให้รู้จักพอประมาณ

“กิ๋นแล้วหื้อเก็บ เจ็บแล้วหื้อจำ” หมายถึง ให้รู้จักเก็บและจดจำประสบการณ์และสิ่งที่เคยทำมาเอาไว้

“กิ๋นหวอมหวอม ผอมจ้อค่อ” หมายถึง ทุ่มเททำอะไรลงไปแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น

“กิ๋นหื้อปอต๊อง หย้องหื้อปองาม” หมายถึง การกินการอยู่ต้องรู้จักพอประมาณ

“เกิดเป็นคนขึ้นห้วยหื้อสุด ขุดฮูไหนหื้อตึก” หมายถึง ถ้าจะทำงานอะไรต้องทำให้ถึงที่สุด

“เก็บผักผลไม้ บ่ดีเก็บไกล๋ เก็บต๋มตัวคันได ปอแก๋งปอนึ้ง” · หมายถึง การทำงาน ทำมาค้าขาย อย่าโหมงานหนักจนเกินกำลัง จงทำแต่พอเหมาะพอควรกับพละกำลัง

“เก็บผักหื้อเอาตึงเครือ เก็บบ่าเขือหื้อเอาตึงขวั๊น” หมายถึง ทำอะไรให้เรียบร้อย อย่าเอาเฉพาะส่วนที่มีประโยชน์แล้วทิ้งส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นไว้

“ข้ามขัวยังบ่ป้น จะไป๋ฟั่งห่มก้มแยงเงา” หมายถึง ทำอะไรยังไม่สำเร็จอย่าเพิ่งโอ้อวด

“จะนั่งหื้อผ่อตี้ จะหนีหื้อผ่อก้น” หมายถึง เวลาจะทำอะไรต้องเป็นคนรอบคอบ

“โจรปล้นยังเหลือเฮือนไว้ ไฟไหมยังเหลือตี้ดิน แต่การพนันมันกิ๋น บ่มีดินจักอยู่” หมายถึง โจรปล้นยังเหลือบ้านไว้ ไฟไหม้ยังเหลือที่ดิน แต่การพนันทำให้แม้แต่ที่ดินก็ไม่เหลือ

ที่มา บ้านเกษตรสมบูรณ์

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

คำ “อิ๊แม่สอน 2 ตอน การตอนการพูดจา และการวางตัว”




การพูดจานั้น อิ๊แม่สอนไว้ว่า

"กำเข้าหู จะไปฟั่งถูออกปาก จักยากใจ๋ปายลูน " ความหมายก็ตรงตัวคือ...

เมื่อเราได้ยินได้ฟังอะไรมา ให้กลั่นกรองให้ดีก่อนจะตอบโต้หรือเอาไปบอกต่อคนอื่น ไม่เช่นนั้น อาจจะมีผลกระทบตามมา สร้างความเสียหายให้ผู้อื่น และทำให้เราต้องลำบากใจ

"กำติเตียนสำเนียงจ่มส้าม ย่อมจะมีมากู้ทิศ" ความหมายคือ คำติฉินนินทานั้นเป็นเรื่องธรรมดาโลก ย่อมจะมีมาจากทั่วทุกสารทิศ เพราะฉะนั้นไม่ควรถือสาใส่ใจ

"กำจ่มกำด่านั้นเป๋นกำดี ก๋อนฟังบ่ถี่มันตึงบ่ม่วนหู" ความหมาย คือ คำบ่นคำว่ากล่าวของคนแก่อาจจะฟังไม่เสนาะหูนัก แต่ฟังให้ดีก็ล้วนเป็นข้อคิดที่ดีทั้งนั้น

"กันว่าจะมัด บ่ต้องมัดด้วยป๋อ กำปากกำคอมัดกั๋นก่อได้" ความหมาย คือ คำสอนว่าด้วยการผูกใจคน ว่าหากจะมัดใจใครล่ะก็ ไม่ต้องใช้เชือก(ป๋อ=ปอ)หรอก แค่ใช้คำพูดดี ๆ นี่แหละที่สามารถผูกใจคนได้

คนเรานั้นแม้คำพูดจะสำคัญ แตการวางตัวนั้นต้องทำตามที่แม่สอนด้วย

“จะนั่งหื้อผ่อตี้ จะหนีหื้อผ่อก้น" ความหมาย คือ ก่อนจะนั่งให้ดูที่นั่งว่าไม่มีอะไรเปรอะเปื้อนหรือมีของมีคมที่อาจจะเป็นอันตราย พอจะลุกจากไปก็ต้องเหลียวดูข้างหลังว่าไม่ทิ้งร่องรอยหรือลืมอะไรไว้

"กิ๋นได้ไว้ในไห กิ๋นบ่ได้ไว้ในใจ๋" ความหมาย คือ เมื่อได้รับอะไรมา ไม่ว่าจะหามาเองหรือมีคนให้

ถ้าเป็นของกินก็ให้เก็บถนอมรักษาไว้(ในสมัยก่อนเขาจะเก็บของกินไว้ในไห)แต่ถ้าเป็นของที่กินไม่ได้ก็ให้จดจำรำลึกไว้ในใจ(ให้สำนึกบุญคุณนั่นเอง)

"แป๋งเฮือไว้หลายต้า หม่าเข้าไว้หลายเมือง" ความหมาย คือ สร้างเรือไว้หลายท่า(ท่าน้ำ) แช่ข้าวไว้หลายเมือง ให้ผูกมิตรไว้หลาย ๆ ที่ เผื่อวันใดเกิดพลาดพลั้งตกอับจะได้มีที่พึ่งพา

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

คำ “อิ๊แม่สอน”



แม่จะมีวิธีว่ากล่าวตักเตือนลูก ด้วยคำพูดคำสอนของคนบ่ะเก่าเอามาบอกเล่าต่อแก่ลูก ซึ่งเป็นแบบ กึ่งบอกต่อ กึ่งสั่งสอนอบรม ให้ลูกเป็นคนดี โดยไม่บอกว่ากำลังสอน และใช้วิธี "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น"มากกว่าที่จะ"พูดให้ฟัง" อิ๊แม่สอนว่า

"กิ๋นหื้อปอต๊อง หย้องหื้อปอตั๋ว" ความหมายก็คือ สอนให้เรานุ่งเจียมห่มเจียม กินอยู่ให้รู้ประมาณและความพอดี

"กิ๋นเข้าหื้อไว้ต่าน้ำ" ความหมายคือ กินข้าวให้พอดี ๆ เหลือพื้นที่ในท้องสำหรับน้ำด้วย เป็นคำสอนให้รู้จักแบ่งสัดส่วนของการกระทำอะไรก็ตามให้พอดี ๆ

"ยามป้อแม่มี กิ๋นขว้างโบ้ะขว้างบ้ะ กันป้อแม่ต๋ายละ เป๋นบ่ะห่อยนอยจา" หมายความว่า ตอนที่พ่อแม่ยังอยู่ก็กินทิ้งกินขว้าง แต่พอพ่อแม่เสียชีวิตแล้วนั่นแหละถึงค่อยรู้สำนึก แต่ถึงตอนนั้น ทรัพย์สินเงินทองก็กระสานซ่านเซ็น ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เหมือน"บ่ะห่อยนอยจา"(มะระขี้นก)

“กำเข้าหู จะไปฟั่งถูออกปาก จักยากใจ๋ปายลูน "ความหมายคือ เมื่อเราได้ยินได้ฟังอะไรมา ให้กลั่นกรองให้ดีก่อนจะตอบโต้หรือเอาไปบอกต่อคนอื่น ไม่เช่นนั้น อาจจะมีผลกระทบตามมา สร้างความเสียหายให้ผู้อื่น และทำให้เราต้องลำบากใจ
"กำติเตียนสำเนียงจ่มส้าม ย่อมจะมีมากู้ทิศ" ความหมายคือ คำติฉินนินทานั้นเป็นเรื่องธรรมดาโลก ย่อมจะมีมาจากทั่วทุกสารทิศ เพราะฉะนั้นไม่ควรถือสาใส่ใจ

“กำจ่มกำด่านั้นเป๋นกำดี ก๋อนฟังบ่ถี่มันตึงบ่ม่วนหู" "กำจ่มกำด่า" ความหมายคือคำบ่นคำว่ากล่าวของคนแก่อาจจะฟังไม่เสนาะหูนัก แต่ฟังให้ดีก็ล้วนเป็นข้อคิดที่ดีทั้งนั้น



ลอยกระทง เมืองแป้


     ใกล้จะเข้าเทศกาลลอยกระทงแล้ว ผู้คนต่างตื่นเต้นและพูดคุยกันไปต่างๆนานาเกี่ยวกับงานลอยกระทงที่จะมีขึ้น ซึ่งวันลอยกระทงตรงกับวันขึ้น 15 คำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน(ปีนี้ ตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายนพ.ศ.2561) ตามปฏิทินสุริยคติ ซึ่งก่อนถึงวันลอยกระทงเราจะตัดต้นกล้วยเพื่อทำกระทงกัน โดยจะตัดต้นกล้วยเป็นแว่นๆหนาประมาณ 2-3 นิ้ว และนำใบตองมาทำพับเป็นกลีบๆติดรอบกระทงประดับด้วยดอกไม้ให้สวยงาม เพื่อนำไปลอยในแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด และเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

     ซึ่งประเพณีการลอยกระทงเป็นขนบธรรมเนียมเพื่อความบันเทิงเริงใจ ผู้คนต่างนัดพบปะสังสรรคกัน ทั่วทุกแห่งจะเปิดเพลงลอยกระทงเพื่อฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน โดยเพลงรำวงวันลอยกระทงแต่งโดยครูแก้ว อัจฉริยกุล ผู้ให้ทำนองคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์ ซึ่งครูเอื้อได้แต่งเพลงนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2498 ขณะที่ได้ไปบรรเลงเพลงที่บริเวณคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผู้ขอเพลงจากครูเอื้อ ครูเอื้อจึงนั่งแต่งเพลงนี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงจึงเกิดเป็นเพลง “รำวงลอยกระทง” มีเนื้อร้องว่า “วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ”

     สำหรับชาวล้านนานั้นในคืนวันลอยกระทงจะนิยมจุดผางประทีสเป็นพุทธบูชา สืบเนื่องมาจากตำนานพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ได้ถือกำเนิดจากแม่กาเผือก วันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองของแม่กาเผือกถูกพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ มีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไข่ไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เป็นเพศชาย และได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้าองค์ เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกัน จึงไต่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าองค์จึงสงสัยว่า แม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐาน จึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงหากคิดถึงแม่ ให้นำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกาจุดเป็นประทีปบูชาในวันยี่เป็ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายประทีป ตีนกา จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์

     เทศกาลลอยกระทงเป็นขนบธรรมเนียมอันดีงาม เป็นการขอขมาที่เรามนุษย์ทั้งหลายได้ล่วงเกินต่อแม่น้ำคงคา และมีความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นประเพณีอันดีงามของคนไทยที่ต่างชาตินิยมชมชม เราควรหวงแหนและประพฤติปฎิบัติรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามสืบต่อไป........

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สโมสรโรตารีแพร่จัดพิธีมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สโมสรโรตารีแพร่จัดพิธีมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แก่ผู้พิการในพื้นที่จังหวัดแพร่
 
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(6พ.ย.61) ที่ศาลาประชาคมจังหวัดแพร่ ทางนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายบุญทอง ปัญญาสว่างจิตร นายกสโมสรโรตารีแพร่ ได้ร่วมกันมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
ซึ่งทางสโมสรโรตารีแพร่ ร่วมกับสโมสรโรตารีอุตรดิตถ์ มูลนิธิคนพิการจังหวัดแพร่ เหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์เชียงใหม่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับรถเข็นคนพิการ และอุปกรณ์ต่างๆ จากองค์กร Joni and Friends wheels for the world โดยมอบรถเข็นคนพิการ จำนวน 133 คัน และอุปกรณ์ต่างๆ อีก 137 รายการ มูลค่ารวม 4,370,900 บาท แก่คนพิการจากอำเภอเมืองแพร่ อำเภอสูงเม่น อำเภอวังชิ้น อำเภอลอง อำเภอสอง อำเภอร้องกวาง และอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ เพื่อให้ผู้พิการในจังหวัดแพร่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีกำลังใจต่อสู้ชีวิต เพื่อตัวเองและครอบครัว และได้รับโอกาสในการฝึกอาสาสมัครผู้พิการให้ได้รับความรู้ในการดูแลและซ่อม ตลอดจนปรับรถเข็นให้แก่ผู้พิการในอำเภอต่างๆ โดยการปรับอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสภาพของเด็กพิการพัฒนาการช้าและผู้พิการรวมทั้งฝึกการใช้อุปกรณ์สำหรับผู้ได้รับอุปกรณ์
 
พร้อมกันนี้ทางนางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่มในนามเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ได้มอบเงินสนับสนุนมูลนิธิคนพิการจังหวัดแพร่ จำนวน 50,000 บาท เพื่อให้ทางมูลนิธิได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อคนพิการในพื้นที่จังหวัดแพร่ต่อไป /.
 
ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

เทศบาลเมืองแพร่ สืบสานประเพณียี่เป็ง “จุดผางปะตี้ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือก” ประจำปี ๒๕๖๑ ๒๑ - ๒๒ พฤศจิกายน นี้



เทศบาลเมืองแพร่ สืบสานประเพณียี่เป็ง

“จุดผางปะตี้ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือก” ประจำปี ๒๕๖๑

๒๑ - ๒๒ พฤศจิกายน นี้

เทศบาลเมืองแพร่ กำหนดจัดงานประเพณีลอยกระทง“จุดผางปะตี้ปตี๋นก๋าปูจาแม่ก๋าเผือก” ประจำปี ๒๕๖๑ ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ กาดสามวัย และ สนามหลวงจังหวัดแพร่ ( สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติร.๙ ) เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงามของท้องถิ่น

นายพัฒนพงษ์ พงษ์นวล รองนายกเทศมนตรี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ เผยว่า เทศบาลเมืองแพร่กำหนดจัดงานประเพณียี่เป็ง หรือ ประเพณีลอยกระทง “จุดผางปะตี้ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือก” ประจำปี ๒๕๖๑ ระหว่างวันที่ ๒๑ -๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ กาดสามวัย และ สนามหลวงจังหวัดแพร่ ( สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ ) เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น กิจกรรมประกอบด้วย พิธีสืบชะตาแม่น้ำยม การประกวดหนูน้อยนพมาศ การแสดงศิลปวัฒนธรรมของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองแพร่ การประกวดโคมลอยตามประเพณีโบราณ การประกวดกระทงฝีมือ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา การประกวดบอกไฟดอก ประเภทขี้ขาง การประกวดเต้นบาสโลป การประกวดนางนพมาศ และ การแสดงของศิลปินนักร้อง จ่อย ไมค์ทองคำ เจ้าของผลงานเพลง “กระเป๋าสมปอง” พร้อมชมขบวนแห่ที่มีความสวยงามที่แสดงถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่น รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของจังหวัดแพร่ โดยเทศบาลเมืองแพร่ ได้จัดสถานที่ลอยกระทงไว้ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าน้ำเชตวัน , ท่าน้ำศรีชุม และบริเวณคูเมืองน้ำคือ

















กำหนดการจัดงาน

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๖๑

ภาคเช้า

เวลา ๐๙.๐๐ น. - พิธีสืบชะตาแม่น้ำยม ณ บริเวณท่าน้ำเชตวัน

ภาคค่ำ

เวลา ๑๙.๐๐ น. -พิธีเปิดงานประเพณีลอยกระทง“จุดผางปะตี้ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือก ”

โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานในพิธี

-การแสดงศิลปวัฒนธรรมของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองแพร่

ชุดการแสดง“ฟ้อนก๋ายลาย”และชุดการ“ฟ้อนสักการะปูจาพระแม่คงคา”

เวลา ๑๙.๓๐ น. -การประกวดหนูน้อยนพมาศ ณ บริเวณกาดสามวัย

เวลา ๒๑.๓๐ น. -ฟังเพลงจากศิลปิน จ่อย ไมค์ทองคำเจ้าของผลงานเพลง

“กระเป๋าสมปอง” ณ บริเวณกาดสามวัย

เวลา ๒๓.๐๐น. - เสร็จกิจกรรม

วันศุกรที่ ๒๒ พ.ย. ๒๕๖๐

ภาคเช้า

เวลา ๐๙.๐๐ น. –การประกวดโคมลอย ณ บริเวณสนามหลวง จังหวัดแพร่

(สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙)

-การประกวดกระทงฝีมือ ๓ ระดับ ในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา

และระดับอาชีวศึกษา ณ บริเวณสนามหลวงจังหวัดแพร่

(สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙)

ภาคค่ำ

เวลา ๑๘.๐๐ น. -ชมขบวนแห่ประเพณียี่เป็งที่มีความสวยงามที่แสดงถึงเอกลักษณ์

อันโดดเด่นและศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของจังหวัดแพร่

เคลื่อนขบวนออกจากโรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่สิ้นสุดที่บริเวณสี่แยกน้ำพุ

เวลา ๑๙.๐๐ น. -การประกวดบอกไฟดอก ประเภทขี้ขาง

ณ บริเวณสนามหลวงจังหวัดแพร่(สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙)

เวลา ๑๙.๓๐ น. - การประกวดเต้นบาสโลป ณ บริเวณกาดสามวัย

เวลา ๒๑.๐๐ น. -ชมการประกวดนางนพมาศ ประจำปี 2561

ณ บริเวณกาดสามวัย

เวลา ๒๓.๐๐ น. - เสร็จกิจกรรม

งานประชาสัมพันธ์ / ข่าว / พิมพ์

***********************************

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

"กำบ่ะเก่า" กำนี้บอกเล่าถึงวิถีชีวิต


"ใคร่หื้อเปิ้นฮักยากนักจักหวัง ใครหื้อเปิ้นจังกำเดียวก็ได้"
(คำว่า จัง หมายถึง เกลียด ชัง , กำเดียว หมายถึง เดี๋ยวเดียว)
ความหมาย คือ " อยากให้คนอื่นรักยากมากที่จะหวังให้เขารักได้ อยากให้คนอื่นเกลียดชัง เดี๋ยวเดียวก็ได้"
การที่จะทำให้คนจำนวนมากมารักชอบนั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก ต้องอาศัยเวลา และความพยายาม ความอดทนอย่างสูงที่จะทำให้บุคคลอื่นเกิดความรักและไว้วางใจเรา แต่การทำให้คนจำนวนมากเกลียดนั้น เพียงแค่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อยที่ขัดใจพวกเขาก็ทำให้บุคคลนั้นเกลียดได้แล้ว


"กำบ่มีแป๋งใส่ กำบ่ใหญ่แป๋งเอา"
( คำว่า แป๋งใส่ หมายถึง แต่งเรื่องขึ้น, ต่อเติมให้ยาวขึ้น , แป๋งเอา หมายถึง สร้าง, ทำให้มีขึ้น )
ความหมาย "กำบ่มีแป๋งใส่" หมายถึง เรื่องราวไม่มี แต่แต่งเรื่องขึ้นเพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิด หรือสำคัญผิดในบุคคลนั้น "กำบ่ใหญ่แป๋งเอา" เรื่องราวมีเพียงเล็กน้อย แต่สร้างเรื่องราวให้มีมากกว่าเดิม ทำให้เกิดสำคัญผิดในบุคคลที่ถูกกล่าวถึง เป็นสุภาษิตที่กล่าวถึงบุคคลที่ชอบเอาเรื่องราวของผู้อื่นไปพูดในทางที่เสียหาย ทำ
ให้ผู้อื่นได้รับความเสื่อมเสีย
กลับมาทำอีกครั้ง



 

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

อาถรรพ์แห่งป่า




     เมื่อสองสามปีที่ผ่านมาจังหวัดแพร่มีข่าวอยู่ข่าวหนึ่งว่า มีชาวบ้านออกไปต่อไก่(ล่าไก่ป่า) ถูกยิงด้วยอาวุธปืนแก๊ป กระสุนลูกโดดเข้าที่หน้าผาก 1 นัด และกระสุนลูกปายเข้าที่แขนซ้าย 1 นัดนอนเสียชีวิตในป่า ตำรวจสันนิฐานว่าคนร้ายคือพรานล่าสัตว์เป็นคนยิง โดยนึกว่าผู้เสียชีวิตเป็นสัตว์ ทำให้นึกถึงเรื่องอาถรรพ์ต่างๆของป่าที่ในอดีตที่ป่ายังอุดมสมบูรณ์ผู้คนอาศัยอยู่กับป่าเขาลำเนาไพร เรียกได้ว่า ทุกสิ่งอย่างสามารถหาได้จากป่า ทำให้มีความเคารพและปฏิบัติตามกฎของป่า

      ความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับป่าอยู่มากมาย เชื่อว่าดอยทุกดอย ป่าทุกป่าจะมีเจ้าป่าเจ้าเขาและวิญญาณอยู่จำนวนมาก เมื่อเดินทางเข้าไปในป่าอาจชน เหยียบย้ำ หรือทำผิดโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งอาจทำให้ดวงวิญญาณเจ้าป่าเจ้าเขาเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อน และอาจจะจับเอาขวัญของเราไปหรือทำให้เราเจ็บป่วยได้ ดังนั้นจึงจะต้องทำพิธีกรรมขอขมาต่อดวงวิญญาณเจ้าป่าเจ้าเขา ,เชื่อว่าในหนองน้ำจะมีผีหรือดวงวิญญาณสิงสถิตย์อยู่มากมาย,เชื่อว่าในจอมปลวกนั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ ล้วนแต่เป็นอาถรรพ์ของป่าและเรื่องเสือสมิงเป็นอีกเรื่องที่ได้รับการเล่าขานมากมาย เช่น เสือสมิงหรือผีปีศาจที่มีรูปร่างเป็นเสือโคร่งขนาดใหญ่ อาละวาดกินคนเป็นอาหาร เชื่อว่า เสือสมิงเกิดจากเวทมนตร์คาถาทางไสยศาสตร์ หรือเป็นเสือที่กินคนเข้าไปมาก ๆ แล้ววิญญาณของคนที่ถูกกินไปสิงอยู่ในเสือตัวนั้นจนกลายเป็นเสือสมิง เสือสมิงโดยปกติจะมีร่างเป็นคน แต่สามารถแปลงร่างเป็นเสือได้ในเวลากลางคืน และออกหาเหยื่อ เมื่อออกล่าเหยื่อจะแปลงร่างเป็นคนต่าง ๆ นานา เพื่อล่อลวง เช่น แปลงเป็นลูกเมียของเหยื่อ หรือแม้กระทั่งแปลงเป็นพระธุดงค์ก็มี หรือเชื่อว่าเสือสมิงเป็นเจ้าป่าเจ้าเขาหรือพระภูมิเจ้าที่ ที่ดูแลรักษาปกป้องป่า จึงมีความเชื่อและข้อปฏิวัติว่า ห้ามล่าสัตว์หรือตั้งห้างบริเวณที่เป็นโป่ง ซึ่งเป็นแหล่งที่เป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่า มีผู้ที่เคยพบเห็นเจ้าของโป่งในเวลากลางคืน อ้างว่า มีดวงตาสามดวง ตาดวงที่สามอยู่กลางหน้าผากและเป็นสีเขียวเรืองแสงในความมืด มีเรื่องเล่ากันของชาวกะเหรี่ยงว่า ผู้ที่พบเจอกับเสือสมิง มักจะเห็นเสือสมิงปรากฏภาพเป็นผู้หญิงหรือเมียมาตามถึงในป่าแจ้งว่า ลูกป่วยให้กลับบ้าน เป็นต้น ถ้าลงจากห้างไปก็จะถูกฆ่าตาย บ้างถึงกับว่า เมื่อมีผู้ไม่ยอมลงไป สักพักก็กลับมาใหม่พร้อมด้วยคนอีกสี่คนหามคานใส่ศพของลูกหรือเมียมาก็มี มีบางคนที่ยิงปืนใส่ เช้ามาเมื่อลงจากห้างพบว่า มีรอยเท้าเสือขนาดใหญ่เพ่นพ่านอยู่บริเวณนั้น โดยเชื่อว่าคนสี่คนที่เห็นว่าหามคานนั้น คือ ขาทั้งสี่ข้างของเสือ นั้นเอง

     ในตำนานลิลิตพระลอของจังหวัดแพร่ก็มีการกล่าวถึงอาถรรพ์เกี่ยวกับป่าอยู่ว่า “ป่าที่นางรื่นนางโรยเดินทางไปพบปู่เจ้าสมิงพรายเพื่อทำเสน่ห์ใส่พระลอพูดถึงสัตว์ตามธรรมชาติ คือจระเข้ และสัตว์เหนือธรรมชาติ มีช้างน้ำ และเงือกเอ็นดูสองนางตกใจกลัว ระรัวหัวอกสั่น ลั่นทะทึกทะทาว สราวตามหมอผะผ้ำ เห็นแนวน้ำบางบึง ชรทึงธารห้วยหนอง จระเข้มองแฝงฝั่ง สระพรั่งหัวขึ้นขวักไขว่ ช้างน้ำไล่แทงเงา เงือกเอาคนใต้น้ำ กระล่ำตากระเลือก กระเกลือกกลอกตากลม ผมกระหวัดจำตายช้างน้ำที่ไล่แทงเงาตัวเอง” สำหรับอาถรรพ์ของป่านั้นยังมีอีกมากมาย ทั้งในวรรณกรรมประเภทต่างๆเรื่องเล่า ตำนาน นิยาย นิทาน ทำให้ทราบว่าคนไทยมีวิถีชีวิตความเชื่อและความผูกพันอยู่กับป่า ซึ่งปัจจุบันเริ่มจะเลือนรางห่างหายไปกับกาลเวลา

ข้อมูลจาก th.wikipedia.org/wiki/เสือสมิง‎,http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4673.0







วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คำบะเก่า “นิสัยคน”


 “อดเผ็ดกิ๋นหวาน อดสานได้ซ้า”(คำว่า ซ้า หมายความว่า ตะกร้า) สุภาษิตนี้มีแปลว่า "การอดทนกินอาหารที่เผ็ดในวันนี้ เพื่อที่จะได้กินอาหารที่มีสชาติหอมหวานในวันข้างหน้า ต้องอดทนทำงานสานตะกร้าในวันนี้ เพื่อจะได้ใช้ตะกร้าในวันข้างหน้า"
เปรียบกับคนที่มีความขยันหมั่นเพียรและอดทนต่อการทำงานและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ย่อมทำให้เป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง ต่อไปจะประสบแต่ความสุขและความสมหวังในชีวิต ตรงกับสุภาษิตภาคกลาง คือ "อดเปรี้ยวไว้กินหวาน"“เหล็กบ่เหลี้ยม  เปิ้นบ่เอาจี   คนบ่ดี  เปิ้นบ่ใจ๊”( คำว่า บ่เหลี้ยม  หมายถึง ไม่แหลม,คำว่า  จี  หมายถึง   ไช  ปั่นเข้าเข้าให้เป็นรูด้วยสว่าน)
สุภาษิตนี้แปลว่า  “เหล็กที่ไม่แหลมคม  คนจะไม่เอามาไชวัตถุ” เพราะถ้านำเหล็กมาใช้แล้วก็จะไม่สามารถเจาะหรือไชให้ทะลุได้ และอาจทำให้วัตถุเสียหายได้ ส่วน คนบ่ดี  เปิ้นบ่ใจ๊”  หมายถึง คนไม่ดีไม่ใครอยากจะคบด้วย  เพราะคนไม่ดีอยู่ที่ไหนมักจะนความเดือดร้อนมาให้อยู่เสมอ  เป็นสุภาษิตสอนผู้ที่เป็นหัวหน้าให้รู้จักเลือกใช้คน  คนที่ไม่ดี หรือไม่มีความขยันอดทน หรือขาดความฉลาดไม่ควรที่จะนำมาใช้ในงานบางอย่าง เพราะอาจจะทำให้งานนั้นไม่สำเร็จได้ที่มาข้อมูล http://app.eduzones.com/portal/foreign/5116/


วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Big cleaning day วัดบ้านลองลือบุญ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ตุลาคม เวลา ๐๙.๐๐ น.องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน นำโดยคณะผู้บริหาร ปลัด พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดฯ ร่วมกับ ผู้นำท้องที่ ประชาชนจิตอาสา ร่วมพัฒนาวัดบ้านลองลือบุญ ภายใต้โครงการกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สร้างสรรค์สิ่งดีงาม “Big Cleaning day” ณ วัดบ้านลองลือบุญ






วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รัฐบาลแจง ครม.อนุมัติหลักการกฎหมายขึ้นทะเบียนสัตว์เบื้องต้น แต่ให้ปรับรายละเอียดอย่างเหมาะสม ลดภาระประชาชน

รัฐบาลแจง ครม.อนุมัติหลักการกฎหมายขึ้นทะเบียนสัตว์เบื้องต้น แต่ให้ปรับรายละเอียดอย่างเหมาะสม ลดภาระประชาชน

 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเสนอข่าว ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่...) พ.ศ...ที่ ครม.อนุมัติ วานนี้ ว่า

 ครม.อนุมัติเพียงหลักการเบื้องต้นตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
 แต่ให้ไปดูรายละเอียดบางเรื่อง ที่อาจสร้างความวิตกกังวลใจแก่ประชาชน ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เห็นใจในเรื่องนี้

💥💥 สำหรับ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2557 นั้น
 มีเจตนาเพื่อคุ้มครองไม่ให้สัตว์ถูกทารุณจากมนุษย์ และให้เจ้าของดูแลอย่างเหมาะสม
 แต่ยังไม่มีการควบคุมทางทะเบียน จึงเกิดการทอดทิ้งสัตว์จำนวนมาก
 และบางส่วนก่อให้เกิดโรคระบาดสัตว์ที่กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

 จึงเป็นที่มาของการเสนอปรับแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อให้มีการควบคุมทางทะเบียนและเพิ่มความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ โดยให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติในเรื่องดังกล่าว

📌📌 หลักการของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ เป็นประโยชน์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งทำให้เจ้าของมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงตัวเองมากขึ้น
📌📌 ยังมีบทบัญญัติบางประการ เช่น การขึ้นทะเบียน และการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และอัตราค่าปรับ ที่อาจเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้กลับไปพิจารณาทบทวนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับความเหมาะสมของบทบัญญัติ ตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องไม่เป็นภาระแก่ประชาชน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง


สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่  เผยแพร่

จุดเทียน




เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เวลา 19.00 น. เทศบาลเมือแพร่ นำโดยคณะผู้บริหาร ปลัดเทศบาลเมืองแพร่ นำพนักงานเทศบาล พนักงานครูเทศบาล และลูกจ้างเทศบาลเมืองแพร่ ร่วมพิธีจุดเทียนเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร. ณ บริเวณกาด 3 วัย

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เล่าขาน เหล้าขาล สุรากลั่นชุมชน



     เมื่อต้นเดือนตุลาคม(พ.ศ.2561)ที่ผ่านมานี้ได้มีพี่น้องนักข่าวชักชวนไปทำข่าวยังพื้นที่ ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ จึงตอบตกลงเลยโอกาสติดสอยห้อยตามไปทำข่าวในพื้นที่ด้วย ทำให้มีโอกาสได้ชมโรงต้มเหล้า กรรมวิธีการผลิตและชิมรสชาติของสุรากลั่นชุมชนของหมู่บ้านสะเอียบ สินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดแพร่ เมื่อชิมไปหลายจอกก็มีเรื่องราวให้ได้พูดและสอบถามกันไปต่างๆนานา ทำให้ทราบว่าสุรากลั่นหรือเหล้าของหมู่บ้านสะเอียบมีความผูกพันธ์กับวัฒนธรรมประเพณีมากมาย ในสมัยโบราณก่อนจะมีงานเทศาลหรือประเพณีต่างๆ ชาวบ้านจะต้องทำพิธีตั้งขัน หรือการยกครู เพื่อทำการบวงสรวงให้งานมีความราบรื่น และพิธีมีความศักดิ์สิทธิ์


     สุรา หรือเหล้าเดือนห้า(เหนือ) ทุกบ้านต้องมีเก็บไว้ เพื่อป้องกันฟ้าผ่า โดยมีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ถ้ามีฝนตกหัวปี แล้วเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติฟ้าฝนตกรุนแรง ลมกรรโชกและที่สำคัญคือ “ฟ้าผ่า” ให้ดื่มเหล้าเดือนห้านิดหน่อย หรือถ้าเป็นเด็กๆผู้หญิงที่ดื่มเหล้าไม่เป็นก็ให้นำเหล้าเดือนห้ามาทาที่บริเวณหัว จะช่วยป้องกันฟ้าผ่าได้ เช่นกัน นอกจากนั้นเหล้ายังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ผสมกับสมุนไพร ในการสะกัดเอาตัวยาออกมาจากสมุนไพร นอกจากนั้นคนสมัยโบราณนั้นยังนิยมดื่มยาดองหลังจากทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อบำรุงร่างกายและช่วยให้เลือดลมสูบฉีด กระตุ้นเลือดลมและทำให้ร่างกายหายเหนื่อยอีกด้วย

     แม้ในกระบวนการผลิตเหล้าก็ยังแฝงประเพณีความเชื่อที่ปฎิบัติสืบกันมา เช่น การทำลูกแป้ง จะไม่นิยมปั้นในเดือนสามเหนือ เพราะเชื่อกันว่าลูกแป้งที่ปั้นออกมานั้นจะเสียและไม่ดี , ห้ามผู้หญิงที่มีประจำเดือนเข้าร่วมกันปั้นลูกแป้ง และในเวลาที่ชุมชนมีผู้เสียชีวิต ก็จะไม่มีการปั้นลูกแป้ง โดยจะเลื่อนการปั้นไปจนกว่างานศพจะเสร็จสิ้นไปก่อน เพื่อเป็นการให้คนในชุมชนมาช่วยงานศพกันก่อน หรืออีกนัยตามความเชื่อ คือ วันพระวันเนาและเวลามีงานศพนั้น ชาวสะเอียบจะไม่มีการกลั่นสุราเด็ดขาด เพราะถ้ามีการกลั่นสุราแล้วสุราที่ได้จะการกลั้นนั้นจะเสีย

     จากการพูดคุยกับคุณฮอล ผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชน สุราขาล ได้เล่าให้ฟังว่า การกลั่นสุราเป็นกิจการของที่บ้านและได้ทำมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว โดยใช้ชื่อว่า “ขาล” เพราะว่าผู้เริ่มต้นผลิตและกลั่นสุราคนแรกคือคุณย่าซึ่งเกิดในปีขาล สืบต่อมาคือแม่และตนเองก็เกิดปีขาล เช่นกัน โดยสุราขาลนั้นจะกลั่นในวันที่สิบห้าคำเดือนห้า(เหนือ)ของทุกปี เชื่อว่าสุราที่กลั่นในคืนวันเพ็ญสิบห้าค่ำนั้นจะมีรสดี รสชาติกลมกล่อมเป็นพิเศษ ดั่งเหมือนว่า ร่ำสุราท่ามกลางแสงจันทร์

     สุรากลั่นชุมชนตำบลสะเอียบจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน จากเหล้าเถือนในอดีตสู่ผลิตภัณฑ์ มือ1 ของชุมชนสะเอียบ ที่สร้างรายได้ จ่ายภาษีเข้ารัฐกว่า400ล้าน ต่อปี เป็นสุรากลั่นขาวที่มีคุณภาพและรสชาติอร่อย ด้วย ปัจจุบันเป็นสุรากลั่นที่ถูกกฎหมาย สงนราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักหลายร้อยบาท ตามคุณภาพการกลั่นและดีกรี สมเป็นของดีเมืองแพร่ ดั่งคำพูดที่ว่า“สุรากลั่นชุมชน ต้องของสะเอียบเท่านั้น



โดยนายคมสัน  หน่อคำ



วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คำสอนบะเก่า


สุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ออกมา  เช่น ทำนองโวหาร สำนวน คำพังเพย โดยมีเนื้อหาความหมายที่ดี มักเป็นคำสอนสั่งสอน หรือคำเตือนใจให้ระลึกถึงอยู่เสมอ มักเป็นคำพูด อ่าน คำท่องจำที่เข้าใจเนื้อความได้ทันที่ โดยไม่ต้องแปลความหมาย สุภาษิตล้านนา คือ คำภาษิตที่ถูกแต่งโดยคนล้านนา โดยใช้ภาษาล้านนา แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการสั่งสอนลูกหลานและคนในท้องถิ่นล้านนา ส่วนมากแต่งจากเหตุการณ์มูลเหตุต่างๆในอดีต เช่น เหตุเกิดจากธรรมชาติ,เกิดจากการละเล่น,เกิดจากการกระทำของมุนษย์-สิ่งแวดล้อม-อุบัติเหตุและการเกิดจากการผิดแผงประเพณีหรือศาสนา เป็นต้น
            ในปัจจุบันความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมประเพณี ของชาวล้านนา คำสอน สุภาษิตล้านนาบางอย่างถูกมองว่าล้าสมัยและกำลังจะจางหายไปกับกระแสกาลเวลา ความงดงามของภาษา วาทะกรรม คำสอนที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างขึ้นมานั้น เป็นเครื่องสอนให้เราสำนึกและคงอยู่กับศีลธรรม ดังนั้นขอยกเอา สุภาษิตล้านนาหรือคำสอนบะเก่ามาเตือนสติแก่ผู้อ่านทุกท่าน สักประโยค
“จะนั่งหื้อผ่อตี้ จะหนีหื้อผ่อก้น”  แปลว่า ก่อนนั่งให้ดูที่  ก่อนลุกหนีให้ดูก้น
(ตี้ = ที่ ทาง,  ผ่อ = ดู,  หนี = ลุกหนี)
ตรงกับพุทธภาษิตที่ว่า "ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ"
คนโบราณ สอนและให้ข้อเตือนจิตสะกิดใจว่า ก่อนทำอะไรนั้น "ให้ตั้งสติ"  ให้วินิจฉัยว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อมิให้ต้อง "น้ำตาตกใน" ภายหลัง เพราะความผิดพลั้ง ไม่ระมัดระวังให้ดีก่อนลงมือทำ
โดยคำว่า "ผ่อ" นั้นหมายถึง "ให้คิด" หรือใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำตามพุทธภาษิตนั่นเอง คิด ก็หมายถึง ดูด้วยสติ  ก่อนจะนั่ง ก็ดูที่ว่ามีธุลี หรือของมีคมอยู่หรือไม่  ก่อนจะลุกไป ก็คลำก้นดูก่อนว่า มีใครแกล้งเอา "หาง" ใส่หรือเปล่า  ทางที่ดี ควร "ผ่อ" ก่อน เพื่อความไม่ประมาท ทั้งนี้มิใช่ "ระแวง" แต่เป็น "ระวัง"

ขอบคุณที่มาจาก  เว็ปไซด์เกษตรสมบูรณ์หน้า คำสอนบะเก่า และ ผะญ๋า ธรรม คำมะเก่า


โดย นายคมสัน  หน่อคำ





วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2561

นับถือผี



     ชาวล้านนามีความผูกพันธ์กับความเชื่อการนับถือผีมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันและสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาที่ต้องเข้าป่าไปหาอาหารหรือต้องค้างพักแรมอยู่ในป่ามักจะต้องบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางเสมอและเมื่อเวลาที่กินข้าวในป่าก็มักจะแบ่งอาหารให้เจ้าที่ด้วยเช่นกันนอกจากนั้นเมื่อเวลาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในป่าเมื่อเวลาที่ต้องถ่ายปลดทุกข์หนักเบานอกห้องน้ำ ก็จะต้องขออนุญาตจากเจ้าที่ก่อนอยู่เสมอเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนล้านนานั้นงผูกผันและยึดติดอยู่กับการเชื่อถือสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือนับถือผี

     สำหรับชาวล้านนานั้นกับการเลี้ยงผีดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออกเพราะนับตั้งแต่เกิดมาคนล้านนาจะเกี่ยวพันกับผีหรือวิญญาณมาตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น เมื่อมีเด็กเกิดขึ้นในบ้านจะต้องทำพิธีเรียกขวัญ หรือที่เรียกว่า "ฮ้องขวัญ" และเมื่อเวลาที่เด็กเกิดไม่สบายร้องไห้โยเย ก็มักจะเชื่อว่ามีวิญญาณร้ายของผีตายโหงมารบกวนเด็ก คนล้านนาเชื่อว่าขวัญของเด็กเป็นขวัญที่อ่อนแอ ภูตผีวิญญาณต่าง ๆมักจะมารบกวนได้ง่ายๆ ดังนั้นเมื่อเด็กไม่สบายก็จะต้องทำพิธีเลี้ยงผีหรือหาเครื่องรางมาผูกที่ข้อมือของเด็ก ปัจจุบันในแถบทางชนบทเรายังสามารถพบเห็นการกระทำแบบนี้อยู่การเลี้ยงผีของคนล้านนา จะอยู่ในช่วงระหว่างเดือน 4 เหนือ จนถึงเดือน 8 เหนือช่วงเวลานี้เราจะพบว่าตามหมู่บ้านต่าง ๆในภาคเหนือจะมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษกันอย่างมากมายในช่วงกลางฤดูร้อนจะมีการลงเจ้าเข้าทรงตามหมู่บ้านต่าง ๆทั้งนี้เป็นเพราะความเชื่อของชาวบ้านที่ว่าการลงเจ้าเป็นการพบปะพูดคุยกับผีบรรพบุรุษ ซึ่งในปีหนึ่งจะมีการลงเจ้าหนึ่งครั้งและในการลงเจ้าครั้งนี้จะถือโอกาสทำพิธีรดน้ำดำหัวผีบรรพบุรุษไปด้วย ยังมีพิธีเลี้ยงผีอยู่พิธีหนึ่งที่มักจะกระทำกันในช่วงเวลานี้และเป็นพิธีที่สำคัญในปีหนึ่งจะทำพิธีนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การเลี้ยงผีมดผีเม็งชาวบ้านที่ประกอบพิธีนี้ขึ้นบอกว่า การเลี้ยงผีมดผีเม็งจะเลี้ยงอยู่ 2 กรณี คือเมื่อเวลามีคนเจ็บป่วยไม่สบายในหมู่บ้านจะทำพิธีบนผีเม็งเพื่อขอใช้ช่วยรักษา เมื่อเวลาที่หายแล้วจะต้องทำพิธีเชิญวิญญาณผีเม็งมาลงและจัดหาดนตรีมาเล่นเพื่อเพิ่มความสนุกสนานแก่ผีมดผีเม็งด้วยอีกกรณีหนึ่งเมื่อไม่มีคนเจ็บป่วยในหมู่บ้านจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีมดผีเม็งทุกปี โดยจะต้องหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมและจะต้องกระทำระหว่างช่วงเวลาเดือน 4 เหนือถึง เดือน 8 เหนือ ก่อนเข้าพรรษาเพราะถ้าไม่ทำพิธีผีมดผีเม็งอาจจะไม่คุ้มครอง คนในหมู่บ้านก็ได้ ดังนั้นเมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาดังกล่าวเรามักจะพบภาพพิธีเหล่านี้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ
     ชาวล้านนากับความเชื่อในการเลี้ยงผี ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญ แม้ว่าการดำเนินชีวิตของพวกเขาจะราบรื่นไม่ประสบปัญหาใดแต่ภายใต้จิตสำนึกที่แท้จริงแล้วคนล้านนาเหล่านี้ไม่อาจลืมเลือนวิญญาณของผีบรรพบุรุษที่เคยช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ปกติสุขมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แม้กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรภาพที่เรายังคงพบเห็นได้เสมอเมื่อเวลาเดินทางไปยังหมู่บ้านต่าง ๆในชนบทก็คือ เรือนเล็ก ๆ หลังเก่าตั้งอยู่กลางหมู่บ้านนั่นก็คือหอเจ้าที่ประจำหมู่บ้านที่ยังย้ำเตือนให้พวกเขาไม่ให้หลงไหลไปกับกระแสสังคมนั่นเอง






โดย นายคมสัน  หน่อคำ











วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561

ครม.ขยายโครงข่ายเน็ตประชารัฐเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม


     คณะรัฐมนตรีสั่งขยายโครงข่ายเน็ตประชารัฐ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เป้าหมายติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้ครบ 40,432 หมู่บ้าน

      สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 เห็นชอบการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในโครงการเน็ตประชารัฐ ในการพัฒนาโครงข่าย ดูแลรักษาโครงข่าย และยังนำไปใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนหรือชำรุดเสียหาย รวมถึงยังนำไปจัดอบรมให้ความรู้กับตัวแทนหมู่บ้านเพื่อให้เข้าถึงการใช้งานและประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์โครงการ โดยใช้งบประมาณที่เหลือจากโครงการพัฒนาเน็ตประชารัฐ จำนวน 1,638.66 ล้านบาท

     โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐมีการดำเนินการแล้วเสร็จก่อนหน้านี้แล้ว 1 กลุ่มที่กำหนดเป็นโซน C ครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน การดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในส่วนพื้นที่หมู่บ้านที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และไม่มีบริการและยากต่อการเข้าถึง (หมู่บ้านชายขอบ Zone C+) จำนวน 3,920 หมู่บ้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 และหมู่บ้านส่วนที่เหลือเพิ่มเติมในพื้นที่ Zone C จำนวน 15,732 หมู่บ้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2561

     ในการนำพาประเทศไทยก้าวสู่ "ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันในเวทีโลก ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีความพร้อมใช้ และอยู่ในราคาที่จ่ายได้

     เป้าหมายติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้ครบ 40,432 หมู่บ้าน และได้จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์แก่ประชาชน ทำคู่มือสำหรับฝึกอบรมครู กศน. ให้เป็นวิทยากรแกนนำ จำนวน 1,033 คน โดยขยายผลอบรมแก่ผู้สนใจอีกไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน ซึ่งการจัดฝึกอบรมดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

ค่าว จ๊อย ซอ ฮิ้ว.....คนเมือง






     ในช่วงนี้วัดหลายแห่งของบ้านเราจัดงานสมโภชประจำปีกัน ทำให้ได้พบเห็นการซอแบบสดๆและเสน่ห์ของอีกอย่างคือการฟ้อนแอ้นที่จะได้เห็นการโค้งตัวรับรางวัลเป็นที่น่าชมอย่างยิ่งเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมผู้ฟังได้อย่างยิ่ง(อาจเป็นผู้มีอายุเป้นส่วนใหญ่) สำหรับเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักเพลงพื้นบ้านล้านนาเราวันนี้ ปี้หนานจะอธิบายอย่างค่าวๆให้ฟัง “ซอ หมายถึง การร้องหรือการขับร้องเพลงพื้นบ้าน ของล้านนา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ซอพื้นเมือง เป็นเพลง พื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวล้านนาไทยในเขต ๘ จังหวัด ภาคเหนือ และบางส่วนของจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ และ ตาก การซอมีทั้งการโต้ตอบกันในลักษณะบทเกี้ยวพาราสี ระหว่างชายหญิง หรือซอเดี่ยวเพื่อเล่าเรื่อง พรรณนา เหตุการณ์ มีเครื่องดนตรีพื้นบ้านบรรเลงประกอบ
     ผู้ขับเพลงซอ หรือที่เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “ช่างซอ” ที่ร้องโต้ตอบกันเรียกว่า “คู่ถ้อง” ช่างซอที่เป็น คู่ถ้องต้องเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบดีและได้รับการฝึกฝน จนชำนาญ เพราะต้องโต้ตอบกับอีกฝ่ายอย่างทันท่วงที ต้องมีความรู้รอบตัวและมีความจำดี เพราะสามารถนำสิ่ง รอบข้างมาใช้ในการซอได้ นอกจากนี้ต้องจำทำนองของ เพลงซอได้อย่างขึ้นใจ เนื้อร้องของซอเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขึ้นอยู่ กับสถานการณ์และโอกาสที่ไปแสดง เช่น ถ้าไปแสดง ในงานบวชนาค ช่างซอก็จะร้องเพลงซอพรรณนาเกี่ยวกับ การตอบแทนพระคุณพ่อแม่

     เพลงซอ หรือทำนองซอล้านนา แบ่งตามเขต วัฒนธรรมได้เป็น ๒ เขต คือ เขตล้านนาตะวันตก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน ซอหรือขับซอเข้ากับ ปี่หรือวงปี่จุม คือ มีปี่เป็นหลักในการบรรเลงประกอบ เรียกโดยรวมว่า ซอเชียงใหม่ และล้านนาตะวันออก ได้แก่ น่าน แพร่ เชียงราย (บางส่วน) และพะเยา ขับซอเข้ากับ สะล้อและปิน (ซึง) เรียกโดยรวมว่า ซอน่าน ซอเชียงใหม่มีทำนองซอหลักๆ ๗ ทำนอง คือ ตั้งเชียงใหม่ จะปุ ละม้าย เงี้ยว พม่า อื่อ และพระลอ หรือ ล่องน่าน ส่วนซอน่านมีทำนองซอหลักๆ คือ ซอล่องน่าน ลับแลง ดาดแพร่ และปั่นฝ้าย การขับซอเชียงใหม่จะเร็วกว่า การขับซอน่าน ขั้นตอนการแสดงซอเริ่มด้วยพิธีไหว้ครู โหมโรง เกริ่น เข้าสู่เนื้อหา และบทลา

     การขับซอได้มีพัฒนาการมาตลอดตามยุคสมัย เช่น ในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริเริ่มละครซอขึ้นใน จังหวัดเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เกิดซอสตริง หรือซอร่วมสมัย ซึ่งนำทำนองซอบางทำนองมาประยุกต์ กับดนตรีสากล

     ซอ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมที่สำคัญและโดดเด่นยิ่งของชาวล้านนา มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นกระจกเงา สะท้อนวิถีการดำรงชีวิตของชาวล้านนาในด้านต่างๆ เช่น ความเชื่อ ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว การประกอบอาชีพ อาหารและ โภชนาการ การแต่งกาย นอกจากนี้ยังมีความงดงาม ของภาษาคำเมือง หรือภาษาถิ่นเหนือ จึงเป็นภูมิปัญญาทาง ภาษาที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้อย่างงดงามทรงคุณค่า น่าภูมิใจยิ่ง

ขอบคุณ อาจารย์คำเกี้ยว เมืองเอก ที่บอกกล่าวเล่าเรื่องไห้เรารู้จัก “ค่าว จ๊อย ซอ”

ที่มาข้อมูล http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/161-----m-s







เขียนโดย นายคมสัน  หน่อคำ

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

สะปะเมนู หน่อไม้ คนเมือง


     หน่อไม้ เป็นยอดอ่อนของต้นไผ่ที่จะจะแทงโผล่ดิน กลายเป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์เดินดินตาดำๆที่ท่องตามก่อไผ่ แวกพงหนามไผ่ ลำไฝ่ที่บิดตัวปิดล้อมหน่อไม้อ่อนให้เติมโตสืบก่อหน่อพงต่อไปภายภาคหน้า แต่ด้วยรสชาติแสนอร่อยของหน่อไม้ ทำให้ผู้ที่เคยลิ้มรสลองลิ้นหน่อไม้จะต้องแสวงหามาประกอบอาหารทานให้ได้ โดยเฉพาะฤดูฝนที่หน่อไม้มีหน่ออ่อนโผล่ดินอย่างมากมาย
     สำหรับเมนูจากหน่อไม้นั้นมีอยู่มากมาย แต่ที่เห็นนิยมทานกันมากที่สุดก็คือ การนำมาต้มแล้วเกาะเปลือกจิ้มกินกับสาระพันน้ำพริกก็อร่อยอิ่มสบายพุงกัน เพราะบ้านเรามีน้ำพริกหลากหายชนิด เรียกว่า ทำทานกันภายใน 1 เดือน ไม่มีช้ำกันสักวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกกะปิ น้ำพริกอีเก๋ น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ๋อง น้ำพริกน้ำปู เมนูนี้หลายท่านคงจะชอบกันพิเศษ กับช่วงนี้ที่ชาวบ้านเก็บปูเคี่ยวทำน้ำปูกันใหม่ๆ เป็นสาเหตุให้หมดเปลื้องหน่อไม้ต้มและข้าวเหนียวไปเป็นจำนวนมาก แต่หนิอไม้ใช่ว่าจะเป็นผักแหนมแกล้มน้ำพริกอร่อยอย่างเดียว ยังสามารถ นำมทำต้มหน่อไม้ใส่กระดูกหมู ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่คนไทยนิยมทำทานกันเป็นประจำโดยเพราะหน่อหวาน(หน่อไม้พันธ์หนึ่ง)ที่มีสีเหลืองอ่อนเนื้อแน่นกรอบและมีรสชาติหวานมาก หรือจะนำหน่อไม้ต้มไปผัดใส่หมูใส่ไข่ปรุงรสด้วยซอสถั่วเหลือง น้ำมันหอย ซีอิ้วขาว น้ำตาล น้ำปลา ตามใจชอบก็เป็นอีกหนึ่งเมนูยอดฮิตประจำครัวและร้านอาหารไปเลย ซึ่งอาจจะใส่วุ้นเส้นใส่พริกเพิ่มรสชาติก็เป็นวิธีเพิ่มรสชาติให้กับเมนูผัดหน่อไม้อีกด้วย และหน่อไม้สดสามารถมาทำอาหารได้อีกหลากหลายเมนูด้วย เช่น แกงหน่อหน่อไม้ใส่หมู ,แกงหน่อไม้ใส่ใบแม่ย่านาง,แกงคั่วหน่อไม้สด,แกงเขียวหวานใส่หน่อไม้,แกงส้มใส่หน่อไม้,ผัดหน่อไม้กุ้งสด,ซุปหน่อไม้,แกงห่อไม้ใส่เห็ดเผาะ ฯลฯ

     แม้หน่อไม้สดจะมีให้ทานมากมายในฤดูฝน แต่ในความติดใจในรสชาติของหน่อไม้ ประกอบกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทำให้เมื่อชาวบ้านนำหน่อไม้สดมาผ่านกรรมวิธีถนอมอาหารเก็บไว้ใช้ประกอบอาหาร เช่น หน่อไม้ดอง โดยนำหน่อไม่มาปอกเปลือก ล้างให้สะอาด แล้วนำมาสับหรือหั่นเป็นแผ่นบางๆ แช่น้ำไว้หนึ่งคืน นำมาตากสะเด็จน้ำ แล้วนำเกลือเม็ดต้มละลายน้ำพักไว้ให้เย็น นำหน่อไม้ที่สะเด็จน้ำไว้มาเคล้ากับแป้งให้ทั่ว ใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น บีบ โอ่ง ขวดพลาสติก เทน้ำเกลือใส่ลงไปให้ท่วมหน่อไม้ เคล็ดลับ ให้ใส่น้ำส้มสายชูเข้าไปผสมด้วยเล็กน้อย เพื่อให้หน่อไม้สวยน่ากิน เสร้จแล้วปิดให้มิดชิด หมักไว้สองอาทิตย์ ก็จะได้หน่อไม้ดองหรือหน่อไม้ส้มทานกันแล้ว โดยของนะนำเมนูยำหน่อไม้ส้มใส่ใส่น้ำปู เป็นเมนูแรก จะรสสัมผัสที่ได้กินแล้ว แม้เอาพิซซ่ามาแลกก็ไม่ยอม หน่อไม้นอกจากดอกแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำมาอบแห้ง เพื่อถนอมอาหารให้เก็บไว้กินนานๆยิ่งขึ้น ก็ร่ายกันมาสะยาว ฉบับนี้ต้องขอจบไว้เพียงเท่านี้ และขอตัวไปตลาดหาซื้อหน่อไม้มาทำกับข้าวเย็นซะสองสามเมนูซะหน่อย......ติดตามบทความอื่นๆได้ที่ https://phrae365.blogspot.com/ และ เพจFacebook/แพร่365