วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2561

นับถือผี



     ชาวล้านนามีความผูกพันธ์กับความเชื่อการนับถือผีมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันและสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาที่ต้องเข้าป่าไปหาอาหารหรือต้องค้างพักแรมอยู่ในป่ามักจะต้องบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางเสมอและเมื่อเวลาที่กินข้าวในป่าก็มักจะแบ่งอาหารให้เจ้าที่ด้วยเช่นกันนอกจากนั้นเมื่อเวลาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในป่าเมื่อเวลาที่ต้องถ่ายปลดทุกข์หนักเบานอกห้องน้ำ ก็จะต้องขออนุญาตจากเจ้าที่ก่อนอยู่เสมอเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนล้านนานั้นงผูกผันและยึดติดอยู่กับการเชื่อถือสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือนับถือผี

     สำหรับชาวล้านนานั้นกับการเลี้ยงผีดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออกเพราะนับตั้งแต่เกิดมาคนล้านนาจะเกี่ยวพันกับผีหรือวิญญาณมาตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น เมื่อมีเด็กเกิดขึ้นในบ้านจะต้องทำพิธีเรียกขวัญ หรือที่เรียกว่า "ฮ้องขวัญ" และเมื่อเวลาที่เด็กเกิดไม่สบายร้องไห้โยเย ก็มักจะเชื่อว่ามีวิญญาณร้ายของผีตายโหงมารบกวนเด็ก คนล้านนาเชื่อว่าขวัญของเด็กเป็นขวัญที่อ่อนแอ ภูตผีวิญญาณต่าง ๆมักจะมารบกวนได้ง่ายๆ ดังนั้นเมื่อเด็กไม่สบายก็จะต้องทำพิธีเลี้ยงผีหรือหาเครื่องรางมาผูกที่ข้อมือของเด็ก ปัจจุบันในแถบทางชนบทเรายังสามารถพบเห็นการกระทำแบบนี้อยู่การเลี้ยงผีของคนล้านนา จะอยู่ในช่วงระหว่างเดือน 4 เหนือ จนถึงเดือน 8 เหนือช่วงเวลานี้เราจะพบว่าตามหมู่บ้านต่าง ๆในภาคเหนือจะมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษกันอย่างมากมายในช่วงกลางฤดูร้อนจะมีการลงเจ้าเข้าทรงตามหมู่บ้านต่าง ๆทั้งนี้เป็นเพราะความเชื่อของชาวบ้านที่ว่าการลงเจ้าเป็นการพบปะพูดคุยกับผีบรรพบุรุษ ซึ่งในปีหนึ่งจะมีการลงเจ้าหนึ่งครั้งและในการลงเจ้าครั้งนี้จะถือโอกาสทำพิธีรดน้ำดำหัวผีบรรพบุรุษไปด้วย ยังมีพิธีเลี้ยงผีอยู่พิธีหนึ่งที่มักจะกระทำกันในช่วงเวลานี้และเป็นพิธีที่สำคัญในปีหนึ่งจะทำพิธีนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การเลี้ยงผีมดผีเม็งชาวบ้านที่ประกอบพิธีนี้ขึ้นบอกว่า การเลี้ยงผีมดผีเม็งจะเลี้ยงอยู่ 2 กรณี คือเมื่อเวลามีคนเจ็บป่วยไม่สบายในหมู่บ้านจะทำพิธีบนผีเม็งเพื่อขอใช้ช่วยรักษา เมื่อเวลาที่หายแล้วจะต้องทำพิธีเชิญวิญญาณผีเม็งมาลงและจัดหาดนตรีมาเล่นเพื่อเพิ่มความสนุกสนานแก่ผีมดผีเม็งด้วยอีกกรณีหนึ่งเมื่อไม่มีคนเจ็บป่วยในหมู่บ้านจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีมดผีเม็งทุกปี โดยจะต้องหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมและจะต้องกระทำระหว่างช่วงเวลาเดือน 4 เหนือถึง เดือน 8 เหนือ ก่อนเข้าพรรษาเพราะถ้าไม่ทำพิธีผีมดผีเม็งอาจจะไม่คุ้มครอง คนในหมู่บ้านก็ได้ ดังนั้นเมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาดังกล่าวเรามักจะพบภาพพิธีเหล่านี้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ
     ชาวล้านนากับความเชื่อในการเลี้ยงผี ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญ แม้ว่าการดำเนินชีวิตของพวกเขาจะราบรื่นไม่ประสบปัญหาใดแต่ภายใต้จิตสำนึกที่แท้จริงแล้วคนล้านนาเหล่านี้ไม่อาจลืมเลือนวิญญาณของผีบรรพบุรุษที่เคยช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ปกติสุขมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แม้กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรภาพที่เรายังคงพบเห็นได้เสมอเมื่อเวลาเดินทางไปยังหมู่บ้านต่าง ๆในชนบทก็คือ เรือนเล็ก ๆ หลังเก่าตั้งอยู่กลางหมู่บ้านนั่นก็คือหอเจ้าที่ประจำหมู่บ้านที่ยังย้ำเตือนให้พวกเขาไม่ให้หลงไหลไปกับกระแสสังคมนั่นเอง






โดย นายคมสัน  หน่อคำ











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น