วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เล่าขาน เหล้าขาล สุรากลั่นชุมชน



     เมื่อต้นเดือนตุลาคม(พ.ศ.2561)ที่ผ่านมานี้ได้มีพี่น้องนักข่าวชักชวนไปทำข่าวยังพื้นที่ ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ จึงตอบตกลงเลยโอกาสติดสอยห้อยตามไปทำข่าวในพื้นที่ด้วย ทำให้มีโอกาสได้ชมโรงต้มเหล้า กรรมวิธีการผลิตและชิมรสชาติของสุรากลั่นชุมชนของหมู่บ้านสะเอียบ สินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดแพร่ เมื่อชิมไปหลายจอกก็มีเรื่องราวให้ได้พูดและสอบถามกันไปต่างๆนานา ทำให้ทราบว่าสุรากลั่นหรือเหล้าของหมู่บ้านสะเอียบมีความผูกพันธ์กับวัฒนธรรมประเพณีมากมาย ในสมัยโบราณก่อนจะมีงานเทศาลหรือประเพณีต่างๆ ชาวบ้านจะต้องทำพิธีตั้งขัน หรือการยกครู เพื่อทำการบวงสรวงให้งานมีความราบรื่น และพิธีมีความศักดิ์สิทธิ์


     สุรา หรือเหล้าเดือนห้า(เหนือ) ทุกบ้านต้องมีเก็บไว้ เพื่อป้องกันฟ้าผ่า โดยมีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ถ้ามีฝนตกหัวปี แล้วเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติฟ้าฝนตกรุนแรง ลมกรรโชกและที่สำคัญคือ “ฟ้าผ่า” ให้ดื่มเหล้าเดือนห้านิดหน่อย หรือถ้าเป็นเด็กๆผู้หญิงที่ดื่มเหล้าไม่เป็นก็ให้นำเหล้าเดือนห้ามาทาที่บริเวณหัว จะช่วยป้องกันฟ้าผ่าได้ เช่นกัน นอกจากนั้นเหล้ายังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ผสมกับสมุนไพร ในการสะกัดเอาตัวยาออกมาจากสมุนไพร นอกจากนั้นคนสมัยโบราณนั้นยังนิยมดื่มยาดองหลังจากทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อบำรุงร่างกายและช่วยให้เลือดลมสูบฉีด กระตุ้นเลือดลมและทำให้ร่างกายหายเหนื่อยอีกด้วย

     แม้ในกระบวนการผลิตเหล้าก็ยังแฝงประเพณีความเชื่อที่ปฎิบัติสืบกันมา เช่น การทำลูกแป้ง จะไม่นิยมปั้นในเดือนสามเหนือ เพราะเชื่อกันว่าลูกแป้งที่ปั้นออกมานั้นจะเสียและไม่ดี , ห้ามผู้หญิงที่มีประจำเดือนเข้าร่วมกันปั้นลูกแป้ง และในเวลาที่ชุมชนมีผู้เสียชีวิต ก็จะไม่มีการปั้นลูกแป้ง โดยจะเลื่อนการปั้นไปจนกว่างานศพจะเสร็จสิ้นไปก่อน เพื่อเป็นการให้คนในชุมชนมาช่วยงานศพกันก่อน หรืออีกนัยตามความเชื่อ คือ วันพระวันเนาและเวลามีงานศพนั้น ชาวสะเอียบจะไม่มีการกลั่นสุราเด็ดขาด เพราะถ้ามีการกลั่นสุราแล้วสุราที่ได้จะการกลั้นนั้นจะเสีย

     จากการพูดคุยกับคุณฮอล ผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชน สุราขาล ได้เล่าให้ฟังว่า การกลั่นสุราเป็นกิจการของที่บ้านและได้ทำมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว โดยใช้ชื่อว่า “ขาล” เพราะว่าผู้เริ่มต้นผลิตและกลั่นสุราคนแรกคือคุณย่าซึ่งเกิดในปีขาล สืบต่อมาคือแม่และตนเองก็เกิดปีขาล เช่นกัน โดยสุราขาลนั้นจะกลั่นในวันที่สิบห้าคำเดือนห้า(เหนือ)ของทุกปี เชื่อว่าสุราที่กลั่นในคืนวันเพ็ญสิบห้าค่ำนั้นจะมีรสดี รสชาติกลมกล่อมเป็นพิเศษ ดั่งเหมือนว่า ร่ำสุราท่ามกลางแสงจันทร์

     สุรากลั่นชุมชนตำบลสะเอียบจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน จากเหล้าเถือนในอดีตสู่ผลิตภัณฑ์ มือ1 ของชุมชนสะเอียบ ที่สร้างรายได้ จ่ายภาษีเข้ารัฐกว่า400ล้าน ต่อปี เป็นสุรากลั่นขาวที่มีคุณภาพและรสชาติอร่อย ด้วย ปัจจุบันเป็นสุรากลั่นที่ถูกกฎหมาย สงนราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักหลายร้อยบาท ตามคุณภาพการกลั่นและดีกรี สมเป็นของดีเมืองแพร่ ดั่งคำพูดที่ว่า“สุรากลั่นชุมชน ต้องของสะเอียบเท่านั้น



โดยนายคมสัน  หน่อคำ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น