วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ศาลหลักเมือง ตอนที่ 1




      ศาลหลักเมือง คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ตั้งของหลักเมือง ซึ่งตามธรรมเนียมพิธีของศาสนาพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ประเทศไทย เชื่อว่าทำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่ากันว่า พิธีสร้างเมืองต้องฝังอาถรรพ์ ๔ ประตูเมืองและเสาหลักเมือง คือ ต้องเอาคนมาฝังในหลุม เพื่อให้เฝ้าบ้านเมือง ซึ่ง จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "เป็นเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ไม่มีบันทึกในพงศาวดาร ไม่น่าจะเป็นไปได้ คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่ามาจากนิทานที่เล่าสืบต่อกันมา เหมือนกับการโล้ชิงช้าที่เล่ากันว่าพราหมณ์ตกลงมา ก็ให้ฝังไว้ตรงเสาชิงช้า

     เมืองแพร่เองก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของชื่อประตูมารว่ามาจากการฝังคนท้องมานไว้ที่ประตูนั้น แต่ในเรื่องเล่านั้น เรียกว่า พิธีเบิกประตูเวียง ตามความเชื่อว่าการสร้างเวียงใหม่ ต้องทำ "ประตูบาก" ไว้ประตูหนึ่ง โดยจะมีพิธีประหารผู้มีชะตาถึงฆาต เพื่อให้วิญญาณรักษาประตูแห่งนี้ไว้ ไม่ใช่การฝังอาถรรพ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับชื่อของประตูด้านทิศใต้ของเวียงแพร่แห่งนี้ ก็มีการเสนอที่มาอื่นอีก เช่น คำว่า "มาร" คงหมายถึง สิ่งล้างผลาญคุณความดีเป็นมาร ๕ คือ กิเลสมาร, ขันฑมาร, เทวปุตตมาร, อภิสังขารมาร, มัจจุราชมาร และเทพประจำทิศใต้มีท้าววิรุฬหก (กุมภัณฑ์ จอมเทวดา) มหาราชเป็นผู้ปกครองและเป็นใหญ่ทางทิศใต้ ตามความเชื่อในเรื่อง "ต้าวทั้งสี่" หรืออีกด้านหนึ่ง มีการเสนอว่า "ประตูมาร" มาจากการเป็นประตูที่เป็นเส้นทางออกจากเวียงแพร่ มุ่งไปสู่เมืองมาน ซึ่งเป็นเมืองด่านด้านทิศใต้ แต่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏว่า เมื่อครั้งสร้างเมืองแพร่มีการฝังเสาหลักเมืองเหมือนกรุงเทพฯ หรือเสาอินทขิลเหมือนอย่างเมืองเชียงใหม่

     สำหรับศาลและเสาหลักเมืองแพร่ในปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่บนถนนคุ้มเดิม เยื้องจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เข้าใจว่าศาลหลักเมืองแพร่สร้างในครั้งแรก­พร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ มีหลักเมืองเดิมเป็นรูปใบเสมา เรียกกันว่า ศิลาจารึกศาลหลักเมืองแพร่ ถูกนำมาไว้ใจกลางเมือง ซึ่งถือว่าเป็น สะดือ เดิมมีสภาพเป็นพื้นที่ร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่เป็นที่ตั้งของศาลเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ตูบผี ต่อมาพื้นที่นี้ได้ถูกถางตัดต้นไม้ใหญ่ออก และนำเอาหลักศิลาจารึกที่พบหลักหนึ่ง(ในวัดร้างศรีบุญเริง ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณเรือนจำจังหวัดแพร่) ยึดถือเป็นหลักเมืองแพร่ ภายหลังจึงได้มีการสร้างศาลหลักเมืองเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขึ้น เป็นหลักใหม่สร้างตามนโยบายมหาดไทย ปี ๒๕๓๕ ติดตามต่อตอนที่ 2


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น