วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ต้อนรับฮีโร่ซีเกมส์




    ประชาชนชาวจังหวัดแพร่ร่วมแสดงความยินดี และจัดพิธีต้อนรับนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย คว้าเหรียญทองและรางวัลต่างๆ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนเมืองแพร่

      วานนี้ (30 สิงหาคม 2560) ที่บริเวณกาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่ ประชาชนชาวจังหวัดแพร่ต่างหลั่งไหลมารอรับและมอบดอกไม้แสดงความยินดีให้กับนักกีฬาชาวเมืองแพร่ ที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วย นายณัฐพันเลิศ เอื้ออภิญญกุล ซึ่งได้รับเหรียญทองจากกีฬายิงปืน ประเภทปืนสั้นอัดลม, นางสาวอรพินท์ เสนาธรรม เหรียญเงินกีฬายูโด และนางสาววาสนา คูทวีทรัพย์ นักกีฬายิงธนู ซึ่งเป็นนักกีฬาพิการคนแรกที่เข้าร่วมการแข่งขันกับคนปกติในกีฬาซีเกมส์ สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับชาวจังหวัดแพร่ พร้อมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนในการเล่นกีฬา

      โดยศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดแพร่ ได้จัดขบวนแห่ต้อนรับนักกีฬาทั้ง 3 คน จากตลาดแพร่ปรีดามาตามถนนเจริญเมืองซึ่งเป็นถนนสายหลักในเขตตัวเมืองแพร่ ผ่านวงเวียนน้ำพุหน้าศาลากลางจังหวัดแพร่เข้าสู่กาดสามวัยเทศบาลเมืองแพร่ซึ่งเป็นบริเวณจัดงาน ตลอดสองข้างทางมีประชาชนร่วมแสดงความยินดีโบกมือและส่งเสียงร้องให้กำลังใจอย่างคึกคัก

      หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้มอบประกาศเกียรติคุณ เงินรางวัล และของที่ระลึกให้กับนักกีฬาทั้ง 3 คน นอกจากนี้ พ.อ.เทพฤทธิ์ เรือนคำ รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 35 และหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมอบของที่ระลึกแสดงความยินดีด้วย


ข่าวโดย : ชาติชาย คะมา
บรรณาธิการ : วัชระ เพชรพลอย 
หน่วยงาน : สวท.แพร่

จังหวัดแพร่จัดกิจกรรมประชารัฐรวมพลัง ปรองดองสามัคคี ทำความดีถวายแม่ของแผ่นดิน

     เทศบาลเมืองแพร่ ร่วมกับจังหวัดแพร่ และมณฑลทหารบกที่ 35 จัดกิจกรรมประชารัฐรวมพลังปรองดองสามัคคี ทำความดีถวายแม่ของแผ่นดิน เสริมสร้างความรัก ความสามัคคีและความปรองดองของคนในชาติ

     วานนี้ (30 สิงหาคม 2560) เวลา 18.00 น. นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่พร้อมด้วย พ.อ.เทพฤทธิ์ เรือนคำ รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 35 เป็นประธารเปิดกิจกรรม “ประชารัฐรวมพลัง ปรองดองสามัคคี ทำความดีถวายแม่ของแผ่นดิน” ซึ่งเทศบาลเมืองแพร่ร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 35, กองพันทหารม้าที่ 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์, หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนชาวจังหวัดแพร่จัดขึ้น ณ บริเวณกาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความรัก ความสามัคคีและความปรองดองของคนในชาติ สร้างความสุขให้กับประชาชน นำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติแบบยั่งยืน

     ภายในงานดังกล่าวมีหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมให้ความรู้และบริการประชาชนอย่างหลากหลาย อาทิ การตรวจสุขภาพ โดยหน่วยแพทย์ทหาร โรงพยาบาลค่ายพระยาพิชัยดาบหัก จังหวัดอุตรดิตถ์, การประกอบอาหารบริการประชาชนฟรี โดยกองพันทหารม้าที่ 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์, กิจกรรมขยะแลกไข่ลดปัญหาขยะ โดยโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวัน, บริการตัดผมฟรี โดยชมรมช่างเสริมสวยแต่งผมจังหวัดแพร่, การแจกกล้าพันุ์ไม้ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่, การแจกต้นกล้าดอกดาวเรือง จำนวน 500 ต้น โดย สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยจังหวัดแพร่, การแจกโลชั่นทากันยุง และสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย, การสาธิตทำน้ำยาล้างจาน, การสอนทำไข่เค็ม, กิจกรรมมัจฉาพาสนุก การแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ เผ่าม้ง เผ่ากะเหรี่ยง เผ่าอาข่า โดยมีประชาชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก


ข่าวโดย : ชาติชาย คะมา
บรรณาธิการ : วัชระ เพชรพลอย 
หน่วยงาน : สวท.แพร่

วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

แพร่จับกุมยาบ้า 108,000 เม็ด




   จังหวัดแพร่แถลงผลการจับกุมยาบ้า 108,000 เม็ด พร้อมรถของกลาง ผู้ต้องหา 2 คน ขณะลำเลียงผ่านด่านตรวจหาดรั่ว ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า เช้าวันนี้(30ส.ค.60) ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดแพร่ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วย พล.ต.ต. ยุทธชัย พัวประเสริฐ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ พ.อ. ชินทัศน์ หมวกละมัย รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดแพร่ นายดำรง สิริวิชย อิ่มวิเศษ ปลัดจังหวัดแพร่ พ.ต.อ. อักษร วงศ์ใหญ่ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ พ.อ. จักเรศ ศิริพงศ์ ผู้บังคับการกองพันทหารม้าที่ 12 ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมยาบ้า จำนวน 108,000 เม็ด ซึ่งเจ้าหน้าประจำด่านตรวจหาดรั่ว ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ขณะปฏิบัติหน้าที่ ได้เรียกตรวจรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ สี่ประตู สีขาว รุ่นไทรทัน หมายเลขทะเบียน กง 9368 แพร่ มีนายปรีชา แสวงหา เป็นผู้ขับขี่ ผลตรวจค้นพบยาบ้าจำนวนดังกล่าวอยู่ในกระเป๋าหนังสีน้ำตาลดำซุกซ่อนอยู่หลังพนักพิงเบาะนั่งตอนหลัง จึงได้ร่วมกันจับกุมและทำการขยายผล โดยนายปรีชาฯ รับว่าจะนำยาบ้าไปที่บริเวณถนนสายอุตรดิตถ์ – พิษณุโลก บริเวณหลัก กิโลเมตร 311 ทางตำรวจภูธรจังหวัดแพร่และตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงร่วมกันวางแผนและสามารถทำการจับกุมนายนิวัติพงษ์ ทองประจักษ์ ซึ่งลงจากรถยนต์เก๋งยี่ห้อ ฮอนด้ามารับยาบ้า ส่วนรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวได้ขับหลบหนีไม่สามารถจับกุมได้

    โดยนายปรีชา ยอมรับว่าได้รับมอบยาบ้ามาจากนายตง ไม่ทราบชื่อ นามสกุลจริง โดยส่งมอบยาบ้ากันที่หน้าโรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ แต่ได้ขับรถหลบด่านห้วยไร่ ไปอ้อมทางอำเภอวังชิ้น เพื่อเข้าอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ต่อไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ก็ถูกจับกุมในที่สุด

    นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าวว่า จังหวัดแพร่แม้จะไม่ได้ติดแนวชายแดน แต่ก็ได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดติอดอย่างต่อเนื่อง มีด้านตรวจประจทุกดเส้นทางสำคัญในการเข้าออกจังหวัดแพร่ไปสู่จังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะได้ทำการสืบสวนติดตามและทำการยึดทรัพย์เครือข่ายผู้ร่วมขบวนการกระทำผิดตามกฎหมายต่อไป

ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว

วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560

วชช.แพร่“ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ” ปีที่ 2

 
        
        วิทยาลัยชุมชนแพร่ กรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนแพร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กลุ่มจิตอาสา กลุ่ม Little Help หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจังหวัดแพร่ ร่วมกิจกรรมคืนพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ให้เมืองไทย ในโครงการ Little Forest “ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ” ปีที่ 2 ณ สวนป่าวังชิ้น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เขตแพร่

     ในวันที่ 27 สิงหาคม 2560 เวลา 10.00 น. ที่สวนป่าวังชิ้น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เขตแพร่ อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ คุณสุมามาลย์ วิวรรธนดิฐกุล ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนแพร่ ผู้อำนวยการอุบลศักดิ์ ขีดสร้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่ คุณเชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กลุ่ม Little Help และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เขตแพร่ ร่วมปลูกป่าคืนพื้นที่สีเขียวปลูกต้นไม้ให้เมืองไทย ซึ่งโครงการ Little Forest “ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ” ดำเนินการเป็นปีที่ 2 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยชุมชนแพร่ ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆของมหาวิทยาลัยฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กลุ่มจิตอาสา กลุ่ม Little Help และหน่วยงานภาคเอกชน มีแนวคิดในการร่วมจัดการสวนป่าที่ยั่งยืน ด้วยการปลูกป่าสร้างพื้นที่สีเขียวคืนสู่ระบบนิเวศน์ ควบคู่ไปกับการนำนักวิชาการ นักการตลาดในสาขาต่างๆที่เหมาะสม ทั้งในพื้นที่จังหวัดแพร่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้ในการปลูกป่าและ การพัฒนาอาชีพกับชาวบ้านในพื้นที่อำเภอวังชิ้น มุ่งสร้างจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ ให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของป่าเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ป่า ให้มีความยั่งยืนต่อไป


วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาสัมพันธ์แพร่ นำพลังประชาชนขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สานเครือข่ายประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ มุ่งหวังสร้างการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องจากภาครัฐสู่ประชาชน



     ประชาสัมพันธ์แพร่ นำพลังประชาชนขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สานเครือข่ายประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ มุ่งหวังสร้างการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องจากภาครัฐสู่ประชาชน
     นายสัมพันธ์ ช้างทอง ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการพลังประชาชนขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด ในวันจันทร์ที่ 28 และอังคารที่ 29 สิงหาคม 2560 นี้ ที่โรงแรมแพร่นครา อำเภอเมืองแพร่ โดยมีอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน (อป.มช.) ,นักจัดรายการวิทยุกระจายเสียง ผู้ประกาศเสียงตามสาย /หอกระจายข่าว และสื่อมวลชน คน ทั้งหมด 100 คน เข้าร่วมสัมมนา
     โดยในวันที่ 28 สิงหาคม จัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ต่อด้วย การแนะนำแหล่งศึกษาเรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดแพร่ โดยนายสมโรจน์ สำราญชลารัตน์ นายกสมาคมสื่อสารมวลชนจังหวัดแพร่ และเปิดการสัมมนาโดย นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมบรรยายพิเศษ "ความสำคัญของเครือข่ายด้านการประชาสัมพันธ์กับการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ส่วนในภาคบ่ายมีการสอนการผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กลางคืน มีการแบ่งกลุ่มระดมสมองเครือข่ายพลังประชาชน
     ในวันที่ 29 สิงหาคม 2560 พบกับกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ สวัสดีวันใหม่ โดย ดร.ชาลี ภักดี ต่อด้วยการบรรยายพิเศษ "บทบาทและความสำคัญของเครือข่ายการพัฒนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดย นายภูมิสิทธิ์ ขันตยานุกูลกิจ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และต่อด้วย การเสวนา บทบาทและความสำคัญของเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ ส่วนในช่วงบ่ายไปศึกษาดูงาน เกษตรทฤษฎีใหม่บนพื้นที่ 15 ไร่ ของนายสนั่น และนางแสงเดือน เตปัง บ้านสะเลียมเหนือ หมู่ 5 ตำบลตำหนักธรรม อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่
     ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต้องอาศัยเครือข่าย ON AIR คือกลุ่มวิทยุกระจายเสียง ON LINE คือกลุ่มสื่อมวลชน และ ON GROUND คือกลุ่มภาคประชาชน อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งต่อ ขยายผลความรู้ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่ประชาชน คนรู้จักที่อยู่ใกล้ตัว นำไปเป็นแบบอย่างให้กับคนในชุมชน ให้พออยู่ พอกิน มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

โชคชัชกาญ ราชฟู ข่าว

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ตุ๊เจ้าหัวกุด



     ตุ๊เจ้าหัวกุด,หลวงพ่อเศียรขาด เป็นชื่อเรียกของ “พระพุทธวิชิตมารประทานสันติสุขสวัสดีชินสีห์ธรรมบพิตร ” เป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนป่าไม้แพร่ เป็นที่เลื่อมใสเคารพของนักเรียนป่าไม้และชาวบ้านใกล้เคียง ปัจจุบันได้ยกเลิกโรงเรียนป่าไม้แพร่ เปลี่ยนสถานะไปเป็นศูนย์อบรมและพัฒนาข้าราชการสังกัดกรมป่าไม้ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่เลขที่ 33 ถนนคุ้มเดิม ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ เป็นพระพุทธรูป ที่สวยงาม 1 ใน 20 พระพุทธรูปของประเทศไทย

          จากคำบอกเล่าของพ่อเฒ่าคำ เล่าว่า พระพุทธวิชิตมาร สร้างขึ้นสมัยเจ้าหลวงวงศ์ลิ้นตอง เจ้าครองนครแพร่ องค์ที่ 19 (พ.ศ. 2361 - 2375) สร้างด้วยปูนขาวประทับอยู่กับพื้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นพระประธานของวัดเก่าชื่อ "วัดโปรดสัตว์" เนื่องจากสมัยก่อนเมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุมผู้ร้ายได้ก็จะนำตัวไปประหารชีวิตจะต้องผ่านวัดนี้ นักโทษก็จะได้กราบบูชาก่อนถูกตัดหัวประหารชีวิต เมื่อพระภิกษุในวัดพบเห็นนักโทษก็มักจะเข้ามาสอบถามว่ามีโทษหนักร้ายแรงขนาดไหน ถ้าเห็นว่าโทษนั้นไม่ร้ายแรงมากนักพระภิกษุจะขอบิณฑบาตไว้ แต่ถ้าเป็นโทษหนักก็จะปล่อยเลยตามเลย ทำให้ผู้กระทำผิดหลายคนหลุดพ้นจากการประหารชีวิต วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "วัดโปรดสัตว์" ต่อมาพระพุทธรูปได้ทรุดโทรมลง เนื่องจากได้มีผู้ไปตัดเศียรพระพุทธรูป เพื่อจะค้นหาข้าวของมีค่าหรือพระเครื่อง ซึ่งเข้าใจว่าบรรจุไว้ในองค์พระ เมื่อไม่พบจึงได้ขุดที่ฐานอีกและได้ทิ้งร่องรอยดังปรากฏอยู่ ทำให้เศียรพระพุทธรูปหล่นอยู่ที่หน้าพระพุทธรูป ทำให้มีการเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อเศียรขาดเมืองแพร่”หรือ “หลวงพ่อหัวกุด"

       "หนานขัด" แขลา (วงศ์ แขลา) อดีตเคยทำงานในคุ้มเจ้าหลวงนครเมืองแพร่ ได้เล่าว่าสมัยบวชเป็นเณร เมื่ออายุได้ 14 ปี เข้าไปเก็บผลไม้ คือ มะหลอดหรือส้มหลอด หลังป่าทึบของกำแพงเมือง ซึ่งมีเชิงเทินไว้สำหรับรบพุ่งข้าศึกและมีประตูกำแพงลอดออกไปข้างนอกได้ ประตูนี้เรียกว่า "ประตูมาร" ปัจจุบันได้ขุดเป็นถนนจากบ้านพระนอนไปสู่วิทยาลัยเทคนิคแพร่ ได้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีลักษณะสง่างามมากมีพระวรกายและพระพักตร์ขาวตลอด มีพระเกศเป็นมวยผมอยู่ด้วย ห่มจีวรสไบเฉียงสีทอง มีสายระย้าห้อยเป็นพู่เรียงกันอยู่ที่ปลายสไบ ฐานเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายสลับกัน บันทึกของหนานขัด ยังได้กล่าวว่า เคยชวนพวกเณรด้วยกันเข้าไปทำวัตรค่ำที่นั่นเสมอ และเคยได้พยายามเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ในวัดพระนอน แต่กระทำไม่ได้ เนื่องจากมีน้ำหนักมาก และเมื่อปี พ.ศ.2511 โรงเรียนป่าไม้แพร่ โดยนายณรงค์ กฤตานุกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะศิษย์เก่าโรงเรียนป่าไม้แพร่ ได้บูรณะพระพุทธรูปองค์นี้ โดยการระดมทุนจากศิษย์เก่าและงบประมาณจากกรมป่าไม้ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย นายรัตน์ พนมขวัญ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนป่าไม้แพร่ เป็นประธาน การบูรณะดังกล่าวได้กระทำกันถึง 2 ครั้ง รวมทั้งการต่อเศียรพระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบสุโขทัยปางสะดุ้งมาร ส่วนการตั้งชื่อพระพุทธรูปนั้น สมเด็จพระสังฆราชอริยวงศาคตญาณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ประทานนามว่า "พระพุทธวิชิตมารประทานสันติสุข สวัสดีชินสีห์ธรรมบพิตร" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และทุกวันที่ 21มกราคม ของทุกปี ศิษย์เก่าโรงเรียนป่าไม้แพร่ จะจัดงานทำบุญพระพุทธวิชิตมาร มีความเชื่อกันว่า คนที่ประกอบสัมมาชีพแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยอาจมีมารผจญคอยขัดขวางความเจริญก้าวหน้าไป ทำให้เล่าสืบต่อกันว่า ให้มากราบไหว้องค์พระพุทธวิชิตมาร ด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระ จะช่วยกำจัดสิ่งชั่วร้ายที่มาแผ้วพานเราให้หมดไปทันที

ที่มาข้อมูล วีกีพีเดีย,เว็ปไซด์วังฟ่อนดอทคอม

เรียบเรียงโดย นายคมสัน   หน่อคำ
083-7373307

วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

จังหวัดแพร่ - “ตลาดต้องชม” กาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่



จังหวัดแพร่ - “ตลาดต้องชม” กาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่ 


     กระทรวงพาณิชย์ ยก กาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่ เป็น “ตลาดต้องชม” มีสินค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง พร้อมศิลปวัฒนธรรมล้านนา ขับกล่อมให้นักท่องเที่ยวเดินจับจ่ายซื้อสินค้าได้อย่างสบายใจ
(18 สิงหาคม 60) ที่กาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่ นางสาวอรุณี พูลแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายดำรง สิริวิชย อิ่มวิเศษ ปลัดจังหวัดแพร่ นางดรุณี รักษ์วงศ์ พาณิชย์จังหวัดแพร่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมกันเปิดตลาดต้องชมแห่งที่ 2 ของจังหวัดแพร่ ณ กาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่
      นางสาวอรุณี พูลแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน ได้จัดทำโครงการตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว ในจังหวัดแพร่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแพร่ ได้เลือกตลาดชุมชน “ตลาดต้องชม” แห่งแรกของจังหวัดแพร่ จำนวน 1 แห่ง คือตลาดร้านค้าชุมชนพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ และในครั้งนี้ได้คัดเลือกกาดสามวัย ภายใต้การบริหารงานโดยเทศบาลเมืองแพร่ ให้เป็นตลาดต้องชมแห่งที่ 2 ของจังหวัดแพร่
     นายพัฒนพงษ์ พงษ์นวล รักษาการณ์แทนนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ กล่าวว่า กาดสามวัยได้เปิดเป็นตลาดขายอาหาร พืชผัก ผลไม้ พื้นบ้าน ช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าให้มีสถานที่ทำมาหากิน ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2552 เดิมมีเพียง 40 ร้าน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ใจกลางเมือง ใกล้สถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว ทำให้ปัจจุบันมีร้านค้าจำนวน 193 ร้านค้า เป็นสินค้าการเกษตร สินค้าเกษตรปลอดสารพิษ พืชผัก ผลไม้ตามฤดูกาล อาหารพื้นบ้าน เช่น แอบหน่อ แกงแค ตำเตา ลาบเมืองแพร่ ร้านอาหารปรุงสำเร็จ สินค้าพื้นเมือง เสื้อม่อฮ่อม ผ้าพื้นเมือง เซรามิคของเล่นเด็ก และอื่นๆ ซึ่งมีผู้คนจากในจังหวัด นักท่องเที่ยว แวะเวียนมาจับจ่ายซื้ออาหารการกินอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ ได้จัดให้มีการแสดงบนเวที เช่น ซอพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง การแสดงดนตรีของเยาวชน หรือสถานที่ศึกษาในจังหวัด เป็นประจำทุกวันศุกร์ด้วย พร้อมจัดสถานที่ให้รับประทานอาหาร ณ กาดสามวัยแห่งนี้ด้วย

     ด้านนางดรุณี รักษ์วงศ์ พาณิชย์จังหวัดแพร่ กล่าวว่า รัฐบาล ได้มีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้าในท้องถิ่น ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือ ในการขับเคลื่อน และรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้มอบหมายนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ จัดตั้งตลาดกลางสินค้า และตลาดชุมชนเพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นในแต่ละภาค โดยให้เชื่อมโยงและกระจายสินค้าไปยังท้องถิ่นให้มากขึ้น


นายโชคชัชกาญ ราชฟู ข่าว

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

แพร่ จัดอบรมเขียนบทหนังให้มันระเบิดโดยนักเขียนมืออาชีพ




      วันนี้ 19 สิงหาคม 2560 เวลา 13.00 น. ที่ชั้นสองจิงเจอร์เบรดเฮ้าส์แกลลอรี่ สี่แยกสถานีตำรวจอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นายเชษฐา สุวรรณสา ศิลปินนักคิด นักเขียนรางวัลการันตี 9 รางวัล จัดอบรมการเขียนบทหนังให้มันระเบิด แก่เยาวชนและประชาชนที่สนใจ เนื้อหามุ่งหวังให้ผู้เข้าอบรมสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในเมืองแป้ โดยนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ Story travels

      สำหรับนายเชษฐา สุวรรณสา ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านกาแฟแห่ระเบิดและหอศิลป์แห่ระเบิด รางวัลนักเขียนการันตี 9 รางวัล ซึ่งผลงานที่สร้างชื่อคือ แจ็ค ณ ขอบฟ้า : นวนิยาย,เรื่องสั้นสำหรับเยาวชน รางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 3 เนื้อหาว่าด้วย “แจ็คเป็นเด็กช่างฝัน เขามีความฝันที่ไม่เหมือนเด็กคนอื่นจนคนอื่นมองว่าเขาชอบเพ้อฝันเพี้ยน ๆ แต่วันหนึ่งความฝันที่แจ็คอยากเป็นนักบินอวกาศก็เป็นจริงขึ้นมาโดยไม่ต้องรอจนโตเป็นผู้ใหญ่ กับผจญภัยที่เริ่มต้นขึ้น”

วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

จังหวัดแพร่สร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์ภาครัฐ

     
       ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ ติดปีก ความรู้ อบรมเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ขยายผลการทำงานของจังหวัด ของรัฐบาล สร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง ให้เข้าถึงประชาชน
      นายสัมพันธ์ ช้างทอง ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 จังหวัดแพร่จัดฝึกอบรมสร้างเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ณ โรงแรมแพร่นครา อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยให้ฝึกอบรมภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัดแพร่ สามารถผลิตข่าว ถ่ายภาพ และผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ โครงการ กิจกรรมยุทธศาสตร์จังหวัด กลุ่มจังหวัด นโยบายรัฐบาล นโยบายจังหวัด งานตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานราชการ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ และสาธารณชน รวมทั้งรู้หลักการประสานสื่อมวลชน ในการร่วมทำข่าวกิจกรรมของหน่วยราชการได้ โดยการฝึกอบรมครั้งนี้ มีหัวข้อหลักการประชาสัมพันธ์ หลักการเขียนข่าว หลักถ่ายภาพและการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่าน Application ด้วยมือถือ มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการ องค์อิสระ องค์กรปกครองส่วนถิ่น ในจังหวัดแพร่ เข้าร่วมฝึกอบรมกว่า 80 คน

ประชาสัมพันธ์จังหวัดกล่าวว่า จังหวัดแพร่ได้กำหนด วิสัยทัศ ปีงบประมาณ 2561 – 2564 ให้เป็น "เมืองเศรษฐกิจมั่นคง ชุมชนเข็มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์” ซึ่งการดำเนินการพัฒนาจังหวัดให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ หน่วยงานภาครัฐความจำเป็นต้องเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานตามภารกิจบทบาทขององค์กร โดยอาศัยการใช้สื่อหลายช่องทาง สร้างความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง ให้เข้าถึงประชาชนมีจุดมุ่งหมายสําคัญคือ การเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนในจังหวัด ให้เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัด นําไปสู่การยอมรับวิธีปฏิบัติให้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง

"และภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดสรรงบประมาณลงสู่หมู่บ้าน ชุมชน สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น เป็นจำนวนมาก จึงต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารสร้างการรับรู้ เข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในระดับฐานรากทุกระดับ” ประชาสัมพันธ์จังหวัดกล่าว

นายโชคชัชกาญ ราชฟู ข่าว

แพร่แห่ระเบิด





     แป้แห่ระเบิด หรือแพร่ระเบิด นั้นมาจากไหน ทำไมคนแพร่ถึงต้องแห่ระเบิด เป็นเรื่องจริง อิงตลกที่เด็กๆมักจะเอามาล้อกัน แต่แพร่แห่ระเบิดนั้น เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำระเบิดมาทิ้งเพื่อทำลายสะพานรถไฟข้ามห้วยแม่ต้า เพื่อตัดการสื่อสารและขนส่งขึ้นมาภาคเหนือ แต่เครื่องบินถูกยิงตกลงมา ทำให้ระเบิดบางส่วนยังไม่ระเบิด นายหลง มโนมูล ซึ่งเป็นคนงานรถไฟสถานีแก่งหลวง ได้ไปพบซากระเบิด จึงได้มาบอกนายสมาน หมื่นขัน ทราบ นายสมานจึงได้ไปดูและขอความช่วยเหลือจากคนงานรถไฟสถานีรถไฟแก่งหลวงที่อยู่ใกล้เคียงได้แก่ นายชุม ขันแก้ว นายชัยวัฒน์ พึ่งพอง นายพินิจ สุทธิสุข นายย้าย ปัญญาทอง ให้มาช่วยกันขุดขึ้นจากหลุมทรายที่ทับถมอยู่จำนวน 2 ลูกขนาดความโตกว่าถังแก๊สชนิดยาวและทำการถอดชนวนระเบิด แล้วใช้เรื่อยตัดเหล็กตัดส่วนหางของลูกระเบิด ล้วงเอาดินระเบิดออกแล้วเอาดินระเบิดที่ล้วงออกมาได้ นำไปประกอบสร้างระเบิดลูกเล็กๆได้หลายลูก เพื่อนำไประเบิดปลาที่แม่น้ำยมทำให้ได้ปลามามากมาย และด้วยความน้ำหนักที่มากของลูกระเบิด ถึงกับทำให้คานของเกวียนหักต้องเปลี่ยนใหม่ ส่วนระเบิดลูกที่สามช่วยกันขุดด้วยแรงคนไม่ได้เพราะจมอยู่ในหลุมทรายลึกมากจึงได้ไปตาม นาย บุญมา อินปันตี ซึ่งเป็นเจ้าของช้างลากไม้อยู่บริเวณใกล้เคียงให้นำช้างมาลากลูกระเบิดขึ้นจากหลุมทราย แล้วจึงได้ทำการถอดชนวนและล้วงเอาดินระเบิดออกมาสมถบกับสองลูกที่นำมาก่อนแล้วที่บ้านแม่ลู้ ต.บ้านปิน จากนั้นก็ลากโดยบรรทุกบนเกวียน มุ่งเข้าสู่หมู่บ้าน ระหว่างทางชาวบ้านสองข้างทางทราบข่าว และเห็นเกวียนบรรทุกลูกระเบิดตามกันมา 3 คัน ต่างก็เดินตามกันมาเป็นขบวนยาว เมื่อผ่านหน้าบ้าน ต่างก็เดินเข้ามาสมทบเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย จนมาถึงบ้านแม่ลานเหนือใกล้วัด ชาวบ้านยิ่งออกมาดูกันมากขึ้น ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่บ้านอยู่ใกล้วัดได้นำฆ้อง-กลองยาว ฉิ่ง-ฉาบ ออกมาต้อนรับขบวนแห่ เหมือนกับการต้อนรับขบวนกฐินหรือผ้าป่า แล้วแห่เข้าวัด ทำการถวายลูกระเบิดให้เป็นสมบัติของวัดเพื่อใช้เป็นระฆังของวัดแม่ลานเหนือ ส่วนระเบิดลูกที่ 2 ขบวนแห่นำไปถวายที่วัดศรีดอนคำ ต.ห้วยอ้อ สำหรับระเบิดลูกที่ 3 ขบวนแห่นำไปถวายที่วัดนาตุ้ม ต.บ่อทองลอง ปัจจุบัน (พ.ศ.2560) ระเบิดลูกที่ 1 เก็บไว้ที่วัดแม่ลานเหนือ ต.ห้วยอ้อ ระเบิดลูกที่ 2 เก็บไว้ที่วัดศรีดอนคำ ต.ห้วยอ้อ ส่วนระเบิดลูกที่ 3 เก็บไว้ที่วัดนาตุ้ม ต.บ่อทองลอง ทางวัดได้จัดสร้างหอระฆังสูงไว้รองรับสวยงามมาก เคยมีผู้นิยมเล่นของเก่าชนิด หายากและแปลก ๆ ได้มาขอซื้อโดยเสนอราคาให้ถึง 1 ล้านบาท ชาวบ้านเห็นว่ามีราคามากจึงมีมติไม่ขายและเกิดหวงแหนเห็นคุณค่า เกรงจะถูกลักขโมยจึงได้สร้างห้องลูกกรงเหล็กดัดล้อมไว้ ดังนั้นคำว่า “แพร่แห่ ระเบิด” จึงมิใช่คำล้อเลียนแต่เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของจังหวัดแพร่ที่คนแพร่ต้องรู้.....



เรียบเรียงโดย นายคมสัน   หน่อคำ
0837373307

วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560

หมู่บ้านท่องเที่ยว


     จังหวัดแพร่เปิดตัว 5 หมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว ตามโครงการพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศศาสนาศิลปวัฒนธรรม และสุขภาพ เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

     
     สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ตามที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้อนุมัติโครงการภายใต้แนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โครงการพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และสุขภาพ เพื่อเป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน กิจกรรม : การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยประชารัฐ

   
       
ในส่วนของจังหวัดแพร่ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ เป็นหน่วยดำเนินการ พร้อมเปิดตัวแก่ประชาชนโดยมีนายวีรกานต์ บุญตับ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดแพร่นำคณะแถลงผลการดำเนินงานเปิดตัว 5 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนโป่งศรี ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ คือการแปรรูปเครื่องเงิน การออกแบบและสกรีนผ้า , ชุมชนพระหลวง ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น คือการทำของตกแต่งของที่ระลึกจากไม้สัก การแปรรูปสมุนไพร , ชุมชนห้วยอ้อ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง คือการแปรรูปเส้นขนมจีนสมุนไพร การทำของตกแต่งของที่ระลึกจากไม้สัก,ไม้ไผ่ , ชุมชนแม่สูงเหนือ ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น คือการแปรรูปจากกล้วย การแปรรูปจากส้มเขียวหวาน และการทำแยมหม่อน และชุมชนทุ่งศรี ตำบลทุ่งศรี อำเภอร้องกวาง คือการทำน้ำยาดับกลิ่นจากน้ำหมักมูลไส้เดือน และการแปรรูปสมุนไพร (ยาสีฟันสมุนไพร)
      เมื่อดำเนินการกิจกรรมต่างๆ สำเร็จแล้ว คาดว่าการท่องเที่ยว จะเป็นกิจกรรมที่สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ สู่ชุมชน สู่ประชาชนในระดับรากหญ้า ทั้ง 5 ชุมชนของจังหวัดแพร่ ให้ก้าวเป็นชุมชนการท่องเที่ยวที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนต่อไป /.


บ้านดอนทราย

บ้านทุ่งศรี

บ้านพระหลวง


บ้านโป่งศรี
บ้านแม่สูงเหนือ

ข่าว โดย ฉัตรชัย   พวงขจร












วันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ขนมจ๊อก” ขนมมงคลแห่งล้านนนา



ขนมจ๊อก ขนมเทียน ขนมนมสาว


     ขนมจ๊อก ขนมเทียน หรือ ขนมนมสาว เป็นอาหารประเภทของหวาน ทำมาจากแป้ง กะทิ น้ำตาลหรือน้ำอ้อย ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว น้ำตาลปี๊บ เกลือ และน้ำมันพืช นำมาผสมกันนวดให้เป็นก้อน ส่วนไส้นั้นจะมีสองอย่างคือ ไส้หวานและไส้เค็ม โดยไส้หวานจะทำมาจากมะพร้าวที่ไม่แก่เกินไป และไม่อ่อนเกินไป หรือที่เรียกว่ามะพร้าวทึนทึก นำมาขูดเป็นเส้นฝอยเคี่ยวกับน้ำตาลหรือน้ำอ้อยให้เข้ากันและจับตัวได้ ส่วนไส้เค็มนั้น ทำมาจากถั่วเขียวนึ่งแล้วนำมาบดบด ผสมหรือผัดกับเครื่องปรุง ให้มีรสเค็มนำ โดยนำแป้งที่นวดมาทำเป็นแผ่นกลม ใส่ไส้ที่เตรียมไว้ตรงกลาง แล้วห่อแป้งให้มิดไส้ แล้วคลึง เป็นก้อนกลม ทำใบตองเป็นรูปทรงกรวย ใส่ขนมลงในใบตอง พับทบล่าง ซ้าย ขวา นำด้านที่แหลมสอดพับ แล้วห่อจะได้ขนมทรงสามเหลี่ยม นำไปนึ่งด้วยไฟแรงประมาณ 20 นาที ก็สามารถรับประทานได้ คนไทยเชื้อสายจีนมักมีสูตรลับในการนวดแป้งให้นุ่มเหนียว คือ การใส่น้ำต้มของหญ้าชิวคักลงผสมขณะนวดแป้ง ซึ่งจะช่วยให้เนื้อขนมเทียนนุ่มมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มกลิ่นหอมให้แก่ขนมเทียน หญ้านี้ จะพบขายตามร้านขายสมุนไพรจีนโบราณหรือในกลุ่มของชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ หญ้าชิวคัก หรือบางครั้งเรียกว่า หญ้าขนมเทียน จัดเป็นพืชล้มลุกที่พบได้ในทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลางที่พบได้ทั่วไปตามสวนไร่นา ลำต้นมักแทงกอในช่วงปลายฝนถึงต้นหนาวประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน หญ้าซิวคักที่นำมาจะได้จากต้นแก่ที่ออกดอกแล้ว และนำมาตากแห้ง ก่อนจะนำหญ้าซิวคักมาบดคั้นเอาน้ำสำหรับผสมกับแป้งข้าวเหนียวเป็นตัวขนมเทียน

     ขนมจ๊อกเป็นขนมที่ชาวล้านนานิยมทำในโอกาสพิเศษหรืองานพิธีกรรมต่างๆ เช่น วันพระ วันสำคัญทางพุทธศาสนา วันสงกรานต์ งานประเพณี งานทำบุญ โดยเฉพาะงานบวชหรือปอย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆเพราะหลังจากผู้ใหญ่ไปช่วยงานบุญเสร็จแล้วเจ้าภาพก็็จะเตรียมขนมจ๊อก ข้าวตอก ข้าวแตน ข้าวเกรียบ และข้าวแดง ไว้ให้แขกนำกลับบ้าน โดยจะมีขนมจ๊อกจะมีจำนวนเยอะเป็นพิเศษเพราะมีทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ซึ่งส่วนใหญ่เด็กๆจะชอบไส้มะพร้าวหรือไส้หวานเป็นพิเศษ เวลารับประทานก็จะต้องลุ้นว่าได้ไส้อะไร เด็กบางคนก็จะเลือกรับประทานแต่ไส้ที่อร่อยแล้วเอาแป้งให้ผู้ใหญ่ทานแทน ปัจจุบันขนมจ๊อกมีไส้หลากหลายมากมาย เช่น ไส้ถั่วเขียว ไส้ถั่วแดง ไส้เค็ม เหมือนไส้ซาลาเปา สามารถหาซื้อหรือรับประทานได้ตลอดเวลา “ขนมจ๊อก” ขนมมงคลแห่งล้านน
า 
เขียน/เรียบเรียง โดย นายคมสัน   หน่อคำ
083-7373307







กระทรวงพลังงานเดินหน้าส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน นำร่องที่บ้านอัมพวัน อำเภอสอง จังหวัดแพร่



   กระทรวงพลังงานเดินหน้าส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน นำร่องที่บ้านอัมพวัน ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงาน พร้อมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากน้ำเสียและมูลสุกรในชุมชนอย่างยั่งยืน


    
     วันนี้ (8 ส.ค. 60) นายนพดล สรวงประดิษฐ์ พลังงานจังหวัดแพร่ นำสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดแพร่เข้าเยี่ยมชมโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าชชีวภาพจากฟาร์มสุกร ณ บ้านอัมพวัน หมู่ 8 ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตก๊าชชีวภาพจากมูลสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ขนาดเล็ก และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากน้ำเสียมูลสัตว์ของฟาร์มสุกร ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่และส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยดำเนินการอยู่ในฟาร์มสุกร จำลองฟาร์ม ที่มีสุกรจำนวน 2,600 ตัว และมีกลุ่มนำร่องใช้ประโยชน์จากก๊าชชีวภาพที่ผลิตได้ จำนวน 50 ครัวเรือน ต่อมามีจำนวนสมาชิกเพิ่มอีก 48 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 98 ครัวเรือน ก่อนจะขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก๊าชชีวภาพบ้านอัมพวัน หมู่ 8 ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารจัดการเรื่องการจ่ายก๊าช และการจำหน่ายกากมูลสุกรที่ผ่านกระบวนการหมักก๊าชให้กับเกษตรกรที่นำไปใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับการทำเกษตรกรรมพลังงานจังหวัดแพร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ดังกล่าว จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน จากการผลิตก๊าชชีวภาพที่สามารถทดแทนก๊าชหุงต้มที่ใช้ภายในครัวเรือน ขณะที่ชุมชนจะมีทางเลือกใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยเป็นการพัฒนาโครงการภายใต้แนวคิดประชารัฐ จากกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่าง รัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากน้ำเสียและมูลสุกร ให้กับชุมชน และจะมีการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนเพื่อดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

ข่าวโดย : กาญจนา ฟูปิง ทีมข่าว สวท.แพร่
บรรณาธิการ : นายวัชระ เพชรพลอย ผอ.สวท.แพร่ 
หน่วยงาน : สวท.แพร่ 



พสกนิกรจังหวัดแพร่ร่วมปลูกต้นไม้ถวายเป็นพระราชกุศล “รวมใจลูก ปลูกเพื่อแม่”




พสกนิกรชาวจังหวัดแพร่ ร่วมปลูกต้นพญาเสือโคร่งและพันธุ์ไม้อื่นๆ 8,500 ต้น ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เพิ่มพื้นที่ป่า พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต ตามโครงการประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน


       วานนี้ (7 สิงหาคม 2560) เวลา 16.00 น. นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “รวมใจลูก ปลูกเพื่อแม่” ตามโครงการประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน ณ บริเวณม่อนแม่ถาง ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง โดยมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 1,000 คน ร่วมปลูกต้นพญาเสือโคร่ง ต้นสัก และพันธุ์ไม้อื่นๆ จำนวน 8,500 ต้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2560

      ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การที่จะสร้างป่าให้ยั่งยืนได้นั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเห็นที่สอดคล้องกัน และพี่น้องประชาชนต้องเห็นความสำคัญช่วยกันดูแลรักษาเพื่อให้ป่าได้ฟื้นฟูตัวเอง ซึ่งกิจกรรมในวันนี้เป็นการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และในอนาคตข้างหน้า หากต้นพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยออกดอกบานสะพรั่งในช่วงฤดูหนาว ก็จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในบริเวณม่อนแม่ถางอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือลดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว

     สำหรับกิจกรรม “รวมใจลูก ปลูกเพื่อแม่” จัดขึ้นตามโครงการประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และร่วมกันทำความดีให้กับประเทศชาติ ปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ต้นไม้และทรัพยากรป่าไม้ ระหว่างวันที่ 7 สิงหาคม – 30 กันยายน 2560 ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยนอกจากการปลูกต้นพญาเสือโคร่งและพันธุ์ไม้อื่นๆ แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ยังได้ร่วมกับผู้ที่มาร่วมงานหว่านเมล็ดปอเทือง และรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความยั่งยืนในการรักษาป่าอีกด้วย


ข่าวโดย : ชาติชาย คะมา
บรรณาธิการ : วัชระ เพชรพลอย 
หน่วยงาน : สวท.แพร่ 

วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

แพร่ 365: Slow life Slow roads

แพร่ 365: Slow life Slow roads: Slow life Slow roads/สโลว์ไลท์ สโลว์ โรด       ยามเช้า แสงแดดอ่อนๆ เสียงไก่ขัน เสียงจ้อกแจ้กจอแจของชาวบ้าน พูดคุยแววกระทบโสตประสาท โปกๆเส...

กรมกิจการเด็กและเยาวชนชี้แจงโครงการเสริมสร้างความรู้และประชาสัมพันธ์เงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

   

 
   กรมกิจการเด็กและเยาวชนจัดโครงการเสริมสร้างความรู้และประชาสัมพันธ์เงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับ แก่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดแพร่

    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(1ส.ค.60) ที่โรงแรมแพร่นครา นายมานิตย์ มณีธรรม รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างความรู้และประชาสัมพันธ์เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับของจังหวัดแพร่ ซึ่งบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดแพร่จัดขึ้น ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกระดับ มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เข้ามาดูและในการประสาน การรวบรวมข้อเสนอ ปัญหา ความต้องการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนของท้องถิ่นได้มีส่วนร่วม ในการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้หลักการ "เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน”

   จังหวัดแพร่นั้น มี 8 อำเภอ 83 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีผู้มาลงทะเบียนเด็กแรกเกิดจำนวน 1,718 ราย คลอดแล้ว 1,593 ราย ตั้งครรภ์ 125 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว 1,163 ราย อยู่ระหว่างการรอเบิกจ่าย 555 ราย ข้อมูลด้านเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 10-20 ปี รวมทั้งสิ้น 82,421 คน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วยผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 116 คน ผู้แทนเด็กและเยาวชน 30 คน ทีมงานบูรณาการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 20 คน รวมทั้งสิ้น 166 คน /.










ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์