วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

อาขยานล้านนา มาตรวัดอายุ

ขอบคุณภาพจาก Googleและศิลปินล้านนา



     มีคำมะเก่าอยู่บทหนึ่งที่ท่านผู้อ่านหลายคนต้องเคยได้สดับรับฟังมากันบางแล้ว มันเป็นโคลงกลอนคำเมืองล้านนา กล่าวถึงช่วงอายุของคน ที่มีอยู่ว่า......


“สิบปี๋ อาบน้ำบ่หนาว” ช่วงอายุ 10 ปี ยังเป็นเด็กไม่รู้จักร้อนไม่รู้จักหนาว เล่นสนุกอย่างเดียว แม้อากาศจะหนาวเย็นเพียงไร เวลาอาบน้ำก็ไม่มีอาการหนาว โดยเฉพาะหน้าหนาว

ซาวปี๋ แอ่วสาวบ่ก๋าน” ในอดีตประเพณีแอ่วสาว หรือการไปจีบสาวถึงบ้านผู้หญิง พอตกกลางคืนชายวัยรุ่นจากต่างหมู่บ้านกัน จะไปแอ่วสาวที่หมู่บ้านใกล้ ๆ ด้วยการเดินหรือปั่นจักรยาน มองเห็นทางได้ด้วยไต้ส่องไฟ ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานกลางวันอย่างไร ตกกลางคืนก็ต้องไปแอ่วสาวให้ได้ พอไปถึงบ้านหญิงที่ตนหมายตาก็จะขึ้นไปทักทายพูดคุยหยอกล้อ บางทีมีการว่ากลอนด้วยนะ หากว่าพ่อแม่ผู้หญิงยังไม่รู้จักก็จะนั่งอยู่ด้วย พูดคุยกันไปโดยอยู่ในสายตาผู้ใหญ่ตลอด ดังนั้นการแอ่วสาว บ่ ก๋านก็คือ ลำบากยังไง ไม่เคยรู้สึกเบื่อหรือรู้สึกถึงความยาก

“สามสิบปี๋ บ่หน่ายสงสาร”
ช่วงอายุ 30 ปี อยากกินอยากเที่ยว คนสมัยแต่ก่อนก็ดำรงชีวิตด้วยความใกล้ชิดธรรมชาติ การล่าสัตว์ การไปนอนค้างตามป่าเขา ทำให้เพลิดเพลิน

“สี่สิบปี ยะก๋านเหมือนฟ้าผ่า” สีสิบปีเป็นวัยทำงาน ที่ต้องทำงานเหมือนฟ้าผ่า คือ การทำไร่นาไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เพื่อครอบครัวและคนกินมากใช้มากต้องรีบทำ งานให้เร็วเพื่อให้ครอบครัวลูกเมียพออยู่พอกิน

“ห้าสิบปี๋ สาวน้อยด่าบ่เจ็บใจ๋ อายุห้าสิบผ่านมาครึ่งชีวิต มีความเป็นผู้ใหญ่ สุขุมรอบครอบมากขึ้น แต่ที่สาวน้อยด่าบ่เจ็บใจ๋นั้น เพราะเริ่มมีความกุ๋มกลิ่มชอบสิ่งสวยๆงามๆ

“หกสิบปี๋ ไอเหมือนฟานโขก” อายุเข้าเลขหลักหก โรคภัยเข้ารุมเร้า ไอค๊อกไอแค๊ก เสียงเหมือน ตัวฟาน(อีเก้ง) เวลามันโขก หรือร้องเรียกกันในป่าจะดังไปสามบ้าน แปดบ้าน

“เจ็ดสิบปี๋ บะโฮกเต๋มตั๋ว” เจ็ดสิบปีแล้ว ก็เริ่มมีอาการเป็นเม็ด – ตุ่ม – ฯลฯ ที่คนแก่มีกัน ที่เหมือนกับผิวหนังตกกระแห้งเหี่ยว

“แปดสิบปี๋ ไค่หัวเหมือนไค่ไห้ แปดสิบแล้ว เสียงหัวเราะก็ยังเหมือนเสียงร้องไห้

“อายุเก้าสิบปี ไข้ก่อต๋าย บ่ไข้ก่อต๋าย” อายุเกินเก้าสิบไปแล้ว จะเจ็บไข้หรือไม่เจ็บไข้ ก็ใกล้จะลงโลงแล้ว

“จะเอาอันใดไปบ่ได้ซักอย่าง” สิ้นแล้วสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีสิ่งของอะไรเอาสามารถติดตัวไปได้ซักอย่าง

“บ่สวะบ่วาง บ่หายหม่นเศร้า” ถ้าหากไม่ปล่อยวางกจะเป็นทุกข์……

สำหรับผู้อ่านอยู่ในช่วงอายุไหนกันบ้างครับ ลองคิดตามกันดูว่าเป็นจริงดั้งโครงกลอนที่คนโบราณได้เขียนไว้หรือเปล่า และหากท่านใดอ่านแล้วก็คงต้องนึกถึงศิลปินโฟลค์ซองล้านนา “จรัส มโนเพ็ชร” ที่ได้สำนวนคำเปรียบเทียบของคนโบราณมาใส่ทำนองขับร้องได้อย่างไพเราะและลงตัว กับเพลง “อาขยานล้านนา” คงต้องขอตัวไปค้นเทปเทปคาสเซ็ทออกมาฟังแล้ว(ไม่ต้องเดาอายุตามนะ)......

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561

จังหวัดแพร่เชิญชวนประกวดภาพถ่าย เล่าเรื่องเมืองแพร่



     จังหวัดแพร่เชิญชวนประกวดภาพถ่าย "เล่าเรื่องเมืองแพร่” เป็นภาพถ่ายเกี่ยวกับจังหวัดแพร่ ชิงเงินรางวัลรวม 20,500 บาท

     สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า จังหวัดแพร่ได้จัดกิจกรรมประกวดภาพถ่าย "เล่าเรื่องเมืองแพร่” มีเนื้อหาเป็นภาพถ่ายเกี่ยวกับจังหวัดแพร่ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรม โบราณสถาน อาหารอร่อย ทั้งหมดต้องอยู่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ และสามารถอธิบายภาพได้ เปิดรับสมัครภาพถ่ายจากบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดว่าต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดแพร่
     หลักเกณฑ์การส่งภาพเข้าประกวด : ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวด จะต้องเป็นภาพที่ถ่ายในจังหวัดแพร่ ในช่วงเวลาระหว่างเดือน มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 เท่านั้น ภาพที่ส่งเข้าประกวด ถ่ายได้จากโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องถ่ายภาพ Digital ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ โดยต้องมีความละเอียดภาพขนาดภาพสูงสุดของกล้อง ด้วยนามสกุลภาพ JPEG ทั้งนี้คณะกรรมการจะไม่พิจารณาภาพที่ส่งมาเป็นไฟล์ RAW
     ผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะต้องเป็นผู้ถ่ายภาพนั้นๆ ด้วยตนเอง ห้ามนำภาพของผู้อื่นมาส่ง หรือส่งในนามผู้อื่นโดยเด็ดขาด
     โดยรางวัลประเภทภาพถ่าย รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รางวัลชมเชยมี 5 รางวัลๆ ละ 500 บาท 5 รางวัล พร้อมเกียรติบัตร และรางวัล Popular Vote ยอด like สูงสุด รับของที่ระลึก
     ผู้สนใจส่งภาพถ่ายเข้าประกวด พร้อมหลักฐานชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อผลงานการประกวดพร้อมคำอธิบาย ได้ที่ อีเมล์ upr9phrae@gmail.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0864298499 ID LINE : 0864298499 หรือ Facebook : https://www.facebook.com/พาเที่ยวแพร่ ส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2561 /.


ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เทศบาลตำบลเด่นชัย จ.แพร่ จัดกิจกรรมจิตอาสา "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" พัฒนาลำห้วยแม่พวก

     เทศบาลตำบลเด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ ร่วมกับสมาชิกจิตอาสา "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" พัฒนาลำห้วยแม่พวก กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำป้องกันการเกิดอุทกภัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
     วันนี้ (17 สิงหาคม 2561) เวลา 08.30 น. นายอิสรา สุขแจ่มใส นายอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ซึ่งเทศบาลตำบลเด่นชัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในอำเภอเด่นชัยจัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา 28 กรกฎาคม 2561 และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2561

     นายศรชัย สุวรรณกาศ นายกเทศมนตรีตำบลเด่นชัย กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้เทศบาลตำบลเด่นชัย ได้ร่วมกับกองพันทหารม้าที่ 12 กองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพระยาไชยบูรณ์, สถานีตำรวจภูธรเด่นชัย, คลังน้ำมัน ปตท. เด่นชัย และประชาชนจิตอาสาจากหมู่บ้านและชุมชนในเขตเทศบาลตำบลเด่นชัย จำนวนกว่า 200 คน พัฒนาลำน้ำแม่พวก ตั้งแต่สะพานข้ามลำน้ำแม่พวก ถนนยันตรกิจโกศล ถึงฝายน้ำล้นห้วยแม่พวกบริเวณตรงข้ามสถานีรถไฟเด่นชัย และบริเวณสวนของพ่อ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา 28 กรกฎาคม 2561 และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2561 และเพื่อเป็นการเปิดทางให้น้ำไหลได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันอุทกภัยจากน้ำไหลหลากได้อีกทางหนึ่ง
ข่าวโดย : ชาติชาย คะมา
บรรณาธิการ : รติพร บุญคง
หน่วยงาน : สวท.แพร่


จังหวัดแพร่.........โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1

โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ครั้งที่ 1 ชี้แจงทำความเข้าใจ สร้างแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมรับฟังความคิดเห็น ประเมินผลกระทบรอบด้าน ขณะเดียวกันมีประชาชนมาชุมนุมคัดค้านต่อต้านการก่อสร้าง

     เช้าวันนี้(15ส.ค.61) ที่หอประชุมโรงเรียนถิ่นโอภาสวิทยา ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ทางบริษัท PST เอนเนอร์ยี 1 จำกัด ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งมีแนวทางที่จะก่อสร้างในพื้นที่ตำบลเหมืองหม้อ อำเภอเมืองแพร่
โดยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล PST เอนเนอร์ยี 1 ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 155.17 ไร่ ตำบลเหมืองหม้อ อำเภอเมืองแพร่ ลักษณะโครงการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าโดยใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง เช่น ชิ้นไม้สับ ซังข้าวโพด หรือเปลือกไม้ ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 28.5 เมกะวัตต์ เพื่อส่งต่อให้เข้าสู่โครงข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ.
ในครั้งนี้ เป็นการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่แรก เป็นการดำเนินการระหว่างเริ่มต้นการศึกษาและจัดทำรายงาน เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลรายละเอียดของโครงการ รวมถึงนำเสนอร่างของเขตและแนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ รับฟังความคิดเห็นและข้อวิตกกังวลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำประเด็นไปปรับปรุงขอบเขตการศึกษา และสอดคล้องกับข้อวิตกกังวลของประชาชน โดยมีชาวบ้านจากตำบลบ้านถิ่น 11 หมู่บ้าน ตำบลกาญจนา 4 หมู่บ้าน รวม 500 คน เข้าร่วมรับฟังเสนอแนะความคิดเห็น
     สำหรับการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จะมีขึ้น 2 รอบ ในพื้นที่รอบที่ตั้งโครงการรัศมี 5 กิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ ตำบลบ้านถิ่น สวนเขื่อน ทุ่งโฮ้ง ทุ่งกวาว กาญจนา แม่ยม แม่หล่าย ร่องฟอง ป่าแดง และห้วยม้า ภายหลังจากเสร็จครั้งที่ 1 จะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการกำหนดมาตรการป้องกัน จัดส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับทราบข้อมูล
     แล้วจึงจะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ในพื้นที่เดิม เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาและร่างมาตรการป้องกันผลกระทบ แล้วเสร็จทั้ง 2 ขั้นตอน จะมีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกัน แก้ไข และติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนดำเนินโครงการ
    ขณะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ด้านนอกหอประชุม มีชาวบ้านจากตำบลร่องฟอง กว่า 100 คน ร่วมชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว โดยมีเห็นผลว่า จะก่อให้เกิดน้ำเสีย เกิดมลพิษทางอากาศ เกิดการจราจรที่คับคั่งในพื้นที่หมู่บ้านชุมชน และเชื้อเพลิง เช่น ถ่าน ที่จะนำมาตีเหล็ก มีราคาสูงขึ้น
นายโชคชัชกาญ ราชฟู ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

ชาวสวนในพื้นที่สูงของอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ หันมาปลูกอะโวคาโด ผลไม้เพื่อสุขภาพ


     ชาวสวนในพื้นที่สูงของบ้านผาตืม ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ หันมาปลูกอะโวคาโด ผลไม้เพื่อสุขภาพขาย สร้างรายได้ในช่วงฤดูฝน
       นายน้อย เรือนมูล อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 63/3 บ้านพันเชิง หมู่ 3 ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งมีอาชีพทำสวนเมี่ยง ที่เป็นอาชีพดั่งเดิมสืบต่อจากบรรพบุรุษ โดยขึ้นไปทำสวนอยู่ที่บ้านผาตืม ตำบลป่าแดง อำเภอเมืองแพร่ ภายหลังพื้นที่เหล่านี้ได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ทางราชการจึงได้เข้าไปส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นแทนพืชล้มลุก จึงเริ่มปลูกทุเรียน มังคุด เงาะ ซึ่งเป็นไม้ผลยืนต้นพืชเศรษฐกิจหลัก แทนการปลูกหน่อไม้หวานหรือหน่อเป๊าะ และข้าวโพดลดปัญหาพื้นที่เสื่อมโทรม และปัญหาการพังทลายของดิน และต่อมาได้นำเอาพืชเมืองหนาวอย่าง อะโวคาโด เข้ามาทดลองปลูก และเริ่มมีผลผลิตออกมาขาย โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ของทุกปีผลผลิตเริ่มสุก ชาวสวนเริ่มเก็บผลผลิตออกขาย สามารถสร้างรายได้ช่วงฤดูฝนเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่อีกชนิดหนึ่ง สำหรับคนรักสุขภาพซื้อบริโภคและนำเป็นสมุนไพรบำรุงเส้นผลบำรุงผิว อะโวคาโด ที่นี่แม้จะเป็นพืชเมืองหนาวชอบอากาศเย็น แต่ผลผลิตที่กลับมีน้ำหนักดี ผลใหญ่ขนาด 3 ผลต่อกิโลกรัม ติดผลดกด้วย โดยที่หมู่บ้านผาตืมเริ่มปลูกอะโวคาโดกว่า 10 ราย และเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนใหญ่ผลผลิตจะขายในพื้นตำบลป่าแดง-ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่เป็นหลัก
     การปลูกอะโวคาโดที่บ้านผาตืมนั้น จะปลูกแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงฉีดพ่นแต่อย่างใด แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมดแดงขึ้นกินเพลี้ยแป้งและไล่แมลงวันทอง เป็นการใช้ระบบนิเวศน์จัดการกันเอง ปัญหาอีกอย่างคือสัตว์ป่า ประเภทหนูป่าชอบปีนขึ้นต้นไปกัดกินผลสุก จึงต้องหมั่นไปดูแลในตอนกลางคืน /.
ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

จังหวัดแพร่จัดพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9




     พสกนิกรชาวจังหวัดแพร่ร่วมใจปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่อ่างเก็บน้ำห้วยหอย บ้านห้วยหอย ตำบลห้วยม้า อำเภอเมืองแพร่ จำนวน 500,087 ตัว

    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(9ส.ค.61) เวลา 14.00 น. อ่างเก็บน้ำห้วยหอย บ้านห้วยหอย หมู่ 7 ตำบลห้วยม้า อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นายทรงฤทธิ์ แก้วสุทธิ นายอำเภอเมืองแพร่เป็นประธานนำคณะข้าราชการ ประชาชนทุกหมู่เหล่า พร้อมใจประกอบพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งทางสำนักงานประมงจังหวัดแพร่ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดแพร่ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยม้า พร้อมด้วยพสกนิกรชาวจังหวัดแพร่จัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2561 เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีและถวายเป็นพระราชกุศล อีกทั้งเป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงของประชาชนในพื้นที่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

     สำหรับพันธุ์สัตว์น้ำที่นำมาปล่อยในวันนี้(9ส.ค.61) ประกอบด้วย ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลากาดำ ปลาบึก รวมทั้งสิ้นจำนวน 500,087 ตัว /.



ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

เทศบาลเมืองแพร่ จัดกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา 12 สิงหาคม2561





     เทศบาลเมืองแพร่ จัดกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา 12 สิงหาคม2561

     งานประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองแพร่ รายว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เวลา 09.00 น. เทศบาลเมืองแพร่ ร่วมกับกองพันทหารม้าที่ 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์ , กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่, สภ.อ.เมืองแพร่ , ชุมชนทั้ง 18 ชุมชน อสม. , อปพร.ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวัน และประชาชนจิตอาสา ร่วมกันทำล้างทำความสะอาด บริเวณศาลหลักเมืองแพร่และทำความสะอาดถนนคุ้มเดิมตั้งแต่ ศาลหลักเมืองแพร่ถึงสี่แยกน้ำพุและเก็บขยะ ทำความสะอาด บริเวณสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ( ร.9 )ให้เกิดความสะอาด สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ที่สำคัญคือเพื่อให้ประชาชนจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” และทุกภาคส่วนในสังคม ได้ทำความดีโดยมีจิตสาธารณะหรือจิตอาสา โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ในการกระทำอันเป็นสาธารณประโยชน์ที่เป็นต่อส่วนรวมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์ในหมู่คณะ โดยมีนาย พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม มีมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนทั้งสิ้น 250 คน


วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561

บ้านโป่งศรี





     บ้านโป่งศรีตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1350 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกจากตัวจังหวัดแพร่ประมาณ 7 กิโลเมตร จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านเล่าว่า ณ กลางหมู่บ้านมีแอ่งน้ำขนาดเล็กอยู่ น้ำในแอ่งใสสะอาดมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา โดยชาวบ้านเรียกแอ่งน้ำน้ำว่า “โป่ง” เนื่องจากดินบริเวณรอบๆแอ่งน้ำนี้เป็นดินโป่ง มีรสเค็มเป็นแหล่งชุมชุนของสัตว์ต่างๆที่จะมากินดินโป่งยังบริเวณแอ่งน้ำแหล่งนี้ ป่าไม้รอบแอ่งมีความอุดมสมบูรณ์มีพันธ์ไม้มากมาย ชาวบ้านจึงมาตั้งถิ่นฐานใกล้แอ่งน้ำ เพื่อทำการล่าสัตว์และปลูกพืชโดยอาศัยน้ำจากแอ่งนี้ในการเพาะปลูก และใกล้ๆบริเวณแอ่งน้ำมี “ต้นค้ำ” เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาและใบปกคลุมแอ่งน้ำอยู่ ชาวบ้านจึงพากันเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “โป่งค้ำ”
    

      ต่อมามีผู้คนมาอาศัยเกิดเป็นชุมชนขึ้น โดยในปี พ.ศ.1370 ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างวัดขึ้นชื่อว่า “วัดโป่งค้ำ” โดยใช้ชื่อเรียกตามชื่อหมู่บ้าน ต่อมาต้นค้ำได้ตายลง และมีต้นโพธิ์เกิดขึ้นมาแทนต้นค้ำที่ตายลง และเห็นว่าต้นโพธิ์ที่เกิดขึ้นได้เจริญเติบโตงอกงาม แผ่ร่วมเงาความร่วมรื่นไปทั่วและเป็นต้นไม้ทางความเชื่อทางพุทธศาสนา ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี และต้นโพธิ์ในพุทธศาสนา จึงพากันเรียกบ้านโป่งค้ำเป็น “บ้านโป่งศรี”แทน โดยคำว่า “ศรี”นั้นมาจากต้นโพธิ์ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าต้นศรี ต่อมาจึงก็เปลี่ยนชื่อวัดโป่งค้ำเป็น “วัดโป่งศรี” และเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “หมู่บ้านโป่งศรี” สืบต่อกันมา

       บ้านโป่งศรีอยู่ในตำบลบ้านถิ่น มีอยู่จำนวน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 4,6,10 เป็นหมู่บ้านที่มีชื้อเสียงในด้านซื้อขายแลกเปลี่ยนของเก่า ทั้งที่เป็นของมีค่า และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เฟอร์นิเจอร์จากล้อเกวียน นอก จากนั้นยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องเงินโบราณ ปัจจุบันถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีตลาดค้าของเก่าและเครื่องเงินที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดแพร่......

เรียบเรียงโดย นายคมสัน   หน่อคำ