วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รถโดยสารคันแรกของเมืองแพร่

สำหรับสถานที่ถ่ายภาพ คือสะพานบ้านร่องแวง(ขัวร่องแวง) ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่



     รถโดยสารแรกของเมืองแพร่ เป็นรถยนต์ยี่ห้อตระกูล Ford ตราหมา ชนิด4สูบ เป็นเครื่องยนต์เบนซินสตาร์ทมือแบบมือหมุนที่มูเล่ย์ สั่งซื้อจากประเทศอังกฤษในราคา 4,000 บาท ประมาณปี พ.ศ.2481 (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) หมายเลขทะเบียน พร.0018 สามารถจุผู้โดยสารได้ 14 คน ค่ารถหรือค่าโดยสารมี 2 ราคา คือ นั่งหน้าข้างคนขับได้ 2 คน ค่ารถคนละยี่สิบสตางค์ ซึ่งคนนั่งหน้าจะได้ชมวิวทิวทัศน์ตลอดสองฝั่งของเส้นทาง ธรรมชาติอันเป็นป่าไม้ทีเขียวชะอุมหนาทึบ บางครั้งอาจมีสัตว์ป่า เช่น หมูป่า เลียงผา เก้ง งูเหลือม และสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ วิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถเพื่อไปหาแหล่งน้ำที่มีอยู่ตลอดสองข้างทาง ส่วนด้านหลังสามารถให้ผู้โดยสารนั่งได้สองแถวๆละ 6 คน ราคาค่าโดยสารคนละสิบสองสตางค์หรือหนึ่งเฟื้อง 

     รถจะวิ่งสายในเวียง –ป่าแดง เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ให้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อรถวิ่งมาได้ครึ่งทางก็จะแวะพักที่ศาลาหม่องโพเส็ง เพื่อให้ผู้โดยสารดื่มน้ำ –ปัสสาวะเข้าห้องน้ำและทำธุระส่วนตัว แล้วจึงวิ่งต่อไปถึงตำบลป่าแดง และวัดพระธาตุช่อแฮ โดยขากลับก็จะบรรทุกเมี่ยงไปส่งในเวียงด้วย เพื่อไม่ให้รถวิ่งเสียเที่ยวเปล่า วันหนึ่งจะวิ่ง 2 เที่ยว คือเที่ยวเช้าและเที่ยวบ่าย ย้อนหลังไปสมัยนั้นราคาน้ำมันลิตรละ 0.20 สตางค์ ถังน้ำมันจุได้ 50ลิตร เติมเต็มถังเพียง 10 บาทเท่านั้น(ปัจจุบัน พ.ศ. 2561-2481= 80 ปี) โดยคุณชาลี หรรษ์ภิญโญ บุตรเจ้าของรถเล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่เตี่ยเลือกใช้รถยนต์ยี่ห้อ FORD เพราะเป็นรถที่สำบุกสำบัน แรงดีเยี่ยม ขึ้นดอยแรงไม่มีตก วิ่งทางราบประหยัดน้ำมันดี อะไหล่ก็หาง่ายและดัดแปลงได้เมื่อภาวะคับขัน เช่น ซี่ล้อรถเมื่อหัก ก็หาไม้แดงเปลี่ยนแทนได้วิ่งหาสตางค์ได้ ไม่ต้องเสียเวลา แตรรถยนต์ก็เป็นแตรยางใช้บีบไม่เปลืองไฟสะดวกดี 

     สำหรับสถานที่ถ่ายภาพ คือสะพานบ้านร่องแวง(ขัวร่องแวง) ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ถ่ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2481 เป็นช่วงปีใหม่ไทย นายกิติพงษ์ หรรษภิญโญ(แซ่ห่าน) เจ้าของรถยนต์ คนที่สองนับจากซ้ายมือในรูป ได้พาครอบครัวและญาติๆไปเที่ยวชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดแพร่ แม่น้ำยม พระยาไชยบูรณ์ และสะพานร่องแวง สะพานไม้ที่สร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหมด เชื่อมระหว่างตัวในเวียงกับอำเภอสูงเม่นและอำเภอเด่นชัย โดยหลังจากถ่ายภาพแล้วนายกิติพงษ์ ได้สอนลูกๆว่าสายลำน้ำยมเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงคนเมืองแพร่ให้ได้ดื่มกิน เพาะปลูก อุปโภคบริโภค จึงควรค่าแก่การรักษาดูแลและส่งต่อแก่คนรุ่นหลังต่อไป 

ขอบคุณข้อมูลจาก นายชาลี หรรษ์ภิญโญ ผู้จัดการการไฟฟ้าจังหวัดน่าน เจ้าของเรื่อง ,สภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ อวดเก่า แพร่ย้อนยุค เมื่อ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2011 

ข้อมูลประกอบภาพ บุคคลในภาพ 1.นายท้ายรถ (คนเก็บสตางค์ค่าโดยสาร) 2..นายกิติพงษ์ หรร์ภิญโญ (เจ้าของรถ)เป็นคนจีนไหหลำ มาตั้งรกรากที่เมืองแพร่ ได้แต่งงานกับแม่ตุ่นแก้ว หรรษภิญโญ (แผ่นทอง) มีลูก 11 คน ชาย 5 คน หญิง 6 คน 3.สามีแม่นางป๋อก (คนพม่า) 4.คนจีนค้าขาย (ไหหลำ) 5.บุตรชาย 6.ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 7.ผู้ใหญ่บ้าน 







เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น