วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ตอนที่ 3 สิ้นนามสกุล ณ แพร่

เจ้าพิริยะเทพวงศ์


      การที่พะกาหม่องคุมไพร่พลสมัครพรรคพวกก่อการจลาจลขึ้น เพราะมีต้นเหตุดังที่หม่อมเจ้าพูนพิสมัย ดิศกุล ธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงไว้ในหนังสือ “แพร่ – น่าน” ว่า “ส่วนต้นเหตุของเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินจากเสด็จพ่อว่าเรื่องเดิมนั้น พะกาหม่องเป็นลูกหนี้เจ้านางแว่นทิพย์ น้องเจ้าฟ้าเชียงตุงอยู่ 4,000 บาท และไม่มีจะใช้จึงหนีมาอาศัยกับพวกพ้องอยู่ในเมืองแพร่ วันหนึ่งเห็นเจ้าหน้าที่ขนเงินส่วยเข้าไปที่ศาลากลาง ก็นึกขึ้นว่า ถ้าได้เงินนี้ไปใช้หนี้ก็จะสามารถกลับไปบ้านได้ แล้วพะกาหม่องก็รวบรวมไพร่พลทำการบุกเข้าไปปล้น เผอิญประจวบกับทำการได้โดยสะดวก จึงเลยคิดการใหญ่ขึ้นกลายเป็นก่อกบฏไป”
เมื่อทางฝ่ายรัฐบาลสยามทราบเหตุการณ์จลาจลในเมืองแพร่ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นแม่ทัพใหญ่แต่งทัพขึ้นมาปราบปรามพวกโจรเงี้ยว จนสงบราบคาบในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2445


     ส่วนทางเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่นั้น ด้วยความเกรงกลัวในความผิด ที่ไม่ต่อสู้ป้องกันบ้านเมือง และต้องสงสัยว่าคบคิดกับพวกโจรเงี้ยวก่อการจลาจล ซึ่งทางเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีแม่ทัพใหญ่ ยังมิไม่ได้สอบสวนความผิด ด้วยความเกรงพระราชอาญาดังกล่าว เจ้าหลวงเมืองแพร่ จึงหลบหนีออกจากเมืองแพร่ ในวันที่ 25 กันยายน ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ออกทางประตูศรีชุม ทางฝ่ายเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ทราบข่าวการหลบหนีของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ก็สั่งเจ้านายทั้งในเมืองแพร่ เมืองน่าน และข้าราชการตำรวจทหารออกสกัดกั้น แต่ก็ไม่ทันต่อมาจึงทราบว่า เจ้าหลวงเมืองแพร่กับพวกหลบหนีออกไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางเสียแล้ว โดยเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ได้อาศัยอยู่ที่เมืองหลวงพระบางจนสิ้นชีวิต ณ ที่นั้น

      ต่อมา นายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์ทนตรี ได้ประกาศให้ข้าราชการและราษฎรในเขตแขวงเมืองแพร่ และชนทั้งหลายทราบทั่วกันโดยมีใจความสรุปว่า “เจ้าพิริยะเทพวงศ์เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการหายไป โดยไม่ได้แจ้งว่าจะไปหรือมีธุระอันจำเป็นจะต้องไป และทั้งไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้เป็นใหญ่ในหน้าที่ราชการด้วย โดยไม่เต็มใจจะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกต่อไปแล้ว และตามกฎหมายของบ้านเมืองถือในพระราชกำหนดบทอัยการลักษณะขบถศึก มาตรา 15 มีข้อความว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ให้ผู้ใดครองเมืองรั้งเมือง ถ้าผู้นั้นละทิ้งหน้าที่ราชการบ้านเมืองของตนไปเสีย โดยไม่ได้ชี้แจงเหตุการณ์อันควรไป หรือไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในหน้าที่ราชการแล้ว ผู้นั้นต้องรับโทษเป็นอย่างเบาที่สุดก็คือ ให้ถอดออกจากหน้าที่ราชการที่ตนได้รับตำแหน่งอยู่นั้นเสีย เพราะฉะนั้น จึงประกาศให้ข้าราชการและราษฎรในเขตเมืองแพร่ทราบทั่วกัน”
ด้วยเหตุกบฏเงี้ยว เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่ จึงถูกถอดบรรดาศักดิ์ออกเป็น “นายน้อยเทพวงศ์” แต่นั้นมา จึงเป็นสาเหตุไม่มีนามสกุล “ณ แพร่” ส่วนเชื้อวงศ์ของเจ้าเมืองแพร่ยังมีเหลืออยู่ ได้แยกวงศ์ตระกูลและยังอาศัยอยู่ในเมืองแพร่ เรื่อยมา
วีรกรรมของพระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่) ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี” ซึ่งพยายามที่จะรวบรวมกำลังต่อสู้กับพวกโจรเงี้ยว แม้จะไม่มีอาวุธเพียงพอก็ตาม และในขณะที่พวกโจรเงี้ยวปล้นเมืองนั้น ก็มิได้มีความพะวงถึงครอบครัวบุตรภรรยา และทรัพย์สมบัติของตน โดยเห็นแก่บ้านเมืองเป็นส่วนใหญ่ ผลที่สุดต้องถูกพวกโจรเงี้ยวฆ่าตายอย่างทารุณ นับว่าเป็นผู้เสียสละชีพเพื่อประเทศบ้านเมืองอย่างน่าสรรเสริญ และเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนทั่วไป ทางการจึงได้สร้างศิลาจารึกเป็นอนุสาวรีย์แก่พระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี เพื่อระลึกถึงคุณความดีและการเสียสละ.....


อ้างอิงจาก หนังสือ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๘ (ปราบเงี้ยวตอนที่ 2) พ.ศ. 2505,หนังสือจังหวัดแพร่ งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ 2500และหนังสือ "คนดีเมืองเหนือ" ของสงวน โชติสุขรัตน์










เรียบเรียงโดย นายคมสัน หน่อคำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น