วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแพร่ จัดโครงการ "Mobile Application ถุงเงิน ประชารัฐ"

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแพร่ จัดโครงการธงฟ้าประชารัฐ "Mobile Application ถุงเงิน ประชารัฐ" เป็นการใช้โปรแกรมประยุกต์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Tablel เพื่อใช้ในการชำระเงินค่าสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แทนเครื่อง EDC
     นางดรุณี รักษ์วงศ์ พาณิชย์จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ กรมบัญชีกลาง และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการธงฟ้าประชารัฐ “Mobile Application ถุงเงิน ประชารัฐ” เป็นการใช้โปรแกรมประยุกต์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Tablel เพื่อใช้ในการชำระเงินค่าสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แทนเครื่อง EDCจึงขอเชิญชวนร้านค้าที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยคุณสมบัติต้องเป็นร้านที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค สินค้าเพื่อการศึกษา สินค้าวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชนซึ่งจะต้องมีพื้นที่ร้านค้าแน่นอน และจำหน่ายสินค้าประจำ หรือเป็นหน่วยรถยนต์เคลื่อนที่เร่ขายสินค้า สามารถยื่นเอกสารการสมัครได้ที่ ส่วนกลางที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ส่วนภูมิภาคที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะตรวจสอบเอกสารและออกหนังสือรับรองให้กับร้านค้า พร้อมส่งข้อมูลรายชื่อร้านค้าให้กรมบัญชีกลาง ให้ร้านค้านำหนังสือรับรองไปยื่นต่อธนาคารกรุงไทยในเขตพื้นที่ของตนเอง เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร(กรณีไม่มีบัญชีธนาคารกรุงไทย) สมัครใช้ Internet Banking และดาวน์โหลด Application ถุงเงิน ประชารัฐ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยแนะนำวิธีการใช้งานสำหรับเงื่อนไขก่อนการใช้งานของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ ก่อนนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปใช้ชำระค่าสินค้าที่ร้านค้าถุงเงินประชารัฐ ผู้ถือบัตรจะต้องกำหนดรหัส 6 หลัก เพื่อใช้คู่กับบัตรในการชำระเงินค่าสินค้า ที่ธนาคารกรุงไทย หรือตู้เอทีเอ็ม ของธนาคารกรุงไทยส่วนขั้นตอนการใช้งานของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เลือกซื้อสินค้าที่ร้านค้าถุงเงินประชารัฐ เมื่อต้องการชำระเงินให้แสดงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เจ้าของร้าน เจ้าของร้านจะสแกนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และระบุจำนวนเงินที่จะชำระ และให้ผู้ถือบัตรยืนยันการชำระเงินค่าสินค้าหากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแพร่ โทรศัพท์หมายเลข 054-511-118 และ 054-522-806 






ข่าวโดย : พิรุณพร แสงสร้อย ทีมข่าว สวท.แพร่
บรรณาธิการ : รติพร บุญคง บรรณาธิการข่าว 
หน่วยงาน : สวท.แพร่

เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบเดินทางมายื่นหนังสือขอรัฐบาลช่วยเหลือ กรณีจะเลิกซื้อใบยาสูบ



เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบในพื้นที่จังหวัดแพร่ เดินทางมายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ วอนขอรัฐบาลช่วยเหลือ กรณีจะเลิกซื้อใบยาสูบ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบขาดอาชีพ และขาดรายได้ปีกว่า 200 ล้านบาท

      สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า เช้าวันนี้(28มิ.ย.61) ที่ห้องประชุมเวียงโกศัย ศาลากลางจังหวัดแพร่ นายเอนก บุญทรัพย์ ตัวแทนชาวไร่ผู้ปลูกยาสูบจากอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ พร้อมด้วยเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ประมาณ 80 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่วอนรัฐบาลให้ความช่วยเหลือ ต่อกรณีที่พระราชบัญญัติสรรสามิต ปี 2560 และกฎกระทรวงพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ทำให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ของการยาสูบแห่งประเทศไทยลดลงกว่าร้อยละ 40 ปริมาณใบยาคงคลังเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ใบยาสูบลดลงอยู่ในระดับที่ไม่จำเป็นต้องรับซื้อใบยาอีก 3 ปี ก็ยังมีใบยาพอใช้ผลิตบุหรี่ และในฤดูผลิต 2561/2562 นี้ การยาสูบแห่งประเทศไทยมีแนวคิดจะยกเลิกการรับซื้อใบยาในประเทศนั้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบอย่างแน่นอน

     จังหวัดแพร่โดยนายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ได้มาพบและรับหนังสือจากเกษตรกร โดยกล่าวว่า เห็นใจในความเดือดร้อนของเกษตรกร ก็จะส่งผ่านหนังสือให้กับทางกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลการยาสูบแห่งประเทศไทย ให้มีการช่วยเหลือเกษตรกร อย่างเร่งด่วน

     สำหรับจังหวัดแพร่นั้นมีเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ พันธุ์เวอร์ยิเนียร์ ที่ขออนุญาตเพาะปลูก ในฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ที่ผ่านมา เป็นชาวไร่บ่มเอง จำนวน 1,081 ราย ผู้บ่มอิสระ 6 ราย พื้นที่เพาะปลูก 13,211 ไร่ มีโควตาที่รับซื้อ 2,650,000 กิโลกรัม โดยรับซื้อทั้งหมด ในราคาเฉลี่ย 89 บาท 16 สตางค์ ต่อกิโลกรัม มูลค่า 235,920,000 บาท

     นางงามนิต กันทาธรรม จากสถานีบ่มใบยาแม่หล่าย อำเภอเมืองแพร่กล่าวว่า การที่การยาสูบแห่งประเทศไทยจะยกเลิกการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ จึงเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวไร่ยาสูบ ที่จะต้องขาดรายได้ในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียนหนังสือ และไม่รู้จะหันไปเพาะปลูกอะไรที่สร้างรายได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว และชำระหนี้กับสถาบันการเงินเพื่อเกษตรกร จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน

     ใบยาสูบนั้นเป็นพืชทางการเกษตรที่มีการเพาะปลูกขายกันมายาวนานถึง 80 ปี และในแต่ละปีทางโรงงานยาสูบได้กำหนดโควตา ปริมาณการรับซื้อ ราคารับซื้อ คุณภาพใบยาที่จะรับซื้อ โดยมีตัวเลขที่แน่นอนแก่ผู้ผลิตใบยาสูบ ตามโควตาที่จัดสรรให้แต่ละปี ก่อนถึงฤดูกาลเพาะปลูก โดยมีโรงงานยาสูบและผู้ผลิตใบยาสูบ ชาวไร่บ่มเอง ผู้บ่มอิสระ ต่างเป็นคู่สัญญาต่อกัน ในการซื้อขายใบยาสูบให้เป็นไปตามราคา ปริมาณ และคุณภาพที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ผิดกับพืชผลชนิดอื่นๆที่ผลิตมาแล้ว ไม่มีตลาดรองรับที่แน่นอน ทำให้ราคาผันผวน สร้างปัญหากับเกษตรกรทุกปี เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง สับปะรด เป็นต้น /.

ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561

จังหวัดแพร่.........เงาะโรงเรียนเตรียมออกสู่ตลาด สดๆจากสวนถึงมือผู้บริโภค



เงาะโรงเรียนจากพื้นที่ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เริ่มแก่และเตรียมออกสู่ตลาด โดยผลผลิตจะออกช้ากว่าภาคตะวันออก แต่ราคาดี ที่สำคัญสดจากสวน ถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วโดยปีนี้ราคาเริ่มต้นจากสวน ราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท
 
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ที่สวนเงาะโรงเรียนบ้านปากจอก หมู่ 4 ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นสวนนายบรรจง สำราญรื่น อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 135 บ้านปากจอก หมู่ 4 ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ได้ปลูกเงาะจำนวน 500 ต้น ในพื้นที่ 26 ไร่ โดยปีนี้ผลผลิตเริ่มแก่ และเตรียมออกสู่ตลาด โดยผลผลิตจะออกช้ากว่าภาคตะวันออก หรือแหล่งผลิตอื่นๆ จึงทำให้เงาะที่สวนในบริเวณนี้มีราคาดี ที่สำคัญสดจากสวน ถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็ว เพราะอยู่ใกล้แหล่งผลิต ในปีนี้ราคาเงาะเริ่มต้นจากสวน ราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท เป็นเงาะโรงเรียนที่มีรสชาติหวานอร่อย
 
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าวว่า เงาะจากสวนแห่งนี้ เกษตรกรได้นำผลไม้จากภาคอื่นมาปลูก ผลผลิตถึงแม้ลูกจะไม่โตมาก แต่รสชาติดีหวานกรอบ และมีจุดเด่นคือเงาะตัดเช้า สายๆก็ถึงมือผู้บริโภคได้เลย ทำให้ได้รับประทานเงาะสดๆจากสวน
 
นายบรรจง สำราญรื่น เจ้าของสวนเงาะเล่าว่า แต่เดิมตนเองนั้นปลูกสวนส้ม แต่ส้มติดปัญหาในการดูแลรักษาทั้งโรค แมลง และต้องการน้ำมาก จึงปรับเปลี่ยนมาปลูกเงาะแทน นอกจากนี้ภายในสวนยังได้พัฒนาพื้นที่ปลูกลองกอง พริกไทย และยางพารา ควบคู่ไปด้วย ก็จะทำให้มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี /.
 
ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

จังหวัดแพร่จัดงาน “ผ้าแพร่....แพรพรรณภูษา สู่สากล”


     จังหวัดแพร่จัดงาน "ผ้าแพร่....แพรพรรณภูษา สู่สากล” ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เสริมสร้างเสน่ห์เมืองแพร่ด้วยอัตลักษณ์การแต่งกาย 18-20 มิถุนายน 2561 ที่บริเวณกาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่
 
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า เย็นวันนี้(18มิ.ย.61) ที่บริเวณกาดสามวัยเทศบาลเมืองแพร่ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดงาน "ผ้าแพร่....แพรพรรณภูษา สู่สากล” ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18-20 มิถุนายน 2561 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยนำอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดแพร่มาเป็นสิ่งจูงใจ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนจังหวัดแพร่ และเสริมสร้างเสน่ห์ให้กับเมืองแพร่ด้วยการส่งเสริมอัตลักษณ์การแต่งกาย อนุรักษ์และสืบสานผ้าและเครื่องแต่งกายพื้นถิ่นเมืองแพร่ เช่น ผ้าหม้อห้อมย้อมจากห้อมและครามธรรมชาติ ผ้าฝ้าย ผ้าตีนจก ผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียง ออกแบบให้ทันสมัย เหมาะกับการสวมใส่ทุกช่วงวัย ส่งออกทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้เข้าสู่จังหวัด
 
โดยกิจกรรมวันเปิดงานวันนี้(18มิ.ย.61) มีขบวนแห่ผ้า "เสน่ห์ผ้าแพร่ แพรพรรณภูษาผ้าแพร่ สู่สากล” การจำหน่ายและสาธิต ภูมิปัญญา ด้านผ้าเมืองแพร่ แฟชั่นโชว์ แข่งขันทอผ้าเร็ว แข่งขันทอผ้าตีนจก การประกวดผ้าตีนจกแบบประยุกต์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมเยาวชนจังหวัดแพร่ และค่ำคืนของวันที่ 19 มิถุนายน 2561 พบกับมินิคอนเสิร์ต แก้ม วิชญาณี นอกจากนี้ยังมีการเล่นเกมส์ แจกของรางวัลต่างๆ
 
จังหวัดแพร่จึงขอเชิญชวนผู้สนใจมาเที่ยวงาน "ผ้าแพร่....แพรพรรณภูษา สู่สากล” ณ กาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่ วันที่ 18-20 มิถุนายน 2561
 
ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่



พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ตอนที่ 3 สิ้นนามสกุล ณ แพร่

เจ้าพิริยะเทพวงศ์


      การที่พะกาหม่องคุมไพร่พลสมัครพรรคพวกก่อการจลาจลขึ้น เพราะมีต้นเหตุดังที่หม่อมเจ้าพูนพิสมัย ดิศกุล ธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงไว้ในหนังสือ “แพร่ – น่าน” ว่า “ส่วนต้นเหตุของเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินจากเสด็จพ่อว่าเรื่องเดิมนั้น พะกาหม่องเป็นลูกหนี้เจ้านางแว่นทิพย์ น้องเจ้าฟ้าเชียงตุงอยู่ 4,000 บาท และไม่มีจะใช้จึงหนีมาอาศัยกับพวกพ้องอยู่ในเมืองแพร่ วันหนึ่งเห็นเจ้าหน้าที่ขนเงินส่วยเข้าไปที่ศาลากลาง ก็นึกขึ้นว่า ถ้าได้เงินนี้ไปใช้หนี้ก็จะสามารถกลับไปบ้านได้ แล้วพะกาหม่องก็รวบรวมไพร่พลทำการบุกเข้าไปปล้น เผอิญประจวบกับทำการได้โดยสะดวก จึงเลยคิดการใหญ่ขึ้นกลายเป็นก่อกบฏไป”
เมื่อทางฝ่ายรัฐบาลสยามทราบเหตุการณ์จลาจลในเมืองแพร่ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นแม่ทัพใหญ่แต่งทัพขึ้นมาปราบปรามพวกโจรเงี้ยว จนสงบราบคาบในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2445


     ส่วนทางเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่นั้น ด้วยความเกรงกลัวในความผิด ที่ไม่ต่อสู้ป้องกันบ้านเมือง และต้องสงสัยว่าคบคิดกับพวกโจรเงี้ยวก่อการจลาจล ซึ่งทางเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีแม่ทัพใหญ่ ยังมิไม่ได้สอบสวนความผิด ด้วยความเกรงพระราชอาญาดังกล่าว เจ้าหลวงเมืองแพร่ จึงหลบหนีออกจากเมืองแพร่ ในวันที่ 25 กันยายน ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ออกทางประตูศรีชุม ทางฝ่ายเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ทราบข่าวการหลบหนีของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ก็สั่งเจ้านายทั้งในเมืองแพร่ เมืองน่าน และข้าราชการตำรวจทหารออกสกัดกั้น แต่ก็ไม่ทันต่อมาจึงทราบว่า เจ้าหลวงเมืองแพร่กับพวกหลบหนีออกไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางเสียแล้ว โดยเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ได้อาศัยอยู่ที่เมืองหลวงพระบางจนสิ้นชีวิต ณ ที่นั้น

      ต่อมา นายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์ทนตรี ได้ประกาศให้ข้าราชการและราษฎรในเขตแขวงเมืองแพร่ และชนทั้งหลายทราบทั่วกันโดยมีใจความสรุปว่า “เจ้าพิริยะเทพวงศ์เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการหายไป โดยไม่ได้แจ้งว่าจะไปหรือมีธุระอันจำเป็นจะต้องไป และทั้งไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้เป็นใหญ่ในหน้าที่ราชการด้วย โดยไม่เต็มใจจะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกต่อไปแล้ว และตามกฎหมายของบ้านเมืองถือในพระราชกำหนดบทอัยการลักษณะขบถศึก มาตรา 15 มีข้อความว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ให้ผู้ใดครองเมืองรั้งเมือง ถ้าผู้นั้นละทิ้งหน้าที่ราชการบ้านเมืองของตนไปเสีย โดยไม่ได้ชี้แจงเหตุการณ์อันควรไป หรือไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในหน้าที่ราชการแล้ว ผู้นั้นต้องรับโทษเป็นอย่างเบาที่สุดก็คือ ให้ถอดออกจากหน้าที่ราชการที่ตนได้รับตำแหน่งอยู่นั้นเสีย เพราะฉะนั้น จึงประกาศให้ข้าราชการและราษฎรในเขตเมืองแพร่ทราบทั่วกัน”
ด้วยเหตุกบฏเงี้ยว เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่ จึงถูกถอดบรรดาศักดิ์ออกเป็น “นายน้อยเทพวงศ์” แต่นั้นมา จึงเป็นสาเหตุไม่มีนามสกุล “ณ แพร่” ส่วนเชื้อวงศ์ของเจ้าเมืองแพร่ยังมีเหลืออยู่ ได้แยกวงศ์ตระกูลและยังอาศัยอยู่ในเมืองแพร่ เรื่อยมา
วีรกรรมของพระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่) ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี” ซึ่งพยายามที่จะรวบรวมกำลังต่อสู้กับพวกโจรเงี้ยว แม้จะไม่มีอาวุธเพียงพอก็ตาม และในขณะที่พวกโจรเงี้ยวปล้นเมืองนั้น ก็มิได้มีความพะวงถึงครอบครัวบุตรภรรยา และทรัพย์สมบัติของตน โดยเห็นแก่บ้านเมืองเป็นส่วนใหญ่ ผลที่สุดต้องถูกพวกโจรเงี้ยวฆ่าตายอย่างทารุณ นับว่าเป็นผู้เสียสละชีพเพื่อประเทศบ้านเมืองอย่างน่าสรรเสริญ และเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนทั่วไป ทางการจึงได้สร้างศิลาจารึกเป็นอนุสาวรีย์แก่พระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี เพื่อระลึกถึงคุณความดีและการเสียสละ.....


อ้างอิงจาก หนังสือ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๘ (ปราบเงี้ยวตอนที่ 2) พ.ศ. 2505,หนังสือจังหวัดแพร่ งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ 2500และหนังสือ "คนดีเมืองเหนือ" ของสงวน โชติสุขรัตน์










เรียบเรียงโดย นายคมสัน หน่อคำ

พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ตอนที่ 2 เงี้ยวปล้นฆ่า


กบฎเงี้ยว/คุ้มเจ้าหลวง




     หลังจากเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ลงนามหนังสือสัญญาดังกล่าวแล้ว ก็ดื่มน้ำสบถทำสัตย์สาบานต่อกัน แล้วพวกโจรเงี้ยวก็แบ่งกำลังติดตามพระยาราชฤทธานนท์ เจ้าหน้าที่ และข้าราชการคนไทย และสำหรับคนพื้นเมืองนั้นพวกโจรเงี้ยวจะไม่ทำอันตราย โดยมีเจ้านายเมืองแพร่ที่เข้าเป็นพวกกับโจรเงี้ยว คือเจ้าน้อยไจลังกา ส่วนเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์และเจ้านายอื่นๆ ที่ปรากฏนามนั้นได้ให้การต่อ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งในขณะนั้น) ว่าถูกพวกโจรเงี้ยวบังคับ จึงจำใจต้องทำสัญญากับพวกโจรเงี้ยวด้วยความรักชีวิต 

     ทางฝ่ายพระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงกำกับราชการเมืองแพร่นั้น เมื่อพวกโจรเงี้ยวระดมยิงโรงพัก ก็ได้ใช้ปืนยิงต่อสู้หลายนัด เมื่อเห็นพวกโจรเงี้ยวมีกำลังมากกว่า ก็วิ่งหนีไปทางวัดพระร่วง เพื่อรายงานให้เจ้าหลวงเมืองแพร่ทราบ เพื่อขออาวุธและเกณฑ์กำลังคนเข้าต่อสู้กับพวกโจร แต่ได้พบเพียงขุนพิพิธโกษากรณ์ ข้าหลวงคลัง และหัวหน้าส่วนราชการคนอื่นๆหลบซ่อนอยู่เท่านั้น จึงพากันวิ่งไปที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ เพื่อจะพบท่านเจ้าหลวงและขออาวุธ เมื่อมาถึงไม่พบท่านเจ้าหลวง พบแต่พระยาไชยสงครามและเจ้าราชบุตร ก็ทราบว่าท่านเจ้าหลวงหนีไปอยู่ที่ห้างบอมเบเบอร์ม่าแล้ว เมื่อไม่พบเจ้าหลวง พระยาไชยบูรณ์ ก็หนีต่อไปอีก โดยมีนายแม้นพนักงานอัยการติดตามไปด้วย ส่วนข้าราชการคนอื่นๆก็หลบหนีแยกไปคนละเส้นทาง 

    แล้วจึงให้นายแม้นไปเกณฑ์ชาวบ้านบ้านกาศมาต่อสู้กับพวกโจรเงี้ยวได้จำนวน 80 คน จึงนำชาวบ้านทั้งหมดเข้ายังเมืองแพร่ เพื่อจะพบกับพระยาราชฤทธานนท์แต่ไม่พบ ได้พบแต่เพียงนายน้อยขัด นายแคว่น (กำนัน) จึงได้ให้นายน้อยขัดไปที่บ้านพระยาพิไชยราชา เสนาตำแหน่งคลัง เพื่อสอบถามถึงกำลังพลและที่พักของพวกโจรเงี้ยว พระพิไชยราชาจึงแจ้งว่า อย่าได้ต่อสู้พวกเงี้ยวเลย ให้รีบหนีเอาตัวรอด เพราะพวกโจรเงี้ยวจะฆ่าแต่เฉพาะคนไทย (ภาคกลาง) เท่านั้น ส่วนคนพื้นเมืองนั้นโจรเงี้ยวจะไม่ทำร้าย ทำให้ชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์มาเกิดความความท้อแท้ แล้วต่างคนต่างก็แยกกันหนีไป โดยไม่ได้เกิดการต่อสู้แต่อย่างใด 

   ฝ่ายพระยาไชยบูรณ์ หลังจากนายแม้นไปเกณฑ์ชาวบ้านแล้ว เกรงว่าพวกโจรเงี้ยวจะมาพบเข้า จึงหนีไปทางบ้านร่องกาศ แต่กลับถูกแคว่น(กำนัน) และแก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ของบ้านร่องกาศจับตัวส่งให้พวกโจรเงี้ยว เนื่องด้วยเงี้ยวได้ตั้งบนขึ้นแก่ผู้ที่จับพระนยาราชฤทธานนท์มาส่งได้ เป็นเงิน 300 บาท และม้าอีก 2 ตัว 
เงี้ยวจึงนำตัวพระยาไชยบูรณ์ พร้อมกับพลตำรวจคนหนึ่งเข้ามาเมือง แต่พอถึงร่องแวง พวกโจรเงี้ยวก็ได้ฆ่าพลตำรวจเสียก่อน ส่วนพระยาไชยบูรณ์นั้น เมื่อมาถึงบ้านร่องคาว พวกโจรเงี้ยวก็ใช้ดาบฟัน 3 ครั้ง ครั้งแรกฟันถูกหู ครั้งที่สองฟันถูกตา ครั้งสุท้ายฟันถูกท้องจนถึงแก่ชีวิต ณ ที่นั่นเอง แล้วพวกโจรเงี้ยวตัดศีรษะพิงเสากระดานป้ายไว้ พระยาราชฤทธานนท์ถูกฆ่าตาย ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 หลังจากนั้นเงี้ยวได้ฆ่าข้าราชการอีกหลายคน หลังจากนั้นพวกโจรเงี้ยวก็จัดแต่งตั้งหัวหน้าคุมไพร่พล ไปคอยดักด่านอยู่ที่เขาพลึง บ่อแก้ว ส่วนตัวพะกาหม่องนั้นคุมไพร่พลยกขึ้นไปตีเมืองลำปาง แต่ระหว่างการต่อสู้ตัวพะกาหม่องถูกปืนยิงตายในที่รบ พวกโจรเงี้ยวเลยแตกหนีกลับมาเมืองแพร่ ส่วนฝ่ายพวกโจรเงี้ยวที่ดักอยู่บนเขาพลึง ได้ปะทะกับกองทัพของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย) ที่ตำบลโป่งอ้อ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2445 พวกโจรเงี้ยวเสียชีวิตไป 22 คน และบาดเจ็บอีกหลายคน ส่วนเงี้ยวทางบ้านบ่อแก้วเมื่อทราบข่าวว่าพวกของตนปะทะกองทัพพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรและพ่ายแพ้ ก็พากันหนีถอยกลับเข้าไปในเมืองแพร่(ติดตามตอนที่ 3 ในฉบับหน้า)






เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ




วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ตอนที่ 1 เกิดกบฎ

พระยาไชยบูรณ์



      พระยาไชยบูรณ์ เป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองแพร่คนแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเปลี่ยนการปกครองจากแบบเจ้าผู้ครองนครมาเป็นแบบเทศาภิบาล โดยลดอำนาจเจ้าผู้ครองนครลง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าหลวงกำกับเมืองมาช่วยราชการแผ่นดิน ที่เมืองแพร่ ซึ่งในขณะนั้นเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์อุดร (น้อยเทพวงศ์) เป็นเจ้าผู้ครองนครอยู่ โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่) มาเป็นข้าหลวงกำกับเมืองแพร่เป็นคนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 เรื่อยมา 

      เมื่อปี พ.ศ. 2444(ร.ศ. 121)เกิดเหตุการณ์เงี้ยว (ไตใหญ่) ซึ่งอยู่ในบังคับอังกฤษ ได้เข้ามาอาศัยทำมาหากินอยู่ในเมืองแพร่กลุ่มหนึ่งและพวกเงี้ยวที่มาจากเชียงตุงอีกกลุ่มหนึ่ง ได้สมคบกันก่อการจลาจล และได้จับข้าหลวงกำกับราชการเมืองแพร่ (คือ พระยาไชยบูรณ์) ตำรวจ และราษฎร์ชาวไทย (ภาคกลาง) ทั้งชายหญิงและเด็กฆ่าเสียอย่างทารุณ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ ศก 121 เวลาเช้า (ตรงกับ พ.ศ. 2445) โดยการนำของ 

      เงี้ยวพะกาหม่อม สล่าโป่ซาย จองแข่เป็นหัวหน้านำเงี้ยวประมาณ 500 คน เข้าตีโรงตำรวจนอกประตูชัย ไล่ฟันตำรวจ จนแตกตื่นหนีไปหมด โดยทันต่อสู้ไม่เพราะไม่ทันรู้ตัว มีตำรวจภูธรถูกฟัน 4 คน แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต ในขณะนั้นอำแดงคำภรรยาของนายร้อยตรีตาด ได้นำปืนไล่ยิงพวกโจรเงี้ยว ทำให้พวกโจรเงี้ยวโกธรแค้น จึงเอาดาบไล่ฟันอำแดงคำกับบุตรให้ตายด้วยกันทั้งคู่ แล้วก็พากันเก็บเอาอาวุธปืนของหลวง พากันเข้าไปในเมืองผ่านทางประตูชัยเข้าไป เมื่อผ่านโรงไปรษณีย์โทรเลขก็เข้ายึดทำลายเครื่องโทรเลขโทรศัพท์ และเครื่องมือสื่อสารทั้งหมดเพื่อป้องกันการแจ้งข่าว 

     ต่อมาพวกเงี้ยวได้เข้าปล้นยังบ้านพระไชยบูรณ์ ทำให้เกิดการต่อสู้ขึ้นมีบ่าวไพร่เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนพระไชยบูรณ์และลูกแม่หลบหนีไปได้ พวกเงี้ยวปล้นเงินหลวงไปได้จำนวน 3,9000 บาท และได้ทำลายเอกสารทางราชการที่สำคัญเสียหายทั้งหมด แล้วจึงคุมไพร่พลเงี้ยวไปตั้งยังที่ว่าการจังหวัดแพร่ และได้แบ่งพลเงี้ยวออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ปล้นทรัพย์สินในสถานที่ราชการต่างๆ เมื่อถึงเรือนก็ได้ทำการยึดและปล่อยนักโทษออกเป็นอิสระ นักโทษจึงเข้าสมทบกับพวกเงี้ยวและร่วมกันปล้นเพื่อเอาทรัพย์สิน และในวันเดียวกันราวบ่าย 3 โมง พวกเงี้ยวได้เข้าควบุคมตัว เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ และเจ้านายอื่นๆ มีเจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรี เจ้าราชบุตร พระวังซ้าย พะวิไชยราชา พระคำลือ พระไชยสงคราม พระเมืองไชย ไปยังสนามที่ว่าการจังหวัดแพร่ แล้วบังคับให้เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ และเจ้านยที่จับกุมตัวไปนั้น ทำหนังสือปฏิญาณต่อกันไว้ มีใจความว่า 

1.เดิมเมื่อปี ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) มีพระไชยบูรณ์ มาเป็นข้าหลวงประจำเมืองแพร่ ได้ทำการกดขี่ข่มเหงบรรดาพวกเจ้านายแลราษฎรแลพวกลูกค้า มีพม่า ต้องซู่ เงี้ยว ที่เข้ามาอาศัยแขวงเมือง ได้ความเดือดร้อนเป็นอันมาก
2. ครั้นถึงวันที่ 25 กรกฎาคม ศกนี้ (พ.ศ. 2445) มีพวกลูกค้าทั้งหลายได้คบคิดกันมาปราบปรามกำจัดพวกข้าหลวงไทยแตกหนีไปจากเมืองแล้ว
3. เจ้านายกรมการ พร้อมด้วยลูกค้า ได้พร้อมใจกันมอบบ้านเวนเมืองคืนถวายไว้กับเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ให้เป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองต่อไป
4. ต่อไปเมื่อหน้าถ้าบังเกิดศึกทางฝ่ายใดขึ้นมาเวลาใดก็ดี เจ้านายกรมการและลูกค้าที่มีชื่ออยู่ท้ายหนังสือนี้ ต้องช่วยกันปราบปรามข้าศึกศัตรูด้วยเต็มกำลังทั้งสองฝ่าย(ติดตามตอนที่ 2 ฉบับหน้า) 



เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ




วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2561

วิทยาลัยชุมชนแพร่ เปิดครัวฝึกอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนในจังหวัดแพร่ ณ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ วิทยาลัยชุมชนแพร่ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ วันที่ 6-10 มิถุนายน 2561

     ในวันที่ 6- 10 มิถุนายน 2561 วิทยาลัยชุมชนแพร่ นำโดย นายอุบลศักดิ์ ขีดสร้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่ จัดกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้อาหารไทยเพื่อสุขภาพ เปิดฝึกอบรมหลักสูตร อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ความเข้าใจในการเลือกบริโภคอาหารไทยเพื่อสุขภาพ และสามารถนำไปปฏิบัติเองได้ที่บ้านอย่างถูกหลัก โดยมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในจังหวัดแพร่ในใจเข้าร่วมฝึกอบรม จำนวน 100 คน ณ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ วิทยาลัยชุมชนแพร่ โดยได้รับเกียรติจาก วิทยากร อาจารย์อรรถ ขันสี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

เทศบาลเมืองแพร่ร่วมกับชุมชนในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ทั้ง 18 ชุมชน และ โรงเรียนในสังกัดเทศบาลทั้ง 5 แห่ง ร่วมดำเนินโครงการปฏิบัติการเข้มข้น 3 ภารกิจสำคัญ


     เทศบาลเมืองแพร่ร่วมกับชุมชนในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ทั้ง 18 ชุมชน และ โรงเรียนในสังกัดเทศบาลทั้ง 5 แห่ง ร่วมดำเนินโครงการปฏิบัติการเข้มข้น 3 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ ภารกิจที่ 1 การลดอุบัติเหตุทางถนน สวมหมวกกันน็อค 100 % ภารกิจที่2 การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภารกิจที่ 3 ขยะ การกำจัดขยะเปียกในครัวเรือน การแยกและลดปริมาณขยะ ซึ่ง 3 ภารกิจนี้จังหวัดแพร่ ได้มอบหมายให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ชุมชน ร่วมดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มข้น
     โดยจัดให้มีพิธีมอบธงสัญลักษณ์การเปิดปฏิบัติการ 3 ภารกิจ และการลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่างเทศบาลกับหัวหน้าส่วนของเทศบาล/ชุมชนในเขตเทศบาลและ โรงเรียนในสังกัดเทศบาลทั้ง 5 โรง ณ บริเวณกาด 3 วัย เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานและพลังขับเคลื่อนที่เข้มแข็งต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ไปรษณีย์จังหวัดแพร่ร่วมรณรงค์เปิดขายไปรษณียบัตรโครงการทายผลฟุตบอลโลก 2018 ลุ้นโชคร่วม 40 ล้านบาท


ไปรษณีย์จังหวัดแพร่ร่วมรณรงค์เปิดขายไปรษณียบัตรทายผลฟุตบอลโลก 2018 ลุ้นโชคร่วม 40 ล้านบาท ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2561 ขณะผู้การตำรวจแพร่เตือนเจอเล่นการพนันบอลจับกุมทันที
 
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(14มิ.ย.61) ที่ไปรษณีย์จังหวัดแพร่ ซึ่งถือว่าเป็นวันแรกของการจำหน่ายไปรษณียบัตร ทายผลฟุตบอลโลก 2018 ฉบับละ 2 บาท มีประชาชนให้ความสนใจซื้อเพื่อร่วมสนุกในการทายผลโลกกันแล้ว
 
นายทนงศักดิ์ บุญรัตนผล ผู้ช่วยหัวหน้าไปรษณีย์จังหวัดแพร่กล่าวว่า กิจกรรมการทายผลฟุตบอลโลก 2018 ครั้งนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้จัดพิมพ์ไปรษณียบัตร จำนวนทั้งสิ้น 220 ล้านฉบับ ซึ่งทางไปรษณีย์จังหวัดแพร่ ได้เริ่มนำออกมาวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่วันนี้(14มิ.ย.61) ไปจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2561 เวลา 18.00 น. สำหรับฟุตบอลโลก 2018 ไปรษณีย์จังหวัดแพร่ ตั้งเป้ายอดจำหน่ายไปรษณียบัตรทายผลบอลจำนวน 1,220,000 ฉบับ
 
โดยไปรษณียบัตรฉบับละ 2 บาท ลุ้นโชคกว่า 111 รางวัล ได้แก่ รางวัลที่ 1 มี 1 รางวัล เงินสด 10 ล้านบาท รางวัลที่ 2 มี 10 รางวัล เงินสดรางวัลละ 1 ล้านบาท รางวัลที่ 3 มี 100 รางวัล เงินสดรางวัลละ 100,000 บาท และรางวัลอื่นๆอีกมากมาย
 
กติกาการร่วมสนุก ทายผลแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 ผ่านไปรษณียบัตร เพียงเขียนคำทายผลให้ชัดเจนว่า ทีมใดจะเป็นทีมชนะเลิศ ลงบนไปรษณียบัตร 1 ฉบับ ต่อ 1 ทีม และเขียนชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ (ให้ตรงตามบัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้าน) ให้ชัดเจน (ห้ามขูด ลบ ขีดฆ่า ตัดแปะ ผนึก หรือทำสัญลักษณ์อื่นใด ลงในไปรษณียบัตร) ส่งผ่านระบบไปรษณีย์ มายัง นสพ.ไทยรัฐ เลขที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. 10900 หมดเขตส่งคำทาย วันที่ 14 กรกฎาคม 2561 เวลา 18.00น. โดยถือตราประทับวันที่บนไปรษณียบัตรเป็นสำคัญ สามารถส่งคำทายผลมาร่วมสนุกได้โดยไม่จำกัดจำนวน
 
ด้าน พลตำรวจตรีสรรภัทร ปราบพุฒซา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งศูนย์ป้องกันการเล่นการพนันฟุตบอลโลกแล้ว ซึ่งต้องมีการรายงานผลการกวาดล้าง จับกุมทุกวัน และในพื้นที่ของจังหวัดแพร่นั้นไม่น่ามีปัญหาอะไร จะมีก็เพียงกลุ่มย่อยๆที่ชอบเล่น แต่หากพบจะดำเนินการจับกุมอย่างจริงจัง โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการเล่นพนันฟุตบอลโลกได้ทาง 191 ซึ่งสะดวกและรวดเร็วที่สุด /.
 









ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์ /
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่



จังหวัดแพร่เปิดปฏิบัติการเข้มข้น 3 ภารกิจสำคัญ

     จังหวัดแพร่เปิดปฏิบัติการเข้มข้น 3 ภารกิจสำคัญ ด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด และด้านการลดและคัดแยกขยะ โดยรวมพลังประชารัฐ ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ เน้นสวมหมวกกันน๊อค 100 % ลดปัญหายาเสพติดทั้งในชุมชนและสถานศึกษา ลดปริมาณขยะด้วยการคัดแยกทุกครัวเรือน
 
      สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(14 มิ.ย. 61) ที่บริเวณกาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่ และประชาชนชาวจังหวัดแพร่ รวมพลังร่วมกันเปิดปฏิบัติการเข้มข้น 3 ภารกิจสำคัญ ประกอบด้วย การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนขับขี่ปลอดภัย ซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับชาติ มุ่งเน้นการสวมใส่หมวกกันน็อค 100 % ทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้าย ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด ตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติและปฏิญญามอสโก ที่ประกาศให้ ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ปี 2554-5563 ให้เหลือสถิติต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2563 โดยจังหวัดแพร่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในทุกพื้นที่
 
ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนและเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและเหมาะสม การสร้างองค์ความรู้เรื่องโทษภัยอันตรายของยาเสพติดให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน รวมทั้งฟื้นฟูผู้ป่วยจากสารเสพติดให้กลับมาสู่สภาวะปกติ เน้นชุมชน สังคมเข็มแข็ง กวาดล้างอย่างเข้มข้น โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวชุมชน และสังคม ตามแผน ประชารัฐร่วมใจสร้างบ้านชุมชนมั่งคง ปลอดภัยยาเสพติด
 
ด้านการลดและคัดแยกขยะ ซึ่งก็เป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน ที่จังหวัดแพร่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะ ต้องลดปริมาณขยะในทุกพื้นที่ เกิดการคัดแยกขยะในครัวเรือน หมู่บ้านและชุมชน มีการดำเนินการกำจัดขยะเปียกทุกครัวเรือน
 
  ในการนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้มอบธงสัญลักษณ์การเปิดปฏิบัติการ 3 ภารกิจสำคัญ ให้กับผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน นายอำเภอ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในจังหวัดแพร่ ได้ร่วมกันปฏิบัติการอย่างเข้มข้นและจริงจังต่อไป ในทุกพื้นที่ของจังหวัดแพร่ /.
 


ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์ /
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

ชาวตำบลห้วยฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่จัดประเพณีบั้งไฟขอฝน


    ชาวตำบลห้วยฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่จัดประเพณีบั้งไฟขอฝน อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น
 
    ทุกปีในช่วงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ปีนี้ตรงกับวันที่ 12-13 มิถุนายน 2561 ชาวตำบลห้วยฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ จะจัดงานประเพณีนมัสการพระเจ้านั่งดิน และประเพณีจุดบั้งไฟขอฝน โดยปีนี้ชาวตำบลหัวฝาย ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลหัวฝาย องค์การบริหารส่วนตำบลหัวฝาย และประชาชนที่สนใจนำบั้งไฟมาร่วมพิธีจาก จังหวัดลำปาง น่าน พะเยา และแพร่ จำนวน 102 กระบอก และร่วมแข่งขัน จำนวน 15 กระบอก มีนายเสรี ทรงศักดิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดงานจุดบั้งไฟขอฝนดังกล่าว ขณะจุดบั้งไฟขอฝน ยังไม่ทันเสร็จก็มีฝนตกหนักลงมาด้วยนับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี
 
    งานประเพณีนมัสการพระเจ้านั่งดิน และประเพณีจุดบั้งไฟ ของวัดหัวฝายนั้นได้สานต่อเป็นประเพณีมากว่า 100 ปี เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นในสมัยอดีต และเป็นการขอฝนตามความเชื่อในสมัยโบราณ ให้ฝนตกตามฤดูกาล ให้มีน้ำท่าเพื่อจะได้ประกอบสัมมาอาชีพการเกษตร ไถ่นา หว่านข้าว ปลูกพืชไร่ต่างๆ /.
 




                 ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์
               สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รถโดยสารคันแรกของเมืองแพร่

สำหรับสถานที่ถ่ายภาพ คือสะพานบ้านร่องแวง(ขัวร่องแวง) ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่



     รถโดยสารแรกของเมืองแพร่ เป็นรถยนต์ยี่ห้อตระกูล Ford ตราหมา ชนิด4สูบ เป็นเครื่องยนต์เบนซินสตาร์ทมือแบบมือหมุนที่มูเล่ย์ สั่งซื้อจากประเทศอังกฤษในราคา 4,000 บาท ประมาณปี พ.ศ.2481 (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) หมายเลขทะเบียน พร.0018 สามารถจุผู้โดยสารได้ 14 คน ค่ารถหรือค่าโดยสารมี 2 ราคา คือ นั่งหน้าข้างคนขับได้ 2 คน ค่ารถคนละยี่สิบสตางค์ ซึ่งคนนั่งหน้าจะได้ชมวิวทิวทัศน์ตลอดสองฝั่งของเส้นทาง ธรรมชาติอันเป็นป่าไม้ทีเขียวชะอุมหนาทึบ บางครั้งอาจมีสัตว์ป่า เช่น หมูป่า เลียงผา เก้ง งูเหลือม และสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ วิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถเพื่อไปหาแหล่งน้ำที่มีอยู่ตลอดสองข้างทาง ส่วนด้านหลังสามารถให้ผู้โดยสารนั่งได้สองแถวๆละ 6 คน ราคาค่าโดยสารคนละสิบสองสตางค์หรือหนึ่งเฟื้อง 

     รถจะวิ่งสายในเวียง –ป่าแดง เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ให้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อรถวิ่งมาได้ครึ่งทางก็จะแวะพักที่ศาลาหม่องโพเส็ง เพื่อให้ผู้โดยสารดื่มน้ำ –ปัสสาวะเข้าห้องน้ำและทำธุระส่วนตัว แล้วจึงวิ่งต่อไปถึงตำบลป่าแดง และวัดพระธาตุช่อแฮ โดยขากลับก็จะบรรทุกเมี่ยงไปส่งในเวียงด้วย เพื่อไม่ให้รถวิ่งเสียเที่ยวเปล่า วันหนึ่งจะวิ่ง 2 เที่ยว คือเที่ยวเช้าและเที่ยวบ่าย ย้อนหลังไปสมัยนั้นราคาน้ำมันลิตรละ 0.20 สตางค์ ถังน้ำมันจุได้ 50ลิตร เติมเต็มถังเพียง 10 บาทเท่านั้น(ปัจจุบัน พ.ศ. 2561-2481= 80 ปี) โดยคุณชาลี หรรษ์ภิญโญ บุตรเจ้าของรถเล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่เตี่ยเลือกใช้รถยนต์ยี่ห้อ FORD เพราะเป็นรถที่สำบุกสำบัน แรงดีเยี่ยม ขึ้นดอยแรงไม่มีตก วิ่งทางราบประหยัดน้ำมันดี อะไหล่ก็หาง่ายและดัดแปลงได้เมื่อภาวะคับขัน เช่น ซี่ล้อรถเมื่อหัก ก็หาไม้แดงเปลี่ยนแทนได้วิ่งหาสตางค์ได้ ไม่ต้องเสียเวลา แตรรถยนต์ก็เป็นแตรยางใช้บีบไม่เปลืองไฟสะดวกดี 

     สำหรับสถานที่ถ่ายภาพ คือสะพานบ้านร่องแวง(ขัวร่องแวง) ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ถ่ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2481 เป็นช่วงปีใหม่ไทย นายกิติพงษ์ หรรษภิญโญ(แซ่ห่าน) เจ้าของรถยนต์ คนที่สองนับจากซ้ายมือในรูป ได้พาครอบครัวและญาติๆไปเที่ยวชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดแพร่ แม่น้ำยม พระยาไชยบูรณ์ และสะพานร่องแวง สะพานไม้ที่สร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหมด เชื่อมระหว่างตัวในเวียงกับอำเภอสูงเม่นและอำเภอเด่นชัย โดยหลังจากถ่ายภาพแล้วนายกิติพงษ์ ได้สอนลูกๆว่าสายลำน้ำยมเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงคนเมืองแพร่ให้ได้ดื่มกิน เพาะปลูก อุปโภคบริโภค จึงควรค่าแก่การรักษาดูแลและส่งต่อแก่คนรุ่นหลังต่อไป 

ขอบคุณข้อมูลจาก นายชาลี หรรษ์ภิญโญ ผู้จัดการการไฟฟ้าจังหวัดน่าน เจ้าของเรื่อง ,สภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ อวดเก่า แพร่ย้อนยุค เมื่อ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2011 

ข้อมูลประกอบภาพ บุคคลในภาพ 1.นายท้ายรถ (คนเก็บสตางค์ค่าโดยสาร) 2..นายกิติพงษ์ หรร์ภิญโญ (เจ้าของรถ)เป็นคนจีนไหหลำ มาตั้งรกรากที่เมืองแพร่ ได้แต่งงานกับแม่ตุ่นแก้ว หรรษภิญโญ (แผ่นทอง) มีลูก 11 คน ชาย 5 คน หญิง 6 คน 3.สามีแม่นางป๋อก (คนพม่า) 4.คนจีนค้าขาย (ไหหลำ) 5.บุตรชาย 6.ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 7.ผู้ใหญ่บ้าน 







เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พ่อเมืองแพร่ ห่วงใย ประกาศสงครามล้าง 3 เผ่าพันธุ์ หมวกกันน๊อค ขยะ ยาเสพติด

   

พ่อเมืองแพร่ ห่วงใย ประกาศสงครามล้าง 3 เผ่าพันธุ์  หมวกกันน๊อค  ขยะ ยาเสพติด

     พ่อเมืองแพร่ ห่วงใยชวนชาวแพร่  ประกาศสงครามล้าง 3 เผ่าพันธุ์  ร่วมกันใส่หมวกกันน๊อคทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้าย เจอปรับ จับจริง  คัดแยกขยะก่อนทิ้งทุกครัวเรือน  และทุกหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน ปลอดยาเสพติด เริ่มมาตรการเข้ม  มิถุนายน 2561 นี้ เป็นต้นไป
      นายพงศ์รัตน์  ภิรมย์รัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า จังหวัดแพร่ จะเปิดปฏิบัติการอย่างเข้มข้นภารกิจที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ
      1. การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สร้างความปลอดภัยบนถนน 365 วัน โดยให้สถานีตำรวจทุกแห่ง ตั้งด่านตรวจแบบเข้ม ตรวจจับความเร็ว  ตรวจวัดแอลกอฮอล์ และเน้นสวมหมวกกันน๊อคทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้าย ทุกครั้งที่ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าจะไปไหน ใกล้หรือไกล ขอให้ใส่หมวกกันน๊อคจนติดเป็นนิสัยที่ดี ทุกหมู่บ้านจะมีการตั้งด่านชุมชนเพื่อตักเตือนและตรวจตราสิ่งผิดกฏหมายในหมู่บ้าน   ในสถานศึกษาทุกแห่ง จะออกกฎเกณฑ์ให้นักเรียน นักศึกษา ใส่หมวกกันน๊อค 100%  ในสถานที่ราชการ บริษัท ร้านค้า โรงงานภาคเอกชน ต้องสวมใส่หมวกกันน๊อคทุกครั้งที่ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์  ในเขตเทศบาลและจุดที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือ CCTV  ทุกตัว จะบันทึกภาพผู้ทำผิดกฎจราจรแล้วส่งใบสั่งไปที่บ้านด้วย
      นอกจากนี้ จังหวัดแพร่จะตั้งด่าน 7 วันอันตราย ในช่วง 5 เทศกาล คือ เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่  เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลเข้าพรรษา เทศกาลลอยกระทง  และช่วงเกษียณอายุราชการ ถ้าเจอเมาแล้วขับ หรือขับรถเร็ว จะยึดรถ ส่งศาลดำเนินคดีทางกฎหมาย อย่างจริงจริงจัง โดยไม่มีการละเว้น หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิด จะส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษทางวินัย อีกด้วย

     ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การรณรงค์หรือบังคับให้ทุกคนสวมหมวกกันน๊อค ไม่ได้ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยลง แต่เป็นการช่วยชีวิตผู้ขับขี่และซ้อนท้ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ 
      2. การจัดการขยะ "จังหวัดแพร่ สะอาด
เริ่มต้นจาก 2 สองของคนแพร่ทุกคน ช่วยกันคัดแยกขยะ  
ขยะอินทรีย์ เศษอาหาร เศษผลไม้ ใบไม้ หญ้า  ขุดหลุมเปียก ฝังกลบ ทำเป็นปุ๋ย หรือรวบรวมมัดถุงให้แน่นนำไปทิ้งในถังขยะสีเขียวหรือถังขยะที่หมู่บ้านจัดไว้
ขยะทำเงิน  ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ กระป๋อง กล่องนม เอาไปขายร้านรับซื้อของเก่า
ขยะอันตราย หลอดไฟ ยาฆ่าแมลง ถ่านไฟฉาย แบตตารี่  น้ำยาทำความสะอาด  นำไปทิ้งถังขยะสีแดงของหมู่บ้าน
ขยะทั่วไป ถุงพลาสติก กล่องโฟม ซองขนม หลอดดูด สิ่งที่ย่อยสลายไม่ได้ ขายไม่ได้ นำใส่ถุงดำมัดให้แน่น นำมาวางตามจุดและวัน ที่ทาง อบต. เทศบาล กำหนดไว้
เพียงแค่เรื่องง่ายๆ แบบนี้ ถ้าทุกคนช่วยกัน ก็จะทำให้จังหวัดแพร่เป็นจังหวัดสะอาด ขยะไม่ล้นเมือง ซึ่งจะให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งนำมาตรการไปบังคับใช้ในชุมชน อย่างจริงจัง
ส่วน วัด โรงเรียน สถานศึกษา สถานที่ราชการ  ร้านค้า โรงแรม โรงงาน สถานประกอบการของภาคเอกชน ก็ให้ดำเนินการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเช่นเดียวกัน
นายพงศ์รัตน์  ภิรมย์รัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ในปัจจุบัน จังหวัดแพร่ ประสบปัญหาในเรื่องสถานที่ฝังกลบ และการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ หากทุกคนยังปล่อยปะละเลย ไม่ยอมแยกขยะ ทำให้เกิดขยะเป็นปริมาณมาก ในอนาคตจังหวัดแพร่จะเกิดมลพิษจากขยะ ไหลลงสู่แหล่งน้ำ เกิดควันพิษจากการเผาขยะ และโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

แยก แลก ยิ้ม
https://www.bcnnv.ac.th/th/?p=6692
มาช่วยกันคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อสร้าง "จังหวัดแพร่ สะอาด

     3. การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
ยาเสพติดเป็นปัญหาที่ดำเนินการแก้ไขมานานแล้ว แต่ยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จ เนื่องจากมีปัจจัยทั้งภายในและต่างประเทศ  ต่อไปนี้จังหวัดแพร่จะดำเนินการจัดชุดปฏิบัติการ ชื่อชุด "ทำทันที” ประกอบด้วย กำลังจากตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เข้าดำเนินการกวาดล้างกลุ่มผู้ค้า ผู้เสพ ตามข้อมูลที่ผู้ที่แจ้งเบาะแส อย่างรวดเร็ว จริงจัง  รวบรวมฐานข้อมูลจากทุกหน่วยงานให้เหลือฐานข้อมูลเดียว 1 จังหวัด 1 ฐานข้อมูล” เพื่อความชัดเจนในทำงาน  ผู้นำหมู่บ้าน ชุมชน จะต้องจริงจัง ให้ความสำคัญ ทำหมู่บ้าน ชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน  ทุกโรงเรียน โรงงาน สถานศึกษา สถานประกอบการ และทุกวัด ต้องปลอดยาเสพติด 

     ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่  กล่าวว่า  ทั้ง 3 มาตรการ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่ส่วนราชการ สถานศึกษา ภาคเอกชน และประชาชนคนแพร่ทุกคน ต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริง เพื่อให้จังหวัดแพร่ของเรา เป็นเมืองที่ปลอดภัย สะอาด สงบ ลูกหลานปลอดยาเสพติด  ที่สำคัญเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกคน  โดยจะมีกิจกรรม Kick off  รณรงค์เปิดตัว อย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน นี้


นายโชคชัชกาญ  ราชฟู
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

รองอธิบดีกรมการข้าว ย้ำการบริหารจัดการข้าวแบบครบวงจรใช้หลัก การตลาดนำการผลิต


     นายกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวแพร่ ตำบลแม่ยางฮ่อ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว นั้นนอกจากเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังเป็นการถ่ายทอดและนำเสนอองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าว ที่ใช้ในการเพิ่มผลผลิต คุณภาพผลผลิต และต้นทุนการผลิตข้าว แก่ชาวนา และรัฐบาลได้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการข้าวแบบครบวงจรใช้หลัก การตลาดนำการผลิต โดยมีการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการผลิต เพื่อก่อเกิดความเข้มแข็ง เป็นการยกระดับคุณภาพและราคา ส่งเสริมการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่
 
     รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวนั้นได้จำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีแก่เกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณจากกองทุนหมุนเวียนของกรมการข้าวในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีปีละประมาณ 8 หมื่นตัน ส่งต่อให้กับผู้ขยายการผลิตในลักษณะภาคเอกชน เพื่อขยายเมล็ดพันธุ์และให้เกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์
 
    นอกจากนี้ยังมีการนำไปช่วยเหลือพื้นที่สำหรับเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยหรือภัยพิบัติ ซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีๆไป /.
 


ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

"สืบสานศิลป์เกิด"




       เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา เทศบาลเมืองแพร่จัดกิจกรรม "สืบสานศิลป์เกิด"เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู
ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น โดยจัดที่ถนนคนเดินซึ่งเป็นสถานที่ที่มีเด็ก เยาวชน ประชาชน นักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้สามารถเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง การจัดกิจกรรมวันนี้ได้รับเกียรติจากท่านโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีเปิด