วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ส.ค.ส.(ส่งความสุข)



      “ส.ค.ส. ส่งความสุข” ข้อความนี้ คนไทยนิยมส่งและพูดถึงในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าตอนรับปีใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเลยหลักสามขึ้นไป ที่เมื่อถึงเวลานี้จะต้องหายไปรษณียบัตร โปสการ์ดที่มีรูปภาพสวยๆ มาเขียนคำอวยพรแล้วนำไปหย่อนตู้แดง(ตู้ไปรษณีย์)ให้บุรุษไปรษณีย์เป็นผู้นำ “ส.ค.ส.”ส่งความสุขแก่ผู้รับที่เรารักและเคารพนับถึง ลูกส่งให้พ่อแม่,เพื่อนส่งให้เพื่อน,หนุ่มส่งให้สาวหรือส่งไปยังญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกลกัน แต่ปัจจุบันการสื่อสารได้เปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมทำให้เราสามารถใช้สมาร์ทโฟนส่ง SMS, Messenger,Lineหรือ video call สื่อสารกันได้อย่างง่ายดาย ทำให้โปรการ์ดหรือ ส.ค.ส.เริ่มหมดความสำคัญไปกลาบเป็นเพียงของฝากหรือภาพที่ระลึกตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆไป แต่จริงแล้ว ส.ค.ส.อยู่คู่กับเทศกาลปีใหม่มาอย่างยาวนาน โดยประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ที่นิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว

            ส.ค.ส.แผ่นแรกของไทยเริ่มใน พ.ศ. 2409 หรือ ค.ศ. 1866 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้ทำขึ้นเพื่อพระราชทานคณะทูตานุทูต ข้าราชบริพาร และมิตรสหายชาวต่างประเทศ เนื่องในวาระวันขึ้นปีใหม่สากล เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2409 ตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ เดอะ บางกอก รีคอร์ดเดอร์ ของหมอบรัดเลย์ ฉบับวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2409 ในระยะแรก ลักษณะ ส.ค.ส. ขนาดเล็กเท่านามบัตรปรากฏเฉพาะชื่อ ผู้ส่ง ตำแหน่ง และปีพ.ศ. เท่านั้น ตัวอักษร มีทั้งตัวพิมพ์ เขียนด้วยลายมือ ยุคต่อมามีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าโปสต์การ์ด หรืออาจใหญ่กว่า เป็นภาพวาดสีน้ำ มีสีสัน ลวดลายงดงาม ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกไม้ ผลไม้ และสัตว์ ส่วนคำอวยพร มีทั้งเป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง ใช้คำที่แปลกออกไปจากปัจจุบันบ้าง เช่นคำว่า "ศุข" แทนคำว่า "สุข" คำว่า "รฤก" แทนคำว่า "ระลึก" และใช้คำว่า "ถ.ค.ส." เพื่อ "ถวายความสุข" แด่พระมหากษัตริย์ เป็นต้น นอกจากส.ค.ส. อวยพรวันปีใหม่ไทย ยังปรากฏบัตรอวยพรเนื่องในวันตรุษฝรั่ง วันที่ 25 ธันวาคม หรือ วันคริสต์มาส และวันขึ้นปีใหม่สากล 1 มกราคม

              นับแต่ปี พ.ศ. 2530 พสกนิกรจะเฝ้ารอการพระราชทานพรปีใหม่จาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่าน ส.ค.ส พระราชทาน ซึ่ง ส.ค.ส พระราชทานนี้ พระองค์จะทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดย ปีแรกที่พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส คือ ปี ส.ค.ส พระราชทานสำหรับปี พ.ศ.2530 โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานให้แก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร

              เนื่องในวารดิถีขึ้นปีใหม่ ปี พ.ศ.2560 ได้หมดไป เริ่มพุทศักราช 2561 ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ท่านและครอบครัว พบแต่ความสุข ความเจริญ ปราศจากทุกข์โศก โรคภัยทั้งหลายทั้งปวง ตลอดไปเทอญ…นายคมสัน หน่อคำ ผู้เขียนคอลัมภ์ แพร่ 365...



ที่มาข้อมูล/ภาพ วิกิพีเดีย,guru snook


เรียบเรียงโดย นายคมสัน   หน่อคำ
083-7373307

วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ศาลเจ้าพ่อแสนชัย

        






      “เจ้าพ่อแสนชัย” เป็นนายทหารในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ส่วนกลางส่งมารบป้องกันเมืองแพร่ใน พ.ศ.2445 โดยได้นำการรบอย่างกล้าหาญกระทั่งเสียชีวิต ณ บริเวณที่ตั้งศาลฯ ในปัจจุบัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชาวจังหวัดแพร่จึงได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าพ่อแสนชัยขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญในการต่อสู้ป้องกันเมืองแพร่ ต่อมาใน พ.ศ.2513 ศาลเจ้าฯ ได้ชำรุดทรุดโทรมลง กลุ่มพ่อค้าและเทศบาลเมืองแพร่จึงได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมเป็นครั้งแรก กระทั่ง พ.ศ.2538 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายอย่างมากแก่ศาลเจ้าฯ กลุ่มพ่อค้าและประชาชน จึงได้ร่วมกับเทศบาลเมืองแพร่ทำการบูรณะและก่อสร้างศาลเจ้าฯ ขึ้นใหม่ ใน พ.ศ.2541 และเพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของ “เจ้าพ่อแสนชัย” ที่สละชีพเพื่อป้องกันเมืองแพร่ไว้ จึงได้กำหนดจัดงานประเพณีกินเพื่อความเป็นสิริมงคล ศาลเจ้าพ่อแสนชัย ในเดือนธันวาคมของทุกปี

      ประตูชัย ซึ่งถือว่าเป็นย่านการค้าแผงลอยที่คึกคักที่สุดในอำเภอเมืองแพร่ โดยจะมีพ่อค้าแม่ค้าสับเปลี่ยนหมุนเวียนนำสินค้ามาขายตั้งแต่เช้ายันเย็น จรดค่ำคืน ซึ่งจะมีทั้งร้านค้าแผงลอย รถเข็น ร้านตึกแถว รอคอยบริการตลอดสองฝั่งข้างทางซ้ายและขวาเป็นระยะทางจากหลังสถานีตำรวจภูธรเมืองแพร่ตรงยาวจนถึงตลาดสดเทศบาลเมืองแพร่ และบนประตูชัยมี “ศาลเจ้าพ่อแสนชัย”ตั้งบนกำแพงเมืองอยู่ท่ามกลางประตูชัย อันเป็นที่เคารพศรัทธาของคนแพร่ โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการค้าขายบนประตูชัย จนเกิดมีประเพณี “กินเพื่อสิริมงคล”ที่วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีจะมีการนำอาหารหลากหลายชนิดมาแจกให้ประชาชนได้รับประทานกันแบบฟรีๆ ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี่ยว ขนมจีน หมี่ผัด ขนมหวาน น้ำดื่ม ต่างๆจากผู้ค้าย่านประตูชัยและผู้นับถือเจ้าพ่อแสนชัยมาคอยให้บริการกันในวันนั้น โดยพิธีกินเพื่อสิริมงคลนั้นจะเริ่มมีการแสดงต่างๆในเวลา 16.00 น. และจะเริ่มแจกอาหารเมื่อเวลา 18.00 น. ซึ่งผู้เตรียมอาหารมาก็จะแจกอาหารหรือขนมจนกว่าของที่เตรียมมาจะหมด ทำให้มีประชาชนชาวแพร่และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก โดยแต่และคนต่างถืออาหาร ขนมและน้ำดื่มอย่างเต็มไม้เต็มมือเดินสวนกันไปมาพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ทำให้อิ่มบุญทั้งผู้ให้และผู้รับ


เรียบเรียงโดย คมสัน  หน่อคำ 083-7373307

โครงการก่อสร้างฝาย เทิด ทำ จิตอาสาประชารัฐ ต.แม่จั๊ว อ.เด่นชัย จ.แพร่






      นายกอนุวัธ วงค์วรรณนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ส่งเครื่องช่วยในการสร้างฝายเทิดด้วยทำจริตอาสาประชารัฐซึ่งได้รับงบสนับสนุนงบประซื้อวัสดุจากมูลนิธิอุทกพัฒใช้แรงงานก่อสร้างจากเครื่อข่ายจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริตำบลแม่จัวะืกลุ่มผู้ใช้น้ำ จริตอาสา ทหารจากกองพันทหารม้าที่12 หน่วยป้องกันป่าไม้ที่12แพร่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน อบตแม่จั๊วะ เทศบาลแม่จั๊วะ การสร้างฝายนี้สร้างเพื่อดักตะกอนก่อนไหลลงอ่างเก็บน้ำแม่จั๊วะซึ่งเคยประสพปัญหาอ่างตื้นเขินไม่สามารถเก็บน้ำได้ในปี2547และมีการวางแผนฟื้นฟูอ่างร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒ สถาสบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำเพื่อการเกตร องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ปัจจุปันมีความจุ1800000 ลูกบาทเมตรใช้ประปาหมู่บ้านและการเกษตร
                                                                                                         
ภาพ/ข่าว ทีมศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่

วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

โรงเรียนเทศบาลวัดสวรรคนิเวศจัด การแข่งขันกีฬาสีภายในสถานศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐



     โรงเรียนเทศบาลวัดสวรรคนิเวศ จัดการแข่งขันกีฬาสีภายในสถานศึกษา ประจำปี ๒๕๖๐ ในวันศุกร์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๕.๓๐ น. ณ. สนามกีฬาโรงเรียนเทศบาลวัดสวรรคนิเวศ เพื่อให้นักเรียนได้แสดงออกถึงความสามารถทางด้านกีฬา ทั้งยังส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง

     งานประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองแพร่ รายงานว่า โรงเรียนเทศบาลวัดสวรรคนิเวศ จัดการแข่งขันกีฬาสีภายในสถานศึกษาประจำปี ๒๕๖๐ ในวันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๐ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๕.๓๐ น. ณ สนามกีฬาโรงเรียนเทศบาลวัดสวรรคนิเวศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้แสดงออกถึงความสามารถทางด้านกีฬา ส่งเสริมการออกกำลังกาย มุ่งหวังให้นักเรียนทุกคนรักสุขภาพ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี สร้างความรักความสามัคคีภายในหมู่คณะ มีการแข่งขันกีฬากรีฑา ฟุตบอล และกีฬาพื้นบ้าน กำหนดการดังนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา ๐๗.๓๐ น. ขบวนพาเหรดของทุกสีพร้อมกันที่บริเวณประตูชัย เวลา ๐๘.๐๐ น. นักกีฬา กองเชียร์ ตั้งริ้วขบวนพาเหรด ณ ตลาดข้างโรงเรียนเทศบาลวัดสวรรคนิเวศ เวลา ๐๘.๑๕ น. ริ้วขบวนพาเหรดเดิน เข้าสู่สนามกีฬาโรงเรียนเทศบาลวัดสวรรคนิเวศ เวลา ๐๘.๓๐ น. พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาสีภายในโรงเรียนเทศบาลวัดสวรรคนิเวศ

เทศบาลเมืองแพร่ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองแพร่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้และได้รับการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม













เทศบาลเมืองแพร่ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุเทศบาลเมืองแพ  ในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลา 09.00 น. ณ.ห้องประชุมอาคารศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเทศบาลเมืองแพร่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้และได้รับการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม จำนวนผู้เข้าร่วมอบรม จำนวน 80 คน

งานประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองแพร่ รายงานว่า ปัจจุบันจังหวัดแพร่ มีดัชนีสูงวัยเท่ากับ 16.44 และถือได้ว่ามีประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ และในเขตเทศบาลเมืองแพร่ซึ่งเป็นพื้นที่ลักษณะเป็นสังคมเมือง มีสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของครอบครัว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้บทบาทของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุลดลง ดังนั้นเทศบาลเมืองแพร่ จึงจัดอบรมการพัฒนาศักยภาพผู้สูงในเขตอายุเทศบาลเมืองแพร่  ขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลา 09.00 น.  ณ.ห้องประชุมอาคารศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเทศบาลเมืองแพร่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้และได้รับการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมต่างๆของกลุ่มหรือชมรม อีกทั้งยังให้ผู้สูงอายุได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายผู้สูงอายุอื่น ผู้เข้าร่วมรับการอบรมประกอบด้วยผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ทั้ง 18 ชุมชน จำนวน 80 คน

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ตำนานสุรากลั่น

      
     เวลาแดดร่มลมตก ณ ห้างแห่งหนึ่ง(กลางต้ง) สามหนุ่มสามวัยนั่ง ลุงหนานโว้,ฮ้าวขี้เล่า,ไอ้ปี้ขำนั่งพักหลังจากเสร็จงานในไร่ข้าวโพดหลังจากทำงานกันมาทั้งวัน
ฮ้าวขี้เล่า       : ไอ้ขำมะตอน ฮันไอ้น้องเก็บมะกอกมา ฮ้าวขอสักสองสามแก่น
ไอ้ปี้ขำ          : เอากี่แก่น?ฮ้าว เก็บมาเต็มเป้นี่! เอาเกลือต๋วยก่อ เด๋วน้องฝานหื้อ
ลุงหนานโว้    :  คิงจะกิ๋นกับอะหยัง....ห๊า!!!
ฮ้าวขี้เล่า      : ปี้หนานก็... ล่วงออกมาดีๆส้มปาก ตั้งแต่ฮันไอ้ขำมันบอกว่าจะเก็บมะกอกไปตำน้ำพริกแล้ว
ลุงหนานโว้   :  แนะ!ฮู้ดี แฮ้มนะมึง+_+
ฮ้าวขี้เล่า      : โธ่...ผมอันปี้หนาน@@@ หยะก้อนแป้งตากแห้ง ก่อนข้าวโพดจะสุขแล้ว
ลุงหนานโว้   :  หูตาโว้ว...นะสู  ฮู้แล้วดักไว้นะ ปี้หมักไว้เลี้ยงหมู่สู กิ๋นตอนเลิกงานนั้นล่ะ กับเอาไว้แฮ๋วลอยกระทงต๋วย...ฮาๆๆ
ไอ้ปี้ขำ         : ฮู้อะหยังกันลุงหนานโว้...ผ๋มบ่เข้าใจ๋ ก้อนแป้ง คือ อะหยัง
ฮ้าวขี้เล่า      : ไอ้น้อยขำ คิงเค้ยกิ๋นเหล้าก่ หรือสุตโทบ่
ไอ้ปี้ขำ         : อายุปันอี้แล้ว ฮ้าว....*–* ตอนไปบ้านป๋อยปี้หนานหนาวไง หวานๆออกส้มๆ รำดี
ลุงหนานโว้   : ถ้าสีขาวขุ่นมันคือสุตโท ถ้าสีใสๆคือเหล้ากลั่น ที่นำก้อนแป้งมาหมักกับข้าว
ฮ้าวขี้เล่า      :แล้วปี้หนานฮู้จักตำนานเหล้ากลั่นแต้ๆก่อ
ลุงหนานโว้   :บ๊ะไอ้ขี้เล่า เรื่องแต่แรก คือว่าตั้งแต่สมัยโบราณ ตอนนั้นเรายังไม่มีในเรื่องน้ำเมาหรือว่าเหล้า มีนายพรานป่าคนหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพในการหาของป่าออกมาขาย อยู่มาวันหนึ่งขณะที่นายพรานออกไปหาของป่าเป็นประจำดังเช่นทุกวัน สายตาเหลือบไปเห็น พวกนกฝูงใหญ่พากันมารุมกินอะไรสักอย่างหนึ่ง บางตัวเมื่อลงไปกินแล้วจะมีอาการ ดีอกดีใจ บางตัวก็เกิดอาการกระโดดโลดเต้นถึงตกต้นไม้เลยก็มี เป็นที่น่าสงสัย นายพรานจึงปีนขึ้นไปดูง่ามข้างบนต้นมะค่าใหญ่ว่ามีอะไร แต่เมื่อนายพรานเห็นดังนั้น ก็นึกว่าเมื่อดื่มกินไม่ตาย ก็ลองชิมดู รู้สึกมีกลิ่นหอม นายพรานจึงเทน้ำในคอกที่ตนนำมาทิ้งออกหมดแล้ว เอาคอกเปล่าตักน้ำในโพรงจนเต็มก็ลงจากต้นมะค่าแล้วเดินทางกลับบ้าน ระหว่างเดินทางกลับบ้านรู้สึกหิวน้ำ นายพรานจึงเอาคอกน้ำที่ตักจากต้นมะค่ามาดื่ม พอดื่มได้ก็รู้สึกมึนเมามีใจคึกคะนอง อยากจะร้องรำทำเพลง จึงได้นำเรื่องดังกล่าวไปบอกให้ชาวบ้านทราบ จึงได้พากันไปดูและดื่มน้ำนั้นแล้วพากันเมาไปตามๆกัน เป็นที่น่าสงสัยของนายพรานยิ่งนักว่าเป็นไปได้อย่างไร จึงชวนกันออกเดินสอดส่องดูบริเวณใกล้ๆแถวนั้นก็เจอกอเปา ต้นพริก และใกล้ๆนั้นยังมีไร่ข้าวของชาวบ้าน พอเสร็จแล้วก็ขึ้นไปดูที่โพรงอีกครั้งในน้ำมีเมล็ดพริก เมล็ดข่า เมล็ดข้าว  พอเห็นเช่นนั้นนายพรานก็เลยนำเอาหัวข่า พริก มาตำและบดให้ละเอียด แล้วนำมาทำเป็นก้อนแช่กับข้าวเก็บไว้นานๆ เมื่อชิมดูน้ำนั้นมีรสชาติเหมือนกับน้ำในโพรงมะค่า ตั้งแต่บัดนั้นมา ชาวบ้านชาวเมืองก็เลยมีน้ำเมากินกัน จนแพร่หลายและเมื่อประมาณ 100 กว่าปี ในหมู่บ้านดอนชัยสักทองได้มีการทำหัวเชื้อ(ลูกแป้ง)โดยนำเอาพริกน้อย,ดีปรี,ข่า,หอมขาว,พริกแห้ง,มาตากแห้ง หั่นเป็นชิ้นเล็กๆโขลกให้ละเอียด ผสมข้าวเหนียวปั้นเป็นลูกกลอน ตากให้แห้งสนิท แล้วถึงนำไปหมักกับข้าวเหนียวได้ประมาณ 15 วัน เรียกน้ำที่ได้ว่า “สุตโท” ถ้าจะนำมาดื่มก็ได้ ทุกครัวเรือนทำกันเองและในโอกาสเทศกาลต่างๆไม่ได้จำหน่ายแต่อย่างใด
 ไอ้ปี้ขำ         : แต้กะลุงหนาน ถ้าเป็นฮ้าวขี้เล่าบอกหมดบ่มีใครเชื่อ 5555
ฮ้าวขี้เล่า      : นั้นว่าไปไอ้น้อย.....ลุงหนานโว้ของคิงก็ฟังพร้อมฮ้าว
ลุงหนานโว้   : เสียหมด  ฮาเล่าเป็นเมิ้น คิงดักกำ ปะแลงแล้วปิกบ้านได้แล้ว....
ฮ้าวขี้เล่า      : โธ๋ปี้ สักแป๊กก่อน.....อิอิ


โดย คมสัน หน่อคำ
083-7373307
ที่มาhttps://www.gotoknow.org/posts/558531

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เฮือนเย็น




      เฮือนเย็น เป็นหนึ่งในความเชื่อทางวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่เชื่อมโยงพิธีกรรม ความเชื่อ ศาสนา ไสยศาสตร์และชุมชนไว้ด้วยกัน เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมแก่ผู้เสียชีวิตที่ผู้ยังมีชีวิตได้ร่วมกันกระทำให้เป็นการแสดงความห่วงใยที่ปัจจุบันได้จางหายไปจากสังคม จากคำบอกเล่าของพ่ออุ้ยแม่อุ้ยเล่ากันว่า หากมีการเสียชีวิตที่ผิดแปลกจากธรรมดาอย่าง เช่น นอนหลับตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่ผู้ตายเป็นคนแข็งแรง ชาวบ้านจะช่วยกันตะโกนเรียกชื่อของผู้เสียชีวิตดังๆ โดยจะตะโกนกันเป็นทอดๆ เพื่อเรียกขวัญของผู้ตายให้กลับคืนสู่ร่าง บางคนก็จะทำการทุบบ้านตีฝา เพื่อเรียกหรือปลุกผีหอผีเฮือนให้ช่วยตามหาขวัญของผู้ตายอีกที่ ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมี “ขวัญ” อยู่ประจำชีวิตของคนมาตั้งแต่เกิด ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็จะเป็นสิริมงคลอยู่เป็นสุขสบาย มีจิตใจมั่นคง แต่ถ้าตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็จะออกจากร่างไป ซึ่งเรียกว่า ขวัญหาย ขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น ซึ่งหากขวัญไม่กลับเข้าร่างก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

      ดังนั้นก่อนพิธีณาปณกิจญาติผู้เสียชีวิตจะไม่ตอกฝาโลงศพหรือฉีดน้ำยาฟอร์มารีนเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญอาจตกหล่นอยู่ที่ไหนสักแหล่งและกำลังหาทางกลับเข้าร่างอยู่ และถ้าหากครบวันสวดอภิธรรมศพตามกำหนดแล้วก็จะถือว่าผู้ตายได้เสียชีวิตไปแล้วจริงๆ ซึ่งในระหว่างมีศพตั้งสวดบำเพ็ญกุศลอยู่นั้นชาวบ้านจะเรียกเฮือนหลังนั้นว่า “เฮือนศพ”จนกว่าจะมีการนำผู้ตายไปเผาศพเสร็จสิ้น เฮือนที่จัดงานศพนั้นชาวบ้านก็จะเปลี่ยนมาเรียกว่า “เฮือนเย็น” แทนเนื่องจากในขณะที่มีงานอยู่นั้นจะมีเสียงผู้คุยกันตลอดเวลาจากการจัดงานศพ แต่หลังจากเผาศพแล้วบเฮือนที่จัดงานก็จะมีแต่ความเสียใจและเศร้าโศกของญาติพี่น้องที่ได้สูญเสียคนในครอบครัวไป เฮือนก็จะเงียบเหงาเยือกเย็นจริงๆ ญาติพี่น้องและบ้านใกล้เรือนเคียงก็จะมาอยู่เป็นเพื่อน ระบายทุกข์ในใจให้คลายความเศร้าห่างหาย โดยพวกผู้หญิงก็จะทำขนมเล็กๆน้อยๆมานั่งกินกันปรับทุกข์กันไป วางแผนการใช้ชีวิตใหม่เพื่อให้อยู่คงอยู่ดำรงชีวิตต่อไป ซึ่งจะทำเช่นนี้เป็นเวลาเจ็ดวันจน “ออกกรรม” เฮือนเย็นที่มีแต่ความเสียใจ ก็จะถือว่าเป็นการสิ้นสุดความโศกเศร้าเสียใจ ผู้คนก็จะกลับมาใช้ชีวิตต่อไป....มันก็เป็นจะอี้เอง......


ขอบคุณข้อมูล “เรื่องเล่าอาจารย์ยอด”,ผะญา ล้านนา gotoknowและรูปภาพประกอบจาก Google

เขียนและเรียบเรียงโดย
นายคมสัน   หน่อคำ
083-7373307

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สืบชะตาแม่น้ำ บวชป่า สัมพันธภาพ คน ป่า แม่น้ำ ชุมชน





     ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นประเพณีหลายกระทง ที่ชาวไทยจะนำกระทงไปลอยยังแม่น้ำ เพื่อเป็นการบูชาและขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่เราได้ล่วงเกินหรือกระทำการสิ่งไม่ดีกับแม่น้ำลำธาร แต่ลำหรับชาวเหนือนั้นได้ผนวชพิธีสืบชะตาแม่น้ำเข้ามาตามความเชื่อที่มีวิถีชีวิตผูกพันระหว่างคนกับสายน้ำที่เกื้อกูลเกี่ยวพันกับแม่น้ำในการดำรงชีวิต เพื่อเป็นการต่ออายุแม่น้ำและแสดงความเคารพศรัทธาที่แสดงออกถึงความห่วงใยต่อแม่น้ำ โดยแฝงการอนุรักษ์รักษาป่าไม้ ต้นน้ำ และลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ


     พิธีสิบชะตาแม่น้ำ เป็นพิธีกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน มีรากฐานจากพิธีสืบชะตาบ้านเมือง และชะตาคน อันเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีคุณค่าและความหมาย เป็นการเรียกขวัญกำลังใจให้กลับคืนมาและยังเป็นการใช้กุศโลบาย สร้างความร่วมมือ ความสามัคคี เกื้อกูล ช่วยกันแก้ไขปัญหาในชุมชน ก่อให้เกิดความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลแม่น้ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบนิเวศวิทยาแม่น้ำ และประการสำคัญที่สุด เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม โดยก่อนทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน ขุดลอกลำคลองและแหล่งน้ำ เพื่อทำความสะอาดแม่น้ำ โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือพื้นบ้านที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วจะนำเครื่องสืบชะตาประกอบด้วย กระโจมไม้สามขา ท่อนแสก เรียกว่าสะพานเงิน สะพานทอง อีกท่อนหนึ่ง จะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็ก ๆ จำนวนพอประมาณแต่ลงท้ายด้วยเลข 9 เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่กระบอกน้ำ หน่อกล้วย อ้อย ลูกมะพร้าว หม้อเงิน หม้อทอง เทียนถุง เมี้ยง บุหรี่ หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้รวมกันในด้ง บทสวดที่ใช้ในการสืบชะตาแม่น้ำ คือบทสืบชะตาหลวง (อินทชาตา, ชินบัญชร อัฏฐอุณหัสสและธรรมสาลาวิจารสูตร) ซึ่งการสืบชะตาแม่น้ำ ยังเชื่อมโยงกับการบวชป่าหรือบวชต้นไม้ วัฒนธรรมประเพณีกับวิถีชุมชนของคนที่พึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกับป่าไม้ที่กำลังจะเลือนหายไปจากสังคม ด้วยความเชื่อว่าป่าเขาล้วนแต่มีผีปกปักรักษา มิให้ใครมารุกล้ำทำลาย มีพิธีกรรมที่หลากหลายแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่นการเลี้ยงผีขุนน้ำ ผีเจ้าป่าเจ้าเขา ปลูกฝังให้คนต้นน้ำไห้มีจิตใจรักษาป่าและน้ำของเขาไว้ เหมือนพิธีการบวชต้นไม้ หรือบวชป่า ที่มาของการ “บวชป่า” มาจากวิธีการห่มจีวรให้กับต้นไม้เช่นเดียวกับการบวชพระ ส่งผลให้สถานภาพของคนและต้นไม้เปลี่ยนไป นับเป็นการนำความเชื่อทางศาสนามาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ความเชื่อที่ว่าผืนป่าที่ผ่านพิธีบวช เป็นเสมือนดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าผู้ใดก็ไม่อาจเข้าไปทำลายได้ ทำให้ต้นไม้มีโอกาสเติบโต และสายน้ำที่เกิดจากป่าต้นน้ำ ก็จะฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งหนึ่ง



ที่มา/ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
0837373307

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

จิตอาสาแพร่ ร่วมใจจัดทำปุ๋ยมหามงคลตามรอยเท้าพ่อ





     วันนี้( 6พ.ย. 2560) เวลา 09.00 น. ณ สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ จิตอาสา หน่วยงานราชการและประชาชนชาวแพร่ ร่วมกันขนย้ายและคัดแยกดอกเรืองที่ใช้ในประดับตกแต่งภายในจังหวัดแพร่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยกำหนดเป้าหมายปลูกดอกดาวเรือง จำนวน 9,999,999 ดอก หรือ 1,249,999 ต้น ภายใต้แนวคิดความจงรักภักดี “แพร่เหลืองอร่ามงามตาน้อมถวายพ่อหลวง” (PHRAE GOLDEN LAND) โดยน้อมนำหลักแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด จึงนำต้นดาวเรืองที่ใช้ในงานพระราชพิธีดังกล่าว มารวบรวมและจัดทำปุ๋ยดาวเรือง โดยนำดอกดาวเรืองไปจัดเก็บและทำปุ๋ยใน 3 พื้นที่ คือ สถานีพัฒนาที่ดินแพร่จัดทำปุ๋ยไว้ที่สถานีฯ , เทศบาลเมืองแพร่จัดทำปุ๋ยไว้ที่ป่าช้าประตูมาร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ซึ่งเมื่อจักทำปุ๋ยดอกเรืองเรียบร้อยแล้วจะนำไปใส่ต้นไม้สาธารณะของจังหวัดแพร่และแจกจ่ายให้กับประชาชนและเกษตรกรในจังหวัดแพร่ นำไปใช้ในการทำการเกษตรต่อไป

     สำหรับดอกดาวเรือง หรือคำปู้จู้ คำปู้จู้หลวง (พายัพ) เป็นไม้ดอกที่คนไทยนิยมปลูกกันมาก เนื่องจากเมล็ดมีขนาดใหญ่ปลูกง่าย งอกเร็ว ต้นโตเร็ว และแข็งแรงไม่ค่อยมีโรคหรือแมลงรบกวน ให้ดอกเร็ว ดอกดก มีหลายชนิดและหลายสี รูปทรงของดอกสวยงาม สีสันสดใส บานทนนานหลายวัน สามารถปักแจกันได้นาน 1-2 สัปดาห์ ให้ดอกในระยะเวลาสั้น คือ ประมาณ 60-70 วัน หลังปลูก ดังนั้นในการปลูกดาวเรืองสามารถกำหนดระยะเวลาการออกดอกให้ตรงกับเทศกาลสำคัญได้จึงมีผู้นิยมปลูก และใช้ดาวเรืองกันมาก นอกจากนี้ยังสามารถปลูกได้ตลอดปี และปลูกได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่ทำรายได้ให้กับผู้ปลูกสูง ในปัจจุบันการปลูกดาวเรืองนอกจากปลูกเพื่อตัดดอกขายแล้ว ยังนิยมปลูกในกระถางหรือถุงพลาสติก เพื่อประดับตกแต่งอาคารสถานที่ และปลูกเพื่อตัดดอกส่งโรงงานอาหารสัตว์อีกด้วย






ภาพ/ข่าว คมสัน  หน่อคำ
083-7373307





วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เปิดตัวบ้านประทับใจและโมนาลิซ่าล้านนา





     บ้านประทับใจ เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว ชัยวัณณคุปต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 34 ไร่ ในหมู่ที่ 13 ตำบลป่าแมต อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ตัวบ้านมีขนาด 1 ไร่ 3 งาน สร้างมาจากบ้านไม้เรือนเก่า 9 หลังที่ขนมาจากตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เริ่มสร้างในปีพุทธศักราช 2515 ใช้เวลา 6 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์  ตัวบ้านเป็นไม้สักทองทั้งหลัง ใช้เสาไม้สักทอง จำนวน 139 ต้น เป็นฐานค้ำตัวบ้าน มีเสาไม้สักเก่าแก่ ขนาด 2 คนโอบ  ตั้งเด่น เป็นเสาค้ำบ้าน ลวดลายแกะสลัก อันงดงาม บ่งบอกถึง ความสามารถ ความชำนาญ ของช่างฝีมือในอดีต  ภายในบ้านประดับด้วยไม้แกะสลัก ด้วยไม้ลักแผ่นเดียว จำนวน 147 แผ่น มีขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่  ใช้ช่างแกะสลักจากจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ พะเยา เชียงราย ศิลปะลายไทย ที่อ่อนช้อยและงดงามหาชมได้ยากในการแกะสลักงานศิลปะ  
สำหรับบ้านไม้เรือนเก่า 9 หลังที่นำมาสร้างบ้าน ขนย้ายมาจากตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่  เป็นแหล่งกำเนิดของภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง “อี่นายสีเวย” ที่ วัดต้าม่อน ปัจจุบันรูปวาดจริงอยู่ที่หอคำ ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จึงเป็นความผูกพันที่ใกล้ชิดมาตั้งแต่อดีต ของสถาปัตย์กรรม ศิลปกรรม วัฒนธรรม ณ.บ้านประทับใจแห่งนี้แห่งเดียวในประเทศไทย


ด้วยหัวใจ ตะหนัก ประจักษ์จิต             จึงอุทิศ ชีวา มาสร้างสรรค์
ไม้หมดเมือง เมืองหมดไม้ ไปทุกวัน      จะหาทาง ป้องกัน นั้นอย่างไร
เราตรากตรำ ลำบาก ยากยิ่งแท้            จนเปลี่ยนแปร เป็นบ้าน ได้อาศัย
เป็นนุสรณ์ คงอยู่ คู่เมืองไทย                 ดังชื่อบ้าน ประทับใจ ให้กับเรา
สร้างจากบ้าน เรือนเก่า ถึงเก้าหลัง        ใช่เราหวัง ทำลายป่า เช่นใครเขา
หวังเชิดชู คุณค่าไม้ ให้นานเนา             หวังเพียงลูก หลานเรา จะได้ดู
ท่านผู้ชมทำใจให้ประเสริฐ                     อย่าบังเกิดอคติที่อดสู
ท่านอยากดู เราให้ ท่านได้ดู                  แต่จงรู้ เหตุผล คนสร้างเอย

บ้านประทับใจ(บ้านร้อยเสา)






บ้านประทับใจ(บ้านร้อยเสา) 



      บ้านประทับใจ หรือบ้านเสาร้อยต้น เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง สร้างจากไม้เรือนเก่าที่ขนย้ายมาจากตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ จำนวน 9 หลัง เป็นแบบทรงไทยประยุกต์ หลังคาสูงติดต่อกัน 3 หลัง พื้นต่ำจากระดับของบ้าน หลังคามีหน้าจั่วประดับด้วยกาแลซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ บ้านทรงไทย ทางภาคเหนือประตูหน้าบ้านเป็นไม้แผ่นทึบ มีสลักไม้ชั้นในเป็นกลอนประตู หน้าต่างทางซีกขวาของตัวบ้านเป็นไม้แผ่นทึบมีสลักเป็นกลอนหน้าต่างฝากระดานใช้ไม้สักกว้างประมาณ 20-24 นิ้ว เสาบ้านแต่ละเสาฝังลึกลงไปใต้ดินประมาณ 1.2 เมตร แต่ภายหลังเกรงว่าส่วนฝังลงไปในดินจะมีการผุกร่อน เนื่องจากความชื้นของดินและการกัดกินของแมลง จึงได้ขุดดินใต้ถุงให้ลึกลงไปในดินอีกประมาณ 1 เมตร แกะสลักที่โคนเสาและเทปูนลาดพื้นอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

บ้านประทับใจ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2515 โดย คุณพ่อกิจจา ชัยวัณณคุปต์(ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 7 มิถุนายม 2527 ด้วย โรคเบาหวานและหัวใจ) เสาบ้านใช้ไม้สักท่อน ขนาดใหญ่จำนวนทั้งหมด 139 ต้น มีเสาไม้สักเก่าแก่ ขนาด 2 คนโอบ ตั้งเด่น เป็นเสาค้ำบ้าน รวมระยะเวลาก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ เป็นเวลา 6 ปี ใช้เป็นที่พักอาศัยของครอบครัวชัยวัณณคุปต์ ปัจจุบันมีคุณแม่ลำยอง ชัยวัณณคุปต์ เป็นผู้ดูแลและเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม โดยเก็บค่าเข้าชม 40 บาท ซึ่งจะได้รับพวงกุญแจที่ระลึกบ้านประทับใจ จังหวัดแพร่ คนละ 1 ชิ้น ภายในบ้านชั้นล่าง มีอุปกรณ์เครื่องตกแต่งบ้านหลากหลายประเภท เช่น โต๊ะยาวที่ทำจากไม้สักขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียว ชุดรับแขกไม้แกะสลัก แผ่นไม้แกะสลักขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ทำจากไม้สัก ภาพวาดฝาฝนังเรื่องราวในอดีต ไฮไลท์อยู่ที่เสาไม้สักบ้านขนาดใหญ่มีลวดลายแกะสลักลวดลายช้างและป่าไม้ สำหรับชั้นสองของบ้าน เนื่องจากบ้านประทับใจเป็นบ้านที่ทำการเชื่อมต่อบ้านทั้งหมด 9 หลังเข้าด้วยกัน จึงดูเหมือนว่าเป็นบ้านหลังเดียวขนาดใหญ่ บนตัวบ้านสามารถเดินถึงกันได้ กลางบ้านเป็นชานมะปรางอันเป็นชานนั่งเล่นใต้ร่มต้นมะปราง ด้านหลังมีชานตะวันสำหรับนั่งรับแสงแดดในตอนเช้า มีห้องพักจำนวน 5 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องตกแต่งด้วยโต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้ ม้านั่ง แคร่ และเครื่องประดับบ้านอื่นๆทั้งหมดทำจากไม้สัก ไม้สักที่ใช้ก่อสร้างบ้านเป็นไม้ที่เหลือจากการทำสัมปทานไม้ของบริษัทอิสต์ เอเชียติค จำกัด ซึ่งเคยเข้ามารับทำสัมปทานไม้สักในเมืองแพร่ในอดีต


ที่มา:สำนักงานจังหวัดแพร่,สำนักงาน ททท.แพร่
เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
083-7373307


น้ำจ้อม บ้านน้อยในป่าใหญ่สวรรค์แห่งธรรมชาติ ตอนที่ 2





















         เมื่อเข้าสู่หมู่บ้านน้ำจ้อมแล้วก็จะพบกับบรรดาชาวบ้านที่กำลังแบกจอบเสียบออกจากป่ากลับเข้าบ้าน ก้มมองดูเวลาก็พึ่งจะบ่ายสามโมงครึ่งเอง แต่บรรยากาศเหมือนราวจะห้าโมงแล้ว เนื่องด้วยฝนตกและความเขียวขจีของป่าทำใหเวลาเหมือนเดินเร็วกว่าภายในเมือง จึงต้องรีบทำตามจุดประสงค์ที่มาวันนี้คือ ทำข่าวเรื่อง ส้มโอมีกลิ่นคล้ายมะพร้าวและใบเตย และด้วยความมั่นใจจึงรีบมุ่งหน้าไปยังศูนย์กลางของข้อมูลหมู่บ้านนั้นก็คือ เซเว่นประจำหมู่บ้าน หรือร้านขายของชำนั้นเอง ซึ่งก็จะเป็นที่รู้กันในการทำข่าวในที่ต่างๆว่าทุกร้านของชำจะมีกูรู ศิษย์กูลเกิ้ล นั่งประจำพร้อมให้สอบถามเรื่องราวต่างๆความเคลื่อนไหวของหมู่บ้านอย่างถูกต้องกว่าโพลสำนักใดๆ เมื่อได้ข้อมูลจึงรีบไปยังบ้านของลุงวิรุณ ฝั่นเฟือน เจ้าของต้นส้มโอ แต่ก็ไม่เจอพบแต่หลานชายกับภรรยาที่มาอยู่เฝ้าให้ สอบถามข้อมูลก็รู้ว่าลุงวิรุณย้ายไปทำงานที่วัดช่อแฮและอาศัยอยู่ที่วัด จึงขออนุญาตให้หลานชายลุงวิรุณพาไปเก็บภาพต้นส้มโอ ด้วยความใจดีจึงรีบพากันเดินไปยังสวนหลังบ้านที่สายฝนพึ่งหยุดโปรยปรายเมื่อไม่นานมานี้ มุดซุ้มกอไม้ ปีนขึ้นเขาไปหน่อยก็ถึงแล้วนี้คือเสียงบอกทาง เมื่อมาถึงยังต้นส้มโอ ไม่เพียงนำมาถ่ายภาพเท่านั้นเค้ายังสอยส้มโอกลิ่นมะพร้าวใบเตยให้ลงมาให้ชิมถึงสองลูก คุยกันไปกันมามองดูรอบๆบรรยากาศช่างร่มรื่นเขียวไปหมด ก็อดไม่ได้ที่จะยกกล้องที่ห้อยติดคอมากดชัตเตอร์เก็บภาพบรรยากาศไว้เสียหลายรูป ก่อนกลับลงมายังใต้ถุนบ้าน จำได้ว่าต้องผ่านซุ้มไม้เลือย ขาเข้ามามองไม่เห็นผลไม้สีเขียวๆแดงๆที่ห้อยเต็มพุ่มมันคือกระทกรก หรือเสาวรสนั้นเอง ไม่รอช้าหามุมสวยๆกดชัตเตอร์รัวๆไปอีกหลายภาพ สักพักก็ได้ยินเสียงเรียกให้ออกมาจากสวนก็ผละจากออกมาแบบเสียดาย แต่เมื่อออกมาแล้วก็ไม่ผิดหวัง สาวๆนักข่าวเสียงแพร่ที่ล่วงมาก่อนแล้วจัดแจ้งปลอกส้มโอพิสูจน์กันว่ามันหอมดังที่เค้าเล่าลือกันหรือเปล่าที่ใต้ถุนบ้านกันเลย เมื่อได้ชิมแล้วขอรับรองว่าเป็นจริงสมคำเล่าลือ แถมเจ้าของบ้านยังเอาเสาวรสมาให้ชิมอีกคนละหลายลูก ชิมกันไปพูดกันไป แฟนของหลานลุงวิรุณก็กลับออกมาจากป่า ถือขวดน้ำพลาสติกขนาด 1.25 ลิตร ที่เต็มไปด้วยจี้กุ่งมาถึง 3 ขวด เมื่อมาถึงก็จัดการนำน้ำใส่กาละมังแล้วเทจิ้งกุ่งออกมาล้างดินโคลน และหักขาเพื่อป้องกันมันกระโดดหนีใส่ในอีกกาละมัง เมื่อล้างจึ้งกุ่งเสร็จก็นำกระบอกไม้ไผ่ที่มีลักษณะด้านหนึ่งตัน ส่วนอีกด้านเป็นปลายแหลมเฉียง 45 องศ่า มีรูเสียบไม้ไผ่แบนขนาดยาว 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 70-80 เซนติเมตร ครั้งนี้นำเอาถังขนาดใหญ่ออกมาเตรียมไว้แล้วจึงดึงสลักไม้ออกแล้วคว่ำทางปากท่อนไม้ไผ่ลงในถัง ก็มีปูสีดำขนาดเท่าผ่ามือเด็กไหลลงมาในถังตัวแล้วตัวเล่า จนตัวสุดท้ายออกมานับได้แปดตัว ไม่รอช้าจับกล้องขึ้นมาถ่ายภาพเช่นเดิม แน่นอนเมื่อเจอทั้งจิ้งกุ่งและปูก่ำที่จับมาสดๆแบบนี้ก็ต้องเจรจาถามซื้อ เพื่อนำไปทำเมนูอร่อยๆสิครับ ซึ่งการเจรจาการค้าครั้งนี้สำเร็จเพียงครึ่งเดียวคือ ซื้อปูมาได้แปดตัวในราคา 70 บาท ส่วนจิ้งกุ้งนั้นไม่ขายเนื่องจากจะเก็บไว้ทำกับข้าวกินเอง ไม่เป็นไรไม่ว่ากัน แต่ได้ซื้อเสาวรสมาอีกสองถุง ระหว่างบรรจุปูลงกระบอก ก็มีเวลาเดินเล่นแถวบริเวณรอบๆพบต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีดอกสีแดงสดมีขนทั่วทั้งดอก เวลาแก่แล้วจะมีสีน้ำตาล สอบถามว่าคือต้นอะไร ได้คำตอบมาว่า ชื่อต้นคำแสด นิยมเอาเมล็ดจากดอกที่แก่จัดไปย้อมผ้าให้เป็นสีแดงฉาด โดยเฉพาะเมื่อนำไปย้อมจีวรพระสีจะติดแน่นทนนาน แถมยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย ดอก ช่วยในการบำรุงโลหิตและน้ำเหลืองให้เป็นปกติ ช่วยบำรุงหัวใจ ,เมล็ด ช่วยแก้ลม หรือโรคผิวหนังต่างๆ,รก (เนื้อหุ้มเมล็ด) ช่วยให้ระบายท้อง ให้รสหวานร้อนน้ำมันจากเมล็ด ใช้ทาแก้โรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาต หรือแก้ขัดตามข้อ ให้รสร้อน ฯลฯ ช่างเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์มากเสียจริงๆและที่สำคัญหาได้ยากมากอีกด้วย เผลอแปบเดียวเวลาช่างเดินเร็วเหลือเกินเกือบจะห้าโมงครึ่งแล้ว จำต้องรีบลาเจ้าของบ้านเพื่อออกมาสัมภาษณ์ลุงวิรุณเจ้าผู้ปลูกและเจ้าของส้มโอกลิ่นมะพร้าวใบเตยต่อยังวัดพระธาตุช่อแฮ แน่นอนการได้ของติดไม้ติดมือมาแบบเต็มหลังรถ ทริปนี้สนุก สัมผัสธรรมชาติที่ห่างหายมานาน ทำให้รู้ว่า “น้ำจ้อม ไม่ใช่ชุมทางของนักเดินทางอีกต่อไป แต่คือ ชุมทางของธรรมชาติกับมุนษย์”

     สำหรับส้มโอกลิ่นมะพร้าวนั้น ขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่ออายุประมาณ 5-6 ปี ก็ออกลูกโดยออกลูกดก ปีละประมาณ 100 กว่าลูกต่อปี เนื่องจากลูกดกจึงแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านกิน เมื่อได้กินแล้วเพื่อนบ้านก็บอกว่ามีกลิ่นคล้ายมะพร้าวและใบเตย ทำให้เป็นข่าวแพร่ออกไป ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่เกษตรติดต่อมาว่าจะเข้ามาศึกษาและขยายพันธุ์ต่อไป โดยจะตั้งชื่อว่า “ส้มโอวิรุณ” ตามชื่อเจ้าของ   



คมสัน  หน่อคำ เขียน
083-7373307



วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

น้ำจ้อม บ้านน้อยในป่าใหญ่สวรรค์แห่งธรรมชาติ ตอนที่ 1



     บ้านน้ำจ้อม ชื่อนี้ผมรู้จักจาก ลุงเสรี ชมพูมิ่ง นักเขียนผู้มากความสามารถชาวแพร่เคยเขียนลงในนิตยสาร ต่วย’ตูน ที่เขียนถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ที่เกี่ยวกับป่าเป็นตอนๆ และด้วยความชื่นชอบในเรื่องราวของป่าเขา ผมจึงพยายามหาโอกาสพูดคุยกับลุงเสรี หลายต่อหลายครั้งก็จะรบเร้าให้เล่าเรื่องราวต่างๆ ในสมัยยังหนุ่มๆ ที่ประกอบอาชีพทำไม้ ซึ่งต้องอยู่ในป่าเป็นส่วนใหญ่ บ้านน้ำจ้อม เป็นหมู่บ้านที่ลุงเสรีเล่าให้ฟังว่าในอดีตนั้นการเดินทางสัญจรลำบากมาก หมู่บ้านน้ำจ้อมเป็นหมู่บ้านชุมทางกลางขุนเขาที่คนทำไม้เวลาออกจากป่าต้องอาศัยแวะพักค้างแรมก่อนที่จะเดินทางเข้าในตัวเมือง จึงไม่ได้สนใจมากสักเท่าไรเพียงจดจำว่าเป็นเส้นทางเดียวกับบ้านน้ำกลาย แต่เมื่อไม่นานมานี้ (11 ต.ค.2560) ได้มีโอกาสติดสอยห้อยตาม ทีมข่าวหนังสือพิมพ์เสียงแพร่ไปทำข่าวส้มโอกลิ่นมะพร้าวใบเตย ทำให้ต้องเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ว่า “บ้านน้ำจ้อม” คือ บ้านน้อยในป่าใหญ่สวรรค์แห่งธรรมชาติของเมืองแพร่
      

     บ้านน้ำจ้อม เป็นส่วนหนึ่งของตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ การเดินทางนั้นให้มาทางน้ำตกเชิงทอง (ห้วยมุน) พอมาถึงน้ำตกให้ข้ามสะพานด้านขวามือก่อนถึงน้ำตก แล้วขับตามเส้นทางไปเรื่อยๆ ถนนลาดยางตลอดเส้นทาง ด้านขวาเป็นภูเขา ส่วนด้านซ้ายจะเป็นเหว ถนนจะลดเลี้ยวไปตามภูเขา บรรยากาศรอบข้างเต็มไปด้วยป่าไม้สีเขียวขจี ซึ่งในช่วงที่เข้าไปมีละอองฝนโปรยปรายมาเป็นช่วงๆ ขับรถมาได้สักระยะหนึ่งจะผ่านโรงเรียนบ้านน้ำกลายก็จะพบทางแยกที่มีรูปปั้นเตาปูลูสัญลักษณ์บ้านนาตองยืนกางแขนรอรับผู้มาเยือน ให้เลี้ยวขวาเป็นเส้นทางลงไปบ้านน้ำจ้อม (ซึ่งเลี้ยวขวาก็จะเป็นเส้นทางขึ้นไปบ้านนาตอง) แนะนำให้ปิดแอร์แล้วเปิดกระจกรถ เพื่อสูดไอกลิ่นธรรมชาติรับละอองน้ำให้ปะทะใบหน้า จะรู้สึกเย็นสบายและสดชื่น ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางก็เหมือนจะหายไปเสียเฉยๆ ตามเส้นทางนั้นอาจมีสายน้ำไหลผ่านถนนลงจากภูเขาสู่ลำธารน้ำเบื้องล่าง ทำให้ได้ยินเสียงน้ำไหลตลอดการเดินทาง และถ้าหากโชคดีในช่วงนี้อาจะได้พบเห็นปูเดินลงจากภูเขาข้ามถนนลงมายังลำธาร บางที่อาจมาเป็นคู่ๆ ปูชนิดนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ปูก่ำ” เป็นปูภูเขาชนิดหนึ่ง นิยมเอามาตำเป็นน้ำพริกปูกำ จี่ไฟ (ปิ้ง) แล้วเอาข้าวเหนียวเข้าจั้มก็ได้ ปูก่ำในฤดูนี้จะมีรสชาติหวานและมันเป็นพิเศษ พอเขียนถึงเรื่องของกินทีไรยาวออกนอกเรื่องทุกที ขอวกกลับมายังเส้นทางบ้านน้ำจ้อมอีกที ให้ขับตามเส้นทางไป พอขึ้นเนินจะพบทางเข้าหมู่บ้าน น้ำจ้อม หมู่ที่ 8 ให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งเส้นทางในหมู่บ้านก็มีถนนหลักใช้สัญจรเข้าออกเพียงเส้นทางเดียว ถ้าจะมีซอยแยกก็เป็นซอยเข้าบ้านของชาวบ้านและบ้านเรือนส่วนหนึ่งก็ตั้งเรียงรายกันเป็นระยะๆ ทั้งหมดเป็นบ้านไม้แบบยกสูง มีใต้ถุน มีแคร่สำหรับนั่งเล่น บริเวณรอบๆบ้านก็จะมีพืชผักสวนครัวและไม้ยืนต้นปลูกสลับกันเต็มบริเวณอาณาเขต และที่น่าทึ่งคือไม่มีกำแพง หรือรั้ว เลยสักบ้าน เป็ด ไก่ นก หนู สุนัขเดินกันพลุกพล่าน ช่างเป็นบรรยากาศที่หาดูได้ยากมาก กับวิถีชีวิต “บ้านน้ำจ้อม” อ่านต่อฉบับหน้า.......
โดย คมสัน  หน่อคำ
083-7373307

วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แก๋งโฮ๊ะ การรวมตัวของความอร่อย

แกงโฮ๊ะ

     ในช่วงเทศกาลออกพรรษาที่ผ่านมาหลายบ้านได้ทำอาหารไปถวายพระที่วัด ทำให้พระเณรมีอาหารมากเกินจะฉันท์หมดในมื้อเดียว ทำให้เหลืออาหารจำนวนมากและอาหารแต่ละอย่างล้วนเป็นอาหารอย่างดี เมื่อทิ้งไว้นานๆก็จะบูด ครั้นจะนำไปทิ้งก็น่าเสียดาย ขโยมวัด(เด็กวัด)จึงนำมาทำแกงโฮ๊ะ เพื่อเก็บอาหารไว้กินหลายๆมื้อ โดยนำอาหารที่ได้มากทั้งหมดเทรวมกันในกะทะ ไม่ว่าจะเป็นลาบ ห่อนึ่ง ไข่พะโล้ หมูปิ้ง หมูทอด แกงอ่อม ลาบ แคบหมู และแกงกะทิต่างๆ จากนั้นเทน้ำทิ้งแล้วเติมน้ำมันเคียวจนแห้ง ใส่วุ้นเส้น หน่อไม้ดอง ใบมะกรูดฉีก ใบโกสน เติมเกลือ น้ำปลา พริกสด หรือพริกขี้หนู ปรุงรสตามชอบ แล้วจึงใส่ผงกะหรี่เพื่อกลบกลิ่นบูด เชื่อว่าแกงโฮ๊ะน่าจะเกิดจากวัดในพม่าเนื่องจากแกงโฮ๊ะต้องใส่แกงฮังเลซึ่งมีต้องกำเนิดจากพม่า แกงโฮ๊ะจะอร่อยนั้นจะต้องใส่แกงฮังเลเยอะๆ ซึ่งแกงฮังเลจะมีหมูสามชั้นเป็นส่วนประกอบหลัก เมื่อคนแกงโฮ๊ะเสร็จขโยมวัดทั้งหลายก็จะตักเก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อถวายพระสงฆ์และสามเณรในวันถัดไป ส่วนที่เหลือก็จำหน่ายจ่ายแจกกัน ชาวบ้านที่มาเอาแกงโฮ๊ะจากวัดกลับไปกินที่บ้านคนละถุงสองถุง โดยจะนำเงินถวายวัดเท่าไรก็ได้เรียกติดปากว่าปูจาแก๋งโฮ๊ะ ส่วนเงินที่ได้นั้นขโยมวัดก็จะนำมาใช้ในกิจการของวัด เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก็ส เป็นต้น สำหรับแกงโฮ๊ะที่ปูจามาจากวัดนั้นจะอร่อยกว่าทำกินเองที่บ้านมากเพราะกับข้าวที่นำมาทำแกงโฮ๊ะล้วนเป็นอาหารอย่างดี ทำให้เวลาตักแกงโฮ๊ะจะเหมือนการเสี่ยงดวงว่าจะตักได้หมู ไข่ หรือมะเขือ และมรรยาทในการกินในจะต้องไม่เอาช้อนควานหาไซ้กินแต่ของที่ชอบเพื่ออย่าเดียว เพราะอาจจะทำให้คนในวงข้าวไม่พอใจได้ อาจถูกแซวว่าจ้อน(ช้อน)ใบนี้หมานมะใจ๋ตักได้แต่จิ้น ปัจจุบันแกงโฮ๊ะเป็นอาหารที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทำให้เมื่อเวลาทำอาหารเยอะและมากเกินไปก็จำนำอาหารที่เหลือนั้นใส่ช่องฟรีสในตู้เย็น เก็บสะลมไปเรื่อยๆจนได้ปริมาณมากพอ ก็จะทำแกงฮังเลหรือหาซื้อเพิ่ม โดยจะเติมผักสดต่างๆแล้วนำมาทำแก๋งโฮ๊ะ ด้วยวัสถุดิบที่นำมาทำแกงโฮ๊ะนั้นมีมากมายหลากหลายจากรสชาติอาหารที่นำมาปรุง จึงทำให้อาหารแก๋งโฮ๊ะเป็นหนึ่งที่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะจึงเป็นการรวมตัวที่ลงตัว "แก๋งโฮ๊ะ การรวมตัวของความอร่อย"

ที่มาข้อมูล ศูนย์วัฒนธรรมล้านนาและขอบคุณภาพจาก Google

คมสัน   หน่อคำ
083-7373307
เขียน

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

ต้องเดินถึงจะแพร่ : Must walk to reach Phrae

ขอบคุณภาพบรรยากาศสวยๆในเมืองแพร่จาก thetravelerz

     วันนี้จังหวัดแพร่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก โดยส่วนมากจะมาเที่ยวแบบทัวร์คือนั่งรถโดยสารมากันเป็นหมู่คณะ แวะเที่ยวตามจุดต่างๆ แต่ความจริงแล้วการที่จะเที่ยวเมืองแพร่แล้วให้เข้าถึงความเป็น “เมืองแป้ แท้จริงแล้วมีมากมายหลายวิธี อย่างเช่น รถรางที่สามารถให้บริการนำนักท่องเที่ยวชมเมืองและแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองเก่า ที่สามารถให้บริการเป็นหมู่คณะ ครั้งละ 20-30 คนต่อคัน ใช้เวลาประมาณครึ่งวันก็สามารถเที่ยวได้เกือบทั่ว แต่ถ้าหากมากันเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 6-7 คน ก็ต้องเที่ยวในสไตล์ “นั่งสามล้อผ่อเมืองแป้” โดยมีนักปั่นน่องเหล็กคอยให้บริการปั่นให้นั่งชมเมืองได้เช่นกัน และถ้าอยากจะออกกำลังด้วยขาของตนเองก็สามารถหาเช่ายืมจักรยานถือแผนที่ปั่นเที่ยวเองก็ได้เช่นกัน ซึ่งการเที่ยวแบบนี้ก็มีเสน่ห์ตรงที่สามารถไปไหนก็ได้ด้วยตัวเอง แต่หากคุณต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองแพร่แท้จริงแล้วก็ต้องเที่ยวด้วยสองขาแบบเดิน สไตล์แบ็คแพ็คสะพายเป้ เดินถือแผนที่เที่ยว คุณจะได้พบกับสิ่งใหม่ๆ ถนนสายใหม่ที่ไม่รู้จัก สังคมใหม่ ผู้คนหลากหลาย สัมผัสวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ ที่คุณจะประสบด้วยตัวคุณเอง แท้จริงแล้วเมืองแพร่มีอะไรมากว่าที่คุณเห็นจากหน้าในกระดาษแนะนำการท่องเที่ยว เพียงใช้สองขาออกก้าวเดิน พูดคุย ทักทาย และการสื่อสารที่ดี ง่ายที่สุดในโลกคือรอยยิ้ม ยกตัวอย่างเช่น ชาวต่างชาติเดินเข้ามาถามเส้นทาง ลุง ป้า น้า อา พี่หนาน ก็สามารถบอกทางได้หมด ยิ้มบ้าง ชี้มือ ชี้ไม้บ้าง อู้เมียงผสมฝาหรั่ง เกิดเป็นสำเนียงใหม่แบบ (Language city) เพียงรู้ภาษาอังกฤษเล็กน้อยไม่ว่าจะเลี้ยวซ้าย (turn left) เลี้ยวขวา (Turn right) หรือ ตรงไป (go straight) เลยทำให้ทุกวันนี้เกิดธุรกิจโฮมสเตย์มากมาย ทำให้สามารถเดินเที่ยวได้ สามารถพบเจอกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ที่ยังดำรงคงเดิมกับสายกาลเวลาที่ไหลผ่านเรื่องราวที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น ยามเช้าเพียงคุณตื่นมาก็สามารถเดินไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาด (กาดหมั๊ว) หรือเดินชิลๆ รับละอองไอหมอก ก็จะพบเห็นผู้คนออกมายืนรอพระเพื่อใส่บาตรที่หน้าบ้าน ฟังเสียงพระสวดเป็นจังหวะ ช่างเป็นบุญที่อิ่มใจ สำหรับผู้ใส่บาตรและผู้พบเห็นเหลือเกิน บางเทศกาลคุณอาจจะได้พบกับเสียงสวดภาษาคำเมืองที่ดังลอดรั้วจากพ่ออาจารย์ที่ท่องสวดบูชาท้าวทั้งสี่ (เทพารักษ์ผู้เฝ้าดูแลรักษาชีวิต ป้องกันภัยต่างๆ มิให้กล้ำกรายผู้คนที่อยู่อาศัยในบ้านที่ชาวล้านนานับถือ) สาวท้าวก้าวเดินต่อไป ชีวิตยามเช้าเริ่มเปลี่ยนเป็นการสัญจรเพื่อทำกิจวัตรประจำวันของแต่ละคน เด็กๆ ไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ ผู้ใหญ่รีบไปทำงาน แม่ค้าขนมจีนเริ่มต้มน้ำซุปกระดูกยิ่งใกล้ยิ่งได้กลิ่นหอม โดยเฉพาะกระเทียมเจียวกากหมูที่กระตุ้นต่อมหิวจนเดินต่อไปไม่ไหวต้องแวะจอดพักขาเติมพลังกับขนมจีนน้ำใสอาหารเอกลักษณ์ของเมืองแพร่ อาจจะเช้าไปแม่ค้ายังเตรียมขายไม่เสร็จแต่ก็สามารถนั่งพูดคุยหิ้วท้องรอกันไป ชมวิธีทำขนมจีนและจีบแม่ค้าถึงเคล็ดลับความอร่อยที่เมื่อได้กินขนมจีนเมืองแพร่แล้วจะไม่มีวันลืม เมื่อบรรจุท้องก็พาสองขาเดินเที่ยวต่อไปเพราะ “ต้องเดินถึงจะแพร่ : Must walk to reach Phrae”
เขียนโดย คมสัน  หน่อคำ
083-7373307

วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

กว่าง นักสู้แห่งพื้นดินสู่ฟากฟ้า



     ปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนกันยายนของทุกปีหลังฝนสุดท้ายของปี จะมีหนอนที่อาศัยหากินใต้พื้นดินเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งปีกลายเป็นดักแด้ฟักตัวและลอกคราบโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน กลายเป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ที่ทีลักษณะแตกต่างจากแมลงปีกแข็งอื่นๆ คือ ตัวผู้จะมีขนาดที่ใหญ่ แลดูบึกบึน มีปีกเป็นเปลือกแข็งหุ้มลำตัวด้านบนที่นูนอยู่เหมือนสวมชุดเกราะ มีสีดำคล้ำหรือน้ำตาลเข้มที่เงางาม ขณะที่บางชนิดอาจมีสีอ่อนกว่าหรือแม้กระทั่งสีทองก็มี มีจุดเด่นที่เห็นได้ชัด คือ มีอวัยวะบริเวณส่วนหัวที่งอกยาวออกมาคล้ายเขาอยู่ด้านบนและด้านล่างของส่วนหัว จำนวนอย่างน้อย 1 คู่ บางชนิดมีจำนวนเขาและลักษณะสั้น-ยาวแตกต่างกันออกไป ส่วนตัวเมียจะไม่มีเขา ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะใช้เขาต่อสู้กันเพื่อแย่งผสมพันธุ์ ทำให้เกิดการดักจับกว่างมาชนกันเป็นการละเล่นแบบหนึ่งของล้านนาที่เด็กเล็ก เด็กโตหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เมื่อถึงฤดูหนาวต้องนำอ้อยขนาดประมาณท่อนแขนมาปอกเปลือกสักครึ่งท่อนแล้วนำมาแขวนบริเวณชานบ้านหรือใต้ต้นไม้ในตอนกลางคืน เมื่อกว่างปีกออกหากินก็จะได้กลิ่นไอหอมของน้ำตาลจากอ้อยก็จะมาเกาะท่อนอ้อยที่แขวนดักไว้ ทำให้เด็กๆจะตื่นเช้าเป็นพิเศษเพื่อมาลุ้นว่าจะมีกว่างมาติดหรือไม่??? หากโชคดีก็จะมีกว่างเกาะมากินน้ำหวาน โดยกว่างตัวผู้จะมีขนาด 2-3 นิ้ว(นิ้วมือ)มีสีน้ำตาลแดงคล้ายๆเปลือกมังคุด เขาบนยาวกว่าเขาล่างเรียงเป็นแนวตั้งกับพื้น เรียกว่า “กว่างโซ้ง” กว่างชนิดนี้มักจะส่งเสียง "ซี่ ๆ" ตลอดเวลา และกว่างแซม มีลักษณะคล้ายกับกว่างโซ้ง แต่ตัวเล็กกว่าเล็กน้อย เขาสั้นและเรียวเล็ก กว่างชนิดนี้เลี้ยงไว้เป็นคู่ซ้อมหรือให้เด็กๆเล่นกัน กว่างกิ เป็น กว่างตัวผู้ที่มีเขาข้างบนสั้น(กิแปลว่าสั้น) เขาบนจะออกจากหัวออกมานิดเดียว กว่างกิจะต่อสู้หรือชนกันโดยใช้เขาล่างงัดกัน แต่ไม่สามารถใช้เขาหนีบคู่ต่อสู้ได้ จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นกว่างชน ส่วนกว่างตัวเมียจะตัวเล็กกว่ามากสีดำสนิทไม่มีเขา เรียกว่า “กว่างอีลุ่ม” เด็กๆส่วนใหญ่จะจับเฉพาะตัวผู้ไว้โดยจะนำไม้ไผ่มาเหลาด้านหนึ่งเสียบกับอ้อยและอีกปลายด้านหนึ่งเหลาให้แบนๆสามารถโค้งงอได้ผูกกับเชือกหรือด้าย ซึ่งอีกปลายหนึ่งจะมัดไว้ที่เขาของกว่างป้องกันไม่ให้กว่างบินหนีไป สำหรับตัวเมียก็จะปล่อยไป แต่ต้องป้องกันไม่ให้ผสมกับตัวผู้ที่เลี้ยงไว้ เชื่อว่ากว่างตัวผู้หากได้ผสมพันธุ์หรือหื่นแล้วจะไม่ดุ หรือเวลานำไปชนจะไม่มีแรง สำหรับกรรมวิธีชนกว่างนั้น จะนำท่อนไม้หรือวัสดุที่กว่างเกาะได้ยาวพอประมาณ นำกว่างตัวผู้วางไว้ด้านละตัว ตรงกลางของท่อนไม้จะเจาะเป็นหลุมสี่เหลี่ยมขนาดให้กว่างตัวเมียลงไปอยู่ กว่างตัวผู้จะถูกกระตุ้นด้วยกลิ่นของตัวเมีย จากนั้นก็จะนำไม้ปั่นคอยเขี่ยด้านข้างลำตัวบริเวณปีกทั้งสองข้างให้กว่างวิ่งเข้าหาและชนกัน เสียงไม้ปั่น ริ่งๆๆเป็นจังหวะๆผนวกเสียงเชียร์ เสียงลุ้นเป็นความสุขสนุกสนานอีกแบบที่หากได้แล้วจะไม่มีวันลืม และที่สำคัญหลังจากนำกว่างมาชนหรือเลี้ยงได้สักระยะหนึ่งก็จะต้องปล่อยกว่าคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้กว่างได้สืบเผ่าพันธุ์เกิดลูกเกิดหลาน ฝังไข่ในพื้นดินและฟักตัวเป็นเวลาหนึ่งปีเติบโตเป็น “กว่าง นักสู้แห่งพื้นดินสู่ฟากฟ้า” แมลงปีกแข็งแห่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า


ที่มาข้อมูล วิกิพีเดีย ขอบคุณภาพจาก Google
เขียนโดย คมสัน  หน่อคำ 083-7373307