วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สืบชะตาแม่น้ำ บวชป่า สัมพันธภาพ คน ป่า แม่น้ำ ชุมชน





     ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นประเพณีหลายกระทง ที่ชาวไทยจะนำกระทงไปลอยยังแม่น้ำ เพื่อเป็นการบูชาและขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่เราได้ล่วงเกินหรือกระทำการสิ่งไม่ดีกับแม่น้ำลำธาร แต่ลำหรับชาวเหนือนั้นได้ผนวชพิธีสืบชะตาแม่น้ำเข้ามาตามความเชื่อที่มีวิถีชีวิตผูกพันระหว่างคนกับสายน้ำที่เกื้อกูลเกี่ยวพันกับแม่น้ำในการดำรงชีวิต เพื่อเป็นการต่ออายุแม่น้ำและแสดงความเคารพศรัทธาที่แสดงออกถึงความห่วงใยต่อแม่น้ำ โดยแฝงการอนุรักษ์รักษาป่าไม้ ต้นน้ำ และลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ


     พิธีสิบชะตาแม่น้ำ เป็นพิธีกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน มีรากฐานจากพิธีสืบชะตาบ้านเมือง และชะตาคน อันเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีคุณค่าและความหมาย เป็นการเรียกขวัญกำลังใจให้กลับคืนมาและยังเป็นการใช้กุศโลบาย สร้างความร่วมมือ ความสามัคคี เกื้อกูล ช่วยกันแก้ไขปัญหาในชุมชน ก่อให้เกิดความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลแม่น้ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบนิเวศวิทยาแม่น้ำ และประการสำคัญที่สุด เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม โดยก่อนทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน ขุดลอกลำคลองและแหล่งน้ำ เพื่อทำความสะอาดแม่น้ำ โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือพื้นบ้านที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วจะนำเครื่องสืบชะตาประกอบด้วย กระโจมไม้สามขา ท่อนแสก เรียกว่าสะพานเงิน สะพานทอง อีกท่อนหนึ่ง จะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็ก ๆ จำนวนพอประมาณแต่ลงท้ายด้วยเลข 9 เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่กระบอกน้ำ หน่อกล้วย อ้อย ลูกมะพร้าว หม้อเงิน หม้อทอง เทียนถุง เมี้ยง บุหรี่ หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้รวมกันในด้ง บทสวดที่ใช้ในการสืบชะตาแม่น้ำ คือบทสืบชะตาหลวง (อินทชาตา, ชินบัญชร อัฏฐอุณหัสสและธรรมสาลาวิจารสูตร) ซึ่งการสืบชะตาแม่น้ำ ยังเชื่อมโยงกับการบวชป่าหรือบวชต้นไม้ วัฒนธรรมประเพณีกับวิถีชุมชนของคนที่พึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกับป่าไม้ที่กำลังจะเลือนหายไปจากสังคม ด้วยความเชื่อว่าป่าเขาล้วนแต่มีผีปกปักรักษา มิให้ใครมารุกล้ำทำลาย มีพิธีกรรมที่หลากหลายแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่นการเลี้ยงผีขุนน้ำ ผีเจ้าป่าเจ้าเขา ปลูกฝังให้คนต้นน้ำไห้มีจิตใจรักษาป่าและน้ำของเขาไว้ เหมือนพิธีการบวชต้นไม้ หรือบวชป่า ที่มาของการ “บวชป่า” มาจากวิธีการห่มจีวรให้กับต้นไม้เช่นเดียวกับการบวชพระ ส่งผลให้สถานภาพของคนและต้นไม้เปลี่ยนไป นับเป็นการนำความเชื่อทางศาสนามาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ความเชื่อที่ว่าผืนป่าที่ผ่านพิธีบวช เป็นเสมือนดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าผู้ใดก็ไม่อาจเข้าไปทำลายได้ ทำให้ต้นไม้มีโอกาสเติบโต และสายน้ำที่เกิดจากป่าต้นน้ำ ก็จะฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งหนึ่ง



ที่มา/ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
0837373307

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น