วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

น้ำจ้อม บ้านน้อยในป่าใหญ่สวรรค์แห่งธรรมชาติ ตอนที่ 2





















         เมื่อเข้าสู่หมู่บ้านน้ำจ้อมแล้วก็จะพบกับบรรดาชาวบ้านที่กำลังแบกจอบเสียบออกจากป่ากลับเข้าบ้าน ก้มมองดูเวลาก็พึ่งจะบ่ายสามโมงครึ่งเอง แต่บรรยากาศเหมือนราวจะห้าโมงแล้ว เนื่องด้วยฝนตกและความเขียวขจีของป่าทำใหเวลาเหมือนเดินเร็วกว่าภายในเมือง จึงต้องรีบทำตามจุดประสงค์ที่มาวันนี้คือ ทำข่าวเรื่อง ส้มโอมีกลิ่นคล้ายมะพร้าวและใบเตย และด้วยความมั่นใจจึงรีบมุ่งหน้าไปยังศูนย์กลางของข้อมูลหมู่บ้านนั้นก็คือ เซเว่นประจำหมู่บ้าน หรือร้านขายของชำนั้นเอง ซึ่งก็จะเป็นที่รู้กันในการทำข่าวในที่ต่างๆว่าทุกร้านของชำจะมีกูรู ศิษย์กูลเกิ้ล นั่งประจำพร้อมให้สอบถามเรื่องราวต่างๆความเคลื่อนไหวของหมู่บ้านอย่างถูกต้องกว่าโพลสำนักใดๆ เมื่อได้ข้อมูลจึงรีบไปยังบ้านของลุงวิรุณ ฝั่นเฟือน เจ้าของต้นส้มโอ แต่ก็ไม่เจอพบแต่หลานชายกับภรรยาที่มาอยู่เฝ้าให้ สอบถามข้อมูลก็รู้ว่าลุงวิรุณย้ายไปทำงานที่วัดช่อแฮและอาศัยอยู่ที่วัด จึงขออนุญาตให้หลานชายลุงวิรุณพาไปเก็บภาพต้นส้มโอ ด้วยความใจดีจึงรีบพากันเดินไปยังสวนหลังบ้านที่สายฝนพึ่งหยุดโปรยปรายเมื่อไม่นานมานี้ มุดซุ้มกอไม้ ปีนขึ้นเขาไปหน่อยก็ถึงแล้วนี้คือเสียงบอกทาง เมื่อมาถึงยังต้นส้มโอ ไม่เพียงนำมาถ่ายภาพเท่านั้นเค้ายังสอยส้มโอกลิ่นมะพร้าวใบเตยให้ลงมาให้ชิมถึงสองลูก คุยกันไปกันมามองดูรอบๆบรรยากาศช่างร่มรื่นเขียวไปหมด ก็อดไม่ได้ที่จะยกกล้องที่ห้อยติดคอมากดชัตเตอร์เก็บภาพบรรยากาศไว้เสียหลายรูป ก่อนกลับลงมายังใต้ถุนบ้าน จำได้ว่าต้องผ่านซุ้มไม้เลือย ขาเข้ามามองไม่เห็นผลไม้สีเขียวๆแดงๆที่ห้อยเต็มพุ่มมันคือกระทกรก หรือเสาวรสนั้นเอง ไม่รอช้าหามุมสวยๆกดชัตเตอร์รัวๆไปอีกหลายภาพ สักพักก็ได้ยินเสียงเรียกให้ออกมาจากสวนก็ผละจากออกมาแบบเสียดาย แต่เมื่อออกมาแล้วก็ไม่ผิดหวัง สาวๆนักข่าวเสียงแพร่ที่ล่วงมาก่อนแล้วจัดแจ้งปลอกส้มโอพิสูจน์กันว่ามันหอมดังที่เค้าเล่าลือกันหรือเปล่าที่ใต้ถุนบ้านกันเลย เมื่อได้ชิมแล้วขอรับรองว่าเป็นจริงสมคำเล่าลือ แถมเจ้าของบ้านยังเอาเสาวรสมาให้ชิมอีกคนละหลายลูก ชิมกันไปพูดกันไป แฟนของหลานลุงวิรุณก็กลับออกมาจากป่า ถือขวดน้ำพลาสติกขนาด 1.25 ลิตร ที่เต็มไปด้วยจี้กุ่งมาถึง 3 ขวด เมื่อมาถึงก็จัดการนำน้ำใส่กาละมังแล้วเทจิ้งกุ่งออกมาล้างดินโคลน และหักขาเพื่อป้องกันมันกระโดดหนีใส่ในอีกกาละมัง เมื่อล้างจึ้งกุ่งเสร็จก็นำกระบอกไม้ไผ่ที่มีลักษณะด้านหนึ่งตัน ส่วนอีกด้านเป็นปลายแหลมเฉียง 45 องศ่า มีรูเสียบไม้ไผ่แบนขนาดยาว 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 70-80 เซนติเมตร ครั้งนี้นำเอาถังขนาดใหญ่ออกมาเตรียมไว้แล้วจึงดึงสลักไม้ออกแล้วคว่ำทางปากท่อนไม้ไผ่ลงในถัง ก็มีปูสีดำขนาดเท่าผ่ามือเด็กไหลลงมาในถังตัวแล้วตัวเล่า จนตัวสุดท้ายออกมานับได้แปดตัว ไม่รอช้าจับกล้องขึ้นมาถ่ายภาพเช่นเดิม แน่นอนเมื่อเจอทั้งจิ้งกุ่งและปูก่ำที่จับมาสดๆแบบนี้ก็ต้องเจรจาถามซื้อ เพื่อนำไปทำเมนูอร่อยๆสิครับ ซึ่งการเจรจาการค้าครั้งนี้สำเร็จเพียงครึ่งเดียวคือ ซื้อปูมาได้แปดตัวในราคา 70 บาท ส่วนจิ้งกุ้งนั้นไม่ขายเนื่องจากจะเก็บไว้ทำกับข้าวกินเอง ไม่เป็นไรไม่ว่ากัน แต่ได้ซื้อเสาวรสมาอีกสองถุง ระหว่างบรรจุปูลงกระบอก ก็มีเวลาเดินเล่นแถวบริเวณรอบๆพบต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีดอกสีแดงสดมีขนทั่วทั้งดอก เวลาแก่แล้วจะมีสีน้ำตาล สอบถามว่าคือต้นอะไร ได้คำตอบมาว่า ชื่อต้นคำแสด นิยมเอาเมล็ดจากดอกที่แก่จัดไปย้อมผ้าให้เป็นสีแดงฉาด โดยเฉพาะเมื่อนำไปย้อมจีวรพระสีจะติดแน่นทนนาน แถมยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย ดอก ช่วยในการบำรุงโลหิตและน้ำเหลืองให้เป็นปกติ ช่วยบำรุงหัวใจ ,เมล็ด ช่วยแก้ลม หรือโรคผิวหนังต่างๆ,รก (เนื้อหุ้มเมล็ด) ช่วยให้ระบายท้อง ให้รสหวานร้อนน้ำมันจากเมล็ด ใช้ทาแก้โรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาต หรือแก้ขัดตามข้อ ให้รสร้อน ฯลฯ ช่างเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์มากเสียจริงๆและที่สำคัญหาได้ยากมากอีกด้วย เผลอแปบเดียวเวลาช่างเดินเร็วเหลือเกินเกือบจะห้าโมงครึ่งแล้ว จำต้องรีบลาเจ้าของบ้านเพื่อออกมาสัมภาษณ์ลุงวิรุณเจ้าผู้ปลูกและเจ้าของส้มโอกลิ่นมะพร้าวใบเตยต่อยังวัดพระธาตุช่อแฮ แน่นอนการได้ของติดไม้ติดมือมาแบบเต็มหลังรถ ทริปนี้สนุก สัมผัสธรรมชาติที่ห่างหายมานาน ทำให้รู้ว่า “น้ำจ้อม ไม่ใช่ชุมทางของนักเดินทางอีกต่อไป แต่คือ ชุมทางของธรรมชาติกับมุนษย์”

     สำหรับส้มโอกลิ่นมะพร้าวนั้น ขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่ออายุประมาณ 5-6 ปี ก็ออกลูกโดยออกลูกดก ปีละประมาณ 100 กว่าลูกต่อปี เนื่องจากลูกดกจึงแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านกิน เมื่อได้กินแล้วเพื่อนบ้านก็บอกว่ามีกลิ่นคล้ายมะพร้าวและใบเตย ทำให้เป็นข่าวแพร่ออกไป ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่เกษตรติดต่อมาว่าจะเข้ามาศึกษาและขยายพันธุ์ต่อไป โดยจะตั้งชื่อว่า “ส้มโอวิรุณ” ตามชื่อเจ้าของ   



คมสัน  หน่อคำ เขียน
083-7373307



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น