วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

บ้านประทับใจ(บ้านร้อยเสา)






บ้านประทับใจ(บ้านร้อยเสา) 



      บ้านประทับใจ หรือบ้านเสาร้อยต้น เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง สร้างจากไม้เรือนเก่าที่ขนย้ายมาจากตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ จำนวน 9 หลัง เป็นแบบทรงไทยประยุกต์ หลังคาสูงติดต่อกัน 3 หลัง พื้นต่ำจากระดับของบ้าน หลังคามีหน้าจั่วประดับด้วยกาแลซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ บ้านทรงไทย ทางภาคเหนือประตูหน้าบ้านเป็นไม้แผ่นทึบ มีสลักไม้ชั้นในเป็นกลอนประตู หน้าต่างทางซีกขวาของตัวบ้านเป็นไม้แผ่นทึบมีสลักเป็นกลอนหน้าต่างฝากระดานใช้ไม้สักกว้างประมาณ 20-24 นิ้ว เสาบ้านแต่ละเสาฝังลึกลงไปใต้ดินประมาณ 1.2 เมตร แต่ภายหลังเกรงว่าส่วนฝังลงไปในดินจะมีการผุกร่อน เนื่องจากความชื้นของดินและการกัดกินของแมลง จึงได้ขุดดินใต้ถุงให้ลึกลงไปในดินอีกประมาณ 1 เมตร แกะสลักที่โคนเสาและเทปูนลาดพื้นอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

บ้านประทับใจ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2515 โดย คุณพ่อกิจจา ชัยวัณณคุปต์(ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 7 มิถุนายม 2527 ด้วย โรคเบาหวานและหัวใจ) เสาบ้านใช้ไม้สักท่อน ขนาดใหญ่จำนวนทั้งหมด 139 ต้น มีเสาไม้สักเก่าแก่ ขนาด 2 คนโอบ ตั้งเด่น เป็นเสาค้ำบ้าน รวมระยะเวลาก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ เป็นเวลา 6 ปี ใช้เป็นที่พักอาศัยของครอบครัวชัยวัณณคุปต์ ปัจจุบันมีคุณแม่ลำยอง ชัยวัณณคุปต์ เป็นผู้ดูแลและเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม โดยเก็บค่าเข้าชม 40 บาท ซึ่งจะได้รับพวงกุญแจที่ระลึกบ้านประทับใจ จังหวัดแพร่ คนละ 1 ชิ้น ภายในบ้านชั้นล่าง มีอุปกรณ์เครื่องตกแต่งบ้านหลากหลายประเภท เช่น โต๊ะยาวที่ทำจากไม้สักขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียว ชุดรับแขกไม้แกะสลัก แผ่นไม้แกะสลักขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ทำจากไม้สัก ภาพวาดฝาฝนังเรื่องราวในอดีต ไฮไลท์อยู่ที่เสาไม้สักบ้านขนาดใหญ่มีลวดลายแกะสลักลวดลายช้างและป่าไม้ สำหรับชั้นสองของบ้าน เนื่องจากบ้านประทับใจเป็นบ้านที่ทำการเชื่อมต่อบ้านทั้งหมด 9 หลังเข้าด้วยกัน จึงดูเหมือนว่าเป็นบ้านหลังเดียวขนาดใหญ่ บนตัวบ้านสามารถเดินถึงกันได้ กลางบ้านเป็นชานมะปรางอันเป็นชานนั่งเล่นใต้ร่มต้นมะปราง ด้านหลังมีชานตะวันสำหรับนั่งรับแสงแดดในตอนเช้า มีห้องพักจำนวน 5 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องตกแต่งด้วยโต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้ ม้านั่ง แคร่ และเครื่องประดับบ้านอื่นๆทั้งหมดทำจากไม้สัก ไม้สักที่ใช้ก่อสร้างบ้านเป็นไม้ที่เหลือจากการทำสัมปทานไม้ของบริษัทอิสต์ เอเชียติค จำกัด ซึ่งเคยเข้ามารับทำสัมปทานไม้สักในเมืองแพร่ในอดีต


ที่มา:สำนักงานจังหวัดแพร่,สำนักงาน ททท.แพร่
เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
083-7373307


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น