วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

กว่าง นักสู้แห่งพื้นดินสู่ฟากฟ้า



     ปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนกันยายนของทุกปีหลังฝนสุดท้ายของปี จะมีหนอนที่อาศัยหากินใต้พื้นดินเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งปีกลายเป็นดักแด้ฟักตัวและลอกคราบโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน กลายเป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ที่ทีลักษณะแตกต่างจากแมลงปีกแข็งอื่นๆ คือ ตัวผู้จะมีขนาดที่ใหญ่ แลดูบึกบึน มีปีกเป็นเปลือกแข็งหุ้มลำตัวด้านบนที่นูนอยู่เหมือนสวมชุดเกราะ มีสีดำคล้ำหรือน้ำตาลเข้มที่เงางาม ขณะที่บางชนิดอาจมีสีอ่อนกว่าหรือแม้กระทั่งสีทองก็มี มีจุดเด่นที่เห็นได้ชัด คือ มีอวัยวะบริเวณส่วนหัวที่งอกยาวออกมาคล้ายเขาอยู่ด้านบนและด้านล่างของส่วนหัว จำนวนอย่างน้อย 1 คู่ บางชนิดมีจำนวนเขาและลักษณะสั้น-ยาวแตกต่างกันออกไป ส่วนตัวเมียจะไม่มีเขา ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะใช้เขาต่อสู้กันเพื่อแย่งผสมพันธุ์ ทำให้เกิดการดักจับกว่างมาชนกันเป็นการละเล่นแบบหนึ่งของล้านนาที่เด็กเล็ก เด็กโตหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เมื่อถึงฤดูหนาวต้องนำอ้อยขนาดประมาณท่อนแขนมาปอกเปลือกสักครึ่งท่อนแล้วนำมาแขวนบริเวณชานบ้านหรือใต้ต้นไม้ในตอนกลางคืน เมื่อกว่างปีกออกหากินก็จะได้กลิ่นไอหอมของน้ำตาลจากอ้อยก็จะมาเกาะท่อนอ้อยที่แขวนดักไว้ ทำให้เด็กๆจะตื่นเช้าเป็นพิเศษเพื่อมาลุ้นว่าจะมีกว่างมาติดหรือไม่??? หากโชคดีก็จะมีกว่างเกาะมากินน้ำหวาน โดยกว่างตัวผู้จะมีขนาด 2-3 นิ้ว(นิ้วมือ)มีสีน้ำตาลแดงคล้ายๆเปลือกมังคุด เขาบนยาวกว่าเขาล่างเรียงเป็นแนวตั้งกับพื้น เรียกว่า “กว่างโซ้ง” กว่างชนิดนี้มักจะส่งเสียง "ซี่ ๆ" ตลอดเวลา และกว่างแซม มีลักษณะคล้ายกับกว่างโซ้ง แต่ตัวเล็กกว่าเล็กน้อย เขาสั้นและเรียวเล็ก กว่างชนิดนี้เลี้ยงไว้เป็นคู่ซ้อมหรือให้เด็กๆเล่นกัน กว่างกิ เป็น กว่างตัวผู้ที่มีเขาข้างบนสั้น(กิแปลว่าสั้น) เขาบนจะออกจากหัวออกมานิดเดียว กว่างกิจะต่อสู้หรือชนกันโดยใช้เขาล่างงัดกัน แต่ไม่สามารถใช้เขาหนีบคู่ต่อสู้ได้ จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นกว่างชน ส่วนกว่างตัวเมียจะตัวเล็กกว่ามากสีดำสนิทไม่มีเขา เรียกว่า “กว่างอีลุ่ม” เด็กๆส่วนใหญ่จะจับเฉพาะตัวผู้ไว้โดยจะนำไม้ไผ่มาเหลาด้านหนึ่งเสียบกับอ้อยและอีกปลายด้านหนึ่งเหลาให้แบนๆสามารถโค้งงอได้ผูกกับเชือกหรือด้าย ซึ่งอีกปลายหนึ่งจะมัดไว้ที่เขาของกว่างป้องกันไม่ให้กว่างบินหนีไป สำหรับตัวเมียก็จะปล่อยไป แต่ต้องป้องกันไม่ให้ผสมกับตัวผู้ที่เลี้ยงไว้ เชื่อว่ากว่างตัวผู้หากได้ผสมพันธุ์หรือหื่นแล้วจะไม่ดุ หรือเวลานำไปชนจะไม่มีแรง สำหรับกรรมวิธีชนกว่างนั้น จะนำท่อนไม้หรือวัสดุที่กว่างเกาะได้ยาวพอประมาณ นำกว่างตัวผู้วางไว้ด้านละตัว ตรงกลางของท่อนไม้จะเจาะเป็นหลุมสี่เหลี่ยมขนาดให้กว่างตัวเมียลงไปอยู่ กว่างตัวผู้จะถูกกระตุ้นด้วยกลิ่นของตัวเมีย จากนั้นก็จะนำไม้ปั่นคอยเขี่ยด้านข้างลำตัวบริเวณปีกทั้งสองข้างให้กว่างวิ่งเข้าหาและชนกัน เสียงไม้ปั่น ริ่งๆๆเป็นจังหวะๆผนวกเสียงเชียร์ เสียงลุ้นเป็นความสุขสนุกสนานอีกแบบที่หากได้แล้วจะไม่มีวันลืม และที่สำคัญหลังจากนำกว่างมาชนหรือเลี้ยงได้สักระยะหนึ่งก็จะต้องปล่อยกว่าคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้กว่างได้สืบเผ่าพันธุ์เกิดลูกเกิดหลาน ฝังไข่ในพื้นดินและฟักตัวเป็นเวลาหนึ่งปีเติบโตเป็น “กว่าง นักสู้แห่งพื้นดินสู่ฟากฟ้า” แมลงปีกแข็งแห่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า


ที่มาข้อมูล วิกิพีเดีย ขอบคุณภาพจาก Google
เขียนโดย คมสัน  หน่อคำ 083-7373307

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น