วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563

ข้าวหลาม

ไผ่ข้าวหลาม โดยนายคมสัน  หน่อคำ
            หน้าหนาวปีนี้(พ.ศ.2562) จังหวัดแพร่บ้านเรามีอากาศหนาวเย็นมาก อุณหภูมิบนที่สูงและในป่าต่ำกว่าสิบองศา ทำให้ทุกคนได้สัมผัสกับลมหนาวทำให้ตัวสั่นจนต้องก่อไฟเพื่อผิงแก้หนาวกันเกือบทุกพื้นที่ในแพร่ เวลาล้อมวงนั่งผิงแก้หนาวกันทุกคนก็ต่างพูดคุยกันกันอย่างสนุกสนาน  หาเนื้อหาไก่มาปิ้งๆย่างๆกันไป แต่มีอาหารประเภทหนึ่งที่ใช้ไม้ไผ่มาเผาเพื่อทำอาหาร ชาวเหนือเรียกว่า “หลาม”  หลามในที่นี้หมายถึงไม้ไผ่ข้าวหลาม
            ไผ่ข้าวหลาม เป็นไม้ไผ่ขนาดกลางทิ้งใบในต้นฤดูแล้ง ลำต้นลักษณะตรงสีเขียวด้านๆ คล้ายมีแป้งหรือขี้ผึ้งสีเทาขาวปกคลุมคลุมคล้ายน้ำค้างแข็งจับ สูง 8-12 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำประมาณ 5-9 เซนติเมตร ข้อไม่หนาหรือพองใต้ข้อจะมีขนสีขาว เป็นไผ่ที่มีเนื้อบางหนาไม่ถึง 5 มม. ปล้องยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร กาบหุ้มลำหลุดร่วงง่าย กาบด้านนอกปกคลุมด้วยขนสีดำหรือน้ำตาลเหลืองเห็นได้ชัด มีครีบกาบหุ้มลำต้น มีขนสีดำเหมือนกัน กระจังกาบหุ้มลำแคบมาก ขอบเรียบ ใบยอดกาบรูปแหลม โคนใบกลมหรือเป็นรูปลิ่ม ยาว 15-30 เซนติเมตร เมื่อลำของไผ่ข้าวหลามอายุ 6-10 เดือน นิยมใช้ทำข้าวหลามได้อย่างดี เผาง่าย ปอกง่าย เพราะเปลือกบางอ่อน และมีเยื่อหุ้มบางๆ หลุดติดออกมากับข้าวหลาม
            สำหรับชาวเหนือแล้วนิยมนำไม้ไผ่ข้าวหลามมาทำข้าวหลามอุ่นๆกินกันช่วงฤดูหนาว โดยใช้ข้าวสารเหนียวกับน้ำเปล่า และเกลือ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่นำใบตองหรือใบไม้อื่นๆมาทำเป็นก้อนขนาดปากกระบอกไม้ไผ่ปิดไว้ แล้วจึงนำมาเผา ไม่ใช่เอากระบอกไม้ไผ่ไปโยนใส่กองไฟนะ เพียงแค่เอากระบอกข้าวหลามมาพิงไว้ข้างๆกองไฟให้ความร้อนทำให้ข้าวในกระบอกสุก โดยต้องคอยหมุนกลับด้านด้วยไม่งั้นข้าวที่หลามจะไหม้และกินไม่ได้  สำหรับข้าวหลามที่ทำขายกันโดยทั่วไป จะใส่น้ำกะทิ และเติมถั่วดำ หรืองาขี้ม้อน การทำข้าวหลามตามประเพณีนิยมของชาวล้านนา จะเป็นพิเศษ เพื่อถวายพระในวันเพ็ญเดือนสี่ หรือประมาณเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการทานร่วมกับการทานข้าวจี่ และข้าวล้นบาตร
            ไม้ไผ่ยังสามารถนำไปใช้เป็นภาชนะในการประกอบอาหารได้อีกมากมายหลายอย่าง เช่น หลามข้าวให้สุก หลามปลา หลามหมู หรือจะใช้แทนหม้อในการทำแกงต่างๆก็ยังได้ในยามอยู่ในป่า  ไม้ไผ่จึงเป็นไม้สารพัดประโยชน์จริงๆ


1 ความคิดเห็น: