วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563




ไส้อั่ว ไส้กรอกคนเมือง เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
            ไส้อั่ว เป็นอาหารประเภทไส้กรอกชนิดหนึ่ง มาจากคำว่า “อั่ว” หมายถึง แทรก หรือยัดไว้ตรงกลาง ไส้อั่ว จึงหมายถึงไส้ที่มีการนำสิ่งของยัดไว้ เป็นอาหารของประจำพื้นที่ภาคเหนือ ปัจจุบันเป็นที่แพร่หลายไปทั่วประเทศไทย  นิยมรับประทานทานกับข้าวเหนียวร้อน มีลักษณธเป็นไส้กรอกวงกลม ทำมาจากเนื้อหมูคลุกเคล้ากับเครื่องแกง แล้วนำไปยัดใส่ในไส้ที่เตรียมไว้โดยจะใช้ไส้หมูและเนื้อหมูก็ได้ จากนั้นนำไปย่างให้มีสีเหลือง เมื่อสุกแล้วจะมีกินหอมจากสมุนไพรที่ใส่ในเครื่องแกง  เมื่อสุกแล้วสามารถเก็บไว้ได้นาน
          สำหรับการทำไส้อั่วนั้นมีส่วนประกอบแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนผสมและเครื่องแกง โดยส่วนผสมหลักก็จะมีหมูติดมันบด ที่ใช้หมูติดมันก็เพราะว่าเวลาย่างไส้อั่วจะมีน้ำมันจำมันหมูหยดออกมาทำให้ไส้อั่วมีความนิ่มไม่แข็งจนเกินไป,ไส้หมูสำหรับนำมายัดไส้,ใบมะกรูด,ผักซีซอย,ต้นหมอมซอย ส่วนเครื่องแกงก็จะมีพริกแห้ง,ข่าหั่นหรือตำหยาบๆ,ตะไคร้ซอย,หอมแดง,กระเทียม,กะปิและเกลือ โขลกรวมกันให้ละเอียด เมื่อได้ส่วนผสมและเครื่องแกงครบแล้ว จากนั้นล้างไส้ที่เตรียมไว้ให้สะอาด โดยใส่น้ำลงในไส้ แล้วกลับด้านในออกมาด้านนอก นำไปแช่น้ำใส่เกลือ ประมาณ 10 นาที แล้วกลับด้านนอกออกเหมือนเดิม 
                นำเครื่องแกงที่โขลกไว้ลงผสมคลุกเคล้ากับเนื้อหมูบดให้เข้ากัน ใส่ผักชีต้นหอมซอย ใบมะกรูดซอย คลุกเคล้าให้เข้ากันปรุงรสตามชอบ  แล้วเอาหมูที่ได้มายัดใส่ในไส้ โดยใช้กรวยช่วยในการกรอกหมูใส่ไส้ เมื่อหมูเต็มไส้แล้วให้มัดปากไส้ จากนั้นนำไส้อั่วที่ได้มาย่างไฟอ่อนๆจนเหลืองสุก โดยเวลาย่างให้ใช้ไม้ปลายแหลมจิ้มระบายอากาศ เพื่อไม่ให้ไส้แตก และควรย่างด้วยถ่านไม้หรือกาบมะพร้าวจะทำให้ไส้อั่วมีกลิ่นหอมควัน เมื่อไส้อั่วสุกแล้วก็หั่นเป็นชิ้นยาวประมาณ 10เซนติเมตร รับประทานทานกับข้าวเหนียวร้อนๆคนละชิ้นสองชิ้นก็จะอิ่มอยู่ท้องไปอีกมื้อ ส่วนที่เหลือรอให้เย็นเก็บไว้รับประทานได้อีกหลายวัน
การทำไส้อั่วเป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษในการถนอมอาหารอย่างหนึ่งของชาวล้านนาที่ใครได้ลิ้มลองแล้วจะต้องติดใจจนลืมไม่ลง ปัจจุบันไส้อั่วกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อ ที่เวลามาแอ่วเหนือจะต้องซื้อติดไม้ติดมือเสมอ.......
ที่มาข้อมูล ศูนย์สารสนเทศภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น