วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563

ตางผีเดิน


ตางผีเตียว เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
            ตางผีเตียว คือ ทางเดินของผีที่ผีต้องผ่าน ส่วนมากจะเป็นหลืบเป็นซอกเล็กๆ ที่คนใช้ผ่านไปมาหาสู่กัน อย่างเช่นบ้านติดกันแต่รั้วกั้นไว้ แต่มีทางเดินเล็กๆไว้ไปมาหาสู่กัน บ้านทางเหนือบางบ้านจะอยู่ร่วมกันเป็นญาติครอบครัวใหญ่ จะใช้พื้นที่เดียว แต่จะสร้างบ้านหลายหลัง เขาเรียกเป็นโพ้ง โพ้งหนึ่งจะมีบ้าน 3หลังขึ้นไป บางทีมี 5-6 หลัง แล้วแต่ญาติเยอะไม่เยอะ ปู่ย่าตายายจะแบ่งมรดกให้ลูกหลานเป็นที่ดินผืนหนึ่ง ให้แบ่งกัน แต่คนเหนือไม่ทำรั้วกั้นเพราะเป็นญาติๆกัน แต่ถ้าผิดใจกันทะเลาะกันรุนแรง ก็มักจะทำรั้วกั้นกัน แต่บ้านที่อยู่ข้างในสุดจะออกยาก ต้องทำทางเล็กๆไว้ออก ทางนั้นส่วนมากก็คือทางผีเตียว
              บางทีทางผีเตียวไม่ใช่แค่ทางเล็กๆเสมอไป ผีอาจจะเดินไปมาได้ทุกทาง แต่ถ้าไปกั้นทางเดินของผีไปล้อมรั้วปิดทางเดินของผี ก็มักจะประสบเคราะห์ร้ายกัน อย่างเช่นเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้  บ้านลุงคนหนึ่งชื่อลุงคำ บ้านอยู่ติดกับถนนใหญ่ หลังบ้านลุงคำมีบ้านอยู่อีกหลายหลัง เพราะโพ้งนั้นเป็นเครือญาติใหญ่ มีประมาณ 5หลังและบ้านทั้ง 5 หลังนี้เคยมีคนตายแล้วทุกหลัง เวลาจะออกมาถนนใหญ่เขาจะออกมาทางซอยด้านข้าง ด้านหลังบ้านลุงคำ มีรั้วกั้นแต่ก็มีทางเล็กให้เดินออกมาได้ เป็นทางลัดออกถนนใหญ่ คนที่อยู่หลังบ้านลุงคำก็ชอบออกจากทางเล็กๆนั้นเป็นประจำเพราะขี้เกียจอ้อมออกซอย
       อยู่มาวันหนึ่งลุงคำนึกไงไม่รู้เอาอิฐมาก่อตรงทางเดินเล็กๆนั้น ปิดไม่ให้คนเดินผ่านไปผ่านมา สงสัยคงรำคาญ พอวันรุ่งขึ้นลุงคำเป็นไข้ขึ้นสูงมาก ไปหาหมอได้ยามาทาน 2-3 วันก็ไม่ทุเลาลง อาการยิ่งหนักไปเรื่อยๆ ไปหาหมอหมอบอกว่าเป็นไข้ธรรมดา ก็สงสัยว่าทานยาแล้วไม่หายไข้ไม่ลดลงเลย ลูกลุงคำเลยตัดสินใจพาลุงคำไปหาหมอดูร่างทรง ทางเหนือเรียกว่า หมอเมี่ย หรือ หมอเมื่อ หมอเมื่อทักมาว่าลุงคำไปปิดทางเดินของผี ซึ่งทางนั้นผีเดินผ่านกันเยอะ ให้ไปทุบออกซะ อีกวันต่อมาลูกลุงคำก็ไปทุบออก อาการของลุงคำก็ค่อยๆหายเป็นปรกติก เรื่องนี้เป็นความเชื่อของคนโบราณ คนโบราณเวลาจะสร้างบ้านก็มักจะสร้างทางเดินแคบๆไว้ไปมาหาสู่กันเสมอ ถ้าลูกหลานผิดใจกันถึงกับขั้นล้อมรั้วกั้นกัน ก็มักจะประสบโชคร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บตลอด
            มีอีกเรื่องหนึ่งของผม ตอนผมเป็นเด็กผมเลี้ยงหมาไว้ตัวหนึ่งตอนมันเล็กๆมันชอบหนีไปบ้านอื่นซึ่งผ่านทางแคบๆ ทางนั้นเป็นทางผีเตียว ผมไม่รู้เลยเอาไม้แผ่นไปกั้นไว้ เพื่อไม่ให้มันออกไป แม่ผมเห็นเลยต่อว่าผมให้เอาออก ทางนั้นเป็นทางผีเตียวเด๋วจะมีอันเป็นไป ผมก็รีบเอาออกเลย แล้วผมก็กลัวไม่ผ่านทางนั้นอีกเพราะว่าเป็นทางผีเตียว แต่คนก็ผ่านได้ผีไม่ทำอะไรให้ แต่ผมเป็นเด็กนี่เนาะก็เลยกลัว



แก๋งหนอไม้



แก๋งหน่อไม้ของลำคนเมือง เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
            ช่วงนี้(ฤดูฝน)หน่อไม้แทงโผล่จากพื้นดิน ทำให้นึกอยากกินแก๋งหน่อไม้ขึ้นมา จึงชักชวนเพื่อนๆหาหน่อไม้สดกัน โดยมีเสียบและมีดอุปกรณ์หลัก เมื่อนัดแนะกันเรียบร้อยก็พากันเดินเข้าไปในป่าแถวบ้านที่มีกอไฝ่ขนาดใหญ่อยู่หลายกอ  เพียงชั่วเวลาสอง-สามชั่วโมงที่พากันมุดหนามดงไฝ่ก็ได้หน่อไม้มาหนึ่งกระสอบปุ๋ย แล้วก็แบ่งสันปันส่วนกันเพื่อนำไปประกอบอาหารยังบ้านใครบ้านมัน และก็เหลือไว้ส่วนหนึ่งไว้ทำหน่อไม้ดองไว้
            เมื่อกลับถึงบ้านก็นำหน่อไม้ แกะเปลือกออก หั่นบางๆ นำไปต้มให้สุก จนมีรสหวาน โขลกใบย่านางให้ละเอียด นำไปคั้นเอาแต่น้ำ ใส่ลงในหม้อต้มหน่อไม้  โขลกเครื่องแกง(พริกขี้หนู กระเทียม หอมแดง ตะใคร้ซอย กะปิ ปลาร้าต้ม เกลือ) รวมกันให้ละเอียด ใส่ลงในหม้อ ต้มสักพัก จนเครื่องแกงสุก ใส่กระดูกหมู หรือปลาดุก หรือปลาช่อน หรือปลาย่าง หรือแคบหมูได้ตามใจชอบ เมื่อเนื้อสัตว์สุก ใส่ผักชะอม ใบชะพลู ปรุงรสตามชอบ แล้วปดหม้อลงตักแก๋งหน่อไม้ใส่ถ้วย แล้วก็แล้ววงปั้นข้าวเหนียวจั้มกันได้เลย ลืมบอกหากบ้านใครชอบน้ำปู๋ก็ตักใส่ละลายในถ้วยได้เลย  เป็นการเพิ่มความอร่อยตามประสาคนเมืองบ้านเรา
            สำหรับหน่อไม้ที่เหลือก็นำทำหน่อไม้สับดองใส่ขวด ซึ่งเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง วิธีทำก็ไม่ยากนำหน่อไม้มาปอกเปลือก และล้างให้สะอาด หลังจากนั้น ให้หั่นหน่อไม้บางๆ หรือสับให้เป็นเส้น เมื่อเตรียมหน่อไม้เรียบร้อยแล้ว ให้นำหน่อไม้ไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน เมื่อได้ 1 คืนแล้ว ให้ตักขึ้นมาให้สะเด็ดน้ำ  นำเกลือเม็ด มาละลายกับน้ำ นำหน่อไม้มาเคล้ากับแป้ง(ข้าวสารเหนียว)ให้ทั่ว แล้วอัดลงในปี๊บ เทน้ำเกลือลงไปให้ท่วมหน่อไม้ ใส่น้ำส้มสายชูลงไป หมักไว้ 1 อาทิตย์ สามารถนำไปประกอบเป็นอาหารจำพวกผัด แก๋งหน่อไม้ส้ม ยำหน่อไม้ ฯลฯ หน่อไม้เป็นอีกหนึ่งอาหารที่ชาวเหนือนิยมทานกัน.....จึงมีเมนูหลากหลายมากมายแตกต่างกันไป....แต่ฉบับนี้ขออนุญาตไปกินแก๋งหน่อก่อน
ที่มาข้อมูล ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, http://www.rakbankerd.com

ข้าวหลาม

ไผ่ข้าวหลาม โดยนายคมสัน  หน่อคำ
            หน้าหนาวปีนี้(พ.ศ.2562) จังหวัดแพร่บ้านเรามีอากาศหนาวเย็นมาก อุณหภูมิบนที่สูงและในป่าต่ำกว่าสิบองศา ทำให้ทุกคนได้สัมผัสกับลมหนาวทำให้ตัวสั่นจนต้องก่อไฟเพื่อผิงแก้หนาวกันเกือบทุกพื้นที่ในแพร่ เวลาล้อมวงนั่งผิงแก้หนาวกันทุกคนก็ต่างพูดคุยกันกันอย่างสนุกสนาน  หาเนื้อหาไก่มาปิ้งๆย่างๆกันไป แต่มีอาหารประเภทหนึ่งที่ใช้ไม้ไผ่มาเผาเพื่อทำอาหาร ชาวเหนือเรียกว่า “หลาม”  หลามในที่นี้หมายถึงไม้ไผ่ข้าวหลาม
            ไผ่ข้าวหลาม เป็นไม้ไผ่ขนาดกลางทิ้งใบในต้นฤดูแล้ง ลำต้นลักษณะตรงสีเขียวด้านๆ คล้ายมีแป้งหรือขี้ผึ้งสีเทาขาวปกคลุมคลุมคล้ายน้ำค้างแข็งจับ สูง 8-12 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำประมาณ 5-9 เซนติเมตร ข้อไม่หนาหรือพองใต้ข้อจะมีขนสีขาว เป็นไผ่ที่มีเนื้อบางหนาไม่ถึง 5 มม. ปล้องยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร กาบหุ้มลำหลุดร่วงง่าย กาบด้านนอกปกคลุมด้วยขนสีดำหรือน้ำตาลเหลืองเห็นได้ชัด มีครีบกาบหุ้มลำต้น มีขนสีดำเหมือนกัน กระจังกาบหุ้มลำแคบมาก ขอบเรียบ ใบยอดกาบรูปแหลม โคนใบกลมหรือเป็นรูปลิ่ม ยาว 15-30 เซนติเมตร เมื่อลำของไผ่ข้าวหลามอายุ 6-10 เดือน นิยมใช้ทำข้าวหลามได้อย่างดี เผาง่าย ปอกง่าย เพราะเปลือกบางอ่อน และมีเยื่อหุ้มบางๆ หลุดติดออกมากับข้าวหลาม
            สำหรับชาวเหนือแล้วนิยมนำไม้ไผ่ข้าวหลามมาทำข้าวหลามอุ่นๆกินกันช่วงฤดูหนาว โดยใช้ข้าวสารเหนียวกับน้ำเปล่า และเกลือ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่นำใบตองหรือใบไม้อื่นๆมาทำเป็นก้อนขนาดปากกระบอกไม้ไผ่ปิดไว้ แล้วจึงนำมาเผา ไม่ใช่เอากระบอกไม้ไผ่ไปโยนใส่กองไฟนะ เพียงแค่เอากระบอกข้าวหลามมาพิงไว้ข้างๆกองไฟให้ความร้อนทำให้ข้าวในกระบอกสุก โดยต้องคอยหมุนกลับด้านด้วยไม่งั้นข้าวที่หลามจะไหม้และกินไม่ได้  สำหรับข้าวหลามที่ทำขายกันโดยทั่วไป จะใส่น้ำกะทิ และเติมถั่วดำ หรืองาขี้ม้อน การทำข้าวหลามตามประเพณีนิยมของชาวล้านนา จะเป็นพิเศษ เพื่อถวายพระในวันเพ็ญเดือนสี่ หรือประมาณเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการทานร่วมกับการทานข้าวจี่ และข้าวล้นบาตร
            ไม้ไผ่ยังสามารถนำไปใช้เป็นภาชนะในการประกอบอาหารได้อีกมากมายหลายอย่าง เช่น หลามข้าวให้สุก หลามปลา หลามหมู หรือจะใช้แทนหม้อในการทำแกงต่างๆก็ยังได้ในยามอยู่ในป่า  ไม้ไผ่จึงเป็นไม้สารพัดประโยชน์จริงๆ





น้ำบ่อ เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
น้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของมุนษย์  ผู้คนในอดีตจะใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลองในการอุปโภคบริโภค บางสถานที่ก็จะรองน้ำฝนไว้ใช้  และหากในละแวกที่อาศัยอยู่นั้นก็จะทำการขุดสระหรือบ่อน้ำเพื่อเอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน
น้ำบ่อหรือบ่อน้ำ  สำหรับชาวล้านนา ถือว่าน้ำบ่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  ก่อนจะขุดบ่อน้ำ จะให้พ่อหมอประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นผู้รู้ของท้องถิ่นในด้านโหราศาสตร์ไสยศาสตร์มาช่วยดูชัยภูมิและกำหนดทิศทางว่าควรจะขุดตรงจุดไหนของบ้านจึงจะ บริเวณไหนขุดแล้วจะมีน้ำ มากสามารถใช้ได้ตลอดปี  น้ำไม่แห้งขอด  บริเวณไหนที่ขุดแล้วจะมีน้ำใสและไม่เป็นน้ำราก (น้ำสนิม มีสีแดง)

            โดยก่อนขุดน้ำบ่อพ่อหมอจะมีวิธีตรวจหาทำเลในการขุดสร้างน้ำบ่อ พ่อหมอจะตีเส้นเป็นช่อง ๆ
คล้ายตาราง  ร่างบนกระดาษก่อน  จากนั้นจึงคำนวณหาทิศทางที่เป็นมงคล เมื่อทราบทิศทางแล้วก็จะไปชี้สถานที่เหมาะสมที่ตรงตามตำราในการขุดหาน้ำบ่อ  หรือพ่อหมอบางคนจะไปตรวจหาสถานที่ในการขุดหาน้ำบ่อในเวลากลางคืน  โดยการเดินไปเดินมาในบริเวณที่จะขุดน้ำบ่อ  เมื่อเลือกได้สถานที่เหมาะสมแล้ว ก็จะปักไม้ไว้เป็นเครื่องหมาย  เคยมีหลายคนตั้งคำถามกับพ่อหมอว่า  ทราบได้อย่างไรว่าพื้นที่บริเวณไหนจะมีน้ำมาก น้ำน้อย  พ่อหมอก็บอกว่าถ้าหากเมื่อเดินผ่านสถานที่บริเวณใดแล้วเกิดความรู้สึกว่ามีกระแสความอุ่นไหลผ่าน  แสดงว่าตรงบริเวณนั้นมีน้ำมาก
              ด้วยบ่อน้ำเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคุณแก่คน  ดังนั้นคนล้านนาจะห้ามนั่งบนปากบ่อ โดยเฉพาะผู้หญิง หากไปนั่ง เชื่อว่าจะทำให้น้ำในบ่อเน่าเสียได้   และห้ามถมน้ำบ่อ ถือว่าเป็นการขึดใหญ่  ไม่ดี  ผู้กระทำต้องได้รับความวิบัติ  ฉิบหาย  และอาจถึงแก่ชีวิตเลยก็ได้ และ ในทุก ๆ ปี ในวันพญาวันหรือวันขึ้นปีใหม่ คนล้านนาจะจุดประทีปบูชาตรงบริเวณบ่อน้ำ ที่ได้ให้น้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภค และเป็นการขอน้ำจากพระแม่ธรณีและพญานาคอีกด้วย           
ที่มา http://www.sri.cmu.ac.th/

ข้าวห่อคนเมือง โดย นายคมสัน  หน่อคำ
                ในอดีตการเดินทางสัญจรนั้นไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ จะไปไหนแต่ละครั้งก็ต้องเดินไป หากมีฐานะก็จะขี่ม้า หรือนั่งวัว-ความเทียมเกวียนกันไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะ By The Foot ใช้เท้าของใครของมันออกย้ำเดินกันไป ระยะทางใกล้ๆก็จะสบายหน่อยใช้เวลาเดินชั่วครู่เดียวหรือข้าวยังไม่ย่อยก็จะถึงจุดหมาย แต่มีความจำเป็นต้องเดินระยะทางไกลๆเป็นเวลาข้ามวันข้ามคืนก็จะสร้างความลำบากไม่ใช่น้อยสำหรับปากท้องแน่นอน
 เมื่อหิวก็คงแวะร้านสะดวกซื้อหรือร้านข้างทางเหมือนปัจจุบันไม่ได้ ดังนั้นเวลาจะเดินทางไกลนั้นจะต้องเตรียมห่อข้าวไปด้วย โดยห่อข้าวเหนียวด้วยใบตองตึงหรือใบตองแล้วมัดด้วยตอก ส่วนกับข้าวนั้น อาหารที่จะใส่มานั้นก็จะเป็นจำพวกอาหารแห้ง เนื้อเค็ม น้ำพริกเป็นหลัก เพราะง่ายและสะดวกในการเก็บรักษาในระหว่างเดินทางกัน และที่สำคัญที่สุดที่จะต้องมีคือเกลือไว้สำหรับเป็นเครื่องปรุง  หรือถ้าจำเป็นต้องเดินทางเป็นแรมเดือนก็จะนำเครื่องแกงติดไปด้วย ส่วนส่วนประกอบหลักๆของชาวล้านนาก็จะมีหอมแดง กระเทียม พริก แห้งหรือพริกสด ข่า ขมิ้น ตะไคร้ กะปิ ปลาร้า เกลือ เป็นต้น สำหรับกะปินั้น ในอดีตนั้นเป็นสิ่งที่หาได้ยากเพราะเป็นผลิตผลจากทะเล ในล้านนาจึงใช้ถั่วเน่าเป็นเครื่องชูรสแทนกะปิ ซึ่งถั่วเน่า นั้นมีอยู่สองประเภทคือ “ถั่วเน่าเมอะ” และถั่วเน่าแผ่นหรือที่เรียกว่า “ถั่วเน่าแข็บ”
                ซึ่งถั่วเน่าเป็นอาหารของชาวไทใหญ่ ทำมาจากถั่วเหลือง โดยนำเอาเมล็ด ถั่วเหลืองแห้งมาแช่น้ำ ล้างทำความสะอาดแล้วนำไปต้มจนถั่วสุก จากนั้นจึงนำ ไปบ่มไว้ในกระบุงหรือตะกร้าที่รองไว้ด้วยใบตองตึงแล้วปิดด้วยใบตองหรือฝาหม้อ หมักไว้เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์ช่วยในการหมัก มักจะหมักไว้ประมาณ 2-3 วัน ก็จะได้ถั่วเน่าเมอะที่มีรสชาติอร่อยอ และหากนำถั่วเน่าเมอะไปคลึงจนเป็นแผ่นบาง ตากแดดจนแห้งจะเรียกว่า ถั่วเน่าแข็บ” เอาไปย่างไฟกินกับข้าวเหนียวอุ่นๆ ก็ได้ หรือจะเอาข้าวเหนียวจิ้ม  ถั่วเน่าเมอะ กินก็ได้
เมื่อจะทำอาหาร เช่น ประเภทแกงก็สามารถใช้ถั่วเน่าเมอะหรือถั่วเน่าแข็บตำผสมกับเครื่องปรุงอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน สำหรับอาหารของชาวล้านนานั้น มักจะออกรสเค็ม มากกว่ารสชาติอื่น ไม่นิยมรสหวานมากนัก ส่วนใหญ่แล้วความ
หวานของอาหารมักจะได้จากความหวานของผักและจะไม่นิยมใส่เนื้อสัตว์มากนัก โดยจะใส่ผักหลายๆชนิดแล้วแต่จะหาได้ในระหว่างการเดินทาง เพราะสมัยก่อนป่าอุดมสมบูรณ์ นก หนู กา ไก่ และสัตว์ต่างๆเมื่อกินพืชผักแล้วก็จะเที่ยวบินหรือหากินไปเรื่อยในระหว่างนั้นก็จะขับถ่ายออกมา ทำให้เมล็ดพันธุ์ที่กินข้าไปนั้นแพร่กระจายทั่วไป โดยเฉพาะพริกป่าที่มีมากเป้นพิเศษ และใช่ว่าจะมีแต่สัตว์ที่ช่วยแพร่พันธุ์พืชผักต่างๆ ชาวล้านนาเองเมื่อเดินทางก็จะไปชมทุ่งกัน โดยจะชมกันก็ในป่าหรือข้างทางที่เดินกันไปนั้นละ.....สำหรับเรื่องห่อข้าวคนเมืองนั้น ยังมีปรากฏในวรรณกรรมในเรื่องลิลิตพระลอก็มีกล่าวถึง ติดตามต่อได้ในฉบับหน้ากับ “ข้าวห่อลิลิตพระลอ” 




ไส้อั่ว ไส้กรอกคนเมือง เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
            ไส้อั่ว เป็นอาหารประเภทไส้กรอกชนิดหนึ่ง มาจากคำว่า “อั่ว” หมายถึง แทรก หรือยัดไว้ตรงกลาง ไส้อั่ว จึงหมายถึงไส้ที่มีการนำสิ่งของยัดไว้ เป็นอาหารของประจำพื้นที่ภาคเหนือ ปัจจุบันเป็นที่แพร่หลายไปทั่วประเทศไทย  นิยมรับประทานทานกับข้าวเหนียวร้อน มีลักษณธเป็นไส้กรอกวงกลม ทำมาจากเนื้อหมูคลุกเคล้ากับเครื่องแกง แล้วนำไปยัดใส่ในไส้ที่เตรียมไว้โดยจะใช้ไส้หมูและเนื้อหมูก็ได้ จากนั้นนำไปย่างให้มีสีเหลือง เมื่อสุกแล้วจะมีกินหอมจากสมุนไพรที่ใส่ในเครื่องแกง  เมื่อสุกแล้วสามารถเก็บไว้ได้นาน
          สำหรับการทำไส้อั่วนั้นมีส่วนประกอบแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนผสมและเครื่องแกง โดยส่วนผสมหลักก็จะมีหมูติดมันบด ที่ใช้หมูติดมันก็เพราะว่าเวลาย่างไส้อั่วจะมีน้ำมันจำมันหมูหยดออกมาทำให้ไส้อั่วมีความนิ่มไม่แข็งจนเกินไป,ไส้หมูสำหรับนำมายัดไส้,ใบมะกรูด,ผักซีซอย,ต้นหมอมซอย ส่วนเครื่องแกงก็จะมีพริกแห้ง,ข่าหั่นหรือตำหยาบๆ,ตะไคร้ซอย,หอมแดง,กระเทียม,กะปิและเกลือ โขลกรวมกันให้ละเอียด เมื่อได้ส่วนผสมและเครื่องแกงครบแล้ว จากนั้นล้างไส้ที่เตรียมไว้ให้สะอาด โดยใส่น้ำลงในไส้ แล้วกลับด้านในออกมาด้านนอก นำไปแช่น้ำใส่เกลือ ประมาณ 10 นาที แล้วกลับด้านนอกออกเหมือนเดิม 
                นำเครื่องแกงที่โขลกไว้ลงผสมคลุกเคล้ากับเนื้อหมูบดให้เข้ากัน ใส่ผักชีต้นหอมซอย ใบมะกรูดซอย คลุกเคล้าให้เข้ากันปรุงรสตามชอบ  แล้วเอาหมูที่ได้มายัดใส่ในไส้ โดยใช้กรวยช่วยในการกรอกหมูใส่ไส้ เมื่อหมูเต็มไส้แล้วให้มัดปากไส้ จากนั้นนำไส้อั่วที่ได้มาย่างไฟอ่อนๆจนเหลืองสุก โดยเวลาย่างให้ใช้ไม้ปลายแหลมจิ้มระบายอากาศ เพื่อไม่ให้ไส้แตก และควรย่างด้วยถ่านไม้หรือกาบมะพร้าวจะทำให้ไส้อั่วมีกลิ่นหอมควัน เมื่อไส้อั่วสุกแล้วก็หั่นเป็นชิ้นยาวประมาณ 10เซนติเมตร รับประทานทานกับข้าวเหนียวร้อนๆคนละชิ้นสองชิ้นก็จะอิ่มอยู่ท้องไปอีกมื้อ ส่วนที่เหลือรอให้เย็นเก็บไว้รับประทานได้อีกหลายวัน
การทำไส้อั่วเป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษในการถนอมอาหารอย่างหนึ่งของชาวล้านนาที่ใครได้ลิ้มลองแล้วจะต้องติดใจจนลืมไม่ลง ปัจจุบันไส้อั่วกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อ ที่เวลามาแอ่วเหนือจะต้องซื้อติดไม้ติดมือเสมอ.......
ที่มาข้อมูล ศูนย์สารสนเทศภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

               


ห่อลิลิตพระลอ เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
                ข้าวห่อลิลิตพระลอปรากฏในวรรณกรรมเรื่องลิลิตพระลอ  ซึ่งเป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมแห่งความรักระหว่างพระลอเจ้าชายรูปงามกับพระเพื่อนพระแพง โดยเรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาลนานเท่าใดไม่ปรากฏ มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อ แมนสรวงมีเจ้าเมืองคือ ท้าวแมนสรวงซึ่งมีพระโอรสองค์หนึ่งนามว่า พระลอพระวรกายงดงามจนเป็นที่เลื่องลือไปไกลทั่วทุกสาระทิศ
                กล่าวถึงเมืองสรอง(ปัจจุบัน คือ อ.สอง จ.แพร่)ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองแมนสรวงเจ้าเมืองสรองชื่อ ท้าวไชยพิษณูกร มีพระราชธิดาฝาแฝด พระนามว่า พระเพื่อน-พระแพงราชธิดาทั้งสองมีพระสิริโฉมที่งดงามเกินกว่าสตรีใดในหล้าจะสวยเทียมเท่า  วันหนึ่งมีนักขับเพลงพเนจร ได้นับเพลงชมความงามของพระลอว่ามีรูปโฉมงามหล่อดุจเทพพระบุตร เมื่อพระเพื่อน-พระแพง ได้ฟังก็ทรงเคลิบเคลิ้มหลงรักพระลอ พระพี่เลี้ยงของสองพระนาง คือ นางรื่นและนางโรยจึงได้พยายามหาวิธีต่างๆเพื่อจะให้ทั้งสองพระธิดาสมหวังในความรัก จึงได้ปรึกษากันไปเฝ้าปู่เจ้าสมิงพราย ร้องขอให้ปู้เจ้าสมิงพรายดลใจให้พระลอเดินทางมายังเมืองสรองให้ได้ ปู่เจ้าฯได้นั่งยามตรวจดูแล้วเห็นว่าเป็นบุพกรรมแต่ปางก่อนของสามกษัตริย์ จึงรีบให้ความช่วยเหลือดลใจให้พระลอร้อนใจต้องเดินทางมายังเมืองสรอง
                ครั้นได้ฤกษ์พระลอ จึงเข้าไปปลอบและอำลามเหสี แม่นมและเหล่าสนมกำนัน ยิ่งก่อเกิดความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ไปทั่วทั้งวัง แม่นมของพระลอชื่อ นางศรีเพ็ญ ได้ทำข้าวห่อให้ด้วยความเป็นห่วงว่าระหว่างเดินทางหนทางจะทุรกันดาร เพราะกลัวว่าพระลอจะหิวและอดอยาก จึงได้จัดเตรียมห่อข้าวไว้ให้เสวยระหว่างทางยามหิว ห่อข้าวนั้นห่อด้วยใบตองตึง ภายในมีข้าวเข็มทอง(ข้าวเหนี่ยว)เป็นข้าวพันธุ์ดี จิ้นปิ้ง น้ำพริก ไข่ต้มและผักลวก ระหว่างเดินทางมาเมืองสรอง พระลอได้นำข้าวห่อมาเสวยและรำลึกนึกถึงความห่วงใยของแม่นมที่ได้เลี้ยงดูตนเองมาตั้งแต่ครั้นเป็นทารกจนกระทั่งเติบใหญ่ หยิบข้าวเข็มทองที่แม่นมเคยป้อนที่ละคำๆ ก็อดรำพันคิดถึงแม่นมผู้คอยเฝ้าเลี้ยงดูมาแต่อ้อนแต่อ้อดไม่ได้ ด้วยลักษณ์ห่อข้าวดังกล่าว ชาวบ้านได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการห่อข้าวสำหรับการเดินทาง
                ปัจจุบันข้าวห่อดังกล่าว ก็คือข้าวเหนี่ยวพันธุ์เข็มทอง แต่เนื่องจากว่าแม่นมของพระลอไม่มีผัว จึงมีการเรียกล้อเลียนเป็นข้าวคานทอง จึงเป็นเหตุให้เกิดมีการเรียกหญิงสาวที่ไม่ได้แต่งงานว่า ขึ้นคานเกิดเป็นตำนานข้าวห่อลิลิตพระลอ และคำเรียกหญิงสาวที่ไม่แต่งงานว่าขึ้นคานรวมถึงข้าวสายพันธุ์เข้มทองที่ถูกเรียกว่า ข้าวคานทอง
                 การทำห่อข้าวลิลิตพระลอ จะมีการห่อเป็นชั้นๆ ชั้นนอกใช้ใบตองตึงห่อสำหรับห่อกับข้าวต่างๆรวมกัน ชั้นในประกอบด้วยไข่ต้ม 1 ฟอง เกลือ 4 ห่อ น้ำพริกตาแดง 1 ห่อ จิ้นย่าง(หมู,เนื้อ,ปลา)ข้าวเหนียวหนึ่งห่อ ส่วนผักนั้นแต่เดิมสามารถหาเก็บระหว่างทาง แต่ปัจจุบันนิยมห่อรวมกันไปเลย
ข้อมูลจาก ตำนานลิลิตพระลอ รวบรวมโดย อบต.บ้านกลาง อ.สอง จ.แพร่