วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ตำนานวัดพระธาตุจอมแจ้ง ตอนที่ 3 (ชื่อบ้านนามเมือง)


     ปี พ.ศ. 1900 สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พญาลิไท ผู้ครองอาณาจักรล้านนาไทย ทรงทราบว่ามีวัดวาหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือได้มีการชำรุดเสียหายจากสงครามหลายแห่ง จึงมีความคิดว่าจะต้องบูรณะซ่อมแซมให้ดีขึ้น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพบูชาพุทธศาสนาต่อไป จึงยกไพร่พลช้างม้า ข้าราชบริพาร พร้อมด้วยทรัพย์จำนวนมากจากเมืองศรีสัชชนาลัยราชธานีแห่งอาณาจักรล้านนาไทยมายังเมืองพลนคร เพื่อปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มั่นคงถาวร ตามความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่ทรงมี พอมาถึงบ้านกวางได้พักแรมอยู่เป็นเวลา 1 คืน แล้วจึงเสด็จต่อ แต่ในคืนนั้นช้างเชือกหนึ่งที่บรรจุของมาได้ล้มลงในลักษณะหมอบหรือมูบ บ้านกวางแห่งนี้จึงได้นามว่า “บ้านกวางช้างมูบ” จนถึงทุกวันนี้ แล้วพญาลิไทจึงมีบัญชาเฉลี่ยสิ่งของไปบรรจุยังช้างเชือกอื่นและเดินทางต่อ เพื่อเสด็จไปยังพระบรมธาตุที่ควรบูรณะดังที่ตั้งพระหฤหัยไว้นั้น ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้แจ้งแล้วจึงเคลื่อนขบวน ไปยังดอยที่อยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านกวาง จึงเรียกดอยนี้ว่า “ดอยจวนแจ้ง” หรือ “พระธาตุจอมแจ้ง” พระองค์จึงสั่งให้ข้าราชบริพาร และสนมทั้งสอง จัดที่ประทับของพระองค์บนดอยแห่งนี้ (ปัจจุบันยังมีซากกำแพง ห้องพัก และบ่อน้ำเหลืออยู่) ชาวบ้านเรียกสถานที่นี้ว่า “ศาลานางแก๋ว นางแมน และบ่อน้ำนางแก๋ว นางแมน” 

     เมื่อพระองค์และข้าราชบริพารพักอยู่ที่นี้พอสมควรแล้วจึงได้เสด็จไปยังพระธาตุช่อแฮต่อ เพื่อทำการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุและสร้างโบสถ์ วิหาร สำเร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้เสด็จกลับมาบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุจอมแจ้ง อุโบสถ วิหาร สำเร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้เสด็จกลับไปสร้างอารามขึ้นแห่งหนึ่งตรงที่ช้างล้มเสียชีวิตเชือกหนึ่งมีชื่อว่า ดอยช้างมูบ ปัจจุบันนี้เรียกว่า “วัดกุญชรนิมาตร” ทางวัดจึงได้สร้างรูปช้างมูบไว้ที่นั้นเป็นสัญลักษณ์ของวัดสืบมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นพญาลิไท ก็ได้เสด็จกลับยังเมืองศรีสัชชนาลัยแล้วพระองค์จึงได้ทรงเสด็จออกผนวช

      หลังจากพญาลิไทซ่อมแซมองค์พระธาตุ อุโบสถ วิหารและวัดวาเรียบร้อยแล้วสนมทั้งสองของพระองค์ที่มีชื่อว่า นางสายฟองแก้ว กับนางสายบัวแมน ได้เสียชีวิต วิญญาณของทั้งสองก็ได้ไปสถิตยังเจดีย์ปิดปากถ้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุ ซึ่งบางครั้งนางสายฟองแก้ว นางสายบัวแมน จะไปยืมฟืมทอผ้าของชาวบ้านแถบนั้นมาทอผ้า ถ้าไปยืมตอนเช้าตอนเย็นนางก็เอามาคืนเจ้าของทุกครั้งโดยไม่ให้ข้ามคืน เวลาเอาฟืมมาคืนเจ้าของนางสายฟองแก้ว นางสายบัวแมนกลับแล้วเจ้าของฟืมไปดูขมิ้นที่ทิ้งไว้ในตะกร้าปรากฎว่าขมิ้นได้เปลี่ยนเป็นทองคำไป

     สำหรับเขตกำแพงรอบพระธาตุจอมแจ้งมีตำนานกล่าวว่าวัวอุศุภราชตัวที่อาศัยอยู่ในถ้ำนั้นออกมาเยี่ยวรดเป็นแนวเขตไว้ คนโบราณจึงได้ก่อกำแพงตามรอยเยี่ยวของวัวนั้น กำแพงจึงมีลักษณะคดโค้งไปมาเหมือนวัวเยี่ยวตราบเท่าทุกวันนี้

ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก เว็ปไซด์วังฟ่อน,เรื่องเล่าอาจารย์ยอด,วิกีพีเดีย
เขียนและเรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
083-7373307


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น