วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ตำนานวัดพระธาตุจอมแจ้ง ตอนที่ 3 (ชื่อบ้านนามเมือง)


     ปี พ.ศ. 1900 สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พญาลิไท ผู้ครองอาณาจักรล้านนาไทย ทรงทราบว่ามีวัดวาหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือได้มีการชำรุดเสียหายจากสงครามหลายแห่ง จึงมีความคิดว่าจะต้องบูรณะซ่อมแซมให้ดีขึ้น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพบูชาพุทธศาสนาต่อไป จึงยกไพร่พลช้างม้า ข้าราชบริพาร พร้อมด้วยทรัพย์จำนวนมากจากเมืองศรีสัชชนาลัยราชธานีแห่งอาณาจักรล้านนาไทยมายังเมืองพลนคร เพื่อปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มั่นคงถาวร ตามความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่ทรงมี พอมาถึงบ้านกวางได้พักแรมอยู่เป็นเวลา 1 คืน แล้วจึงเสด็จต่อ แต่ในคืนนั้นช้างเชือกหนึ่งที่บรรจุของมาได้ล้มลงในลักษณะหมอบหรือมูบ บ้านกวางแห่งนี้จึงได้นามว่า “บ้านกวางช้างมูบ” จนถึงทุกวันนี้ แล้วพญาลิไทจึงมีบัญชาเฉลี่ยสิ่งของไปบรรจุยังช้างเชือกอื่นและเดินทางต่อ เพื่อเสด็จไปยังพระบรมธาตุที่ควรบูรณะดังที่ตั้งพระหฤหัยไว้นั้น ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้แจ้งแล้วจึงเคลื่อนขบวน ไปยังดอยที่อยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านกวาง จึงเรียกดอยนี้ว่า “ดอยจวนแจ้ง” หรือ “พระธาตุจอมแจ้ง” พระองค์จึงสั่งให้ข้าราชบริพาร และสนมทั้งสอง จัดที่ประทับของพระองค์บนดอยแห่งนี้ (ปัจจุบันยังมีซากกำแพง ห้องพัก และบ่อน้ำเหลืออยู่) ชาวบ้านเรียกสถานที่นี้ว่า “ศาลานางแก๋ว นางแมน และบ่อน้ำนางแก๋ว นางแมน” 

     เมื่อพระองค์และข้าราชบริพารพักอยู่ที่นี้พอสมควรแล้วจึงได้เสด็จไปยังพระธาตุช่อแฮต่อ เพื่อทำการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุและสร้างโบสถ์ วิหาร สำเร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้เสด็จกลับมาบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุจอมแจ้ง อุโบสถ วิหาร สำเร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้เสด็จกลับไปสร้างอารามขึ้นแห่งหนึ่งตรงที่ช้างล้มเสียชีวิตเชือกหนึ่งมีชื่อว่า ดอยช้างมูบ ปัจจุบันนี้เรียกว่า “วัดกุญชรนิมาตร” ทางวัดจึงได้สร้างรูปช้างมูบไว้ที่นั้นเป็นสัญลักษณ์ของวัดสืบมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นพญาลิไท ก็ได้เสด็จกลับยังเมืองศรีสัชชนาลัยแล้วพระองค์จึงได้ทรงเสด็จออกผนวช

      หลังจากพญาลิไทซ่อมแซมองค์พระธาตุ อุโบสถ วิหารและวัดวาเรียบร้อยแล้วสนมทั้งสองของพระองค์ที่มีชื่อว่า นางสายฟองแก้ว กับนางสายบัวแมน ได้เสียชีวิต วิญญาณของทั้งสองก็ได้ไปสถิตยังเจดีย์ปิดปากถ้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุ ซึ่งบางครั้งนางสายฟองแก้ว นางสายบัวแมน จะไปยืมฟืมทอผ้าของชาวบ้านแถบนั้นมาทอผ้า ถ้าไปยืมตอนเช้าตอนเย็นนางก็เอามาคืนเจ้าของทุกครั้งโดยไม่ให้ข้ามคืน เวลาเอาฟืมมาคืนเจ้าของนางสายฟองแก้ว นางสายบัวแมนกลับแล้วเจ้าของฟืมไปดูขมิ้นที่ทิ้งไว้ในตะกร้าปรากฎว่าขมิ้นได้เปลี่ยนเป็นทองคำไป

     สำหรับเขตกำแพงรอบพระธาตุจอมแจ้งมีตำนานกล่าวว่าวัวอุศุภราชตัวที่อาศัยอยู่ในถ้ำนั้นออกมาเยี่ยวรดเป็นแนวเขตไว้ คนโบราณจึงได้ก่อกำแพงตามรอยเยี่ยวของวัวนั้น กำแพงจึงมีลักษณะคดโค้งไปมาเหมือนวัวเยี่ยวตราบเท่าทุกวันนี้

ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก เว็ปไซด์วังฟ่อน,เรื่องเล่าอาจารย์ยอด,วิกีพีเดีย
เขียนและเรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
083-7373307


วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

จังหวัดแพร่เดินหน้าเตรียมความพร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน


      จังหวัดแพร่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี งบประมาณ 2561 เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างจิตสำนึกไม่เผา เพื่ออากาศบริสุทธิ์

       สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(6ก.พ.61) ที่ห้องจดหมายเหตุ ศาลากลางจังหวัดแพร่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดแพร่ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี งบประมาณ 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกระดับทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน การจัดตั้งศูนย์สั่งการแก้ไขปัญหาไฟป่า หรือ War room การสำรวจเครื่องมือ เครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆในการดับไฟ การจัดชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ออกปฏิบัติการทันทีเมื่อเกิดเพลิงไหม้ การจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ข้างทางหลวง

       โดยจังหวัดแพร่ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ในทุกรูปแบบ ผ่านสื่อทุกประเภท และจะได้จัดชุดตรวจเยี่ยมเคาะประตูบ้าน สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ โดยมีกำหนดห้ามเผาเด็ดขาดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 เมษายน 2561 ทั้งพื้นที่การเกษตร พื้นที่ป่า และพื้นที่ริมทาง

         นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำแอปพลิเคชั่น OMFS ในการค้นหาจุดความร้อน หรือ Hotspot ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือตอนบน 2 พื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน จะทำให้ทราบจุดของการเกิดเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการเข้าพื้นที่ไปดับไฟ หรือระงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว

       ในส่วนคุณภาพอากาศโดยรวมในพื้นที่จังหวัดแพร่นั้น วันนี้(6ก.พ.61) ช่วงบ่าย จังหวัดแพร่มีคุณภาพอากาศปานกลาง ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอนอยู่ที่ 85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร










ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

เกษตรกรงดเผาตอซังข้าว ลดปัญหาหมอกควัน นำมาเก็บไว้ให้เป็นอาหารวัว


     เกษตรกรชาวตำบลป่าแมตอำเภอเมือง จังหวัดแพร่หลังการเก็บเกี่ยวจะนำฟางข้าวมาอัดแท่งแทนการเผาเพื่อเก็บไว้เป็นอาหารวัว ลดปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศ

      สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ที่บริเวณทุ่งนาหมู่ 8 และ หมู่ 11 ตำบลป่าแมต อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนา ปลูกข้าว หลังปลูกข้าวก็จะปลูกถั่วเหลืองต่อ หมุนเวียนตลอดทั้งปี และในพื้นที่จะไม่มีการเผาตอซัง ฟางข้าวเพราะมีการบริหารจัดการกันแบบครบวงจร โดยนายไพรวัลย์ ชาติสิงห์ทอง อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 116 หมู่ 11 ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ เจ้าของที่นากว่า 20 ไร่ และยังเลี้ยงวัวพันธุ์ไว้ในพื้นที่อีกกว่า 40 ตัว ได้นำเอาฟางข้าว และเปลือกถั่วเหลืองมาเป็นอาหารของวัวได้ตลอดทั้งปี

     นายไพรวัลย์ชาติสิงห์ทอง เล่าว่า ที่นาแห่งนี้จะไม่มีการเผาฟางข้าวเพราะหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็จะนำฟางมาอัดเป็นก้อนเพื่อเก็บตุนไว้เป็นอาหารวัวในช่วงที่ฝนตกหนักๆ วัวก็จะไม่สามารถออกมาหากินได้ ช่วงนี้ก็จะนำวัวออกมาหากินจนกว่าหญ้าและฟางจะหมด โดยพื้นที่แถวนี้จะทำการเกษตรกันตลอดทั้งปี หลังเก็บเกี่ยวข้าวก็จะปลูกถั่วเหลือง ถั่วแขก ก็จะนำฟางข้าวที่เกี่ยวแล้วไปกลบหน้าดินเพื่อให้หน้าดินมีความชุ่มชื้น บางแห่งก็ไถกลบไปกับดินเลยหากปลูกถั่วแขก เพราะจะได้เป็นปุ๋ยไปในตัว ทำให้พื้นที่แถวนี้ส่วนใหญ่ไม่มีการเผานา เพราะมีการบริหารจัดการกันแบบครบวงจร นอกจากฟางข้าวแล้วเปลือกถั่วที่จะทำการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้จะสามารถนำเปลือกถั่วมาตุนไว้เป็นอาหารให้วัวในช่วงหน้าฝนได้อีกด้วย/.

ฉัตรชัย พวงขจร /ข่าว /พิมพ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

จังหวัดแพร่............กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์หมู่บ้านปลอดการเผา



     กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์หมู่บ้าน ชุมชนปลอดการเผา ในพื้นที่บ้านวังหงส์ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

      สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(18ม.ค.61) ที่บ้านวังหงส์ หมู่ 1 ตำบลวังหงส์      อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ดร.จงรักษ์ ฐินะกูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผา ชุมชนปลอดการเผา โดยมีนายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ร่วมกิจกรรมดังกล่าว

      ทั้งนี้เพื่อเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ตลอดจนเกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการไม่เผาในที่โล่ง เพื่อลดปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอน ลดมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพอนามัย และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในห้วงของเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน

     บ้านวังหงส์ อำเภอเมืองแพร่เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีความสามัคคี ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชน ทั้งการคัดแยกและกำจัดขยะโดยใช้หลัก 3 R คือ Reduce Reuse Recycle มีการบริหารจัดการระบบการใช้น้ำในการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่มีผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และการป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผา ของจังหวัดแพร่ในปีนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง แก้ไขปัญหามลพิษและหมอกควันในทุกพื้นที่

      ในการจัดกิจกรรมมีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อยู่อย่างพอเพียง มาสาธิตให้ผู้ร่วมงานได้เรียนรู้ และมีฐานการเรียนรู้ด้านการดับไฟป่า การจัดทำแนวกันไฟ และการสร้างฝายชะลอน้ำสร้างความชุ่มชื้นแก่ผืนป่า ในการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน /.



ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

ชาวบ้านตำบลต้าผามอก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ไม่เผาฟางข้าว แต่นำมาใช้คลุมหน่อไม้แทนการเผา

     เกษตรกรชาวตำบลต้าผามอก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ไม่มีการเผาฟางข้าวทิ้ง แต่นำมาใช้คลุมหน่อไม้หวานแทนการเผา ส่งผลให้หน่อไม้มีความสวยงามเป็นที่ต้องการของท้องตลาด
 
   สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า จากการรณรงค์ป้องกันไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งมีช่วงห้ามเผาโดยเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 15 เมษายน 2561 นั้น เพื่อลดปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น โดยเกษตรกรในพื้นที่ตำบลต้าผามอก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ไม่มีการเผาฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวทิ้งแต่อย่างใด แต่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการนำไปคลุมโคนต้นไผ่หวาน หรือหน่อเป๊าะแทน จึงเรียกว่า "หน่อไม้ห่มฟาง” โดยฟางข้าวในนาข้าวจะถูกเก็บเกี่ยวมากองไว้ตามสวนหน่อไม้ ซึ่งต้องใช้ตลอดทั้งปี ทำให้ฟางข้าวไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
 
   นอกจากจะเป็นการไม่เผาทำลายฟางข้าวที่ส่งผลกระทบด้านมลพิษแล้ว ฟางที่นำไปคลุมกอไผ่ยังป้องกันการระเหยของน้ำ ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ไม่สูญเสียหน้าดิน ที่สำคัญหน่อไม้หวานที่ได้จะมีความอวบ ขาวน้ำหนักดี สวยงามตามความต้องการของท้องตลาด ขายได้ราคาดี เป็นพืชที่สร้างรายได้หลักของตำบลต้าผามอก อำเภอลองไปแล้ว /.
 
  
ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

จังหวัดแพร่สร้างความเข้าใจแก่เยาวชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

   



     จังหวัดแพร่สร้างความเข้าใจแก่เยาวชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน อบรมเด็กและเยาวชนปลูกจิตสำนึกและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของเยาวชนในสถานศึกษา กิจกรรม ถิ่นฟ้าสดใสเมืองแพร่ไร้หมอกควัน

      สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงาน วันนี้(13ก.พ.61) ที่หอประชุมผึ้งหลวง โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ นายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดการอบรมเยาวชนอาสาสมัครป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดแพร่ กิจกรรม ถิ่นฟ้าสดใสเมืองแพร่ไร้หมอกควัน โดยดึงเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกจิตสำนึกและสร้างเครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ของจังหวัดแพร่ โดยคัดเลือกโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 37 แพร่ จำนวน 16 แห่ง เข้าอบรมจำนวน 16 รุ่น มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 4,857 คน โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 11 มีนักเรียน เยาวชนเข้ารับการอบรมจำนวน 1,056 คน

      ทั้งนี้ 9 จังหวัดภาคเหนือรวมทั้งจังหวัดแพร่จะประสบกับปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างรุนแรงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี เนื่องจากในช่วงดังกล่าวเกิดมวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงเริ่มปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้วงและนิ่ง ฝุ่นละอองสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน ไม่สามารถแพร่กระจายออกไปได้และไม่ตกสู่พื้น ก่อให้เกิดสภาพฟ้าหลัว มีหมอกควันปกคลุม และแนวโน้มปัญหาหมอกควันและไฟป่าเกิดต่อเนื่องทุกๆปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ระบบนิเวศป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

      จังหวัดแพร่ในปี 2560 ที่ผ่านมามีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM10 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน จำนวน 2 วัน ค่าสูงสุด 142 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และตรวจพบจุดความร้อน หรือ Hotspot รวม 297 จุด จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในทุกระดับ ไม่เผาในทุกชนิดตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์- 15 เมษายน 2561 /.

ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

วิทยาลัยชุมชนแพร่ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไม้ด้านมาตรฐานเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก

     






    วิทยาลัยชุมชนแพร่ นำโดยนายอุบลศักดิ์ ขีดสร้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์หัวดง ต.ดอนมูล จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการมาตรฐานเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพศูนย์การเรียนรู้ไม้สักวิทยาลัยชุมชนแพร่ ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ที่ทำการกองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลดอนมูล อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่


วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประเพณีไหว้สาพระธาตุช่อแฮ



     พระธาตุ คือ ??? หลายท่านคงทราบว่า ธาตุ คือ ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคน (ทั้งส่วนที่เป็นกระดูกและอวัยวะภายในอื่น)ที่เหลือจากการถูกเผา ที่เห็นชัดก็คือกระดูกของคนที่เหลือจากการถูกเผาแล้ว ซึ่ง "พระธาตุ" มีความหมายเหมือนกับคำว่า "ธาตุ" แต่มีข้อพิเศษออกไปก็คือเป็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคนที่บรรลุธรรม มีจิตใจบริสุทธิ์หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ซึ่งเหลือจากการถูกเผา บางทีเรียกว่า "พระอรหันตธาตุ" พระสาวก สาวิกาของพระพุทธเจ้า(หมายรวมถึง พระปัจเจกพุทธเจ้า และอุบาสก อุบาสิกาผู้เป็นอรหันต์ด้วย)

     ส่วน "พระบรมสารีริกธาตุ" หมายถึง พระธาตุที่เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปูชนียธาตุอังทรงคุณค่าอย่างสูงสุดในโลกสำหรับพุทธศาสนิกชน เกิดจากการถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้าภายหลังจากที่ได้ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน ส่วนพระธาตุที่เป็นของพระอรหันตสาวกจะเรียกว่า "พระธาตุหรือพระอรหันตสาวกธาตุ"

     จากตำนานกล่าวว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเล็งเห็นว่า พระองค์มีเวลาปฏิบัติพุทธกิจเพียง ๔๕ ปี ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ศาสนาของพระองค์ยังไม่แพร่หลายและหมู่สัตว์ทั้งหลายเกิดมาไม่ทันสมัยพระองค์มีมากนัก หากได้อัฐิธาตุของพระองค์ไปอุปัฏฐากบูชา จะได้บุญกุศลเป็นอันมากจึงทรงอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุ ของพระองค์แตกย่อยออกเป็น ๓ สัณฐาน ยกเว้นธาตุทั้ง ๗ ประการ คือกระดูกหน้าผาก ๑ (พระนลาฏ) พระเขี้ยวแก้ว ๔ และกระดูกไหปลาร้า ๒ (พระรากขวัญ) นอกจากนั้นให้กระจายไปทั่วทุกสารทิศเพื่อยังประโยชน์แก่หมู่สัตว์โลกต่อไป

     จังหวัดแพร่ก็มีพระธาตุช่อแฮ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดสำหรับคนที่เกิดปีเสือ (ปีขาล) ที่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้และเคารพบูชา โดยตำนานกล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าครั้งเมื่อเสด็จมาถึงเมืองพล (เมืองแพร่)ได้ประทับ ณ ดอยโกสัยธชัคคะบรรพต ขณะนั้นมีหัวหน้าชาวลั๊วะนามว่า ขุนลั๊วะอ้ายค้อม (อ่านว่า "ก้อม" ) ได้มากราบไหว้พระพุทธเจ้าที่บนดอยนี้ พระพุทธเจ้าได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ขุนลั๊วะอ้ายค้อมเห็น เนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่ร่มรื่น เหมาะสมที่จะตั้งเป็นสถานที่ไว้ในพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุที่ระลึกโดยเอาเส้นพระเกศาเส้นหนึ่งให้แก่ขุนลั๊วะอ้ายก้อมไว้ มีรับสั่งให้เอาเส้นพระเกศานี้ไปไว้ในถ้ำที่อยู่ใกล้บริเวณนี้ และพระองค์ทรงมีรับสั่งอีกว่าเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ให้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุพระศอกข้างซ้ายมาบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้ และต่อไปภายหน้าจะได้ชื่อว่าเมืองแพร่ โดยเป็นเมืองใหญ่ที่ซึ่งพระองค์เคยเสด็จประทับนั่ง ณ ใต้ต้นหมากนี้ เมื่อทรงทำนายแล้วก็เสด็จจาริกไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ทรงเห็นว่าควรจะเป็นที่ตั้งพระธาตุได้ จากนั้นจึงเสด็จกลับไปยังพระเชตวันอารามและหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี ตรงกับสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์ทั้งปวงได้ร่วมกันอธิษฐานว่าเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น เคยเสด็จไปยังถิ่นฐานบ้านเมืองหลายแห่ง แล้วทรงหมายสถานที่ที่ควรจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้

     จึงขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ได้บรรจุในโกศที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตอยู่ในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงหมายไว้นั้นเถิด เมื่ออธิษฐานแล้วพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายก็เสด็จออกจากโกศโดยทางอากาศไปตั้งอยู่ที่แห่งนั้น ๆ ทุกแห่ง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุเหลืออยู่ พระอรหันต์ทั้งปวงก็อัญเชิญไปบรรจุในพระเจดีย์ 84,000 องค์นั้น แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป จนกว่าจะหมดอายุแห่พระพุทธศาสนา 5,000 พระวัสสา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2523

     สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งทอจากสิบสองปันนาที่ชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ไต้ (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปีซึ่งถือว่าการจัดงานไหว้พระธาตุช่อแฮ ยึดถือตามจันทรคติเป็นหลัก และขอเชิญเที่ยว



     "งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2558" ในระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 4 มีนาคม 2558 ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อ.เมือง จ.แพร่ ชมขบวนแห่เครื่องสักการะ ขบวนช้างเจ้าหลวง ขบวนแห่จาก 8 อำเภอของจังหวัดแพร่ ชมการแสดงทางวัฒนธรรม มหรสพสมโภช สวนสนุก การแสดงดนตรีศิลปินดังมากมาย เลือกซื้อสินค้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ชุมชน และสินค้าราคาถูกจากโรงงาน ไหว้พระ ขอพร เสริมสิริมงคล ร่วมทำบุญตักบาตร ทำบุญบูรณะศาลาบาตร และเวียนเทียนวันมาฆบูชาในคืนเป็งปุ๊ด

อย่าลืม 26 กุมภาพันธ์ ถึง 4 มีนาคม 2558 เที่ยวงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง //
(ปัจจุบัน 12 ก.พ. 2561 ประเพณีได้เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา)


เรียบเรียงโดย คมสัน หน่อคำ 083-7373307

วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เทศบาลเมืองแพร่จัดกิจกรรม เดินรณรงค์ชุมชนปลอดขยะ ณ.ชุมชนเหมืองหิตต้นธง



      เทศบาลเมืองแพร่จัดกิจกรรม เดินรณรงค์ชุมชนปลอดขยะ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 08.30-11.00 น. ณ.ชุมชนเหมืองหิตต้นธง เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับขยะ โดยมีการออกเดินประชาสัมพันธ์ตามเส้นทางภายในชุมชน
       งานประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองแพร่ รายงานว่า กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ตามแผนการปฏิบัติการจัดการขยะชุมชน โดยขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ ลด คัดแยกขยะของทุกภาคส่วน การประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรับทราบ ถึงปัญหาของขยะ การสื่อสารโดยตรง ด้วยการเดินรณรงค์ถือว่าเป็นการกระจายข่าวที่เร็วและมีประสิทธิ์ภาพอย่างมาก ดังนั้น ทางเทศบาลเมืองแพร่จัดกิจกรรม เดินรณรงค์ชุมชนปลอดขยะ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 08.30-11.00 น. ณ.ชุมชนเหมืองหิตต้นธง เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับขยะ โดยมีการออกเดินประชาสัมพันธ์ตามเส้นทางภายในชุมชน
                                                                                                                งานประชาสัมพันธ์ / ข่าว / พิมพ์

ตำนานพระธาตุจอมแจ้ง ตอนที่ 2 (แดนลับแล วัวอุศุภราช)



      หลังจากองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทรงมอบพระเกศาให้พระอินทร์และเทพยดาเก็บรักษาแล้ว ก็มีพุทธดำรัสพยากรณ์กับพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์สถานที่นี้ต่อไปภายหน้าเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้วสาวกของตถาคตองค์หนึ่งจะนำอัฐิกระดูกหัวแม่มือเบื้องซ้ายของตถาคตมาบรรจุไว้ในสถานที่นี้ ให้เป็นที่สักการะบูชาไหว้สาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้เขาได้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ต่อไปภายภาคหน้าจะมีพระยาองค์หนึ่งซึ่งศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจะได้สถาปนาบูรณะซ่อมแซมให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป” ซึ่งพระยาองค์นั้นก็คือ พญาลิไท และภายภาคหน้ามหาชนผู้มีศรัทธาจะพากันมากราบไหว้สักการะบูชายังพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ ณ ที่แห่งนี้แล้วอายุจะยืนยาวเจริญรุ่งเรื่องยิ่งขึ้นไป สถานที่นี้จึงได้ชื่อว่าพระธาตุจอมแจ้ง

      บริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดแห่งนี้มีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่งและมีวัวใหญ่ตัวหนึ่งชื่อ อุศุภราช ได้อาศัยอยู่ในถ้ำนั้นและมีวิญญาณเจ้าที่ได้รักษาสมบัติอยู่ในถ้ำนั้นด้วย มักจะออกไปเที่ยวกัดกินต้นข้าวของชาวบ้านตามบ้านต้นไคร้ธรรมเมือง พันเชิง บ้านมุ้ง ป่าแดงหนองแขม หนองไร่บ่อยๆ มีครั้งหนึ่งชาวบ้านหนองไร่ได้ไปดูนาของตนได้พบเข้ากับวัวตัวหนึ่งกำลังกัดกินต้นข้าว ชาวนาผู้นั้นก็ได้ไล่ติดตามวัวไปจนถึงถ้ำนั้นพบเข้ากับวิญญาณเจ้าที่ ที่สิงสถิตอยู่ในถ้ำนั้นแปลงกายเป็นคนห้ามไม่ให้ชาวนาเข้าไปเพราะกลัวจะเป็นอันตราย จึงบอกให้ชาวนารออยู่ข้างนอกปากถ้ำแล้วก็เอาขมิ้นใส่ถุงให้เพื่อตอบแทนค่าเสียหาย และสั่งให้ชาวนารีบกลับไปเสียโดยเร็ว ชาวนาถือถุงขมิ้นเดินมาไกลพอสมควร คิดว่าขมิ้นที่บ้านของตนนั้นมีมากมาย เลยเอาขมิ้นทิ้งบ้างส่วนจนเสียเหลือนิดหน่อยติดถุงพอถึงบ้านจับขมิ้นดู ปรากฏว่าขมิ้นที่เหลือกลายเป็นทองคำหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ตนจึงรีบกลับไปดูขมิ้นที่ตนทิ้งไว้ แต่ก็ไม่พบขมิ้นที่ทิ้งเลย หมู่บ้านของชาวนาที่ไล่วัวมาถึงถ้ำจึงได้ชื่อว่า บ้านหนองไร่ มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเหตุได้ไล่วัวอุศุภราชตัวนั้นแลถ้ำนั้นภายหลังเจ้านายและชาวบ้านได้พร้อมใจกันสร้างเจดีย์ปิดปากถ้ำไว้ เพื่อไม่ให้วิญญาณเจ้าที่และวัวอุศุภราชมารบกวนชาวบ้านต่อไปฯ กาลเวลาได้ล่วงเลยมานานหลายร้อยปีองค์พระเจดีย์ก็ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมา เนื่องจากภัยธรรมชาติ สงครามและกาลเวลา ต่อมาสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ พ.ศ.1900 ปี พญาลิไท จึงยกไพร่พลขึ้นมาบูรณะซ่อมแซม

(ติดตามต่อฉบับหน้า)

ที่มาข้อมูล เว็ปไซด์วังฟ่อน,เรื่องเล่าอาจารย์ยอด ตอน แดนลับแลพระธาตุจอมแจ้ง
เรียบเรียงโดย คมสัน  หน่อคำ 083-7373307