วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562

ส้มป่อย ไม้มงคลแห่งล้านนา




      ส้มป่อยเป็นพืชประเภทไม้เถาเนื้อแข็ง ต้นและใบคล้ายชะอม มีรสเปรี้ยว ใช้ยอดอ่อนใส่แกงได้รสเปรี้ยวใช้ แทนมะนาว นิยมใส่ในต้มส้มไก่เมือง ปลา หรือต้ม ส้มขาหมู จะได้รสชาติเปรี้ยวอร่อยและหอมกลิ่นส้มป่อย มี ผลเป็นฝักแบนๆ เป็นข้อ คล้ายฝักฉำฉา หรือฝักกระถินเทศ แต่จะสั้นและบางกว่าจะมีหนามตลอดที่ต้นและกิ่งก้าน เถาจะเลื้อยพันขึ้นกับต้นโพธิ์หรือต้นไม้ใหญ่ตามป่าเขาหรือตามวัด และจะออกผลเป็นฝักช่วงระหว่างเดือนธันวาคม ถึง กุมภาพันธ์ ของทุกปี และ 1 ปี จะออกผลเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ตามความเชื่อของชาวเหนือล้านนามาแต่โบราณ จะเก็บผลฝักส้มป่อยเดือนห้าเป็ง หรือเดือนกุมภาพันธ์ ฝักส้มป่อยจะแห้งคาต้นจะยิ่งดีที่สุด เชื่อว่าเป็นเดือนที่มีความสำคัญของทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา เพราะส้มป่อยจะมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวหากเก็บไว้ช่วงเดือนห้าเป็งแล้วจะดี หากได้มีการปลุกเสกก็จะดียิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว และยิ่งเป็นส้มป่อยเจ็ดข้อหรือ 7 เมล็ด ก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลมากขึ้นไปอีกโดยนำฝักมาลนไฟให้พอหอมแล้วหักแช่น้ำ ใช้น้ำส้มป่อยสระดำเพื่อความเป็นศรีสิริมงคล


     ส้มป่อยเจ็ดข้อเจ็ดเมล็ด มีที่มาจากชาดกเรื่อง "ปุณณนาคกุมาร" โดยครั้งที่ปุณณนาคกุมารอยากกลายเป็นมนุษย์ ปุณณนาคกุมารเข้ากราบทูลพระบิดา เพื่อขออนุญาตทิ้งสภาวะอันเป็นนาคให้กลายเป็นมนุษย์ พระบิดาทรงอนุญาตและได้ประทานขันทองคำให้ 1 ใบ แล้วให้หาส้มป่อยให้ได้ฝักที่มี 7 ข้อ จำนวน 7 ฝัก เอาแช่ในขันที่มีน้ำจาก 7 แม่น้ำ และ 7 บ่อ นำไปที่ฝั่งแม่น้ำใหญ่ เสกคาถา 7 บท จำนวน 7 คาบ ถอดคราบออก และอาบน้ำมนต์พร้อมสระเกล้าดำหัว จากนั้นเอาคราบนาคนั้นใส่ในขันทองคำไหลลงน้ำเสียจึงจะเป็นคนโดยสมบูรณ์ การใช้ส้มป่อยที่ปรากฏในเรื่องนี้แสดง ให้เห็นถึงความเชื่อในคุณสมบัติของส้มป่อยอีกเรื่องหนึ่ง

    และในชาดกล้านนาเรื่อง "อุสสาบารส" กล่าวถึง เรื่องของส้มป่อยว่า ครั้งหนึ่ง มีควายชื่อทรพี คิดอยากเอาชนะพ่อ จึงท้าชนทรพาผู้พ่อ ทั้งสอง ต่อสู้กันจนเวลาล่วงเลย ฝ่ายทรพีเพลี่ยงพล้ำถูก ทรพาไล่ขวิดจนถอยร่น ไปไกล ขณะนั้นเองทรพี ได้ถอยไปชนต้นส้มป่อยที่กำลังออกฝักอยู่ ด้วยกำลังที่ชน อย่างแรงทำให้ฝักส้มป่อยหล่นลงมาถูกหัวทรพี ทันใดนั้น กำลังที่เคยอ่อนล้าหมดแรง เกิดฮึกเหิมเพิ่มขึ้น ได้ทีทรพี จึงถาโถมเข้าชนทรพาอย่างเมามัน ผู้เป็นพ่อเสียที หมด แรงถอยไปชนต้นมะขามป้อม ลูกมะขามป้อมหล่นถูกหัว เรี่ยวแรงที่อ่อนล้ายิ่งหมดไป จึงถูกทรพี ผู้เป็นลูกฆ่าตาย ในที่สุด เรื่องนี้อาจเป็นต้นเหตุหนึ่งของความเชื่อในอนุภาพ ของน้ำส้มป่อย

    ส้มป่อยผูกพันวิถีความเชื่อของชาวล้านนา ในเรื่องพิธีกรรมสำคัญต่างๆชาวล้านนาเชื่อว่า ส้มป่อย เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ขจัดสิ่งเลวร้าย อัปมงคล เป็นการปลด ปล่อยสิ่งไม่ดีให้หลุดพ้นจากชีวิต โดยเฉพาะคนล้านนามีความเชื่อตามชาดกว่าเป็นพืช ที่มีพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เรียกตามภาษาถิ่นว่า ส้มป่อย เป็นตัวแพ้ สิ่งจัญไร อัปมงคล ชั่วร้าย (แพ้ เป็นภาษาถิ่น เหนือ หมายถึง ชนะ) และคำว่า ป่อยหมายถึงปลดปล่อย สิ่งจัญไรทั้งหลายให้หลุดพ้นจากชีวิตคนเรา ส้มป่อยจึงเป็นไม้มงคลแห่งล้านนา......

ที่มา...ตำนานล้านนา,NEW M-THAI, https://www.m-culture.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น