วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2562

“กาแลและหัมยนต์” เครื่องประดับแผงความเชื่อพม่า



“กาแลและหัมยนต์” เครื่องประดับแผงความเชื่อพม่า เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ            กาแล หลายคนคงรู้จักและเคยเห็นมาแล้ว ว่ากาแลคือส่วนประดับบนหลังคาเรือนล้านนา มีลักษณะเป็นไม้แบบเหลี่ยมแกะสลักให้มีลวดลายเป็นส่วนที่ต่อจากปลายบนของ ปั้นลมเหนือจั่วและอกไก่โดยติดในลักษณะไขว้กัน เนื่องจากที่กาแลมีการแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม เป็นการตกแต่งให้เรือนกาแลงดงามยิ่งขี้น ดังนั้นจึ่งมีการยึดเอากาแลเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และเป็นสัญลักษณ์ประจำถิ่นล้านนา             กาแล แผลงมาจากคำว่า "กะแหล้ง" ซึ่งแปลว่าไขว้กัน เหตุที่มีการนำไม้มาไขว้กันที่หน้าจั่วหลังคาก็เพราะเป็นความเชื่อสมัยก่อนเมื่อคราวที่พม่าเข้าปกครองล้านนา แต่เกรงว่าจะมีผู้ที่มีบุญญาธิการมาเกิดในแผ่นดินที่ตนปกครองและอาจกลับมาโค่นล้มอำนาจและชิงเมืองคืนได้  จึงให้คนเมือง (ชาวล้านนา) ติดกาแลนี้ไว้ เพื่อทำลายบุญบารมีของเด็กที่เกิดใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งอัปมงคล เนื่องจากกาแลนี้ประยุกต์มาจาก "ไม้กะแแหล้ง" หรือไม้กากบาท ที่ปักเอาไว้เหนือหลุมศพของเด็กเพื่อสะกดวิญญาณไม่ให้ออกมา อีกทั้งการติดกาแลบนหลังคาบ้าน เพื่อบอกว่าบ้านหลังนี้เป็นคนล้านนา สามารถเก็บส่วยหรือภาษีได้ เพราะคนสมัยก่อนยึดถือเรื่องศักดิ์ศรีของชาติพันธุ์ตนเองมาก แต่ถ้าบ้านไหนไม่มีกาแลติด ก็ถือเป็นคนพม่าหรือมีสามีเป็นทหารพม่า จึงจะได้รับยกเว้นการเก็บภาษี คนล้านาบางคนยอมเสียศักดิ์ศรีไม่ติดกาแล เพื่อหวังว่าเมื่อตนเองมีสามีเป็นคนพม่าก็จะได้ร่ำรวยเงินทองและมีอำนาจวาสนา            นอกจากกาแลแล้วในเรือนล้านนายังมี “หัมยนต์”  ซึ่งเป็นแผ่นไม้แกะสลักที่อยู่ในกรอบเหนือประตูห้องนอนในเรือนกาแลของชาวล้านนา มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีลวดลายที่สวยงาม เช่น ลายดอกไม้ ลายเครือเถา ก้านขด ลายเมฆ ลายน้ำ ลายประแจจีน หรือลายเรขาคณิตอย่างง่าย ชาวล้านนาเชื่อว่ายนต์มีพลังลึกลับที่สามารถดลบันดาลความเป็นไปแก่เจ้าของบ้าน มีการทำยนต์ขึ้นในเวลาสร้างเรือนใหม่ โดยนำแผ่นไม้มาผูกไว้กับเสามงคล (เสาเอก) เพื่อทำพิธีสูตรถอน และอัญเชิญอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตที่ยนต์ จากนั้นแกะสลักแล้วทำการติดตั้งโดยมีพิธียกขันตั้งหลวง เพื่ออัญเชิญเทวดา อารักษ์ ผีบ้านผีเรือนมาปกป้องรักษาบ้านหลังนั้นให้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขอุดมสมบูรณ์            หัมยนต์เป็นสิ่งที่สามารถคุ้มครองป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเข้ามากล้ำกลายเจ้าของเรือนและครอบครัวได้ ในด้านการใช้งาน หัมยนต์อยู่เหนือข่มประตูห้องนอน แบ่งพื้นที่ห้องนอนกับพื้นที่เติ๋น (ชานร่มรับแขกบนเรือน) เป็นการแบ่งพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวของครอบครัว ซึ่งนับถือผีตระกูลเดียวกันออกจากผู้มาเยือน และเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นตัวตนของเจ้าของเรือนที่ผู้อื่นไม่ควรกล้ำกลายเข้าไปโดยพละการ การถลำก้าวล้ำเข้าไปถือเป็นการผิดผี จะต้องทำพิธีขอสูมา (ขอขมา)      
            ในอดีตเมื่อครั้งที่สมัยพม่าเข้าปกครองล้านนา ได้บังคับให้คนเมืองอยู่อาศัยในบ้านที่มีรูปร่างคล้ายโลงศพของพม่า และติด“หัมยนต์” เป็นการข่มผู้ที่จะเดินลอดผ่านข้างใต้  โดยคำว่า "หัม" ภาษาล้านนาหมายถึง "อัณฑะ" อันเป็นสิ่งที่รวมพลังของเพศชาย ส่วนคำว่า "ยนตร์" มาจากคำว่า "ยันต์"  ดังนั้นหัมยนต์เปรียบเสมือนเป็นยันต์อัณฑะของพม่า เมื่อเจ้าของบ้านชาวล้านนาและคนในครอบครัวเดินเข้าออกห้องและลอดใต้อัณฑะนั้นก็จะถูกข่มและทำลายจิตใจไม่ให้คิดกระด้างกระเดื่อง......







ที่มาข้อมูลหัมยนต์: http://lannaarch.blogspot.com/2010/07/blog-post_15.html ข้อมูลกาแล: https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=noonrinz&date=04-06-2010&group=2&gblog=27


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น