วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562

เลี้ยงผี ความเชื่อล้านนา ตอนที่ 1



     ในอดีตชาวล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติอย่างเหนี่ยวแน่น โดยเฉพาะเรื่องผี สิ่งใดที่หาสาเหตุหรือสมุมติฐานไม่ได้ก็จะคิดว่าเป็นการกระทำของผี ก่อเกิดเป็นวิถีชีวิตที่คลุกคลีกับธรรมชาติ ความเกรงกลัวต่อภัยต่างๆ และเพื่อทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสงบสุขหรือเป็นปกติ จึงมีการเซ่นไหว้ผี เพื่อให้ผีพอใจและดูแลปกปักรักษาตนเองและครอบครัว เป็นความเชื่อที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีคู่สังคม ที่แม้แต่ปัจจุบันบ้านเมืองจะเจริญแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้ความเชื่อเรื่องผีจางหายไปจากชาวล้านนาได้ ...และการไหว้ผีหรือเลี้ยงผี จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดบรรทัดฐานของสังคม


     ชาวล้านนากับการเลี้ยงผีดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก เพราะนับตั้งแต่เกิดมาคนล้านนาจะเกี่ยวพันกับผีมาตลอด เช่น เมื่อมีเด็กเกิดขึ้นในบ้านจะต้องทำพิธีเรียกขวัญ หรือที่คนเมืองเรียกว่า "ฮ้องขวัญ" เมื่อเวลาที่เด็กเกิดความไม่สบายร้องไห้ก็มักจะเชื่อว่า มีวิญญาณของผีตายโหงมารบกวนเด็ก คนล้านนายังเชื่อว่าขวัญของเด็กเป็นขวัญที่อ่อนภูตผีวิญญาณต่าง ๆ มักจะมารบกวนได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเด็กไม่สบายก็จะต้องทำพิธีเลี้ยงผี หรือหาเครื่องลางมาผูกที่ข้อมือของเด็ก ปัจจุบันในแถบทางชนบทเรายังสามารถพบเห็นการกระทำแบบนี้อยู่

     การเลี้ยงผีของคนล้านนาจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือน 4 เหนือ จนถึงเดือน 8 เหนือ ช่วงเวลานี้เราจะพบว่าตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในภาคเหนือจะมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษกันอย่างมากมาย ความผูกพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับการนับถือผีนั้น สามารถพบเห็นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวันของคนล้านนาเอง เช่น เมื่อเวลาที่ต้องเข้าป่าไปหาอาหารหรือต้องค้างพักแรมอยู่ในป่า มักจะต้องบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางเสมอ และเมื่อเวลาที่กินข้าวในป่าก็มักจะแบ่งอาหารให้เจ้าที่ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าอาจสำคัญประการหนึ่งก็คือเมื่อเวลาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในป่า เมื่อต้องถ่ายปัสสวะก็มักจะต้องขออนุญาตจากเจ้าที่ก่อนอยู่เสมอ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนล้านนาผูกผันอยู่กับการนับถือผีอย่างแยกไม่ออก

     ทุกปีในช่วงกลางฤดูร้อนจะมีการลงเจ้าเข้าทรงตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า การลงเจ้าเป็นการพบปะพูดคุยกับผีบรรพบุรุษ ซึ่งในปีหนึ่งจะมีการลงเจ้าหนึ่งครั้ง และในการลงเจ้าครั้งนี้จะถือโอกาสทำพิธีรดน้ำดำหัวผีบรรพบุรุษไปด้วย ยังมีพิธีเลี้ยงผีอยู่พิธีหนึ่งที่มักจะกระทำกันในช่วงเวลานี้และที่สำคัญในปีหนึ่งจะทำพิธีนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การเลี้ยงผีมดผีเม็ง ชาวบ้านที่ประกอบพิธีนี้ขึ้นบอกว่า การเลี้ยงผีมดผีเม็งจะเลี้ยงอยู่ 2 กรณี คือเมื่อเวลามีคนเจ็บป่วยไม่สบายในหมู่บ้านจะทำพิธีบนผีเม็งเพื่อขอใช้ช่วยรักษา เมื่อเวลาที่หายแล้วจะต้องทำพิธีเชิญวิญญาณผีเม็งมาลง และจัดหาดนตรีมาเล่นเพื่อเพิ่มความสนุกสนานแก่ผีมดผีเม็งด้วย อีกกรณีหนึ่งเมื่อไม่มีคนเจ็บป่วยในหมู่บ้าน จะต้องทำพิธีเลี้ยงผีมดผีเม็งทุกปี โดยจะต้องหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมและจะต้องกระทำระหว่างช่วงเวลาเดือน 4 เหนือ ถึง เดือน 8 เหนือ ก่อนเข้าพรรษา เพราะถ้าไม่ทำพิธีผีมดผีเม็งอาจจะไม่คุ้มครอง คนในหมู่บ้านก็ได้ ดังนั้น เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาดังกล่าวเรามักจะพบภาพพิธีเหล่านี้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ

อ่านต่อตอนที่ 2


ที่มาข้อมูล งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาลัยแม่โจ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น