วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562

เลี้ยงผี ความเชื่อล้านนา ตอนที่ 2





    คนล้านนากับความเชื่อในการเลี้ยงผี ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญ แม้ว่าการดำเนินชีวิตของพวกเขาจะราบรื่นไม่ประสบปัญหาใด แต่ภายใต้จิตสำนึกที่แท้จริงแล้ว คนล้านนาเหล่านี้ไม่อาจลืมเลือนวิญญาณของผีบรรพบุรุษที่เคยช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ปกติสุขมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แม้กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร ภาพที่เรายังคงพบเห็นได้เสมอเมื่อเวลาเดินทางไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ในชนบทก็คือ เรือนเล็ก ๆ หลังเก่าตั้งอยู่กลางหมู่บ้านนั่นก็คือ หอเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน ที่ยังย้ำเตือนให้พวกเขาไม่ให้หลงไหลไปกับกระแสสังคมนั่นเอง.

    ผีที่ชาวล้านนานับถือมีความแตกต่างกัน ตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น แต่ผีที่นับถือกันอย่างแพร่หลายคือ ผีปู่ย่า ซึ่งเป็นผีประจำตระกูล สืบทอดกันทางฝ่ายหญิง เมื่อแม่ตายลูกสาวคนโตจะเป็นผู้รับช่วงต่อ ถ้าบังเอิญว่าลูกสาวคนโตมีเหตุที่ไม่สามารถจะรับการสืบทอดได้ ลูกสาวคนถัดไปเป็นผู้รับช่วงแทน จะย้ายไปอยู่เรือนใดต้องรับผีปู่ย่าติดตามไปด้วย หิ้งที่อยู่ของผีปู่ย่า อยู่ในห้องนอนด้านตะวันออก โดยทำหิ้งขนาดเล็กติดไว้กับเสาที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือ สูงจากพื้นประมาณ 1.8 เมตร ผีปู่ย่ามีหน้าที่ช่วยเหลือ ควบคุมดูแลสมาชิกในครอบครัวให้ประพฤติอยู่ในจารีตประเพณี ถ้าสมาชิกไม่ทำผิดจารีต ผีปู่ย่าจะช่วยให้มีความสุขความเจริญ ถ้าทำผิดจารีตท่านจะลงโทษ กำหนดการเลี้ยงผีปู่ย่าตามประเพณีงจะไม่ตรงกันทุกท้องถิ่น แต่หลายท้องถิ่นกำหนดเอาวันเดือน 9 แรม 9 ค่ำ เมื่อถึงกำหนดวันมาถึงทุกหลังคาเรือนจะต้มไก่ 2 ตัว มีข้าวสุก น้ำ สุรา และดอกไม้ธูปเทียน ลูกหลานที่มีสายของปู่ย่าของเรือนนั้น จะช่วยกันยกเครื่องไหว้เข้าไปตั้งที่มุมห้องนอนในเรือน และกล่าวคำขอให้ผีปู่ย่าช่วยคุ้มครองให้มีความสุขความเจริญ และการเลี้ยงผีปู่ย่าตามเหตุการณ์นั้น เมื่อสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะฝ่ายหญิง ประพฤติผิดจารีตประเพณี ถ้าเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง ให้นำดอกไม้ธูปเทียน น้ำส้มป่อยใส่พานเข้าไปขอขมา ถ้าเป็นความผิดที่ร้ายแรง เช่น มีเจตนาให้ชายถูกเนื้อต้องตัวเป็นการผิดผี ต้องมีการเลี้ยงผีปู่ย่า จะเลี้ยงด้วยหมู หรือไก่ ก็แล้วแต่ผีตระกูลนั้นๆ กินสิ่งใด และเลี้ยงในวันปีใหม่สงกรานต์ สมาชิกไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล ถ้าไม่ลำบากจนเกินไป จะมีการนัดหมายให้มารวมกัน แล้วจัดหมู หรือไก่ ดอกไม้ธูปเทียน น้ำส้มป่อยเพื่อเลี้ยง และดำหัวผีปู่ย่า

    นอกจากผีบรรพบุรุษที่ชาวล้านนานับถือแล้วก็ยังมี ผีเจ้าที่ คือผีที่อยู่รักษาในเขตบริเวณบ้าน ดังนั้นแต่ก่อนจึงมีหอศาลตั้งอยู่ทางด้านเหนือ หรือด้านตะวันออก ของทุกบ้าน เพื่อช่วยคุ้มครองรักษาเขตบ้าน ไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาเบียดเบียนคนและสัตว์ในบ้านนั้น การเลี้ยงไม่มีกำหนดตายตัว แต่เป็นเดือน 9 บางท้องถิ่นจะเลี้ยงในวันเดียวกันกับผีปู่ย่า บางท้องถิ่นจะเลี้ยงผีเจ้าที่ในวันสงกรานต์ และ ผีขุนน้ำ คือผีที่รักษาต้นน้ำลำธาร น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตรเป็นอย่างมาก ถ้าปีไหนมีน้ำไหลจากขุนน้ำมากเกินไปจะเกิดน้ำท่วมไร่นา ถ้าปีไหนมีน้ำน้อยข้าวกล้าในนาตายเพราะขาดน้ำ คนล้านนาแต่ก่อนเชื่อว่าเหตุที่จะทำให้น้ำน้อยหรือน้ำมาก อยู่ที่ผีขุนน้ำ ถ้าปีไหนมีการเลี้ยงดีพลีถูก ปีนั้นจะมีน้ำพอดีในการเพาะปลูก จึงมีพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ

     การเลี้ยงผีนั้นเป็นวิถีทางสังคมที่ยึดถือและปฎิบัติสืบต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายผี ไหว้ผี เลี้ยงผี จะทำตามความเชื่อของแต่พื้นที่ล้วนแตกต่างกันไป ตามวิถีการดำเนินชีวิตที่ฝังรากอยู่คู่กับสังคมชาวล้านนา

     
ที่มาข้อมูล ศูนย์สถาปัตย์กรรมล้านนา,ประเพณีไทยดอทคอม,ประเพณีไทยล้านนา,ห้องสมุดวัฒนะรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น