วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

"กำบ่ะเก่า" กำนี้บอกเล่าถึงวิถีชีวิต


"ใคร่หื้อเปิ้นฮักยากนักจักหวัง ใครหื้อเปิ้นจังกำเดียวก็ได้"
(คำว่า จัง หมายถึง เกลียด ชัง , กำเดียว หมายถึง เดี๋ยวเดียว)
ความหมาย คือ " อยากให้คนอื่นรักยากมากที่จะหวังให้เขารักได้ อยากให้คนอื่นเกลียดชัง เดี๋ยวเดียวก็ได้"
การที่จะทำให้คนจำนวนมากมารักชอบนั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก ต้องอาศัยเวลา และความพยายาม ความอดทนอย่างสูงที่จะทำให้บุคคลอื่นเกิดความรักและไว้วางใจเรา แต่การทำให้คนจำนวนมากเกลียดนั้น เพียงแค่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อยที่ขัดใจพวกเขาก็ทำให้บุคคลนั้นเกลียดได้แล้ว


"กำบ่มีแป๋งใส่ กำบ่ใหญ่แป๋งเอา"
( คำว่า แป๋งใส่ หมายถึง แต่งเรื่องขึ้น, ต่อเติมให้ยาวขึ้น , แป๋งเอา หมายถึง สร้าง, ทำให้มีขึ้น )
ความหมาย "กำบ่มีแป๋งใส่" หมายถึง เรื่องราวไม่มี แต่แต่งเรื่องขึ้นเพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิด หรือสำคัญผิดในบุคคลนั้น "กำบ่ใหญ่แป๋งเอา" เรื่องราวมีเพียงเล็กน้อย แต่สร้างเรื่องราวให้มีมากกว่าเดิม ทำให้เกิดสำคัญผิดในบุคคลที่ถูกกล่าวถึง เป็นสุภาษิตที่กล่าวถึงบุคคลที่ชอบเอาเรื่องราวของผู้อื่นไปพูดในทางที่เสียหาย ทำ
ให้ผู้อื่นได้รับความเสื่อมเสีย
กลับมาทำอีกครั้ง



 

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

อาถรรพ์แห่งป่า




     เมื่อสองสามปีที่ผ่านมาจังหวัดแพร่มีข่าวอยู่ข่าวหนึ่งว่า มีชาวบ้านออกไปต่อไก่(ล่าไก่ป่า) ถูกยิงด้วยอาวุธปืนแก๊ป กระสุนลูกโดดเข้าที่หน้าผาก 1 นัด และกระสุนลูกปายเข้าที่แขนซ้าย 1 นัดนอนเสียชีวิตในป่า ตำรวจสันนิฐานว่าคนร้ายคือพรานล่าสัตว์เป็นคนยิง โดยนึกว่าผู้เสียชีวิตเป็นสัตว์ ทำให้นึกถึงเรื่องอาถรรพ์ต่างๆของป่าที่ในอดีตที่ป่ายังอุดมสมบูรณ์ผู้คนอาศัยอยู่กับป่าเขาลำเนาไพร เรียกได้ว่า ทุกสิ่งอย่างสามารถหาได้จากป่า ทำให้มีความเคารพและปฏิบัติตามกฎของป่า

      ความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับป่าอยู่มากมาย เชื่อว่าดอยทุกดอย ป่าทุกป่าจะมีเจ้าป่าเจ้าเขาและวิญญาณอยู่จำนวนมาก เมื่อเดินทางเข้าไปในป่าอาจชน เหยียบย้ำ หรือทำผิดโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งอาจทำให้ดวงวิญญาณเจ้าป่าเจ้าเขาเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อน และอาจจะจับเอาขวัญของเราไปหรือทำให้เราเจ็บป่วยได้ ดังนั้นจึงจะต้องทำพิธีกรรมขอขมาต่อดวงวิญญาณเจ้าป่าเจ้าเขา ,เชื่อว่าในหนองน้ำจะมีผีหรือดวงวิญญาณสิงสถิตย์อยู่มากมาย,เชื่อว่าในจอมปลวกนั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ ล้วนแต่เป็นอาถรรพ์ของป่าและเรื่องเสือสมิงเป็นอีกเรื่องที่ได้รับการเล่าขานมากมาย เช่น เสือสมิงหรือผีปีศาจที่มีรูปร่างเป็นเสือโคร่งขนาดใหญ่ อาละวาดกินคนเป็นอาหาร เชื่อว่า เสือสมิงเกิดจากเวทมนตร์คาถาทางไสยศาสตร์ หรือเป็นเสือที่กินคนเข้าไปมาก ๆ แล้ววิญญาณของคนที่ถูกกินไปสิงอยู่ในเสือตัวนั้นจนกลายเป็นเสือสมิง เสือสมิงโดยปกติจะมีร่างเป็นคน แต่สามารถแปลงร่างเป็นเสือได้ในเวลากลางคืน และออกหาเหยื่อ เมื่อออกล่าเหยื่อจะแปลงร่างเป็นคนต่าง ๆ นานา เพื่อล่อลวง เช่น แปลงเป็นลูกเมียของเหยื่อ หรือแม้กระทั่งแปลงเป็นพระธุดงค์ก็มี หรือเชื่อว่าเสือสมิงเป็นเจ้าป่าเจ้าเขาหรือพระภูมิเจ้าที่ ที่ดูแลรักษาปกป้องป่า จึงมีความเชื่อและข้อปฏิวัติว่า ห้ามล่าสัตว์หรือตั้งห้างบริเวณที่เป็นโป่ง ซึ่งเป็นแหล่งที่เป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่า มีผู้ที่เคยพบเห็นเจ้าของโป่งในเวลากลางคืน อ้างว่า มีดวงตาสามดวง ตาดวงที่สามอยู่กลางหน้าผากและเป็นสีเขียวเรืองแสงในความมืด มีเรื่องเล่ากันของชาวกะเหรี่ยงว่า ผู้ที่พบเจอกับเสือสมิง มักจะเห็นเสือสมิงปรากฏภาพเป็นผู้หญิงหรือเมียมาตามถึงในป่าแจ้งว่า ลูกป่วยให้กลับบ้าน เป็นต้น ถ้าลงจากห้างไปก็จะถูกฆ่าตาย บ้างถึงกับว่า เมื่อมีผู้ไม่ยอมลงไป สักพักก็กลับมาใหม่พร้อมด้วยคนอีกสี่คนหามคานใส่ศพของลูกหรือเมียมาก็มี มีบางคนที่ยิงปืนใส่ เช้ามาเมื่อลงจากห้างพบว่า มีรอยเท้าเสือขนาดใหญ่เพ่นพ่านอยู่บริเวณนั้น โดยเชื่อว่าคนสี่คนที่เห็นว่าหามคานนั้น คือ ขาทั้งสี่ข้างของเสือ นั้นเอง

     ในตำนานลิลิตพระลอของจังหวัดแพร่ก็มีการกล่าวถึงอาถรรพ์เกี่ยวกับป่าอยู่ว่า “ป่าที่นางรื่นนางโรยเดินทางไปพบปู่เจ้าสมิงพรายเพื่อทำเสน่ห์ใส่พระลอพูดถึงสัตว์ตามธรรมชาติ คือจระเข้ และสัตว์เหนือธรรมชาติ มีช้างน้ำ และเงือกเอ็นดูสองนางตกใจกลัว ระรัวหัวอกสั่น ลั่นทะทึกทะทาว สราวตามหมอผะผ้ำ เห็นแนวน้ำบางบึง ชรทึงธารห้วยหนอง จระเข้มองแฝงฝั่ง สระพรั่งหัวขึ้นขวักไขว่ ช้างน้ำไล่แทงเงา เงือกเอาคนใต้น้ำ กระล่ำตากระเลือก กระเกลือกกลอกตากลม ผมกระหวัดจำตายช้างน้ำที่ไล่แทงเงาตัวเอง” สำหรับอาถรรพ์ของป่านั้นยังมีอีกมากมาย ทั้งในวรรณกรรมประเภทต่างๆเรื่องเล่า ตำนาน นิยาย นิทาน ทำให้ทราบว่าคนไทยมีวิถีชีวิตความเชื่อและความผูกพันอยู่กับป่า ซึ่งปัจจุบันเริ่มจะเลือนรางห่างหายไปกับกาลเวลา

ข้อมูลจาก th.wikipedia.org/wiki/เสือสมิง‎,http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4673.0







วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คำบะเก่า “นิสัยคน”


 “อดเผ็ดกิ๋นหวาน อดสานได้ซ้า”(คำว่า ซ้า หมายความว่า ตะกร้า) สุภาษิตนี้มีแปลว่า "การอดทนกินอาหารที่เผ็ดในวันนี้ เพื่อที่จะได้กินอาหารที่มีสชาติหอมหวานในวันข้างหน้า ต้องอดทนทำงานสานตะกร้าในวันนี้ เพื่อจะได้ใช้ตะกร้าในวันข้างหน้า"
เปรียบกับคนที่มีความขยันหมั่นเพียรและอดทนต่อการทำงานและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ย่อมทำให้เป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง ต่อไปจะประสบแต่ความสุขและความสมหวังในชีวิต ตรงกับสุภาษิตภาคกลาง คือ "อดเปรี้ยวไว้กินหวาน"“เหล็กบ่เหลี้ยม  เปิ้นบ่เอาจี   คนบ่ดี  เปิ้นบ่ใจ๊”( คำว่า บ่เหลี้ยม  หมายถึง ไม่แหลม,คำว่า  จี  หมายถึง   ไช  ปั่นเข้าเข้าให้เป็นรูด้วยสว่าน)
สุภาษิตนี้แปลว่า  “เหล็กที่ไม่แหลมคม  คนจะไม่เอามาไชวัตถุ” เพราะถ้านำเหล็กมาใช้แล้วก็จะไม่สามารถเจาะหรือไชให้ทะลุได้ และอาจทำให้วัตถุเสียหายได้ ส่วน คนบ่ดี  เปิ้นบ่ใจ๊”  หมายถึง คนไม่ดีไม่ใครอยากจะคบด้วย  เพราะคนไม่ดีอยู่ที่ไหนมักจะนความเดือดร้อนมาให้อยู่เสมอ  เป็นสุภาษิตสอนผู้ที่เป็นหัวหน้าให้รู้จักเลือกใช้คน  คนที่ไม่ดี หรือไม่มีความขยันอดทน หรือขาดความฉลาดไม่ควรที่จะนำมาใช้ในงานบางอย่าง เพราะอาจจะทำให้งานนั้นไม่สำเร็จได้ที่มาข้อมูล http://app.eduzones.com/portal/foreign/5116/


วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Big cleaning day วัดบ้านลองลือบุญ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ตุลาคม เวลา ๐๙.๐๐ น.องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน นำโดยคณะผู้บริหาร ปลัด พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดฯ ร่วมกับ ผู้นำท้องที่ ประชาชนจิตอาสา ร่วมพัฒนาวัดบ้านลองลือบุญ ภายใต้โครงการกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สร้างสรรค์สิ่งดีงาม “Big Cleaning day” ณ วัดบ้านลองลือบุญ






วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รัฐบาลแจง ครม.อนุมัติหลักการกฎหมายขึ้นทะเบียนสัตว์เบื้องต้น แต่ให้ปรับรายละเอียดอย่างเหมาะสม ลดภาระประชาชน

รัฐบาลแจง ครม.อนุมัติหลักการกฎหมายขึ้นทะเบียนสัตว์เบื้องต้น แต่ให้ปรับรายละเอียดอย่างเหมาะสม ลดภาระประชาชน

 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเสนอข่าว ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่...) พ.ศ...ที่ ครม.อนุมัติ วานนี้ ว่า

 ครม.อนุมัติเพียงหลักการเบื้องต้นตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
 แต่ให้ไปดูรายละเอียดบางเรื่อง ที่อาจสร้างความวิตกกังวลใจแก่ประชาชน ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เห็นใจในเรื่องนี้

💥💥 สำหรับ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2557 นั้น
 มีเจตนาเพื่อคุ้มครองไม่ให้สัตว์ถูกทารุณจากมนุษย์ และให้เจ้าของดูแลอย่างเหมาะสม
 แต่ยังไม่มีการควบคุมทางทะเบียน จึงเกิดการทอดทิ้งสัตว์จำนวนมาก
 และบางส่วนก่อให้เกิดโรคระบาดสัตว์ที่กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

 จึงเป็นที่มาของการเสนอปรับแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อให้มีการควบคุมทางทะเบียนและเพิ่มความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ โดยให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติในเรื่องดังกล่าว

📌📌 หลักการของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ เป็นประโยชน์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งทำให้เจ้าของมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงตัวเองมากขึ้น
📌📌 ยังมีบทบัญญัติบางประการ เช่น การขึ้นทะเบียน และการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และอัตราค่าปรับ ที่อาจเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้กลับไปพิจารณาทบทวนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับความเหมาะสมของบทบัญญัติ ตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องไม่เป็นภาระแก่ประชาชน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง


สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่  เผยแพร่

จุดเทียน




เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เวลา 19.00 น. เทศบาลเมือแพร่ นำโดยคณะผู้บริหาร ปลัดเทศบาลเมืองแพร่ นำพนักงานเทศบาล พนักงานครูเทศบาล และลูกจ้างเทศบาลเมืองแพร่ ร่วมพิธีจุดเทียนเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร. ณ บริเวณกาด 3 วัย

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เล่าขาน เหล้าขาล สุรากลั่นชุมชน



     เมื่อต้นเดือนตุลาคม(พ.ศ.2561)ที่ผ่านมานี้ได้มีพี่น้องนักข่าวชักชวนไปทำข่าวยังพื้นที่ ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ จึงตอบตกลงเลยโอกาสติดสอยห้อยตามไปทำข่าวในพื้นที่ด้วย ทำให้มีโอกาสได้ชมโรงต้มเหล้า กรรมวิธีการผลิตและชิมรสชาติของสุรากลั่นชุมชนของหมู่บ้านสะเอียบ สินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดแพร่ เมื่อชิมไปหลายจอกก็มีเรื่องราวให้ได้พูดและสอบถามกันไปต่างๆนานา ทำให้ทราบว่าสุรากลั่นหรือเหล้าของหมู่บ้านสะเอียบมีความผูกพันธ์กับวัฒนธรรมประเพณีมากมาย ในสมัยโบราณก่อนจะมีงานเทศาลหรือประเพณีต่างๆ ชาวบ้านจะต้องทำพิธีตั้งขัน หรือการยกครู เพื่อทำการบวงสรวงให้งานมีความราบรื่น และพิธีมีความศักดิ์สิทธิ์


     สุรา หรือเหล้าเดือนห้า(เหนือ) ทุกบ้านต้องมีเก็บไว้ เพื่อป้องกันฟ้าผ่า โดยมีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ถ้ามีฝนตกหัวปี แล้วเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติฟ้าฝนตกรุนแรง ลมกรรโชกและที่สำคัญคือ “ฟ้าผ่า” ให้ดื่มเหล้าเดือนห้านิดหน่อย หรือถ้าเป็นเด็กๆผู้หญิงที่ดื่มเหล้าไม่เป็นก็ให้นำเหล้าเดือนห้ามาทาที่บริเวณหัว จะช่วยป้องกันฟ้าผ่าได้ เช่นกัน นอกจากนั้นเหล้ายังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ผสมกับสมุนไพร ในการสะกัดเอาตัวยาออกมาจากสมุนไพร นอกจากนั้นคนสมัยโบราณนั้นยังนิยมดื่มยาดองหลังจากทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อบำรุงร่างกายและช่วยให้เลือดลมสูบฉีด กระตุ้นเลือดลมและทำให้ร่างกายหายเหนื่อยอีกด้วย

     แม้ในกระบวนการผลิตเหล้าก็ยังแฝงประเพณีความเชื่อที่ปฎิบัติสืบกันมา เช่น การทำลูกแป้ง จะไม่นิยมปั้นในเดือนสามเหนือ เพราะเชื่อกันว่าลูกแป้งที่ปั้นออกมานั้นจะเสียและไม่ดี , ห้ามผู้หญิงที่มีประจำเดือนเข้าร่วมกันปั้นลูกแป้ง และในเวลาที่ชุมชนมีผู้เสียชีวิต ก็จะไม่มีการปั้นลูกแป้ง โดยจะเลื่อนการปั้นไปจนกว่างานศพจะเสร็จสิ้นไปก่อน เพื่อเป็นการให้คนในชุมชนมาช่วยงานศพกันก่อน หรืออีกนัยตามความเชื่อ คือ วันพระวันเนาและเวลามีงานศพนั้น ชาวสะเอียบจะไม่มีการกลั่นสุราเด็ดขาด เพราะถ้ามีการกลั่นสุราแล้วสุราที่ได้จะการกลั้นนั้นจะเสีย

     จากการพูดคุยกับคุณฮอล ผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชน สุราขาล ได้เล่าให้ฟังว่า การกลั่นสุราเป็นกิจการของที่บ้านและได้ทำมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว โดยใช้ชื่อว่า “ขาล” เพราะว่าผู้เริ่มต้นผลิตและกลั่นสุราคนแรกคือคุณย่าซึ่งเกิดในปีขาล สืบต่อมาคือแม่และตนเองก็เกิดปีขาล เช่นกัน โดยสุราขาลนั้นจะกลั่นในวันที่สิบห้าคำเดือนห้า(เหนือ)ของทุกปี เชื่อว่าสุราที่กลั่นในคืนวันเพ็ญสิบห้าค่ำนั้นจะมีรสดี รสชาติกลมกล่อมเป็นพิเศษ ดั่งเหมือนว่า ร่ำสุราท่ามกลางแสงจันทร์

     สุรากลั่นชุมชนตำบลสะเอียบจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน จากเหล้าเถือนในอดีตสู่ผลิตภัณฑ์ มือ1 ของชุมชนสะเอียบ ที่สร้างรายได้ จ่ายภาษีเข้ารัฐกว่า400ล้าน ต่อปี เป็นสุรากลั่นขาวที่มีคุณภาพและรสชาติอร่อย ด้วย ปัจจุบันเป็นสุรากลั่นที่ถูกกฎหมาย สงนราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักหลายร้อยบาท ตามคุณภาพการกลั่นและดีกรี สมเป็นของดีเมืองแพร่ ดั่งคำพูดที่ว่า“สุรากลั่นชุมชน ต้องของสะเอียบเท่านั้น



โดยนายคมสัน  หน่อคำ



วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คำสอนบะเก่า


สุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ออกมา  เช่น ทำนองโวหาร สำนวน คำพังเพย โดยมีเนื้อหาความหมายที่ดี มักเป็นคำสอนสั่งสอน หรือคำเตือนใจให้ระลึกถึงอยู่เสมอ มักเป็นคำพูด อ่าน คำท่องจำที่เข้าใจเนื้อความได้ทันที่ โดยไม่ต้องแปลความหมาย สุภาษิตล้านนา คือ คำภาษิตที่ถูกแต่งโดยคนล้านนา โดยใช้ภาษาล้านนา แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการสั่งสอนลูกหลานและคนในท้องถิ่นล้านนา ส่วนมากแต่งจากเหตุการณ์มูลเหตุต่างๆในอดีต เช่น เหตุเกิดจากธรรมชาติ,เกิดจากการละเล่น,เกิดจากการกระทำของมุนษย์-สิ่งแวดล้อม-อุบัติเหตุและการเกิดจากการผิดแผงประเพณีหรือศาสนา เป็นต้น
            ในปัจจุบันความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมประเพณี ของชาวล้านนา คำสอน สุภาษิตล้านนาบางอย่างถูกมองว่าล้าสมัยและกำลังจะจางหายไปกับกระแสกาลเวลา ความงดงามของภาษา วาทะกรรม คำสอนที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างขึ้นมานั้น เป็นเครื่องสอนให้เราสำนึกและคงอยู่กับศีลธรรม ดังนั้นขอยกเอา สุภาษิตล้านนาหรือคำสอนบะเก่ามาเตือนสติแก่ผู้อ่านทุกท่าน สักประโยค
“จะนั่งหื้อผ่อตี้ จะหนีหื้อผ่อก้น”  แปลว่า ก่อนนั่งให้ดูที่  ก่อนลุกหนีให้ดูก้น
(ตี้ = ที่ ทาง,  ผ่อ = ดู,  หนี = ลุกหนี)
ตรงกับพุทธภาษิตที่ว่า "ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ"
คนโบราณ สอนและให้ข้อเตือนจิตสะกิดใจว่า ก่อนทำอะไรนั้น "ให้ตั้งสติ"  ให้วินิจฉัยว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อมิให้ต้อง "น้ำตาตกใน" ภายหลัง เพราะความผิดพลั้ง ไม่ระมัดระวังให้ดีก่อนลงมือทำ
โดยคำว่า "ผ่อ" นั้นหมายถึง "ให้คิด" หรือใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำตามพุทธภาษิตนั่นเอง คิด ก็หมายถึง ดูด้วยสติ  ก่อนจะนั่ง ก็ดูที่ว่ามีธุลี หรือของมีคมอยู่หรือไม่  ก่อนจะลุกไป ก็คลำก้นดูก่อนว่า มีใครแกล้งเอา "หาง" ใส่หรือเปล่า  ทางที่ดี ควร "ผ่อ" ก่อน เพื่อความไม่ประมาท ทั้งนี้มิใช่ "ระแวง" แต่เป็น "ระวัง"

ขอบคุณที่มาจาก  เว็ปไซด์เกษตรสมบูรณ์หน้า คำสอนบะเก่า และ ผะญ๋า ธรรม คำมะเก่า


โดย นายคมสัน  หน่อคำ





วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2561

นับถือผี



     ชาวล้านนามีความผูกพันธ์กับความเชื่อการนับถือผีมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันและสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาที่ต้องเข้าป่าไปหาอาหารหรือต้องค้างพักแรมอยู่ในป่ามักจะต้องบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางเสมอและเมื่อเวลาที่กินข้าวในป่าก็มักจะแบ่งอาหารให้เจ้าที่ด้วยเช่นกันนอกจากนั้นเมื่อเวลาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในป่าเมื่อเวลาที่ต้องถ่ายปลดทุกข์หนักเบานอกห้องน้ำ ก็จะต้องขออนุญาตจากเจ้าที่ก่อนอยู่เสมอเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนล้านนานั้นงผูกผันและยึดติดอยู่กับการเชื่อถือสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือนับถือผี

     สำหรับชาวล้านนานั้นกับการเลี้ยงผีดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออกเพราะนับตั้งแต่เกิดมาคนล้านนาจะเกี่ยวพันกับผีหรือวิญญาณมาตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น เมื่อมีเด็กเกิดขึ้นในบ้านจะต้องทำพิธีเรียกขวัญ หรือที่เรียกว่า "ฮ้องขวัญ" และเมื่อเวลาที่เด็กเกิดไม่สบายร้องไห้โยเย ก็มักจะเชื่อว่ามีวิญญาณร้ายของผีตายโหงมารบกวนเด็ก คนล้านนาเชื่อว่าขวัญของเด็กเป็นขวัญที่อ่อนแอ ภูตผีวิญญาณต่าง ๆมักจะมารบกวนได้ง่ายๆ ดังนั้นเมื่อเด็กไม่สบายก็จะต้องทำพิธีเลี้ยงผีหรือหาเครื่องรางมาผูกที่ข้อมือของเด็ก ปัจจุบันในแถบทางชนบทเรายังสามารถพบเห็นการกระทำแบบนี้อยู่การเลี้ยงผีของคนล้านนา จะอยู่ในช่วงระหว่างเดือน 4 เหนือ จนถึงเดือน 8 เหนือช่วงเวลานี้เราจะพบว่าตามหมู่บ้านต่าง ๆในภาคเหนือจะมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษกันอย่างมากมายในช่วงกลางฤดูร้อนจะมีการลงเจ้าเข้าทรงตามหมู่บ้านต่าง ๆทั้งนี้เป็นเพราะความเชื่อของชาวบ้านที่ว่าการลงเจ้าเป็นการพบปะพูดคุยกับผีบรรพบุรุษ ซึ่งในปีหนึ่งจะมีการลงเจ้าหนึ่งครั้งและในการลงเจ้าครั้งนี้จะถือโอกาสทำพิธีรดน้ำดำหัวผีบรรพบุรุษไปด้วย ยังมีพิธีเลี้ยงผีอยู่พิธีหนึ่งที่มักจะกระทำกันในช่วงเวลานี้และเป็นพิธีที่สำคัญในปีหนึ่งจะทำพิธีนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การเลี้ยงผีมดผีเม็งชาวบ้านที่ประกอบพิธีนี้ขึ้นบอกว่า การเลี้ยงผีมดผีเม็งจะเลี้ยงอยู่ 2 กรณี คือเมื่อเวลามีคนเจ็บป่วยไม่สบายในหมู่บ้านจะทำพิธีบนผีเม็งเพื่อขอใช้ช่วยรักษา เมื่อเวลาที่หายแล้วจะต้องทำพิธีเชิญวิญญาณผีเม็งมาลงและจัดหาดนตรีมาเล่นเพื่อเพิ่มความสนุกสนานแก่ผีมดผีเม็งด้วยอีกกรณีหนึ่งเมื่อไม่มีคนเจ็บป่วยในหมู่บ้านจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีมดผีเม็งทุกปี โดยจะต้องหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมและจะต้องกระทำระหว่างช่วงเวลาเดือน 4 เหนือถึง เดือน 8 เหนือ ก่อนเข้าพรรษาเพราะถ้าไม่ทำพิธีผีมดผีเม็งอาจจะไม่คุ้มครอง คนในหมู่บ้านก็ได้ ดังนั้นเมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาดังกล่าวเรามักจะพบภาพพิธีเหล่านี้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ
     ชาวล้านนากับความเชื่อในการเลี้ยงผี ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญ แม้ว่าการดำเนินชีวิตของพวกเขาจะราบรื่นไม่ประสบปัญหาใดแต่ภายใต้จิตสำนึกที่แท้จริงแล้วคนล้านนาเหล่านี้ไม่อาจลืมเลือนวิญญาณของผีบรรพบุรุษที่เคยช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ปกติสุขมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แม้กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรภาพที่เรายังคงพบเห็นได้เสมอเมื่อเวลาเดินทางไปยังหมู่บ้านต่าง ๆในชนบทก็คือ เรือนเล็ก ๆ หลังเก่าตั้งอยู่กลางหมู่บ้านนั่นก็คือหอเจ้าที่ประจำหมู่บ้านที่ยังย้ำเตือนให้พวกเขาไม่ให้หลงไหลไปกับกระแสสังคมนั่นเอง






โดย นายคมสัน  หน่อคำ