วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

ความเชื่อเกี่ยวกับพืชของชาวล้านนา ตอนที่ 1

ความเชื่อเกี่ยวกับพืชของชาวล้านนา ตอนที่ 1 เรียบเรียงโดย นายคมสัน   หน่อคำ

          ในอดีตคนเรานั้นมีความผูกพันอยู่กับธรรมชาติและพื้นฐานความเชื่อ โดยเฉพาะชาวล้านนาที่ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยกันทำการปลูกพืช เก็บผัก เลี้ยงสัตว์ และทำการเกษตรเป็นหลัก ปลูกบ้านปลูกเรือนใกล้ชิดกับป่า ทำให้มีความเชื่อหลากหลาย พืชผักที่ปลูกไว้หรือที่มีอยู่ก็มีความเชื่อหลากหลายเช่นกัน จึงมีความเชื่อที่สืบต่อกันมา เช่น    

กล้วยแฝด คือ กล้วยที่มีลูกเชื่อมติดกัน 2 ลูก คนในล้านนาจะห้ามไม่ให้หญิงมีครรภ์รับประทานกล้วยแฝด หรือแม้แต่ผลไม้อื่นที่มีลูกเชื่อมติดกัน โดยเชื่อว่าถ้ารับประทานกล้วยแฝดหรือผลไม้แฝดแล้ว ลูกที่คลอดออกมาจะเป็นลูกแฝดเหมือนผลไม้นั้น ๆ ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของคนในสมัยโบราณ เพราะการคลอดในสมัยก่อนนั้น มีความยากลำบากมากอาจเป็นอันตรายทั้งแม่และลูกได้

ขนุน (บ่าหนุน) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีน้ำยางสีขาว ผลกลมยาว ผิวนอกมีหนามถี่ กินได้ทั้งผลอ่อนและผลสุก ผลอ่อนใช้แกงใส่เนื้อ หมูหรือปลากรอบ ส่วนแก่นสีเหลืองใช้ต้มเอาน้ำย้อมผ้า ชาวล้านนา เชื่อว่า 1. ถ้าแกงผลขนุนอ่อนในวันปากปี คือวันเริ่มเข้าสู่ปีใหม่ ซึ่งปัจจุบันตรงกับวันที่ 16 เมษายนของทุกปี จะทำให้คนในครอบครัวนั้นมีสิ่งที่มีอุดหนุนให้มีข้าวของเงินทองตลอดปี 2. ถ้าใช้ส่วนกิ่งและใบของขนุนนำมารองหลุมเสามงคลหรือเสาเอกเชื่อว่าจะช่วยอุดหนุนเจ้าของเรือนให้มีความมั่งคั่งสมบูรณ์ 3. ส่วนของลำต้นถ้านำเอามาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปไม้ แล้วถวายวัด เชื่อว่าผู้สร้างถวายวัดจะมั่งคงร่ำรวยสมบัติ

ดอกจำปา (ดอกจุมปา) เป็นไม้ยืนต้น ส่งกลิ่นหอม หญิงสาวที่นิยมเก็บดอกจำปามาเสียบผม เมื่อเก็บจำปามาเสียบผม เมื่อเก็บดอกจำปาได้ ไม่ควรสูดดมกลิ่นหอมของดอกไม้นั้นทันที ยิ่งต้นจำปาที่ขึ้นอยู่ในวัดยิ่งไม่ควรดม แต่ถ้าต้องการจะดมกลิ่นดอกจำปาให้เอาดอกไม้นั้นเช็ดที่ผ้าถุงก่อน เพื่อป้องกันคาถาที่อาจจะมีผู้ชายมาปลุกเสกคาถาใส่ไว้ได้ เมื่อสูดดมไปเกิดไปถูกอาคมเข้าจะทำให้คลั่งไคล้หลงไหลชายผู้นั้นได้ ตามนิทานที่เล่ามาเชื่อกันว่า มีสามเณรน้อยองค์หนึ่งยังไม่เดียงสา มีแต่น้ำมูกน้ำลาย ถูกเจ้าอาวาสบังคับให้ท่องสวดมนต์บท "เยสันตา" ให้ได้ขึ้นใจ สามเณรน้อยก็ท่องไปเล่นไป แม้แต่ขึ้นอยู่บนต้นดอกจำปา ก็ท่องสวดเยสันตาไปด้วย ในขณะนั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งเข้าไปในวัด เห็นเณรน้อยอยู่บนต้นจำปา จึงขอให้เณรเก็บดอกจำปาให้ เมื่อเณรน้อยปลิดดอกได้แล้วและแลเห็นว่ามีมดมาเกาะอยู่ที่ดอกจำปา จึงได้ใช้ปากเป่ามดเพื่อให้พ้นออกจากดอก ซึ่งเมื่อหญิงสาวได้ดอกจำปามาแล้วจึงสูดดมกลิ่นหอมของดอกไม้นั้นและทันทีนั้นหญิงสาวก็บังเกิดความรักใคร่และหลงใหล ในตัวสามเณรน้อยผู้นั้น

ต้นยอ(ตาเสือ)เป็นไม้พุ่มยืนต้น ผลกินได้ ส่วนใบอ่อนใช้รองก้นห่อหมกเชื่อว่า 1. เมื่อผู้ใดถูกสุนัขกัด ถ้าได้นำเอารากต้นยอมาฝนใส่บาดแผลที่ถูกสุนัขกัด เชื่อว่าภายใน 3 - 7 วัน ฟันของสุนัขที่กัดจะผุกร่อนหลุดไปทีละ 1 - 2 ซี่ 2. ห้ามไม่ให้นำเอาต้นยอมาปลูกใกล้เรือน หรือปล่อยให้ต้นยอขึ้นใกล้เรือน เมื่อต้นยอโตและสูงถึงหลังคาเรือน เชื่อว่าจะทำให้เจ้าของเรือนไม่เจริญ

ความเชื่อเกี่ยวกับพืชของชาวล้านนานั้นยังมีอีกหลายพืชพันธ์ติดตามอ่านได้ในฉบับหน้า

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น