วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

ความเชื่อเกี่ยวกับพืชของชาวล้านนา ตอนที่ 1

ความเชื่อเกี่ยวกับพืชของชาวล้านนา ตอนที่ 1 เรียบเรียงโดย นายคมสัน   หน่อคำ

          ในอดีตคนเรานั้นมีความผูกพันอยู่กับธรรมชาติและพื้นฐานความเชื่อ โดยเฉพาะชาวล้านนาที่ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยกันทำการปลูกพืช เก็บผัก เลี้ยงสัตว์ และทำการเกษตรเป็นหลัก ปลูกบ้านปลูกเรือนใกล้ชิดกับป่า ทำให้มีความเชื่อหลากหลาย พืชผักที่ปลูกไว้หรือที่มีอยู่ก็มีความเชื่อหลากหลายเช่นกัน จึงมีความเชื่อที่สืบต่อกันมา เช่น    

กล้วยแฝด คือ กล้วยที่มีลูกเชื่อมติดกัน 2 ลูก คนในล้านนาจะห้ามไม่ให้หญิงมีครรภ์รับประทานกล้วยแฝด หรือแม้แต่ผลไม้อื่นที่มีลูกเชื่อมติดกัน โดยเชื่อว่าถ้ารับประทานกล้วยแฝดหรือผลไม้แฝดแล้ว ลูกที่คลอดออกมาจะเป็นลูกแฝดเหมือนผลไม้นั้น ๆ ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของคนในสมัยโบราณ เพราะการคลอดในสมัยก่อนนั้น มีความยากลำบากมากอาจเป็นอันตรายทั้งแม่และลูกได้

ขนุน (บ่าหนุน) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีน้ำยางสีขาว ผลกลมยาว ผิวนอกมีหนามถี่ กินได้ทั้งผลอ่อนและผลสุก ผลอ่อนใช้แกงใส่เนื้อ หมูหรือปลากรอบ ส่วนแก่นสีเหลืองใช้ต้มเอาน้ำย้อมผ้า ชาวล้านนา เชื่อว่า 1. ถ้าแกงผลขนุนอ่อนในวันปากปี คือวันเริ่มเข้าสู่ปีใหม่ ซึ่งปัจจุบันตรงกับวันที่ 16 เมษายนของทุกปี จะทำให้คนในครอบครัวนั้นมีสิ่งที่มีอุดหนุนให้มีข้าวของเงินทองตลอดปี 2. ถ้าใช้ส่วนกิ่งและใบของขนุนนำมารองหลุมเสามงคลหรือเสาเอกเชื่อว่าจะช่วยอุดหนุนเจ้าของเรือนให้มีความมั่งคั่งสมบูรณ์ 3. ส่วนของลำต้นถ้านำเอามาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปไม้ แล้วถวายวัด เชื่อว่าผู้สร้างถวายวัดจะมั่งคงร่ำรวยสมบัติ

ดอกจำปา (ดอกจุมปา) เป็นไม้ยืนต้น ส่งกลิ่นหอม หญิงสาวที่นิยมเก็บดอกจำปามาเสียบผม เมื่อเก็บจำปามาเสียบผม เมื่อเก็บดอกจำปาได้ ไม่ควรสูดดมกลิ่นหอมของดอกไม้นั้นทันที ยิ่งต้นจำปาที่ขึ้นอยู่ในวัดยิ่งไม่ควรดม แต่ถ้าต้องการจะดมกลิ่นดอกจำปาให้เอาดอกไม้นั้นเช็ดที่ผ้าถุงก่อน เพื่อป้องกันคาถาที่อาจจะมีผู้ชายมาปลุกเสกคาถาใส่ไว้ได้ เมื่อสูดดมไปเกิดไปถูกอาคมเข้าจะทำให้คลั่งไคล้หลงไหลชายผู้นั้นได้ ตามนิทานที่เล่ามาเชื่อกันว่า มีสามเณรน้อยองค์หนึ่งยังไม่เดียงสา มีแต่น้ำมูกน้ำลาย ถูกเจ้าอาวาสบังคับให้ท่องสวดมนต์บท "เยสันตา" ให้ได้ขึ้นใจ สามเณรน้อยก็ท่องไปเล่นไป แม้แต่ขึ้นอยู่บนต้นดอกจำปา ก็ท่องสวดเยสันตาไปด้วย ในขณะนั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งเข้าไปในวัด เห็นเณรน้อยอยู่บนต้นจำปา จึงขอให้เณรเก็บดอกจำปาให้ เมื่อเณรน้อยปลิดดอกได้แล้วและแลเห็นว่ามีมดมาเกาะอยู่ที่ดอกจำปา จึงได้ใช้ปากเป่ามดเพื่อให้พ้นออกจากดอก ซึ่งเมื่อหญิงสาวได้ดอกจำปามาแล้วจึงสูดดมกลิ่นหอมของดอกไม้นั้นและทันทีนั้นหญิงสาวก็บังเกิดความรักใคร่และหลงใหล ในตัวสามเณรน้อยผู้นั้น

ต้นยอ(ตาเสือ)เป็นไม้พุ่มยืนต้น ผลกินได้ ส่วนใบอ่อนใช้รองก้นห่อหมกเชื่อว่า 1. เมื่อผู้ใดถูกสุนัขกัด ถ้าได้นำเอารากต้นยอมาฝนใส่บาดแผลที่ถูกสุนัขกัด เชื่อว่าภายใน 3 - 7 วัน ฟันของสุนัขที่กัดจะผุกร่อนหลุดไปทีละ 1 - 2 ซี่ 2. ห้ามไม่ให้นำเอาต้นยอมาปลูกใกล้เรือน หรือปล่อยให้ต้นยอขึ้นใกล้เรือน เมื่อต้นยอโตและสูงถึงหลังคาเรือน เชื่อว่าจะทำให้เจ้าของเรือนไม่เจริญ

ความเชื่อเกี่ยวกับพืชของชาวล้านนานั้นยังมีอีกหลายพืชพันธ์ติดตามอ่านได้ในฉบับหน้า

 

แกงฮังเล



    อีกไม่กี่วันนี้ก็จะมีวันพระใหญ่ที่พวกเราชวนพุทธให้ความสำคัญในการทำบุญเป็นอย่างมาก นั้นก็คือวันอาสาฬหบูชา( 5 ก.ค.2563)และวันเข้าพรรษา(6 ก.ค. 2563) ซึ่งเป็นวันหยุดยาว ถึง 4 วัน หลายท่านได้หยุดพักผ่อนและก็ตั้งใจจะไปวัด เพื่อตานขันข้าว(ถวายเพล)เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและเจ้ากรรมนายเวร ซึ่งในวันนั้นที่วัดก็จะมีกับข้าวมากมายเต็มโรงครัวของวัด พระฉันท์ก็ไม่หมด แม้จะแจกจ่ายให้ชาวบ้านไปก็ยังเหลืออีกมาก ถ้าทิ้งไว้ก็จะเน่าเสียเปล่าประโยชน์ จึงนำมาทำแกงโฮ๊ะ เพื่อไว้รับประทานได้นานๆ และวัตถุดิบหลักของแกงโฮ๊ะนั้นก็คือ พระเอกอย่างแกงฮังเลเกริ่นซะยืดยาวกลับมาเข้าเรื่องหลักดีกว่า ใครทราบบ้างว่าแกงฮังเลมีประวัติความเป็นมาอย่างไร….

แกงฮังเล มี 2 ชนิด คือ แกงฮังเลม่าน และ แกงฮังเลเชียงแสน เชื่อกันว่าเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่า สำหรับแกงฮังเลเชียงแสนจะแตกต่างตรงที่มีถั่วฝักยาว มะเขือยาว พริกสด หน่อไม้ดอง งาขาวคั่ว เพิ่มเข้ามา ใช้เป็นส่วนผสมของแกงโฮะ จากการศึกษาของอุบลรัตน์ พันธุมินทร์ จากแหล่งข้อมูลพุกาม พบว่าแกงที่ชาวพม่าเรียกว่า ฮินแลหรือฮังแลนั้นเป็นแกงอย่างเดียวกับที่ชาวล้านนาเรียกว่าแกงโฮะส่วนแกงอย่างที่ชาวล้านนาเรียกฮินแลหรือฮังแลซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็นฮังเลซึ่งชาวพม่าเรียกแวะตาฮีนซึ่งแปลว่าแกงหมู แกงฮังเลม่าน มีเครื่องปรุงได้แก่ เนื้อหมูสามชั้นติดมัน หรือกระดูกซี่โครงบ้างปนกัน ขิงหั่นเป็นฝอย มะขามเปียก กระเทียมดองแกะเป็นกลีบ ถั่วลิสงคั่วกะเทาะเปลือกแล้ว พริกแห้ง เกลือ กะปิ ข่า ขมิ้น ตะไคร้ หอม กระเทียม น้ำตาลหรือน้ำอ้อยและผงแกงฮังเล 

ขั้นตอนการแกง คือนำพริกแห้ง เกลือ ขมิ้น กะปิ หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ โขลกรวมกันเป็นเครื่องแกง เนื้อหมูหั่นเป็นชิ้นขนาดใหญ่กว่าหั่นใส่แกง นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากับเครื่องแกงที่เตรียมไว้และผงแกงฮังเลหมักทิ้งไว้ ประมาณ 30 นาที แล้วนำใส่หม้อขึ้นตั้งไฟจนเดือด อาจเติมน้ำลงไปเล็กน้อยหรือบางสูตรจะนำไปผัดก่อนแล้วเติมน้ำอีกเล็กน้อย เคี่ยวจนเปื่อยจนเหลือน้ำขลุกขลิก จากนั้นนำมะขามเปียก ถั่วลิสง ขิง เติมลงไป ถ้าชอบหวานก็ใส่น้ำตาลหรือน้ำอ้อยลงไปด้วย แกงฮังเลที่ได้จะมีสีน้ำตาลแดง เนื้อหมูเปื่อยนุ่ม มีน้ำขลุกขลิก รสไม่จัด อมเปรี้ยว เค็มนำ รสเผ็ดตาม แต่แกงฮังเลเชียงแสน แตกต่างจากแกงฮังเลม่านตรงที่ใส่ถั่วฝักยาว มะเขือยาว พริกสด หน่อไม้ส้ม (หน่อไม้ดองเปรี้ยว) และงาขาวคั่ว เพิ่มเข้ามา มีขั้นตอนการปรุงเช่นเดียวกับแกงฮังเลม่าน แต่ในขณะเคี่ยวแกงนั้นจะใส่หน่อไม้ส้ม เมื่อจวนจะยกลงก็ใส่ถั่วฝักยาว มะเขือยาว และพริกสด ก่อนยกลงใส่น้ำมะขามเปียก ขิง และงาดำคั่ว บางสูตรจะต้มกับหน่อไม้ดองรวม กันก่อนและจึงใส่เครื่องแกงและเครื่องปรุงอื่น ๆ ตามลำดับ เครื่องแกงฮังเลบางแห่งนิยมใส่เม็ดผักชีหรือรากผักชี และกระชายด้วย….. 

ชอบคุณที่มาข้อมูลจาก วีกีพีเดีย,ศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมล้านนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 

ผางลาง










 

ผางลาง คือกระดิ่งขนาดใหญ ทำด้วยโลหะลักษณะคล้ายระฆังแต่แบนแคบมีหูร้อย ด้านในจะมีลูกผางลางมัดห้อยอยู่ในโพรงกลวง ทำจากไม้ไม้ยึดพางลาง ผางลางจะวางบนหลังสัตว์ โดยการตีไม้ยึดให้ขนานกัน 2 ท่อน ตัดเส้นหวาย 2 เส้น สอดไปในรูไม้ที่เจาะไว้โน้มให้โค้งงอเท่ากับความสูงของพางลาง เส้นหวายโค้งทั้ง ๒ เส้นนี้จะขนานกับพางลางพางลางให้แน่น ใช้เชือกร้อยหูพางลางแล้วมัดกับเส้นหวายขนานกัน ใช้เชือกผูกมัดรอบตัวสัตว์แล้วกลับมามัดตัวไม้รองพางลางอีกครั้งหนึ่ง

            การใช้ผางลางพัฒนามาจากการใช้กระดิ่งแขวนคอวัว คอควาย แต่เสียงกระดิ่งจะแหลมเล็กเหมือนๆ กัน ทำให้ไม่สามารถแยกสัญญาณได้ว่า เสียงที่ดังนั้นเป็นฝูงวัว ควาย ของตนหรือไม่ การทำให้เสียงดังและเสียงใหญ่จำเป็นต้องทำโพรงเหล็ก กว้าง มีลูกตีใหญ่ เมื่อผางลางมีขนาดใหญ่ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ผูกคอสัตว์ จึงได้นำมาวางบนหลังสัตว์แทน

ชาวบ้านและชาวเขานิยมใช้ผางลาง ต่างบนหลังวัว ม้า ลา และล่อ ในขณะต่างสิ่งของหรือบรรทุก เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เพื่อนำแลกเปลี่ยนซื้อขาย ซึ่งหนทางที่สัตว์เดินนั้นเป็นระยะทางไกล เดินทางกันเป็นกองคาราวาน อาจมีป่าไม้ ภูเขาสลับซับซ้อน ทำให้หลงทางและแตกขบวนได้ง่าย โดยเสียงสัญญาณของผางลางจะเป็นตัวบอกทิศทาง ให้คนเดินคุมกระบวนตามหลังมาติดตามไปได้ถูกต้อง ผางลางทำเล็กๆ ขนาดกระดิ่งผูกคอวัว คอควายก็มี แต่ใช้สำหรับลูกขบวนเพื่อให้ง่ายในการติดตามลูกขบวนที่การหลงฝูง

ในอดีตมีเล่าเรื่องเล่าว่า ผางลาง” ปกติจะมีชนิด 2 ตัว คือ ตัวผู้และตัวเมีย ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมีย ผางลาง จะมีเสียงกึกก้อง ก็ต่อเมื่อเราต้องเขย่าถึงจะมีเสียงเกิดขึ้น เสียงของผางลาง จะดังกึกก้องไปไกลเป็นกิโลเมตร อยู่ต่างหมู่บ้านก็จะได้ยิน เสียงชัดเจน เสียงของผางลาง จะกังวานไพเราะเสนาะหูกว่าเสียงของกระดิ่งวัวควายหลายเท่า ปัจจุบันเหลือให้เห็นไม่มากแล้ว

คนสมัยก่อนใช้ผางลางใน 2 กรณี คือ 1.เมื่อมีเหตุที่ทำให้เกิดความสุขและความดีงาม เช่น หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ก็จะนำผางลางมาเขย่าให้เกิดเสียงดัง เพื่อประกาศ ให้คนทั่วไปทั้งในหมู่บ้านและบ้านใกล้เรือนเคียงได้ทราบว่าเก็บเกี่ยวข้าว เสร็จแล้วและข้าวอุดมสมบูรณ์ดี และเป็นการขอบคุณเทวดาหรือขอบคุณดินฟ้าอากาศที่ทำให้ได้ผลผลิตมากและขอให้ปีหน้าผลผลิตข้าวอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิมและถือเป็นการละเล่นสนุกสนานก็ได้ 2.เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น เกิดกบกินเดือนหรือจันทรุปราคา ปกติชาวบ้านสมัยก่อนถ้ามีเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น กบกินเดือน ก็จะใช้วิธีตีเกราะเคาะไม้ให้เกิดเสียงดัง ตีเล้าเป็ดเล้าไก่ ตีปี๊บ และอีกอย่างหนึ่ง ถ้าหมู่บ้านไหนมีผางลาง ชาวบ้านจะนำผางลางมาเขย่าให้เกิด เสียงดังเพื่อจะไล่ให้กบคายเดือนออกมาอย่างนี้เป็นต้น

ที่มาข้อมูล http://www.hugchiangkham.com, http://www.openbase.in.th/node/7174

ลาบเมือง

 

ลาบ เป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า ลาภ ที่มีความหมายว่า สมบัติ กำไร การได้ การมี ตามความเชื่อของคนไทยแล้วคือ การได้กินลาบ ในวันมงคลก็เหมือนได้โชคลาภ โดยเฉพาะชาวเหนือและชาวอีสาน ลาบคืออาหารระดับอาหารเหลา ไม่ว่ามีงานอะไรชาวเหนือก็จะทำลาบมาเลี้ยงหรือตอนรับแขกที่มางาน  ลาบเหนือนั้นต่างจากลาบอีสานเพราะมีมะแขว่นเป็นตัวชูโรงให้มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ที่ใครได้ลิ้มลองต้องติดใจ เหมือนลาบอีสานที่มีข้าวคั่วเมื่อใส่แล้วก็จะมีกลิ่นและรสหอมชวนเปิบกับข้าวเหนียวกันจนพุงกาง

ลาบเหนือ นิยมทำมาจากเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อควาย  เนื้อปลาและเนื้อสัตว์อื่นๆโดยมีกรรมวิธีทำ คือ อันดับแรก. หั่นเนื้อสัตว์เป็นชิ้นเล็กๆ สับเนื้อสัตว์ขณะที่สับให้ใส่เลือดสัตว์ลงสับด้วยทีละน้อย สับเนื้อสัตว์จนกระทั่งหมูละเอียดและนิ่ม  หั่นเครื่องในหมูต้มและหนังหมูต้มเป็นชิ้นบางๆ ผสมเลือดหมู น้ำต้มเครื่องในหมู พริกลาบ คนให้เข้ากัน  ใส่เนื้อสัตว์สับละเอียดลงคลุกเคล้าให้เข้ากัน
ใส่เครื่องในหมูและหนังหมู   ใส่ผักไผ่(ผักพว)ซอย และผักชีต้นหอมซอย คลุกเคล้าให้เข้ากันโดยใช้พริกลาบเป็นเครื่องปรุงหลัก และที่สำคัญลาบเมืองแท้จะไม่ใช้น้ำปลา แต่จะใช้เกลือแทนความเค็มจากน้ำปลาเพราะน้ำปลาจะทำให้เนื้อสัตว์คาว และถ้าได้เกลือเม็ดเนื้อสัตว์ก็จะมีรสหวานกลมกล่อมยิ่งขึ้น

เหมือนคนเนื้อสัตว์เข้ากับเครื่องทั้งหมด  ก็จะใส่เลือดสัตว์สดๆเพิ่มโดยผ่านการคั้นด้วยใบตะไคร้เพื่อดับกลิ่นคาวและเพิ่มกลิ่นหอมลงไปคลุก ทำให้ลาบมีสีแดงน่ากิน

 ลาบเมืองต้องผักกับ เช่น ผัก กระหล่ำ ถั่วฝักยาว มะเขือกรอบ ผักคาวตอง ฯลฯ และผักพืชผักสวนครัวตามท้องถิ่น และอย่าลืมมะเขือเทศซอยบางๆ แช่ในน้ำปลา มื้อนี้ก็จะอิ่มอร่อยจนลืมมื้อต่อไปได้เลย

สำหรับน้ำพริกลาบ เรียกว่า น้ำพริกดำ เพราะมีสีดำของพริกแห้งย่างไฟ ใช้เป็นเครื่องยำลาบ หรือเครื่องปรุงลาบ และยำต่างๆ เช่น ยำจิ๊นไก่ ยำกบ ยำเห็ดฟาง  โดยเอาหอมแดง กับ ข่า และกระเทียม ไปคั่วหรือย่าง ให้หอมและสุก และเอาพริกทั้งสองอย่างไปคั่วจนออกสีสุก แล้วพักให้เย็น เสร็จแล้วนำไปบดรวมกันกับ หอมแดง ข่า กระเทียม ใช้รูบดรูเล็ก เสร็จแล้วคลุกให้เข้ากันให้ดี แค่นี้เราก็จะได้น้ำพริกลาบแล้ว แต่อย่าลืมเอามะแขว่นคั่วไฟจนหอมลงไปคลุกกับลาบ เพราะมะแขว่นเ คือ หัวใจของ ลาบเมือง

รถโดยสารคันแรกของเมืองแพร่


 

        รถโดยสารแรกของเมืองแพร่ เป็นรถยนต์ยี่ห้อตระกูล Ford ตราหมา ชนิด4สูบ เป็นเครื่องยนต์เบนซินสตาร์ทมือแบบมือหมุนที่มูเล่ย์ สั่งซื้อจากประเทศอังกฤษในราคา 4,000 บาท ประมาณปี พ.ศ.2481 (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) หมายเลขทะเบียน พร.0018 สามารถจุผู้โดยสารได้ 14 คน ค่ารถหรือค่าโดยสารมี 2 ราคา คือ นั่งหน้าข้างคนขับได้ 2 คน ค่ารถคนละยี่สิบสตางค์ ซึ่งคนนั่งหน้าจะได้ชมวิวทิวทัศน์ตลอดสองฝั่งของเส้นทาง ธรรมชาติอันเป็นป่าไม้ทีเขียวชะอุมหนาทึบ บางครั้งอาจมีสัตว์ป่า เช่น หมูป่า เลียงผา เก้ง งูเหลือม และสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ วิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถเพื่อไปหาแหล่งน้ำที่มีอยู่ตลอดสองข้างทาง ส่วนด้านหลังสามารถให้ผู้โดยสารนั่งได้สองแถวๆละ 6 คน ราคาค่าโดยสารคนละสิบสองสตางค์หรือหนึ่งเฟื้อง 

      รถจะวิ่งสายในเวียง –ป่าแดง เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ให้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อรถวิ่งมาได้ครึ่งทางก็จะแวะพักที่ศาลาหม่องโพเส็ง เพื่อให้ผู้โดยสารดื่มน้ำ –ปัสสาวะเข้าห้องน้ำและทำธุระส่วนตัว แล้วจึงวิ่งต่อไปถึงตำบลป่าแดง และวัดพระธาตุช่อแฮ โดยขากลับก็จะบรรทุกเมี่ยงไปส่งในเวียงด้วย เพื่อไม่ให้รถวิ่งเสียเที่ยวเปล่า วันหนึ่งจะวิ่ง 2 เที่ยว คือเที่ยวเช้าและเที่ยวบ่าย ย้อนหลังไปสมัยนั้นราคาน้ำมันลิตรละ 0.20 สตางค์ ถังน้ำมันจุได้ 50ลิตร เติมเต็มถังเพียง 10 บาทเท่านั้น(ปัจจุบัน พ.ศ. 2563-2481= 82 ปี) โดยคุณชาลี หรรษ์ภิญโญ บุตรเจ้าของรถเล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่เตี่ยเลือกใช้รถยนต์ยี่ห้อ FORD เพราะเป็นรถที่สำบุกสำบัน แรงดีเยี่ยม ขึ้นดอยแรงไม่มีตก วิ่งทางราบประหยัดน้ำมันดี อะไหล่ก็หาง่ายและดัดแปลงได้เมื่อภาวะคับขัน เช่น ซี่ล้อรถเมื่อหัก ก็หาไม้แดงเปลี่ยนแทนได้วิ่งหาสตางค์ได้ ไม่ต้องเสียเวลา แตรรถยนต์ก็เป็นแตรยางใช้บีบไม่เปลืองไฟสะดวกดี 

     สำหรับสถานที่ถ่ายภาพ คือสะพานบ้านร่องแวง(ขัวร่องแวง) ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ถ่ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2481 เป็นช่วงปีใหม่ไทย นายกิติพงษ์ หรรษภิญโญ(แซ่ห่าน) เจ้าของรถยนต์ คนที่สองนับจากซ้ายมือในรูป ได้พาครอบครัวและญาติๆไปเที่ยวชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดแพร่ แม่น้ำยม พระยาไชยบูรณ์ และสะพานร่องแวง สะพานไม้ที่สร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหมด เชื่อมระหว่างตัวในเวียงกับอำเภอสูงเม่นและอำเภอเด่นชัย โดยหลังจากถ่ายภาพแล้วนายกิติพงษ์ ได้สอนลูกๆว่าสายลำน้ำยมเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงคนเมืองแพร่ให้ได้ดื่มกิน เพาะปลูก อุปโภคบริโภค จึงควรค่าแก่การรักษาดูแลและส่งต่อแก่คนรุ่นหลังต่อไป 

ขอบคุณข้อมูลจาก นายชาลี หรรษ์ภิญโญ ผู้จัดการการไฟฟ้าจังหวัดน่าน เจ้าของเรื่อง ,สภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ อวดเก่า แพร่ย้อนยุค เมื่อ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2011 

 

ข้อมูลประกอบภาพ บุคคลในภาพ 1.นายท้ายรถ (คนเก็บสตางค์ค่าโดยสาร) 2..นายกิติพงษ์ หรร์ภิญโญ (เจ้าของรถ)เป็นคนจีนไหหลำ มาตั้งรกรากที่เมืองแพร่ ได้แต่งงานกับแม่ตุ่นแก้ว หรรษภิญโญ (แผ่นทอง) มีลูก 11 คน ชาย 5 คน หญิง 6 คน 3.สามีแม่นางป๋อก (คนพม่า) 4.คนจีนค้าขาย (ไหหลำ) 5.บุตรชาย 6.ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 7.ผู้ใหญ่บ้าน 

Foodman Phrae เปิดตัวบริการเดลิเวอร์รี่อำเภอเมืองแพร่


Foodman Phrae  เปิดตัวบริการเดลิเวอร์รี่อำเภอเมืองแพร่

30 กันยายน  2563 ที่โรงแรมแพร่นคราห้องพาวิเลี่ยน ชั้น 2 ‘FOODMAN Phrae (ฟู้ดแมนแพร่) แอพพลิเคชั่นสั่งอาหารเดลิเวอรี่ สัญชาติไทย เปิดให้บริการในเขต อ.เมืองแพร่  เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และเป็นการสร้างงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจท้องถิ่น ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ ทำให้เงินสะพัดหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น  โดยลูกค้าสามารถ สั่งอาหาร/เครื่องดื่ม /ของใช้เบ็ดเตล็ดในอำเภอเมืองแพร่  ผ่านแอพพลิเคชั่น FoodMan/ไลน์ /เพจ/เว็ปไซด์และสายด่วน FoodMan โดยไรเดอร์จะทำหน้าที่ ไปซื้อ ของตามออเดอร์ ที่ลูกค้าสั่ง และไปส่งถึงบ้านลูกค้า  FoodMan ซื้อของแทนคุณ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม/ร้านของใช้เบ็ดเตล็ด(ร้านของชำ)/ สินค้าโอท็อป/ร้านข้าวแกง/ร้านก๋วยเตี๋ยว/ ร้านส้มตำไก่ย่าง/ร้านลาบ/ร้านของหวาน/ร้านผลไม้ ในเมืองแพร่ในมือถือคุณ และหลังพิธีเปิดตัวแล้วทางงานจราจรสถานีตำรวจ สภ.เมืองแพร่ ได้ทำการอบรมการขับขี่และวินัยจราจรที่ถูกต้องให้แก่ไรเดอร์ฟู้ดแมนทุกคน โดยเน้นการขับขี่ที่ปลอดภัย สวมหมวกกันน็อคนิรภัย และมารยาทบนท้องถนน  ฟู้ดแมนแพร่จะเรามให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป สามารถโหลดแอพพลิเคชั่นฟู๊ดแมน และใส่รหัส fd100 เพื่อรับส่วนลด สั่งครบ 100 บ.ลดทันที่ 20 บ.เมื่อสั่งครั้งแรก ได้แล้ว....ข่าว คมสัน  หน่อคำ phrae365