วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2562

“กาแลและหัมยนต์” เครื่องประดับแผงความเชื่อพม่า



“กาแลและหัมยนต์” เครื่องประดับแผงความเชื่อพม่า เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ            กาแล หลายคนคงรู้จักและเคยเห็นมาแล้ว ว่ากาแลคือส่วนประดับบนหลังคาเรือนล้านนา มีลักษณะเป็นไม้แบบเหลี่ยมแกะสลักให้มีลวดลายเป็นส่วนที่ต่อจากปลายบนของ ปั้นลมเหนือจั่วและอกไก่โดยติดในลักษณะไขว้กัน เนื่องจากที่กาแลมีการแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม เป็นการตกแต่งให้เรือนกาแลงดงามยิ่งขี้น ดังนั้นจึ่งมีการยึดเอากาแลเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และเป็นสัญลักษณ์ประจำถิ่นล้านนา             กาแล แผลงมาจากคำว่า "กะแหล้ง" ซึ่งแปลว่าไขว้กัน เหตุที่มีการนำไม้มาไขว้กันที่หน้าจั่วหลังคาก็เพราะเป็นความเชื่อสมัยก่อนเมื่อคราวที่พม่าเข้าปกครองล้านนา แต่เกรงว่าจะมีผู้ที่มีบุญญาธิการมาเกิดในแผ่นดินที่ตนปกครองและอาจกลับมาโค่นล้มอำนาจและชิงเมืองคืนได้  จึงให้คนเมือง (ชาวล้านนา) ติดกาแลนี้ไว้ เพื่อทำลายบุญบารมีของเด็กที่เกิดใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งอัปมงคล เนื่องจากกาแลนี้ประยุกต์มาจาก "ไม้กะแแหล้ง" หรือไม้กากบาท ที่ปักเอาไว้เหนือหลุมศพของเด็กเพื่อสะกดวิญญาณไม่ให้ออกมา อีกทั้งการติดกาแลบนหลังคาบ้าน เพื่อบอกว่าบ้านหลังนี้เป็นคนล้านนา สามารถเก็บส่วยหรือภาษีได้ เพราะคนสมัยก่อนยึดถือเรื่องศักดิ์ศรีของชาติพันธุ์ตนเองมาก แต่ถ้าบ้านไหนไม่มีกาแลติด ก็ถือเป็นคนพม่าหรือมีสามีเป็นทหารพม่า จึงจะได้รับยกเว้นการเก็บภาษี คนล้านาบางคนยอมเสียศักดิ์ศรีไม่ติดกาแล เพื่อหวังว่าเมื่อตนเองมีสามีเป็นคนพม่าก็จะได้ร่ำรวยเงินทองและมีอำนาจวาสนา            นอกจากกาแลแล้วในเรือนล้านนายังมี “หัมยนต์”  ซึ่งเป็นแผ่นไม้แกะสลักที่อยู่ในกรอบเหนือประตูห้องนอนในเรือนกาแลของชาวล้านนา มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีลวดลายที่สวยงาม เช่น ลายดอกไม้ ลายเครือเถา ก้านขด ลายเมฆ ลายน้ำ ลายประแจจีน หรือลายเรขาคณิตอย่างง่าย ชาวล้านนาเชื่อว่ายนต์มีพลังลึกลับที่สามารถดลบันดาลความเป็นไปแก่เจ้าของบ้าน มีการทำยนต์ขึ้นในเวลาสร้างเรือนใหม่ โดยนำแผ่นไม้มาผูกไว้กับเสามงคล (เสาเอก) เพื่อทำพิธีสูตรถอน และอัญเชิญอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตที่ยนต์ จากนั้นแกะสลักแล้วทำการติดตั้งโดยมีพิธียกขันตั้งหลวง เพื่ออัญเชิญเทวดา อารักษ์ ผีบ้านผีเรือนมาปกป้องรักษาบ้านหลังนั้นให้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขอุดมสมบูรณ์            หัมยนต์เป็นสิ่งที่สามารถคุ้มครองป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเข้ามากล้ำกลายเจ้าของเรือนและครอบครัวได้ ในด้านการใช้งาน หัมยนต์อยู่เหนือข่มประตูห้องนอน แบ่งพื้นที่ห้องนอนกับพื้นที่เติ๋น (ชานร่มรับแขกบนเรือน) เป็นการแบ่งพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวของครอบครัว ซึ่งนับถือผีตระกูลเดียวกันออกจากผู้มาเยือน และเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นตัวตนของเจ้าของเรือนที่ผู้อื่นไม่ควรกล้ำกลายเข้าไปโดยพละการ การถลำก้าวล้ำเข้าไปถือเป็นการผิดผี จะต้องทำพิธีขอสูมา (ขอขมา)      
            ในอดีตเมื่อครั้งที่สมัยพม่าเข้าปกครองล้านนา ได้บังคับให้คนเมืองอยู่อาศัยในบ้านที่มีรูปร่างคล้ายโลงศพของพม่า และติด“หัมยนต์” เป็นการข่มผู้ที่จะเดินลอดผ่านข้างใต้  โดยคำว่า "หัม" ภาษาล้านนาหมายถึง "อัณฑะ" อันเป็นสิ่งที่รวมพลังของเพศชาย ส่วนคำว่า "ยนตร์" มาจากคำว่า "ยันต์"  ดังนั้นหัมยนต์เปรียบเสมือนเป็นยันต์อัณฑะของพม่า เมื่อเจ้าของบ้านชาวล้านนาและคนในครอบครัวเดินเข้าออกห้องและลอดใต้อัณฑะนั้นก็จะถูกข่มและทำลายจิตใจไม่ให้คิดกระด้างกระเดื่อง......







ที่มาข้อมูลหัมยนต์: http://lannaarch.blogspot.com/2010/07/blog-post_15.html ข้อมูลกาแล: https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=noonrinz&date=04-06-2010&group=2&gblog=27


วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562

แพร่ 365: อาหารมงคล ของลำล้านนา

แพร่ 365: อาหารมงคล ของลำล้านนา:       ในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองที่ผ่านมา หลายคนคงได้สนุกและคลายร้อนด้วยการเล่นสาดน้ำกันจนหิว แล้วคงได้ทานอาหารพื้นเมืองห...

อาหารมงคล ของลำล้านนา




      ในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองที่ผ่านมา หลายคนคงได้สนุกและคลายร้อนด้วยการเล่นสาดน้ำกันจนหิว แล้วคงได้ทานอาหารพื้นเมืองหลายๆอย่าง ที่ชาวล้านนาทุกบ้านนิยมทำไว้รับประทานกันในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง โดยเฉพาะใน “วันปากปี๋”  ซึ่งก็คือวันที่สี่ของประเพณีปีใหม่ จัดว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะกินแกงขนุนกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ช่วงสายๆชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่ใจบ้าน เพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมาคารวะ ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว

            สำหรับอาหารมงคลของชาวล้านนานั้นจะซุกซ่อนอยู่ในทุกขั้นตอนของการเฉลิมฉลอง ‘ปี๋ใหม่เมือง เช่น ขนมจ๊อก แปลว่าขนมที่มีลักษณะเป็นจุก ภาคกลางเรียกขนมเทียน ดั้งเดิมชาวล้านนานิยมทำแต่ไส้หวาน โดยนำแป้งข้าวเหนียวไปผสมกับน้ำปั้นเป็นก้อน ส่วนตัวไส้ทำด้วยมะพร้าวอ่อนขูดเส้น ผัดกับน้ำตาลมะพร้าว สอดไส้ขนมเสร็จก็ปั้นขนมเป็นชิ้นกลมๆ แล้วจึงเตรียมใบตอง โดยตัดเป็นวงรีทาด้วยน้ำมันหมู พับให้เป็นกรวย จากนั้นใส่ชิ้นขนมลงไป พับปิดให้เป็นทรงสามเหลี่ยมแล้วจึงนึ่งให้สุก ใช้ทำบุญถวายพระได้ทุกโอกาส,แกงฮังเล เป็นแกงที่ทำด้วยเนื้อหมูล้วนๆ ใช้เวลาเคี่ยวนานจนหมูนุ่ม เป็นแกงที่มักปรุงไว้หม้อใหญ่ๆ เก็บไว้ได้นาน ทุกบ้านนิยมปรุงเพื่อนำไปทำบุญและแจกจ่าย เช่น ทำบุญตานขันข้าว ใช้เป็นอาหารไปกราบไหว้ รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่และส่วนหนึ่งเก็บไว้กินในครอบครัว ,ขนมจีนน้ำเงี้ยวหรือขนมจีนน้ำหมู เป็นเมนูอาหารจานเดียวที่เป็นที่นิยม กินได้ทุกเพศทุกวัย เด็กๆ เล่นน้ำมาเหนื่อยๆ ก็จะชอบกินเพราะอิ่มอร่อยและสะดวก ถือเป็นอาหารมงคล เชื่อกันว่ากินแล้วจะมีอายุยืนยาว ทำอะไรลื่นไหลประสบความสำเร็จ,ลาบ แค่ชื่อก็เป็นมงคลเหมือนได้โชคลาภ โดยลาบเหนือนั้นมีความโดดเด่นที่น้ำพริกลาบและมะแขว่นที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ที่ใครได้ลิ่มลองแล้วจะต้องกลับมากินอีกให้ได้,ข้าวแต๋น ข้าวควบ ข้าวแคบ เป็นขนมจำพวกแป้งข้าวที่มีความกรอบ ข้าวแต๋นทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุกไปกวนกับน้ำแตงโม ก่อนจะตากให้แห้งและนำไปทอดให้พอง ส่วนข้าวควบข้าวแคบ มีลักษณะเป็นข้าวเกรียบแห้งๆ นำไปย่างจนขยายเป็นข้าวเกรียบว่าว จะต่างกันตรงที่ข้าวควบมีรสหวาน ส่วนข้าวแคบมีรสเค็มและโรยงา
            อาหารมงคลเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่มีความหมายแผงมาในรสชาติที่อร่อยและประเพณีความเชื่อ ปัจจุบันมีการทำอาหารพื้นเมืองออกมาจำหน่ายกันทั่วไป แม้จะรสอร่อยแต่ก็คงสู้กับข้าวพื้นเมืองจากฝีมือแม่ที่บ้านไปได้.......อาหารมงคล ของลำล้านนา

ที่มา http://library.cmu.ac.th/ntic/lannatradition/index.php











สะโป้ก เสียงเปรี้ยงแห่งความเชื่อล้านนา



     เสียงเปรี้ยงดังกระหื่มไปทั่วในเช้าวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ หรือ วันสังขานต์ล่อง เป็นเสียงจาก “สะโปก” เป็นการละเล่นของชาวล้านนาที่ทำให้เกิดเสียงดัง จากกระบอกไม้ไผ่ แล้วใช้ก้อนแก็สให้เปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซหรือไอเป็นตัวนำปะทุ ทำให้เกิดเสียงดัง วิธีทำสะโป้กนั้นให้หาไม้ไผ่ขนาดยาวประมาณ 5- 6 ปล้อง เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 5-6 นิ้ว หนามากกว่า 1 เซนติมตรขึ้นไป(ไม้ไผ่บางจะทำให้สะโป้กแตกได้ง่าย) ตัดแต่งให้ปล้องสุดท้ายตัดห่างจากข้อประมาณ 6 นิ้ว หรือมากกว่า เพื่อเป็นฐานสะโป้ก ใช้เหล็กทะลุปล้องไม้ไผ่ให้เหลือปล้องสุดท้ายไว้ แล้วเจาะรูที่ปล้องสุดท้ายเหนือข้อขึ้นไปประมาณ 2 นิ้ว รูกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร


     สำหรับวิธีการเล่นนั้นวางสะโป้กตั้งเอียง นำเชื้อเพลิงใส่ในรูที่เจาะไว้พอประมาณ แล้วเอาไฟจุดที่รู เชื้อเพลิงจะติดไฟอย่างรวดเร็วในพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดแรงอัดระเบิดเสียงดังขึ้น สามารถจุดได้หลายครั้งจนไอเชื้อเพลิงมีน้อยไม่เพียงพอให้เกิดเสียงดังได้ ให้เติมเชื้อเพลิงอีก กรณีใช้แก๊สก้อน นำแก๊สก้อนประมาณหัวแม่มือใส่ในสะโป้ก เทน้ำใส่ในรูเล็กน้อย แก๊สก้อนทำปฏิกิริยากับน้ำทำให้เกิดไอ จุดไฟที่รูเช่นเดียวกับวิธีใช้เชื้อเพลิง (ไฟที่ใช้จุดต้องมีเปลว เช่น เทียนควรต่อก้านไฟชนวนให้ยาว และนำลวดพันรอบไม้ไผ่ให้แน่นหนา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากสะโป้กแตกได้)
    

     สะโป้กชาวล้านนาจะเล่นในวันแรกของเทศกาลสงกรานต์(วันสังขานต์ล่อง) เพื่อเป็นการเพื่อขับไล่เสนียด จัญไร ไหลล่องไปกับปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ซึ่งจะแบบรับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในชีวิตไปเททิ้งที่มหาสมุทร การไล่สังขานต์ด้วยเสียงประทัดหรือสะโปกที่ดังแต่เช้าตรู่ จึงทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอน หมอนมุ้ง แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดผ่องใส โดยคนโบราณได้สมมุติตัวสังขานต์เป็นคนแก่สองคน คือปู่สังขานต์และย่าสังขานต์ถ่อแพที่ไหลมาตามแม่น้ำ และนำพาสิ่งไม่ดีเป็นอัปมงคลมาด้วย จึงต้องขับไล่ด้วยเสียงดังของประทัดเร่งเร้า ให้ผ่านไปโดยเร็ว วันนี้ชาวล้านนาจึงจะเก็บกวาด ทำความสะอาดบ้านเรือน ซักผ้า เผาเศษขยะใบไม้ให้สิ่งหมักหมมทั้งหลายหมดสิ้น ไปพร้อมๆกับสังขานต์ที่ล่องไป

    สิ่งสมมุติของปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์นั้น แท้จริงคือ ตัวตนของเราที่กำลังไหลล่องไป ตามวัยของสังขาร มีอายุที่มากขึ้น จึงต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ดีนั้น จะต้องขว้างทิ้งเสียสิ่งเศร้าหมอง ทีมีอยู่ในกาย วาจา และใจนั่นเอง สิ่งสำคัญในวันนี้คือการ "ดำหัว" โดยน้ำขมิ้นส้มปล่อย เพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคล เสียงสะโป้ก ย้ำเตือนให้ทราบว่าปีเก่าได้ผ่านไป และปีใหม่ย่างเข้ามา เป็นการเตือนให้ชาวล้านนาเตรียมจิตใจให้ผ่องใส ตั้งมั่นในความดีงาม ทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อต้อนรับสิ่งที่ดีในวันปีใหม่ต่อไป







ที่มาข้อมูล ประเพณีล้านนา,ประเพณีไทยดอทคอม

วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562

เลี้ยงผี ความเชื่อล้านนา ตอนที่ 2





    คนล้านนากับความเชื่อในการเลี้ยงผี ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญ แม้ว่าการดำเนินชีวิตของพวกเขาจะราบรื่นไม่ประสบปัญหาใด แต่ภายใต้จิตสำนึกที่แท้จริงแล้ว คนล้านนาเหล่านี้ไม่อาจลืมเลือนวิญญาณของผีบรรพบุรุษที่เคยช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ปกติสุขมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แม้กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร ภาพที่เรายังคงพบเห็นได้เสมอเมื่อเวลาเดินทางไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ในชนบทก็คือ เรือนเล็ก ๆ หลังเก่าตั้งอยู่กลางหมู่บ้านนั่นก็คือ หอเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน ที่ยังย้ำเตือนให้พวกเขาไม่ให้หลงไหลไปกับกระแสสังคมนั่นเอง.

    ผีที่ชาวล้านนานับถือมีความแตกต่างกัน ตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น แต่ผีที่นับถือกันอย่างแพร่หลายคือ ผีปู่ย่า ซึ่งเป็นผีประจำตระกูล สืบทอดกันทางฝ่ายหญิง เมื่อแม่ตายลูกสาวคนโตจะเป็นผู้รับช่วงต่อ ถ้าบังเอิญว่าลูกสาวคนโตมีเหตุที่ไม่สามารถจะรับการสืบทอดได้ ลูกสาวคนถัดไปเป็นผู้รับช่วงแทน จะย้ายไปอยู่เรือนใดต้องรับผีปู่ย่าติดตามไปด้วย หิ้งที่อยู่ของผีปู่ย่า อยู่ในห้องนอนด้านตะวันออก โดยทำหิ้งขนาดเล็กติดไว้กับเสาที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือ สูงจากพื้นประมาณ 1.8 เมตร ผีปู่ย่ามีหน้าที่ช่วยเหลือ ควบคุมดูแลสมาชิกในครอบครัวให้ประพฤติอยู่ในจารีตประเพณี ถ้าสมาชิกไม่ทำผิดจารีต ผีปู่ย่าจะช่วยให้มีความสุขความเจริญ ถ้าทำผิดจารีตท่านจะลงโทษ กำหนดการเลี้ยงผีปู่ย่าตามประเพณีงจะไม่ตรงกันทุกท้องถิ่น แต่หลายท้องถิ่นกำหนดเอาวันเดือน 9 แรม 9 ค่ำ เมื่อถึงกำหนดวันมาถึงทุกหลังคาเรือนจะต้มไก่ 2 ตัว มีข้าวสุก น้ำ สุรา และดอกไม้ธูปเทียน ลูกหลานที่มีสายของปู่ย่าของเรือนนั้น จะช่วยกันยกเครื่องไหว้เข้าไปตั้งที่มุมห้องนอนในเรือน และกล่าวคำขอให้ผีปู่ย่าช่วยคุ้มครองให้มีความสุขความเจริญ และการเลี้ยงผีปู่ย่าตามเหตุการณ์นั้น เมื่อสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะฝ่ายหญิง ประพฤติผิดจารีตประเพณี ถ้าเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง ให้นำดอกไม้ธูปเทียน น้ำส้มป่อยใส่พานเข้าไปขอขมา ถ้าเป็นความผิดที่ร้ายแรง เช่น มีเจตนาให้ชายถูกเนื้อต้องตัวเป็นการผิดผี ต้องมีการเลี้ยงผีปู่ย่า จะเลี้ยงด้วยหมู หรือไก่ ก็แล้วแต่ผีตระกูลนั้นๆ กินสิ่งใด และเลี้ยงในวันปีใหม่สงกรานต์ สมาชิกไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล ถ้าไม่ลำบากจนเกินไป จะมีการนัดหมายให้มารวมกัน แล้วจัดหมู หรือไก่ ดอกไม้ธูปเทียน น้ำส้มป่อยเพื่อเลี้ยง และดำหัวผีปู่ย่า

    นอกจากผีบรรพบุรุษที่ชาวล้านนานับถือแล้วก็ยังมี ผีเจ้าที่ คือผีที่อยู่รักษาในเขตบริเวณบ้าน ดังนั้นแต่ก่อนจึงมีหอศาลตั้งอยู่ทางด้านเหนือ หรือด้านตะวันออก ของทุกบ้าน เพื่อช่วยคุ้มครองรักษาเขตบ้าน ไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาเบียดเบียนคนและสัตว์ในบ้านนั้น การเลี้ยงไม่มีกำหนดตายตัว แต่เป็นเดือน 9 บางท้องถิ่นจะเลี้ยงในวันเดียวกันกับผีปู่ย่า บางท้องถิ่นจะเลี้ยงผีเจ้าที่ในวันสงกรานต์ และ ผีขุนน้ำ คือผีที่รักษาต้นน้ำลำธาร น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตรเป็นอย่างมาก ถ้าปีไหนมีน้ำไหลจากขุนน้ำมากเกินไปจะเกิดน้ำท่วมไร่นา ถ้าปีไหนมีน้ำน้อยข้าวกล้าในนาตายเพราะขาดน้ำ คนล้านนาแต่ก่อนเชื่อว่าเหตุที่จะทำให้น้ำน้อยหรือน้ำมาก อยู่ที่ผีขุนน้ำ ถ้าปีไหนมีการเลี้ยงดีพลีถูก ปีนั้นจะมีน้ำพอดีในการเพาะปลูก จึงมีพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ

     การเลี้ยงผีนั้นเป็นวิถีทางสังคมที่ยึดถือและปฎิบัติสืบต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายผี ไหว้ผี เลี้ยงผี จะทำตามความเชื่อของแต่พื้นที่ล้วนแตกต่างกันไป ตามวิถีการดำเนินชีวิตที่ฝังรากอยู่คู่กับสังคมชาวล้านนา

     
ที่มาข้อมูล ศูนย์สถาปัตย์กรรมล้านนา,ประเพณีไทยดอทคอม,ประเพณีไทยล้านนา,ห้องสมุดวัฒนะรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่



เลี้ยงผี ความเชื่อล้านนา ตอนที่ 1



     ในอดีตชาวล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติอย่างเหนี่ยวแน่น โดยเฉพาะเรื่องผี สิ่งใดที่หาสาเหตุหรือสมุมติฐานไม่ได้ก็จะคิดว่าเป็นการกระทำของผี ก่อเกิดเป็นวิถีชีวิตที่คลุกคลีกับธรรมชาติ ความเกรงกลัวต่อภัยต่างๆ และเพื่อทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสงบสุขหรือเป็นปกติ จึงมีการเซ่นไหว้ผี เพื่อให้ผีพอใจและดูแลปกปักรักษาตนเองและครอบครัว เป็นความเชื่อที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีคู่สังคม ที่แม้แต่ปัจจุบันบ้านเมืองจะเจริญแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้ความเชื่อเรื่องผีจางหายไปจากชาวล้านนาได้ ...และการไหว้ผีหรือเลี้ยงผี จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดบรรทัดฐานของสังคม


     ชาวล้านนากับการเลี้ยงผีดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก เพราะนับตั้งแต่เกิดมาคนล้านนาจะเกี่ยวพันกับผีมาตลอด เช่น เมื่อมีเด็กเกิดขึ้นในบ้านจะต้องทำพิธีเรียกขวัญ หรือที่คนเมืองเรียกว่า "ฮ้องขวัญ" เมื่อเวลาที่เด็กเกิดความไม่สบายร้องไห้ก็มักจะเชื่อว่า มีวิญญาณของผีตายโหงมารบกวนเด็ก คนล้านนายังเชื่อว่าขวัญของเด็กเป็นขวัญที่อ่อนภูตผีวิญญาณต่าง ๆ มักจะมารบกวนได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเด็กไม่สบายก็จะต้องทำพิธีเลี้ยงผี หรือหาเครื่องลางมาผูกที่ข้อมือของเด็ก ปัจจุบันในแถบทางชนบทเรายังสามารถพบเห็นการกระทำแบบนี้อยู่

     การเลี้ยงผีของคนล้านนาจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือน 4 เหนือ จนถึงเดือน 8 เหนือ ช่วงเวลานี้เราจะพบว่าตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในภาคเหนือจะมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษกันอย่างมากมาย ความผูกพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับการนับถือผีนั้น สามารถพบเห็นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวันของคนล้านนาเอง เช่น เมื่อเวลาที่ต้องเข้าป่าไปหาอาหารหรือต้องค้างพักแรมอยู่ในป่า มักจะต้องบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางเสมอ และเมื่อเวลาที่กินข้าวในป่าก็มักจะแบ่งอาหารให้เจ้าที่ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าอาจสำคัญประการหนึ่งก็คือเมื่อเวลาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในป่า เมื่อต้องถ่ายปัสสวะก็มักจะต้องขออนุญาตจากเจ้าที่ก่อนอยู่เสมอ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนล้านนาผูกผันอยู่กับการนับถือผีอย่างแยกไม่ออก

     ทุกปีในช่วงกลางฤดูร้อนจะมีการลงเจ้าเข้าทรงตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า การลงเจ้าเป็นการพบปะพูดคุยกับผีบรรพบุรุษ ซึ่งในปีหนึ่งจะมีการลงเจ้าหนึ่งครั้ง และในการลงเจ้าครั้งนี้จะถือโอกาสทำพิธีรดน้ำดำหัวผีบรรพบุรุษไปด้วย ยังมีพิธีเลี้ยงผีอยู่พิธีหนึ่งที่มักจะกระทำกันในช่วงเวลานี้และที่สำคัญในปีหนึ่งจะทำพิธีนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การเลี้ยงผีมดผีเม็ง ชาวบ้านที่ประกอบพิธีนี้ขึ้นบอกว่า การเลี้ยงผีมดผีเม็งจะเลี้ยงอยู่ 2 กรณี คือเมื่อเวลามีคนเจ็บป่วยไม่สบายในหมู่บ้านจะทำพิธีบนผีเม็งเพื่อขอใช้ช่วยรักษา เมื่อเวลาที่หายแล้วจะต้องทำพิธีเชิญวิญญาณผีเม็งมาลง และจัดหาดนตรีมาเล่นเพื่อเพิ่มความสนุกสนานแก่ผีมดผีเม็งด้วย อีกกรณีหนึ่งเมื่อไม่มีคนเจ็บป่วยในหมู่บ้าน จะต้องทำพิธีเลี้ยงผีมดผีเม็งทุกปี โดยจะต้องหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมและจะต้องกระทำระหว่างช่วงเวลาเดือน 4 เหนือ ถึง เดือน 8 เหนือ ก่อนเข้าพรรษา เพราะถ้าไม่ทำพิธีผีมดผีเม็งอาจจะไม่คุ้มครอง คนในหมู่บ้านก็ได้ ดังนั้น เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาดังกล่าวเรามักจะพบภาพพิธีเหล่านี้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ

อ่านต่อตอนที่ 2


ที่มาข้อมูล งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาลัยแม่โจ้

ส้มป่อย ไม้มงคลแห่งล้านนา




      ส้มป่อยเป็นพืชประเภทไม้เถาเนื้อแข็ง ต้นและใบคล้ายชะอม มีรสเปรี้ยว ใช้ยอดอ่อนใส่แกงได้รสเปรี้ยวใช้ แทนมะนาว นิยมใส่ในต้มส้มไก่เมือง ปลา หรือต้ม ส้มขาหมู จะได้รสชาติเปรี้ยวอร่อยและหอมกลิ่นส้มป่อย มี ผลเป็นฝักแบนๆ เป็นข้อ คล้ายฝักฉำฉา หรือฝักกระถินเทศ แต่จะสั้นและบางกว่าจะมีหนามตลอดที่ต้นและกิ่งก้าน เถาจะเลื้อยพันขึ้นกับต้นโพธิ์หรือต้นไม้ใหญ่ตามป่าเขาหรือตามวัด และจะออกผลเป็นฝักช่วงระหว่างเดือนธันวาคม ถึง กุมภาพันธ์ ของทุกปี และ 1 ปี จะออกผลเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ตามความเชื่อของชาวเหนือล้านนามาแต่โบราณ จะเก็บผลฝักส้มป่อยเดือนห้าเป็ง หรือเดือนกุมภาพันธ์ ฝักส้มป่อยจะแห้งคาต้นจะยิ่งดีที่สุด เชื่อว่าเป็นเดือนที่มีความสำคัญของทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา เพราะส้มป่อยจะมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวหากเก็บไว้ช่วงเดือนห้าเป็งแล้วจะดี หากได้มีการปลุกเสกก็จะดียิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว และยิ่งเป็นส้มป่อยเจ็ดข้อหรือ 7 เมล็ด ก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลมากขึ้นไปอีกโดยนำฝักมาลนไฟให้พอหอมแล้วหักแช่น้ำ ใช้น้ำส้มป่อยสระดำเพื่อความเป็นศรีสิริมงคล


     ส้มป่อยเจ็ดข้อเจ็ดเมล็ด มีที่มาจากชาดกเรื่อง "ปุณณนาคกุมาร" โดยครั้งที่ปุณณนาคกุมารอยากกลายเป็นมนุษย์ ปุณณนาคกุมารเข้ากราบทูลพระบิดา เพื่อขออนุญาตทิ้งสภาวะอันเป็นนาคให้กลายเป็นมนุษย์ พระบิดาทรงอนุญาตและได้ประทานขันทองคำให้ 1 ใบ แล้วให้หาส้มป่อยให้ได้ฝักที่มี 7 ข้อ จำนวน 7 ฝัก เอาแช่ในขันที่มีน้ำจาก 7 แม่น้ำ และ 7 บ่อ นำไปที่ฝั่งแม่น้ำใหญ่ เสกคาถา 7 บท จำนวน 7 คาบ ถอดคราบออก และอาบน้ำมนต์พร้อมสระเกล้าดำหัว จากนั้นเอาคราบนาคนั้นใส่ในขันทองคำไหลลงน้ำเสียจึงจะเป็นคนโดยสมบูรณ์ การใช้ส้มป่อยที่ปรากฏในเรื่องนี้แสดง ให้เห็นถึงความเชื่อในคุณสมบัติของส้มป่อยอีกเรื่องหนึ่ง

    และในชาดกล้านนาเรื่อง "อุสสาบารส" กล่าวถึง เรื่องของส้มป่อยว่า ครั้งหนึ่ง มีควายชื่อทรพี คิดอยากเอาชนะพ่อ จึงท้าชนทรพาผู้พ่อ ทั้งสอง ต่อสู้กันจนเวลาล่วงเลย ฝ่ายทรพีเพลี่ยงพล้ำถูก ทรพาไล่ขวิดจนถอยร่น ไปไกล ขณะนั้นเองทรพี ได้ถอยไปชนต้นส้มป่อยที่กำลังออกฝักอยู่ ด้วยกำลังที่ชน อย่างแรงทำให้ฝักส้มป่อยหล่นลงมาถูกหัวทรพี ทันใดนั้น กำลังที่เคยอ่อนล้าหมดแรง เกิดฮึกเหิมเพิ่มขึ้น ได้ทีทรพี จึงถาโถมเข้าชนทรพาอย่างเมามัน ผู้เป็นพ่อเสียที หมด แรงถอยไปชนต้นมะขามป้อม ลูกมะขามป้อมหล่นถูกหัว เรี่ยวแรงที่อ่อนล้ายิ่งหมดไป จึงถูกทรพี ผู้เป็นลูกฆ่าตาย ในที่สุด เรื่องนี้อาจเป็นต้นเหตุหนึ่งของความเชื่อในอนุภาพ ของน้ำส้มป่อย

    ส้มป่อยผูกพันวิถีความเชื่อของชาวล้านนา ในเรื่องพิธีกรรมสำคัญต่างๆชาวล้านนาเชื่อว่า ส้มป่อย เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ขจัดสิ่งเลวร้าย อัปมงคล เป็นการปลด ปล่อยสิ่งไม่ดีให้หลุดพ้นจากชีวิต โดยเฉพาะคนล้านนามีความเชื่อตามชาดกว่าเป็นพืช ที่มีพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เรียกตามภาษาถิ่นว่า ส้มป่อย เป็นตัวแพ้ สิ่งจัญไร อัปมงคล ชั่วร้าย (แพ้ เป็นภาษาถิ่น เหนือ หมายถึง ชนะ) และคำว่า ป่อยหมายถึงปลดปล่อย สิ่งจัญไรทั้งหลายให้หลุดพ้นจากชีวิตคนเรา ส้มป่อยจึงเป็นไม้มงคลแห่งล้านนา......

ที่มา...ตำนานล้านนา,NEW M-THAI, https://www.m-culture.go.th