วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

แอ่วกาดกองเก่า





     เมื่อปี2553 ที่ผ่านมาทางชุมชนพระนอนร่วมกับชาวบ้านใกล้เคียงได้รับการสนับสนุนจากโครงการ “แพร่ เมืองแห่งความสุข” ได้ร่วมกันคิดและสร้างกิจกรรม “แอ่วกาดกองเก่า” มีเครือข่ายต่างๆ เช่น สถาบันปุ๋มผญ๋า พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่ กลุ่มเกษตรยั่งยืน ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ และข่ายลูกหลานเมืองแพร่ เข้าร่วมกิจกรรม ภายในงาน มีการนำนิทรรศการภาพเก่าเมืองแพร่ นิทรรศการการอนุรักษ์เฮือนเก่ามาจัดแสดง นอกจากนี้ยังมาการนำหนังเก่าๆที่หาดูได้ยากมาฉาย โดยหวังให้เป็นพื้นที่ พักผ่อน พบปะพูดคุย โดยอิงจากวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เมื่อถึง หน้าทำบุญชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงจะหยุดงานมาร่วมทำบุญ ซึ่งเป็นรากฐานให้คนในชุมชนได้แลกเปลี่ยน ลูกหลานได้พบปะผู้หลัก ผู้ใหญ่ในชุมชน มีความกลมเกลียวสามัคคีกัน เนื่องจากอาชีพที่ทำส่วนมากจะเป็นอาชีพที่ทำในบ้าน เช่น ค้าขาย ทำนา ทำสวน ปลูกผัก ช่างไม้ ช่างฝีมือทำสลุง ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร และสังคมในยุคนั้นยังไม่ซับซ้อนมากนัก ทำให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมต่างๆผ่านการได้เห็น ลงมือทำ ทำให้สืบทอดวิถีชีวิตแบบพื้นถิ่นมาได้ จวบจนปัจจุบันที่ ผู้คนได้มีโอกาสเรียนสูงขึ้น ประกอบอาชีพหลากหลาย และเริ่มที่จะออกไปทำงานนอกบ้าน คนหนุ่มสาว ต้องไปหางานทำต่างถิ่น กลับบ้านมาก็แค่ช่วงเทศกาลปีละไม่กี่วัน เมื่อแต่งงานก็จะพาครอบครัวออกจากถิ่นที่อยู่เดิม นานวันเข้าก็จะชักชวนพ่อแม่ไปอยู่ด้วยกันในเมืองใหญ่หรือแหล่งงาน


    จากการที่ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ และชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น เทศบาลเมืองแพร่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ และองค์กรภายนอกจังหวัดแพร่ ได้แก่ ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(spafa), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา,บางกอกฟอรั่ม,มูลนิธิญี่ปุ่น(japan foundation) กระตุ้นให้ชุมชนในตัวเมืองเก่าแพร่ เห็นคุณค่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มรดกวัฒนธรรมที่มีชีวิตรวมถึง สถาปัตยกรรมท้องถิ่นในเมืองแพร่ ทำให้มองเห็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ การที่ผู้คนละทิ้งถิ่นฐาน ออกไปอยู่ในเมืองใหญ่ ทำให้ขาดกำลังพลเมืองหนุ่ม สาว วัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญที่จะสืบทอดวิถีชีวิต ประเพณี อาชีพ หัตถกรรม เรื่องราวต่างๆในชุมชน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละถิ่น และเมื่อไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ก็เกิดการรื้อขายเรือนไม้สัก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าที่แสดงถึงภูมิปัญญาของคนเมืองแพร่ จึงได้ชักชวนผู้คน ในละแวกตัวเมืองเก่าแพร่มาแลกเปลี่ยนความคิด ปรึกษาหารือ เพื่อเสาะหาแนวทางที่จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีพื้นที่สาธารณะได้ สื่อสารความคิด เรื่องราวที่มีคุณค่าเหล่านั้น

     กาดกองเก่า จึงไม่ใช่แค่ตลาดนัดที่มีแต่การขายของ ขายอาหาร แต่เป็นพื้นที่กิจกรรมที่ทุกเพศ ทุกวัย จะได้มาอยู่ร่วมกัน แม้จะเพียงช่วงเวลาเล็กน้อย ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่อาจจะแตกต่างจากตลาดนัดในพื้นที่อื่นๆ ในเมืองแพร่ที่มีอยู่มากมาย คณะทำงานจึงพยายามสร้างรูปแบบการจัดงานให้มีความชัดเจน เพื่อสื่อสารกับชุมชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากที่อื่นๆ โดยมีการศึกษารูปแบบ จากสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เช่น ตลาดสามชุก กาดกองต้า แต่ก็ยังอิงกับความเป็นเมืองแพร่ แนวคิดนี้เดิมจะจัดเพียงเดือนละครั้ง เวียนไปตามชุมชนต่างๆในเขตกำแพงเมืองแพร่ที่เป็นชุมชนเก่า มีผู้สูงอายุอยู่ค่อนข้างมากเพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้มีโอกาสมาพบเจอกันด้วย แต่เนื่องจากการจัดงานต้องใช้กำลังคน และความคุ้นเคยกันในละแวกบ้าน ท้ายที่สุดทางคณะทำงานจึงได้จัดขึ้นบริเวณ ถนนคำลือ ตั้งแต่สี่แยกพระนอนเหนือถึงสี่แยกพระนอนใต้ และในทุกวันเสาร์จากสี่แยกพระนอนใต้จนถึงประตูมานเป็นกาดพระนอน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ผู้สนใจมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เพลงสร้างบรรยากาศจะเลือกเพลงเก่าๆ เพลงพื้นเมือง เพลงคำเมือง หรือเพลงที่แต่งขึ้นให้เข้ากับบรรยากาศของกิจกรรม ที่สำคัญได้ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวแก่เมืองแพร่ ปัจจุบันมีวงดนตรีกาสะลองที่เป็นลูกหลานคนแพร่แต่งเพลงเล่าเรื่องเมืองแพร่มาขับกล่อมบรรเลงให้ทุกท่านได้ฟังในกาดกองเก่าทุกวันเสาร์ จึงอยากจะเชิญชวนให้พ่อ แม่ พี่น้องที่สนใจนำของมาขายแต่งกายพื้นเมือง เอาสาดมาปูนั่ง เอาแคร่มาวาง นำสินค้าพื้นเมือง อาหารพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ต่างๆในชุมชนบ้านเฮา หรือของที่ระลึกมาขายทุกวันเสาร์ ตั้งแต่ บ่ายสามโมงถึงสองทุ่มครึ่ง ณ แอ่วกาดกองเก่า ถนนคำลือ อ.มืองแพร่........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น