วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ สัมมนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์เลือกตั้ง ส.ส. 2562



     ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ เร่งสร้างการรับรู้ “พลเมืองคุณภาพ เลือกตั้งคุณภาพ ได้คนดี คนเก่งมาพัฒนาประเทศ” หวังคนแพร่ออกมาใช้สิทธิเกิน 80 % มีบัตรเสียน้อยกว่า 2 %

     นางรติพร บุญคง ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า เหลืออีกไม่ถึง 1 เดือน ก็จะมีถึงวันที่ทุกคนรอคอย ในการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวดัแพร่ จึงได้สัมมนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้กับนักข่าว สื่อมวลชน ผู้บริหารสถานีวิทยุ ผู้ดำเนินรายการสถานีวิทยุ Admin ผู้ดูแลสื่อ online และอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ในพื้นที่จังหวัดแพร่ เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีส่วนร่วมในกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างถูกต้อง ถูกวิธี ทำให้ “การเลือกตั้งมีคุณภาพ ได้คนเก่ง คนดี มาพัฒนาประเทศ” และประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่สมบูรณ์ มีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล โดยมีนางชรินทร์ทิพย์ ไชยโย ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแพร่ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ในกับสื่อมวลชน ในประเด็น “สื่อ อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมายเลือกตั้ง” ซึ่งการนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นกลางอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งได้

     ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งนี้ มีแนวคิด “พลเมืองคุณภาพ เลือกตั้งคุณภาพ ได้คนดี คนเก่งมาพัฒนาประเทศ” ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องการเมือง รู้คิด วิเคราะห์ และเท่าทัน สถานการณ์บ้านเมือง และออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นคนดี มีคุณภาพ มีเป้าหมายให้ประชาชนคนแพร่ ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 80% มีบัตรเสียไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น ประชาชนทั่วไป เยาวชนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 7 ล้านเสียง และประชาชนคนไทย ในต่างประเทศ โดยมีกิจกรรมบรรยายสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความสำคัญของการออกไปเลือกตั้ง, การรู้เท่าทันการเมือง กฏหมาย ระเบียบ วิธีการเลือกตั้งรูปแบบใหม่, การสนับสนุน กกต., การประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และช่องทางการประชาสัมพันธ์ การเลือกตั้ง ส.ส. 2562 และตอบข้อซักถาม ข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชน ผู้จัดรายการวิทยุ สื่อ online สื่อบุคคล เพื่อป้องกันการผิดกฎหมายเลือกตั้ง



นายโชคชัชกาญ ราชฟู ข่าว

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

ทต.แม่คำมี เมืองแพร่ เตรียมความพร้อมแผนชุมชนดึงผู้นำชุมชนเป็นแนวร่วมพัฒนาตำบล



ทต.แม่คำมี เมืองแพร่ เตรียมความพร้อมแผนชุมชนดึงผู้นำชุมชนเป็นแนวร่วมพัฒนาตำบล      เมื่อวันที่26กุมภาพันธ์2562 ทต.แม่คำมี อำเภอเมืองแพร่ได้จัดการอบรมโครงการบูรณาการจัดทำแผนชุมชน/หมู่บ้าน ประจำปี2562อบรมส่งเสริมศักยภาพผู้นำชุมชน/หมู่บ้านในการจัดทำแผนชุมชนณ ศูนย์พัฒนาบุคลากรเทศบาลตำบลแม่คำมี อำเภอเมืองแพร่ โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลและกำนันผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมการอบรมจำนวน40คนโดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ 

     ส.ต.ท.ทวีสิทธิ์ พัฒนชัยวัฒน์ ปลัด ทต.แม่คำมี ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศบาลตำบลแม่คำมีกล่าวว่าปัจจุบันบริบทชุมชนเปลี่ยนไปอย่างมาก และกฎระเบียบรวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติราชการได้เปลี่ยนแปลงไปในหลายเรื่อง และในอนาคตรูปแบบการจัดทำแผนชุมชนจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาภาพรวม ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้นำชุมชนในการปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์และถูกต้องตามระเบียบมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้ดึงปัญหาของแต่ละชุมชนมาแก้ไขและพัฒนาชุมช

แอ่วกาดกองเก่า





     เมื่อปี2553 ที่ผ่านมาทางชุมชนพระนอนร่วมกับชาวบ้านใกล้เคียงได้รับการสนับสนุนจากโครงการ “แพร่ เมืองแห่งความสุข” ได้ร่วมกันคิดและสร้างกิจกรรม “แอ่วกาดกองเก่า” มีเครือข่ายต่างๆ เช่น สถาบันปุ๋มผญ๋า พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่ กลุ่มเกษตรยั่งยืน ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ และข่ายลูกหลานเมืองแพร่ เข้าร่วมกิจกรรม ภายในงาน มีการนำนิทรรศการภาพเก่าเมืองแพร่ นิทรรศการการอนุรักษ์เฮือนเก่ามาจัดแสดง นอกจากนี้ยังมาการนำหนังเก่าๆที่หาดูได้ยากมาฉาย โดยหวังให้เป็นพื้นที่ พักผ่อน พบปะพูดคุย โดยอิงจากวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เมื่อถึง หน้าทำบุญชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงจะหยุดงานมาร่วมทำบุญ ซึ่งเป็นรากฐานให้คนในชุมชนได้แลกเปลี่ยน ลูกหลานได้พบปะผู้หลัก ผู้ใหญ่ในชุมชน มีความกลมเกลียวสามัคคีกัน เนื่องจากอาชีพที่ทำส่วนมากจะเป็นอาชีพที่ทำในบ้าน เช่น ค้าขาย ทำนา ทำสวน ปลูกผัก ช่างไม้ ช่างฝีมือทำสลุง ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร และสังคมในยุคนั้นยังไม่ซับซ้อนมากนัก ทำให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมต่างๆผ่านการได้เห็น ลงมือทำ ทำให้สืบทอดวิถีชีวิตแบบพื้นถิ่นมาได้ จวบจนปัจจุบันที่ ผู้คนได้มีโอกาสเรียนสูงขึ้น ประกอบอาชีพหลากหลาย และเริ่มที่จะออกไปทำงานนอกบ้าน คนหนุ่มสาว ต้องไปหางานทำต่างถิ่น กลับบ้านมาก็แค่ช่วงเทศกาลปีละไม่กี่วัน เมื่อแต่งงานก็จะพาครอบครัวออกจากถิ่นที่อยู่เดิม นานวันเข้าก็จะชักชวนพ่อแม่ไปอยู่ด้วยกันในเมืองใหญ่หรือแหล่งงาน


    จากการที่ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ และชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น เทศบาลเมืองแพร่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ และองค์กรภายนอกจังหวัดแพร่ ได้แก่ ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(spafa), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา,บางกอกฟอรั่ม,มูลนิธิญี่ปุ่น(japan foundation) กระตุ้นให้ชุมชนในตัวเมืองเก่าแพร่ เห็นคุณค่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มรดกวัฒนธรรมที่มีชีวิตรวมถึง สถาปัตยกรรมท้องถิ่นในเมืองแพร่ ทำให้มองเห็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ การที่ผู้คนละทิ้งถิ่นฐาน ออกไปอยู่ในเมืองใหญ่ ทำให้ขาดกำลังพลเมืองหนุ่ม สาว วัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญที่จะสืบทอดวิถีชีวิต ประเพณี อาชีพ หัตถกรรม เรื่องราวต่างๆในชุมชน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละถิ่น และเมื่อไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ก็เกิดการรื้อขายเรือนไม้สัก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าที่แสดงถึงภูมิปัญญาของคนเมืองแพร่ จึงได้ชักชวนผู้คน ในละแวกตัวเมืองเก่าแพร่มาแลกเปลี่ยนความคิด ปรึกษาหารือ เพื่อเสาะหาแนวทางที่จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีพื้นที่สาธารณะได้ สื่อสารความคิด เรื่องราวที่มีคุณค่าเหล่านั้น

     กาดกองเก่า จึงไม่ใช่แค่ตลาดนัดที่มีแต่การขายของ ขายอาหาร แต่เป็นพื้นที่กิจกรรมที่ทุกเพศ ทุกวัย จะได้มาอยู่ร่วมกัน แม้จะเพียงช่วงเวลาเล็กน้อย ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่อาจจะแตกต่างจากตลาดนัดในพื้นที่อื่นๆ ในเมืองแพร่ที่มีอยู่มากมาย คณะทำงานจึงพยายามสร้างรูปแบบการจัดงานให้มีความชัดเจน เพื่อสื่อสารกับชุมชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากที่อื่นๆ โดยมีการศึกษารูปแบบ จากสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เช่น ตลาดสามชุก กาดกองต้า แต่ก็ยังอิงกับความเป็นเมืองแพร่ แนวคิดนี้เดิมจะจัดเพียงเดือนละครั้ง เวียนไปตามชุมชนต่างๆในเขตกำแพงเมืองแพร่ที่เป็นชุมชนเก่า มีผู้สูงอายุอยู่ค่อนข้างมากเพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้มีโอกาสมาพบเจอกันด้วย แต่เนื่องจากการจัดงานต้องใช้กำลังคน และความคุ้นเคยกันในละแวกบ้าน ท้ายที่สุดทางคณะทำงานจึงได้จัดขึ้นบริเวณ ถนนคำลือ ตั้งแต่สี่แยกพระนอนเหนือถึงสี่แยกพระนอนใต้ และในทุกวันเสาร์จากสี่แยกพระนอนใต้จนถึงประตูมานเป็นกาดพระนอน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ผู้สนใจมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เพลงสร้างบรรยากาศจะเลือกเพลงเก่าๆ เพลงพื้นเมือง เพลงคำเมือง หรือเพลงที่แต่งขึ้นให้เข้ากับบรรยากาศของกิจกรรม ที่สำคัญได้ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวแก่เมืองแพร่ ปัจจุบันมีวงดนตรีกาสะลองที่เป็นลูกหลานคนแพร่แต่งเพลงเล่าเรื่องเมืองแพร่มาขับกล่อมบรรเลงให้ทุกท่านได้ฟังในกาดกองเก่าทุกวันเสาร์ จึงอยากจะเชิญชวนให้พ่อ แม่ พี่น้องที่สนใจนำของมาขายแต่งกายพื้นเมือง เอาสาดมาปูนั่ง เอาแคร่มาวาง นำสินค้าพื้นเมือง อาหารพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ต่างๆในชุมชนบ้านเฮา หรือของที่ระลึกมาขายทุกวันเสาร์ ตั้งแต่ บ่ายสามโมงถึงสองทุ่มครึ่ง ณ แอ่วกาดกองเก่า ถนนคำลือ อ.มืองแพร่........

วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เวียงสรอง เมืองแห่งความรัก





เวียงสรองหรือเมืองสอง เป็นเวียงโบราณที่มีลักษณะเป็นเมืองเก่าคล้ายเมืองเก่าสุโขทัย คือมีกำแพงเมืองเป็นดิน ๓ ชั้นล้อมรอบ เวียงสรองตั้งอยู่ในอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยเรื่องลิลิตพระลอ เพราะชาวบ้านท้องถิ่นเชื่อว่าเวียงสรองคือเมืองของพระเพื่อนพระแพง สองพี่น้องผู้ตกหลุมรักพระลอ ราชโอรสแห่งเมืองสรวงที่เป็นอริกัน

ลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีที่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นคนแต่งและแต่งขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานได้เพียงว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยา โดยเนื้อหาในลิลิตพระลอกล่าวถึงเมืองสองเมืองคือ เมืองสรวงและเมืองสรอง โดยเมืองสรวงมีกษัตริย์ชื่อ ท้าวแมนสรวง เป็นผู้ครองนคร มีพระชายาชื่อ พระนางบุญเหลือ มีโอรสชื่อพระลอ ส่วนเมืองสรองนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสรวง มีเจ้า ผู้ครองเมืองชื่อ ท้าวพิมพิสาคร มีโอรสชื่อท้าวพิชัยพิษณุกร ซี่งมีธิดาสององค์คือ พระเพื่อนกับพระแพง

ท้าวแมนสรวงยกทัพไปตีเอาเมืองสรอง แต่ไม่สามารถตีเอาเมืองได้ โดยท้าวพิมพิสาครผู้ครองเมืองสรองสิ้นพระชนม์ ท้าวพิชัยพิษณุกรจึงได้ครองเมืองต่อ ฝ่ายท้าวแมนสรวงได้สู่ขอนางลักษณวดีให้แก่พระลอ เมื่อท้าวแมนสรวงสิ้นพระชนม์ พระลอจึงได้ครองเมืองสรวงสืบต่อมา ทั้งสองเมืองเป็นอริกันนับตั้งแต่การทำศึกครั้งนั้น

ความงามของพระลอนั้นเป็นที่เลื่องลือมาก จนช่างซอนำความงามของพระลอไปขับซอยอโฉมตามเมืองต่าง ๆ เมื่อพระเพื่อนพระแพงได้ฟังซอก็เกิดหลงรักพระลอ จนเป็นไข้ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเจอหน้า นางรื่นนางโรย พี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพง จึงอาสาหาวิธีให้พระธิดาทั้งสองได้ใกล้ชิดพระลอให้จงได้ จึงจัดหาคนสนิทไปขับซอชมโฉมของพระเพื่อนพระแพงบ้าง เมื่อพระลอได้ฟังคำซอนั้น ก็เกิดหลงรัก พระเพื่อนพระแพงเช่นกัน

เรื่องราวความหลงใหลของพระเพื่อนพระแพงที่มีต่อพระลอวุ่นวายหนักขึ้น เมื่อนางรื่นนางโรยได้ไปเสาะหาหมอทำเสน่ห์ให้พระลอหลงรัก แต่ไม่มีใครยอมทำ จนสุดท้ายได้ไปขอให้ปู่เจ้าสมิงพราย ที่อาศัยอยู่ในถ้ำลึกในป่า ช่วยทำเสน่ห์ให้ ปู่เจ้าสมิงพรายได้ทำเสน่ห์หลายครั้ง แต่พระนางบุญเหลือมารดาของพระลอก็หาหมอมาแก้ได้ทุกครั้ง จนครั้งสุดท้าย ปู่เจ้าสมิงพรายได้ทำมนต์เสน่ห์อย่างแรงที่สุด จนทำให้พระลอกระวนกระวายใจจะไปเมืองสรองให้ได้ แม้การเสี่ยงทายบอกว่าจะมีภัย ปู่เจ้าสมิงพรายได้ปล่อยไก่ฟ้าที่ทำพิธีแล้ว ให้ไปล่อพระลอหลงเข้าไปในสวนที่อยู่ใกล้กับสวนของพระเพื่อนพระแพง เมื่อได้พบเจอกันจึงหลงเสน่ห์กันและลักลอบอยู่ด้วยกันนานเกือบเดือน ความทราบถึงท้าวพิชัยพิษณุกรที่แอบมาดูเหตุการณ์ แต่เมื่อได้เห็นพระลอแล้วเกิดความเมตตาและให้อภัย แต่เจ้าย่าซึ่งเป็นแม่เลี้ยงของท้าวพิชัยพิษณุกร กลับผูกใจเจ็บที่ท้าวแมนสรวงเคยยกทัพมาทำศึก จนพระยาพิมพิสาครต้องสิ้นพระชนม์ จึงสั่งให้ทหารไปล้อมจับพระลอ พระเพื่อนพระแพงและนางรื่นนางโรยได้ปลอมตัวเป็นชายออกไปต่อสู่เคียงข้างพระลอ จนกระทั่งถูกหน้าไม้อาบยาพิษยิงใส่ทั้งสามองค์ สิ้นใจทั้ง ๆ ที่ยืนพิงกัน

เรื่องราวของลิลิตพระลอ จึงถูกนำมาเชื่อมโยงกับพื้นที่ในบริเวณจังหวัดแพร่ พะเยา ลำปาง โดยเฉพาะเวียงสรองในอำเภอสอง จังหวัดแพร่ ที่น่าจะเป็นเมืองสรองของพระเพื่อนพระแพง ด้วยลักษณะภูมิประเทศและระยะทางที่ปรากฏในลิลิตพระลอนั้น มีความใกล้เคียงสอดคล้องกัน จึงน่าจะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ล้านนาตะวันออกนี้







โรงเรียนเจริญราช โรงพยาบาลแพร่คริสเตียน






     โรงเรียนเจริญราษฎร์ เป็นโรงเรียนของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ตั้งอยู่บนรากฐานแห่ง คริสตศาสนานิกายโปแตสแตนท์ ซึ่งได้ดำเนินการก่อตั้งโดยมิชชันนารีชาวอเมริกัน เมื่อ พ.ศ. 2437 โดยมีศาสนฑูต ดร. และนางวิลเลี่ยมบริกส์ เป็นมิชชั่นนารีกลุ่มแรกที่เข้ามาทำ การสอน คริสตศาสนา ได้อาศัยบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำยม (บ้านเชตวัน) นับเป็นโรงเรียนหลังแรก ต่อมาน้ำเซาะตลิ่งพัง จึงได้ย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียนมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.2446 โดยมีนักเรียนชาย 44 คน นักเรียนหญิง 42 คน มีครูชาย 1 คนและ ครูหญิง 1 คน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดามารดา ผู้ปกครองต่างส่งบุตรหลานมาเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้เนื้อที่เรียนคับแคบลง จึงได้ขยายห้องเรียนตามใต้ถุนบ้าน มิชชันนารี ต่อมาคณะกรรมการบริหารสภาฯได้อนุมัติเงินจำนวน 5 แสนบาท มาก่อสร้างอาคารเรียน พร้อมส่งนายสิงห์แก้ว ดีตันนา ครูใหญ่และผู้จัดการโรงเรียนสมัยนั้น ไปศึกษาต่อที่ประเทศ ฟิลิปปินส ์ โดยตั้งนายธงชัย วุฒิการณ์ ทำหน้าที่รักษาการแทนครูใหญ่และผู้จัดการในปี พ.ศ. 2497 กระทรวงศึกษาธิการ โดยฯพณฯ เลียง ไชยลังกา ได้มอบใบสำคัญการ รับรองวิทยฐานะของโรงเรียน เมื่อ 28 มิถุนายน 2497 ปัจจุบันได้รับอนุญาตให้จัดการเรียน การสอน ตั้งแต่ชั้นปฐมวัย ถึงระดับมัธยมศึกษา

สำหรับโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน เมื่อแรกเริ่มครอบครัวของหมอวิลเลี่ยม เอ.บริกส์ เป็นมิชชั่นนารีครอบครัวแรกที่อยู่ประจำจังหวัดแพร่ เป็นผู้จัดตั้งสถานพยาบาลขึ้น ในปี พ.ศ. 2457 ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกของจังหวัดแพร่ตั้งขึ้นบนฝั่งแม่น้ำยม บ้านเชตวัน อ.เมือง จ.แพร่ ดำเนินการโดย คณะมิชชั่นนารีสัญชาติอเมริกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ในท้องถิ่นที่ความเจริญทางการแพทย์ยังเข้าไปไม่ถึง และเป็นการนำเอาศริสต์ศาสนามาเผยแพร่

คณะมิชชั่นนารีที่ดำเนินการของโรงพยาบาลประกอบด้วยหมอโทมัส ที่ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อเลี้ยงโทมา” และผู้ดำเนินการทางศาสนาคือ พระกิลิส และพระกาสันเดอร์ นอกจากนี้ยังมีนายแพทย์ร่วมคณะซึ่งเป็นบุคคลสำคัญและมีพระคุณต่อโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนอย่างมหาศาล คือ นาย แพทย์ อี ซี คอร์ท (พ่อเลี้ยงคอร์ท) เป็นผู้ดำเนินการฝ่ายโรงพยาบาล โดยเป็นผู้จัดหาความเจริญทั้งในด้านวิชาการ,เครื่องมือทางแพทย์ รวมถึงบุคลากรทั้งหมด และคนไทยที่ร่วมทำงานด้วยคือ คุณหมอศรีมูล พิณคำ ประจำอยู่ที่แพร่ ต่อมาพ่อเลี้ยงคอร์ทได้คัดเลือกบุตรหลานของคริสต์สมาชิกไปฝึกอบรมวิชาแพทย์แผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ครั้นเมื่อได้ใบรับรองผู้ประกอบโรคศิลป์แผนปัจจุบันสาขาเวชกรรมก็ให้มาทำหน้าที่แพทย์ประจำโรงพยาบาล(ตอนนั้นใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลอเมริกัน)

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้าประเทศไทย รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา ทำให้แพทย์ชาวอเมริกันต้องอพยพหนีไปสู่ประเทศพม่า โรงพยาบาลอเมริกันถูกยึดเป็นของรัฐบาล คณะแพทย์อเมริกันได้กลับมาฟื้นฟูโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนขึ้นใหม่พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนจนถึงปัจจุบัน

ที่มา http://www.crschool.ac.th,โบสถ์,คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ,โรงพยาบาลแพร่คริสเตียน,นิทรรศการสถาปัตย์ศิลป์ บ้านฝรั่ง 100 ปี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-13 กพ. พ.ศ.2555


คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ 1894-2011 ตอนที่ 2




     หลังจากก่อตั้ง คริสตจักรที่  1 แพร่กิตติคุณ แล้วในปี ค.ศ.1894(พ.ศ.2437) ศาสนาจารย์ ดร.ฟิเอสพเปิ้ล ได้จัดการซื้อที่ดินแห่งหนึ่งในหมู่บ้านเชตะวันอันมีเนื้อที่ประมาณ 3ไร่ เศษ ที่ดินดังกล่าวนี้อยู่ใกล้ๆ ฝั่งแม่น้ำยมฟากด้านตะวันตกใกล้ๆ บริเวณห้างบอมเบย์เบอร์ม่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานป่าไม้เขตภาคเหนือ เวลานั้นที่ดินอาณาเขตที่มิชชั่นซื้อครั้งนั้นติดอยู่ให้บริษัทำการป่าไม้บอมเบย์เบอร์ม่ามิชชั่นใช้เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลขนาดเล็ก(คลินิก)และสร้างอาคารเรียนตั้งเป็นสถานที่สอนหนังสือ สร้างบ้านพักมิชชั่นนารี บ้านพักคนงาน เรือนพักคนงาน และโรงสวดเป็นสถานที่สวดนมัสการพระเจ้า ในปี ค.ศ.1894 ดร.วิลเลียมบริ๊กส์เอ็มดี (Dr.Rilliam Briggs M.D.) ได้ย้ายมาเป็นมิชชั่นนารีประจำเมืองแพร่เป็นครอบครัวแรก

     ผู้ปกครอง2คนแรก ในคริสตจักรเมืองแพร่ คือ นายมา ชาติเงี้ยว กับ นายน้อยปัญญา มณีวงศ์ และยังอีกผู้หนึ่งซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของในการเผยแพร่ศาสนาคริสต  คือนายหนานชัย นุภาพ ที่ย้ายมาจากเชียงใหม่ เพื่อมาทำงานกับบริษัท ป่าไม้บอมเบย์เบอร์ม่าก่อนที่คณะมิชชั่นนารีจะเปิดสำนักงานมิชชั่นนารี  
     ในปี ค.ศ.1913(พ.ศ.2456) สมัยที่ท่านอาจารย์ ซี อาร์ คารเลนเดอร์พร้อมทั้งครอบครัวไปอยู่ประจำที่เมืองแพร่ในปีนี้เองคณะมิชชั่นนารีได้มีมติให้ย้ายสำนักงานมิชชั่นนารีจากบ้านเชตะวันไปอยู่ที่ดินแปลงใหม่คือ บ้านทุ่ง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อันเป็นที่ดินที่โรงเรียนและโรงพยาบาลตั้งอยู่ในปัจจุบัน เหตุที่มิชชั่นนารีต้องย้ายไปตั้งอยู่ที่ใหม่นี้เนื่องจากบริเวณเขตเก่าของมิชชั่นนารีที่บ้านเชตะวันถูกน้ำยมเซาะตลิ่งพังกินเนื้อที่ของมิชชั่นนารีไปทุกที ในไม่ช้าก็ถูกแม่น้ำยมกลืนหมด จนปัจจุบันนี้บริเวณที่ดินดังกล่าวตกอยู่กลางแม่น้ำทีเดียว ผืนแผ่นดินบริเวณของเขต  มิชชั่นนารีที่หมู่บ้านเชตะวันไม่เหลือแม้แต่น้อย
     หลังจากย้ายมาตั้งโบสถ์มาที่บ้านทุ่ง นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1929(พ.ศ.2472) ดำเนินกิจกรรมเรื่อยมาอย่างไม่มีปัญหา ทางคริสตจักรที่ 1 ในเมืองแพร่ไม่มีชื่อเฉพาะ จึงมาเปลี่ยนชื่อเป็น คริสตจักรแพร่กิตติคุณในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง ต่อมาทางคริสตจักรเห็นว่าคริสต์สมาชิกเจริญก้าวหน้ามามากแล้ว เห็นสมควรที่จะต้องสร้างโบสถ์ขึ้นใหม่ ให้เป็นตึกอาคารถาวร ตึกคอนกรีตเสริมเหล็กให้ทันสมัย สมาชิกรวมทั้งคณะธรรมกิจจึงได้ตกลงให้สร้างขึ้นใหม่ในสถานที่ดินแห่งใหม่อันเป็นที่ดินของมิชชั่นนารีที่ซื้อไว้แต่เดิม ในนามของบอร์ดออฟฟอเรนส์ มิชชั่นนารี
เมื่อเวลาผ่านไปทางบอร์ดได้สลายตัวและมอบให้เป็นของมูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นเจ้าของ มีเนื้อที่ประมาณ13ไร่1งาน18ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อันเป็นที่ตั้งโบสถ์คริสตจักรที่1แพร่กิตติคุณ ในปัจจุบัน หลังจากคริสตจักรได้ย้ายมาสร้างที่นมัสการพระเจ้า (โบสถ์ ใหม่) ซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนเจริญราษฎร์ ทางทิศใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ปัจจุบันนี้ ในปี ค.ศ.1952 คริสตจักร ได้ดำเนินงานตามปกติ โดยการดำเนินงานของคณะธรรมกิจเพราะช่วงนี้คริสตจักรยังไม่มีศิษยาภิบาล จวบจนราวปี ค.ศ.1957 คริสตจักรจึงได้มีศิษยาภิบาลประจำการจนถึงปัจจุบัน 

ที่มา http://www.crschool.ac.th,โบสถ์,คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ,โรงพยาบาลแพร่คริสเตียน,นิทรรศการสถาปัตย์ศิลป์ บ้านฝรั่ง 100 ปี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-13 กพ. พ.ศ.2555

คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ 1894-2011 ตอนที่ 1





     ชื่อ คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ หลายที่คงเคยได้ยินได้ฟังผ่านหูมาบ้าง ขอบอกว่าในจังหวัดแพร่มีคนนับถือศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธอยู่ด้วยมากมาย ศาสนาคริสตเป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของจังหวัดแพร่มายาวนาน คริสตจักรที่ 1 เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่ศาสนาศริสตในเขตจังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์ โดยมีมิชชั่นนารีคณะเพรสไบทีเรียนของประเทศสหรัฐอเมริกา นำโดย ดร.แมคกิลวารี ที่ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “พ่อครูหลวง”เป็นมิชชั่นนารีคนแรก ที่เข้ามาสำรวจและเผยแพร่ศาสนาคริสตในจังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบหมอ คือ ออกเยี่ยมเยียนชาวบ้าน รักษาคนเจ็บป่วย พร้อมสอนคำสอนของพระเยซูคริสตควบคู่กับได้ใช้วิชาการแพทย์ใหม่รักษาชาวบ้าน ซึ่งได้ผลดีกว่าการรักษาแบบโบราณ ทำให้ได้รับความไว้ใจจากชาวบ้าน 

       และในปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) เกิดวิกฤตข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ขาดแคลนอาหารไปทั่วภาคเหนือ โดยเฉพาะเกิดภาวะฝนแล้งซ้ำเติมอีก ทำนาปลูกข้าวไมได้ผล ชาวบ้านขาดแคลนข้าวสารอาหารบริโภค ความแห้งแล้งกันดารขาดแคลนอาหารแผ่คลุมมาถึงจังหวัดแพร่ด้วย ความทราบถึง ดร.พี.เอส.พีเปิล ซึ่งเป็นศาสนาจารย์และมิชชั่นนารีประจำที่จังหวัดลำปาง จึงได้นำข้าวสารบรรทุกหลังม้าต่างยกเป็นขบวนนำมาแจกแก่ชาวบ้านที่อดยากหิวโหย โดยมีคริสเตียน 2คน ได้แก่ นายน้อยและนายธรรมชัย จากลำปาง นำสิ่งของมาแจกที่หมู่บ้านเวียงทอง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ พร้อมได้เล่าการแจกข้าวสารของ ดร.พีเปิล ให้ชาวบ้านฟัง

      หลังจากแจกข้าวสารเสร็จแล้ว คณะมิชชั่นนารีก็กลับลำปาง มีชาวบ้านจากแพร่ติดตามไปด้วยจำนวนหนึ่ง และได้พักที่ลำปาง1เดือน ระหว่างนั้นก็มีโอกาสได้ฟังคำสอนเกี่ยวกับศาสนา ได้เห็นการประพฤติปฎิบัติที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักเมตตาของมิชชั่นนารีจึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในคริสต์ศาสนาในที่สุดก็ตัดสินใจรับเชื่อในพระเยซูคริสต์ 10 คน ครั้นคริสเตียนทั้ง10คน กลับสู่จังหวัดแพร่ จึงนำข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ไปบอกเล่าให้เพื่อนฝูงและญาติพี่น้องฟัง ทำให้อีกหลายครอบครัว ตัดสินใจเชื่อรับบัพติศามาประกาศตัวเป็นคริสเตียน จนสามารถรวมตัวกันตั้งเป็นคริสตจักร “แห่งแรก” ของจังหวัดซึ่งได้แก่คริสตจักรที่1แพร่กิตติคุณ

ที่มา http://www.crschool.ac.th,โบสถ์,คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ,โรงพยาบาลแพร่คริสเตียน,นิทรรศการสถาปัตย์ศิลป์ บ้านฝรั่ง 100 ปี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-13 กพ. พ.ศ.2555