วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

2560 ย้อนรอยรำลึก 22 ปี น้ำท่วมแพร่

ขอบคุณภาพจากเฟดบุ๊ครำลึกน้ำท่วมแพร่ปี 2538 และ ร้านนุ้ย 365 (ประตูชัย)

     ราวเดือนสิงหาคมปีพุทธศักราช 2538 ประเทศไทย ต้องรับมือจากการพัดกระหน่ำจากพายุหลายลูกติดต่อกัน ทำให้เกิดในตกหนักอย่างต่อเนื่องหลายวัน แม่น้ำยมเต็มไปด้วยน้ำจากลำน้ำสาขาและน้ำฝน อ่างเก็บน้ำและฝายต่างๆมีปริมาณที่เกินกว่าจะกักเก็บไว้ได้จึงจำเป็นต้องปล่อยระบายออกเพื่อป้องกันการแตกหรือพัง ทำให้น้ำจากแม่น้ำยมไหลเข้าท่วมจังหวัดแพร่ในราววันที่ 30-31 สิงหาคม โดยแม่น้ำยมล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่ติดกับแม่น้ำ และค่อยๆลามกินบริเวณกว้างขึ้นเรื่อยๆ หลายหมู่บ้านถูกล้อมรอบไปด้วยน้ำ สะพานข้ามแม่น้ำหลายแห่งถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถใช้สัญจรได้ ทำให้หลายพื้นที่ระดับน้ำสูงถึงหลังคาบ้าน ทำให้ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องสั่งอพยพและห้ามอยู่ในบริเวณที่ท่วม เช่น หมู่บ้านเชตะวัน ทางเทศบาลเมืองแพร่ได้นำเต้นฑ์มากางให้ประชาชนมาพักชั่วคราวบนบนกำแพงเมืองประตูมาร ด้วยสถานการณ์ในขณะนั้นพายุฝนยังเทลงมาอย่างไม่ขาดสายจึงมีข่าวลือต่างๆนานาว่ามีอ่างเก็บน้ำแตก ชาวบ้านจึงวิตกตลอดเวลา สถานนีวิทยุ สวท.แพร่ 91 Mhz เป็นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญในการแจ้งข่าวและเฝ้าระวังระดับน้ำ และในวันที่ 1-2 กันยายน พ.ศ. 2538 น้ำเริ่มทะลักเข้าสู่อำเภอเมืองแพร่จากการพังของกำแพงเมืองแพร่ทางด้านวัดศรีชุม ด้วยลักษณะทางกายภาพของตัวอำเภอเมืองแพร่ที่เป็นแอ่ง ทำให้ตัวอำเภอเมืองแพร่ในเวลานั้นกลายเป็นเมืองบาดาลเพียงช่วงเวลาข้ามคืน ซึ่งแม้แต่ประตูชัยที่ถือว่าเป็นเนินสูงระดับน้ำยังสูงถึงระดับเอว ย่านเศรษฐกิจถนนเจริญเมืองเสียหายทั้งหมด ข้าวของเครื่องใช้และรถยนต์จำนวนมากจมอยู่ใต้น้ำ ผู้คนต่างตกอยู่ในสภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมเหมือนๆกันหมด ข้าวปลาอาหารขาดแคลน เนื่องจากตัวอำเภอเมืองถูกตัดขาดจากรอบนอก น้ำท่วมขังเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน เมืองแพร่ก็เต็มไปด้วยโคลนและขยะจำนวนมหาศาล ซึ่งกว่าสถานการณ์ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติก็กินเวลานาน ถือได้ว่าน้ำท่วมในครั้งนั้นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดแพร่ที่หลายคนยังจดจำความปวดร้าวกับมหาอุทกภัยน้ำท่วม





























ขอบคุณภาพจากเฟดบุ๊ครำลึกน้ำท่วมแพร่ปี 2538 และ ร้านนุ้ย 365 (ประตูชัย)

คมสัน  หน่อคำ
เขียนและเรียบเรียง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น