วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

คำมะเก่า


     “แก่นตาควักออก เอาบ่ากอกเข้ายัด” หมายถึง ของมีค่าอยู่กับตนไม่รู้จักใช้ แต่ไปหาสิ่งไร้ค่ามาแทน

     “ของกิ๋นลำอยู่ตี้คนมัก ของฮักอยู่ตี้คนเปิงใจ๋”  หมายถึง ความพึงพอใจของแต่ละบุคคล ไม่สามารถบังคับกันได้

    “ขี้โลภปันเสีย ขี้เหลือปันได้” หมายถึง คนโลภมักจะเสียของ คนไม่โลภมักจะได้ทรัพย์

    “คนจะดี ตึงดีเมื่อผ้าอ้อมปอก คนจะวอก มันตึงวอกต๊าวต๋าย” หมายถึง คนดีก็จะดีตั้งแต่แรก คนโป้ปดมดเท็จ มันก็เป็นแบบนั้นไปตลอด

    “คนหมั่น ยากไร้ มีคนสงสาร ขี้คร้านแอวยาน ไผบ่ผ่อหน้า” หมายถึง คนขยันหมั่นเพียร แม้ยากไร้ ก็มีคนสงสาร คนขี้เกียจสันหลังยาว ไม่มีใครสนใจ

    “คนอู้ได้ปากนัก อมแพะเต็มปากยังบ่ฮู้ตัว” หมายถึง การห้ามคนพูดมากให้หยุดพูดเป็นการยาก

    “คนเฮามนุษย์ อย่าไปหัวแข็ง หื้อร่ำเปิดแยง ต๋ามธรรมพระเจ้า” หมายถึง อย่าทำเป็นคนหัวแข็งดื้อด้านว่ายาก สอนยาก

    “ใคร่ขี้ล่นหาขอน ใคร่นอนล่นหาสาด” หมายถึง คนที่อยู่ไปวันๆอย่างไม่มีความกระตือรือร้น ถึงเวลาจำเป็นจึงจะเตรียมตัว

    “เฒ่าหัวเฒ่าหาง ตางกลางยังบ่เฒ่า” หมายถึง คนแก่ที่แก่แต่ตัวหัวใจไม่ยอมแก่

    “ตกต๋าเปิ้นเป๋นดีใคร่หัว ตกต๋าตัวเป๋นดีใคร่ไห้” หมายถึง อย่าหัวเราะเยาะเมื่อผู้อื่นทำพลาด เพราะเมื่อเราทำพลาดเราก็จะถูกหัวเราะเยาะเช่นกัน   

    “ตางไปวัดหมอง ตางไปหนองเหลี้ยม” หมายถึง คนที่หลงผิดจนยากจะเห็นธรรม

    “ต๋าอยู่หน้า ผ่อหน้าบ่หัน” หมายถึง ความบกพร่องของคนอื่นนั้น เรามองเห็นได้ชัด แต่ความบกพร่องของตนแล้วมักจะมองไม่เห็น

    “เปิ้นว่าเสือ ตั๋วว่าพระเจ้า บ่ดีเน้อปี้น้อง” หมายถึง สิ่งที่คนอื่นมองว่าไม่ดี แต่เรากลับมองว่าดี


กีฬาสีโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวัน





     โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวันกำหนดจัดการแข่งขันกีฬาสีภายในสถานศึกษา “ สาธิตเกมส์ ” วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ณ สนามโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวัน เพื่อส่งเสริม สนับสนุน นักเรียนให้เกิดทักษะทางการกีฬา ปลูกฝังความมีน้ำใจ รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และห่างไกลจากยาเสพติด

     นางจินตนา ทุ่งเก้า ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวัน เผยว่า โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวันกำหนดจัดการแข่งขันกีฬาสีภายในสถานศึกษา“ สาธิตเกมส์ ” วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ณ สนามโรงเรียนสาธิตเทศบาล บ้านเชตวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน นักเรียนให้เกิดทักษะทางการกีฬา ปลูกฝังความมีน้ำใจ รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และห่างไกลจากยาเสพติด เพื่อสร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์อันดีของนักเรียนทุกระดับชั้น ให้นักเรียนมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี สอดคล้องกับมาตรฐานด้านผู้เรียนเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี เพื่อส่งเสริมทักษะการทำงานของนักเรียน เพื่อธำรงไว้ซึ่งประเพณีการแข่งขันกีฬาสีและกรีฑาภายในของโรงเรียนให้สืบต่อไปเป็นประจำทุกปี การแข่งขันกีฬาสีภายในโรงเรียน “สาธิตเกมส์” ในครั้งนี้แบ่งนักกีฬาออกเป็น 4 สีได้แก่สีเขียว สีแดง สีฟ้า และสีเหลือง มีการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ได้แก่ ตะกร้อ วอลเลย์บอล ฟุตบอล เปตอง กีฬาพื้นบ้าน และกรีฑา



งานประชาสัมพันธ์ / ข่าว / พิมพ์

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ศาลหลักเมือง ตอนที่ 1




      ศาลหลักเมือง คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ตั้งของหลักเมือง ซึ่งตามธรรมเนียมพิธีของศาสนาพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ประเทศไทย เชื่อว่าทำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่ากันว่า พิธีสร้างเมืองต้องฝังอาถรรพ์ ๔ ประตูเมืองและเสาหลักเมือง คือ ต้องเอาคนมาฝังในหลุม เพื่อให้เฝ้าบ้านเมือง ซึ่ง จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "เป็นเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ไม่มีบันทึกในพงศาวดาร ไม่น่าจะเป็นไปได้ คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่ามาจากนิทานที่เล่าสืบต่อกันมา เหมือนกับการโล้ชิงช้าที่เล่ากันว่าพราหมณ์ตกลงมา ก็ให้ฝังไว้ตรงเสาชิงช้า

     เมืองแพร่เองก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของชื่อประตูมารว่ามาจากการฝังคนท้องมานไว้ที่ประตูนั้น แต่ในเรื่องเล่านั้น เรียกว่า พิธีเบิกประตูเวียง ตามความเชื่อว่าการสร้างเวียงใหม่ ต้องทำ "ประตูบาก" ไว้ประตูหนึ่ง โดยจะมีพิธีประหารผู้มีชะตาถึงฆาต เพื่อให้วิญญาณรักษาประตูแห่งนี้ไว้ ไม่ใช่การฝังอาถรรพ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับชื่อของประตูด้านทิศใต้ของเวียงแพร่แห่งนี้ ก็มีการเสนอที่มาอื่นอีก เช่น คำว่า "มาร" คงหมายถึง สิ่งล้างผลาญคุณความดีเป็นมาร ๕ คือ กิเลสมาร, ขันฑมาร, เทวปุตตมาร, อภิสังขารมาร, มัจจุราชมาร และเทพประจำทิศใต้มีท้าววิรุฬหก (กุมภัณฑ์ จอมเทวดา) มหาราชเป็นผู้ปกครองและเป็นใหญ่ทางทิศใต้ ตามความเชื่อในเรื่อง "ต้าวทั้งสี่" หรืออีกด้านหนึ่ง มีการเสนอว่า "ประตูมาร" มาจากการเป็นประตูที่เป็นเส้นทางออกจากเวียงแพร่ มุ่งไปสู่เมืองมาน ซึ่งเป็นเมืองด่านด้านทิศใต้ แต่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏว่า เมื่อครั้งสร้างเมืองแพร่มีการฝังเสาหลักเมืองเหมือนกรุงเทพฯ หรือเสาอินทขิลเหมือนอย่างเมืองเชียงใหม่

     สำหรับศาลและเสาหลักเมืองแพร่ในปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่บนถนนคุ้มเดิม เยื้องจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เข้าใจว่าศาลหลักเมืองแพร่สร้างในครั้งแรก­พร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ มีหลักเมืองเดิมเป็นรูปใบเสมา เรียกกันว่า ศิลาจารึกศาลหลักเมืองแพร่ ถูกนำมาไว้ใจกลางเมือง ซึ่งถือว่าเป็น สะดือ เดิมมีสภาพเป็นพื้นที่ร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่เป็นที่ตั้งของศาลเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ตูบผี ต่อมาพื้นที่นี้ได้ถูกถางตัดต้นไม้ใหญ่ออก และนำเอาหลักศิลาจารึกที่พบหลักหนึ่ง(ในวัดร้างศรีบุญเริง ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณเรือนจำจังหวัดแพร่) ยึดถือเป็นหลักเมืองแพร่ ภายหลังจึงได้มีการสร้างศาลหลักเมืองเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขึ้น เป็นหลักใหม่สร้างตามนโยบายมหาดไทย ปี ๒๕๓๕ ติดตามต่อตอนที่ 2


อบจ.แพร่ นำชุดนิทรรศการจิตอาสาเพื่อพัฒนาลำน้ำแม่แคม





     อบจ.แพร่ นำชุดนิทรรศการจิตอาสาเพื่อพัฒนาลำน้ำแม่แคม บนวิถีแห่งความพอเพียงเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน จังหวัดแพร่ นำเสนอในงานกิจกรรมเดินรณรงค์ “คน รัก คลอง” … “ไม่ทิ้ง ไม่เท ทุ่มทำความดี”


     เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดกิจกรรมเดินรณรงค์ “คน รัก คลอง” … “ไม่ทิ้ง ไม่เท ทุ่มทำความดี” พร้อมทั้งกล่าวน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมทั้งนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมกล่าวคำปฏิญาณตน “เราทำความดีด้วยหัวใจ” 3 ครั้ง โดยมีจิตอาสา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินรณรงค์ ประกอบด้วย ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ภาคีเอกชนหลักของรัฐบาล ตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ นักเรียนที่อยู่ในเขตจัดกิจกรรม และตัวแทนภาคประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนประมาณ 5,000 คน ณ บริเวณคลองเปรมประชากร ในส่วนภูมิภาคจะจัดกิจกรรมเดินรณรงค์พร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด ทั่วประเทศในวันและเวลาเดียวกันนี้ โดยที่จังหวัดแพร่จัดกิจกรรม ณ ลำห้วยแม่แคม

    นอกจากนี้ยังได้จัดนิทรรศการและกิจกรรมรวมพลคนรักคลอง ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเชิญ อบจ.แพร่ เข้าร่วมจัดนิทรรศการ ได้นำเสนอนิทรรศการโครงการจิตอาสาเพื่อพัฒนาลำน้ำแม่แคม บนวิถีแห่งความพอเพียงเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน จังหวัดแพร่ จัดกิจกรรมพัฒนาลุ่มน้ำแม่แคมที่ไหลผ่านพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอเมืองแพร่ ต้นน้ำ ตำบลสวนเขื่อน พัฒนาด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและลอกลื้อวัชพืช เพิ่มการไหลของน้ำ กลางน้ำ ตำบลบ้านถิ่น ตำบลเหมืองหม้อ พัฒนาแหล่งน้ำให้เก็บกักน้ำไว้ในลำแม่แคมเพื่อการประกอบอาชีพของประชาชน ปลายน้ำ ตำบลทุ่งกวาว ตำบลในเวียง เป็นพื้นที่เขตเมืองชุมชนหนาแน่น มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย พัฒนาด้วยการส่งเสริมและฝึกอบรมให้บำบัดน้ำเสียในครัวเรือน ด้วยการทำถังดักไขมันระดับครัวเรือนบำบัดน้ำก่อนทิ้งลงลำน้ำแม่แคมและไหลไปลงแม่น้ำยม








วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561

จังหวัดแพร่จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2561


     จังหวัดแพร่ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำแพร่ ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2561 เพื่อร่วมรณรงค์ ปลุกจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วน ตระหนักในผลเสียหายร้ายแรง จากการทุจริตคอร์รัปชัน


     สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(7ธ.ค.61) ที่ห้องประชุมมเหสักข์ ชั้น 3 วิทยาลัยเทคนิคแพร่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด "Zero Tolerane คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” พร้อมกันกับส่วนกลาง เพื่อร่วมรณรงค์ ปลุกจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วน ตระหนักในผลเสียหายร้ายแรง จากการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร ภาคีเครือข่าย หน่วยงานและทุกภาคส่วน ในการร่วมมือกันป้องกันการทุจริต ตลอดจนเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่จังหวัดแพร่ และสร้างกลุ่มเครือข่ายป้องกันการทุจริตที่ยั่งยืน

     ในการจัดงานได้มอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติสมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงด้านทุจริตจังหวัดแพร่ นอกจากนี้ยังมีการแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ

     สำหรับแนวคิด "Zero Tolerane คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” นั้นมุ่งเน้นให้คนไทยต้องลุกขึ้นทำหน้าที่และปกป้องสิทธิของตนเองและประเทศชาติโดยไม่ทนต่อการทุจริต และมีจิตสำนึกที่ถูกต้อง ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และความพอเพียง พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุจริต เพื่อให้ประเทศไทยโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล /.

ฉัตรชัย พวงขจร/ ข่าว /พิมพ์ /
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

ข้าวหนุกงา ของลำคนเมือง



     เข้าฤดูหนาวแล้ว ชาวนาเสร็จจากการเกี่ยวข้าว ทำให้มีข้าวใหม่กินกัน และในขณะเดียวกันชาวไร่ก็เกี่ยวงาขี้ม้อน ซึ่งช่วงเป็นเวลาใกล้เคียงกันพอดี ชาวล้านนาจึงนำข้าวเหนียวและงาขี้ม้อนมาทำเป็น “ข้าวหนุกงา” เพื่อเป็นอาหารว่างและขนม อันเป็นที่ชื่นชอบของทั้งเด็กและผู้ใหญ่

     ข้าวหนุกงา ( หนุก แปลว่า คลุกหรือนวด) หรือข้าวคลุกงา มีส่วนผสมที่สำคัญคือ ข้าวเหนียวนึ่งสุก,งาขี้ม้อน,เกลือ วิธีทำข้าวหนุกงา คือ นำข้าวเหนียวมาล้างให้สะอาด แช่น้ำไว้หนึ่งคืน แล้วนำข้าวที่แช่ไว้ นึ่งด้วยไฟกลางประมาณ 5- 10 นาที พอข้าวสุกให้เทลงภาชนะที่เตรียมไว้ คนให้ไอรอนลดลง แล้วบรรจุใส่ในแอ๊บข้าวที่เตรียมไว้ ต่อมานำงาขี้ม้อน มาคั่วด้วยไฟอ่อนๆ จนมีกลิ่นหอม โขลกงาขี้ม้อนกับเกลือให้และเอียด ใส่ข้าวเหนียวร้อนๆลองโขลกรวมกัน นวดจนเป็นเนื้อเดียวกัน เท่านี้ก็จะได้ข้าวหนุกงาที่แสนอร่อยมาทานกันแล้ว เคล็ดลับความอร่อย ข้าวเหนียวที่นำมาทำข้าวหนุกงาต้องเป็นข้าวที่นึ่งสุกใหม่ๆและร้อนๆ จะทำให้ข้าวและงาม้อน โขลกเข้าเป็นเนื้อเดียวกันง่าย และมีรสชาติดี

     สำหรับงาขี้ม้อน เป็นพืชตระกูลเดียวกับกระเพรา โหระพา และใบแมงลัก มีลักษณะเป็นงาเม็ดกลมเล็กๆ สีน้ำตาล นิยมบริโภคกันในแถบประเทศเอเชีย งาขี้ม่อน นิยมปลูกกันมากในภาคเหนือของประเทศไทย ปัจจุบันมีการนำงาขี้ม้อนมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชาขี้ม้อน คุกกี้งาขี้ม้อน หรือนำไปเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นธัญญาพืชที่มีประโยชน์มากมาย เช่น

     งาขี้ม้อนถูกใช้ทำยามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น แต่ได้รับความนิยมมากเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยถูกนำไปเป็นส่วนประกอบของยาหลายๆสูตรมาจนถึงทุกวันนี้,งาขี้ม้อนเป็นพืชที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงและสูงกว่าเมล็ดเจีย 2 เท่า,เป็นพืชที่อัตราส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 อย่างสมดุล เนื่องจากน้ำมันงาขี้ม้อนมีโอเมก้า 3 สูง จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหัวใจ บำรุงระบบประสาทและสมอง สามารถใช้ทดแทนน้ำปลาได้ ในกรณีของผู้ที่แพ้น้ำมันปลาหรือทานมังสวิรัติ ทานเจ

      ข้าวหนุกงาขี้ม่อน นอกจากเป็นอาหารพื้นบ้านขอชาวล้านนาแล้วยังแฝงด้วยคุณประโยชน์อีกมากมาย โดยมีทั้งสรรพคุณทางยาอีกมากมาย จึงเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่บรรพบรุษได้สืบถอดและส่งต่อองค์ความรู้ที่อยู่อยู่คู่กับวัฒนธรรมประเพณีในรูปแบบของอาหาร จึงควรดูแลและรักษาอาหารที่ ทำมาจาก ข้าวเหนียว เกลือ และงาขี้ม่อน กับ “ข้าวหนุกงา”

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, http://livelonglife.co/perilla-frutescens/,และรูปภาพจาก Google