วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สักศรี เมืองแพร่


     
      
     จากคำกล่าวที่ว่า คนแพร่เดินผ่านต้นสัก เป็นไม้ล้มหรือ คนแพร่เห็นต้นสัก เห็นเรือนเสาไม้สักใหญ่ นี่คือคำพูดกันทั่วไปที่คล้ายคำจำกัดความของคนแพร่ เหมือนคำว่า เมืองแป้แห่ระเบิดด้วยประโยควลีเหล่านี้ และอาชีพทำไม้ดั้งเดิมของคนแพร่  ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าคนแพร่เวลาเดินผ่านต้นไม้จะต้องตัด...ต้องโค่นต้นไม้ เพื่อเอาไม้ไปใช้เสียให้ได้ และด้วยความมีชื่อเสียงด้านงานฝีมือช่างไม้เป็นที่โด่งดังไปทั่ว  ทำให้ไม้สักของจังหวัดแพร่มีความโดดเด่น ด้วยคุณภาพไม้ที่ดี  มีความคงทน เงางาม สีสวย อายุการใช้งานยาวนาน ปลวกไม่ขึ้น จนได้ชื่อว่า ไม้สักทองคุณภาพดีต้องของเมืองแพร่เท่านั้นทำให้ผลิตภัณฑ์ไม้สักของจังหวัดแพร่เป็นที่ยอมรับมีความต้องการจำนวนมาก  ชนิดทำออกมาเท่าไรก็ไม่เพียงพอสำหรับผู้นิยมชมชอบผลิตภัณฑ์ไม้สัก ด้วยคุณภาพ ความสวยสด งดงาม ที่ธรรมชาติมอบให้  ก่อกำเนิดวัตถุทางสถาปัตยกรรมมากมาย  เช่ น พระที่นั่งวิมานเมฆ  ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างจากไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต  ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระราชวังดุสิต  และยังมีคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ที่เคยใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9  เมื่อคราวที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2501 ที่ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบัน และสาธารณะ ประจำปี 2540, บ้านวงศ์บุรีหรือบ้านสีชมพูที่โด่งดังจากละครหลังข่าวเรื่องรอยไหม, คุ้มเจ้าต่างๆ ในเมืองแพร่ และเฮือนเก่าหลายหลังล้วนสร้างด้วยไม้สักแฝงคุณค่าประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ทุกสิ่งอย่างล้วนศักดิ์ศรีของจังหวัดแพร่
     สำหรับจังหวัดแพร่นั้นมีพื้นที่เป็นป่าไม้ 80 % ของจังหวัด ในอดีตมีการเปิดป่าทำสัมปทานป่าไม้  ทำให้เมืองแพร่มีความเจริญเข้ามา โดยมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่มากมาย ที่ได้นำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ความรู้ จนกระทั่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์จังหวัดแพร่ เช่น บ้านเรือนสไตส์ยุโรปผสมจีนบวกล้านนา ล้วนเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามเฉพาะตัวจากอิทธิพลการทำไม้ที่สร้างสมประสมการณ์และความรู้สืบต่อรุ่นต่อรุ่นในเมืองแห่งไม้สัก ที่เป็นเพียงเรื่องราวบทหนึ่งของจังหวัดแพร่  ปัจจุบันแม้มีการปิดป่าห้ามทำสัมปทานไม้แต่ชาวแพร่ก็ยังยึดอาชีพเกี่ยวกับไม้อยู่ โดยเปลี่ยนจากการตัดไม้เป็นการทำเฟอร์นิเจอร์แทน  แต่ภาพการทำไม้ในอดีต  เช่น ภาพการนำช้างมาลากไม้เดินเป็นขบวน  ภาพวิธีขนล่องไม้ตามน้ำยมด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน  ภาพบ้านเรือนที่ทำเสาไม้สักสองสามคนโอบ  เริ่มเลือนล่างหายไปตามกาลเวลา เป็นเส้นทางการประวัติศาสตร์เปลี่ยนทัศนคติจาก คนแพร่เดินผ่านต้นสัก ต้องตัดไม้ หรือ คนแพร่เห็นต้นสัก เห็นเรือนไม้ใหญ่เป็นเมืองแพร่เมืองแห่งฟอร์นิเจอร์ไม้สักที่ดีมีคุณภาพ  เป็นที่ทราบกันว่า เรื่องไม้สักต้องถามคนแพร่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องของจังหวัดแพร่  จะปลูกใช้ จะขาย จะสร้างบ้านจากไม้สัก  ต้องปรึกษาคนแพร่  ม้สักเป็นหนึ่งในเรื่องราวและเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ และความภาคภูมิใจของคนแพร่

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีหัวใจเกษตร ก้าวสู่ยุค 4.0




     สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีหัวใจเกษตร ก้าวสู่เกษตร 4.0 เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่เป็นเกษตรกรมืออาชีพก้าวทันเทคโนโลยี
    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ทางกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องการดูแลลูกหลานของเกษตรกร โดยการพัฒนาและสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่เกษตรยุค 4.0 ผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชน โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ มีความรู้ความสามารถเป็นผู้ประกอบการเกษตรแบบมืออาชีพ ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร การพึ่งพาตนเอง และการแข่งขันทางการค้าในอนาคต โดยการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer โดยจัดกระบวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตนเอง เชื่อมโยงจนเกิดเครือข่าย Young Smart Farmer ทุกภาคของประเทศในปี พ.ศ. 2561

   สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ดำเนินการ จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดแพร่ขึ้น ที่ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดแพร่ (แปลงใหญ่แก้วมังกร)ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ โดยมีนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดศูนย์ดังกล่าว โดยศูนย์แห่งนี้มีนายฤชภูมิ ถิ่นฐาน หรือน้องต้นเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นเจ้าของศูนย์ ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตปัจจุบันนอกจากทำการปลูกแก้วมังกร ไม้ผลต่างๆแล้วยังได้มีการรวมกลุ่มกันกับเกษตรกรในพื้นที่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร ด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งขายตามร้านต่างๆ สร้างรายได้ อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงเครือข่าย เน้นการสร้างทายาทเกษตรกรให้เป็นต้นแบบของเยาวชนเกษตร พัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร พร้อมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมฐานข้อมูล และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นศูนย์กลางการประสานงานเครือข่ายระหว่างเกษตรกร เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลักสูตรการถ่ายทอดความรู้เฉพาะด้านในการผลิตแก้วมังกรแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การแปรรูปและการตลาด

   นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การสร้าง Young Smart Farmer จะทำให้เขาแข็งแหกร่งทั้งด้านความคิด ด้านการปฎิบัติ ด้านการเรียนรู้ การมีศูนย์บ่มเพาะจะทำให้เขาสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆกันได้นำไปสู่การพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่ง Young Smart Farmer จะเป็นอนาคตของเกษตรกรของประเทศ

   ด้านนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าวว่า Young Smart Farmer จะตอบโจทย์สำคัญในการขยายภาคการเกษตรในพื้นที่ มีการร่วมมือกัน มีระบบอีคอมเมอร์ส มีหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปร่วมด้วย สร้างวเครือข่ายร่วมกันเป็นจุดเชื่อมโยงให้ Young Smart Farmer เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน /.



ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

รถไฟ เมืองแพร่



     สถานีรถไฟเด่นชัย เป็นสถานีรถไฟระดับ 1 เป็นเส้นทางรถไฟสายเหนือ อยู่ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพ(สถานีรถไฟหัวลำโพง ) เป็นระยะทาง 533.94 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เนื่องจากจังหวัดแพร่ ไม่มีเส้นทางรถไฟผ่าน อำเภอเมืองแพร่ และสถานีรถไฟเด่นชัยตั้งอยู่ใกล้อำเภอเมืองแพร่ ห่างกันประมาณ 24 กิโลเมตร จึงทำให้สถานีรถไฟเด่นชัยเป็นสถานีรถไฟประจำจังหวัดแพร่  สถานีรถไฟเด่นชัยก่อตั้งขึ้นเมื่อไรไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ในอนาคตอาจจะถูกยกเป็นสถานีชุมทางรถไฟ เชื่อมระหว่างทางรถไฟสายเชียงใหม่กับทางรถไฟสายเชียงราย จะมีการตั้งสถานีรถไฟเพิ่มขึ้นอีก 6 สถานี คือ สถานีเด่นชัย สูงเม่น แพร่ แม่คำมี หนองเสี้ยว  และสอง
        แต่ในวรรณกรรมเรื่อง ร้อยป่าของ อรชร พันธุ์บางกอก ที่ได้เล่าเรื่องราวของสถานีรถไฟเด่นชัย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่  1  หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างกรุงเทพกับเด่นชัยระหว่างนั้นมีสงครามโลก ครั้งที่ 1  รถไฟเป็นเส้นทางการสัญจรที่สำคัญ ทำให้เกิดเมืองท่า หรือสถานีในการถ่ายโอนสินค้าระหว่างทาง อำเภอเด่นชัย ก็เป็นหนึ่งในหัวเมืองที่เป็นท่าของการขนส่งถ่ายโอนสินค้าจากเมืองลองกับเมืองนครสวรรค์ เมืองปากน้ำโพ  ที่จะส่งสินค้าสู่เมืองเหนือบ้านเฮา  ความเจริญรุ่งเรือง ทั้งสินค้า แม้แต่ผู้คน บ้างก็อาศัยทางเรือ บ้างมาตามถนนเส้นทาง ซึ่งการสัญจรทางสายเหนือนั้นอาจติดขัด เพราะสงครามโลกที่เกิดขึ้น ทำให้ระบบขนส่งของเราหล้าหลัง การขนส่งที่ล่าช้า แต่วันนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถเลือกการเดินทางได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ รถโดยสารประจำทาง และทางเครื่องบิน จึงเป็นเรื่องที่สะดวกสบายมากขึ้นสำหรับนักเดินทางทั้งหลายที่จะเลือกบริโภคตามความต้องการของตนเอง การเดินทางในอดีตมีความยากลำบากมากหากเทียบกับปัจจุบัน คุณเคยรอรถไฟนานสุดกี่ชั่วโมง

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เทศบาลเมืองแพร่จัดอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ( อปพร.) ประจำปี 2561 ( รุ่นที่ 8 )



     เทศบาลเมืองแพร่จัดอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ( อปพร.) ประจำปี 2561 ( รุ่นที่ 8 ) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 จำนวน 5 วัน ในวันที่ 3,10,17,24,31 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองแพร่ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ในการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย และดูแลทรัพย์สิน ของประชาชนได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ มีผู้เข้าร่วมรับการอบรม จำนวน 30 คน

นายพัฒนพงษ์ พงษ์นวล รองนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ เผยว่า ตามที่กระทรวงกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายในการเพิ่มจำนวนและพัฒนาศักยภาพ อปพร. ทั่วประเทศโดยกำหนดเป้าหมายให้แต่ละเทศบาลมีสมาชิก อปพร.พร้อมปฎิบัติงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของประชากร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัย การกู้ภัยและเผชิญภัย , การบรรเทาและสงเคราะห์ผู้ประสบภัย , ป้องกันบรรเทาและลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ เสริมสร้างความเข้มแข็งของกิจกรรม อปพร. รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้สมาชิก อปพร.ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการป้องกันภัย ฝ่ายพลเรือนให้มีประสิทธิภาพ ประกอบกับปัจจุบันแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ อันเนื่องมากจากภัยที่เกิดจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อรางกาย ชีวิต และทรัพย์สินของทางราชการเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายที่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย และดูแลชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักปลัดเทศบาลเมืองแพร่ จึงได้จัดอบรมโครงการฝึกอบรมจัดตั้งอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) รุ่นที่ 8 ประจำปี 2561 ในห้วงเดือนกรกฎาคม 2561 (วันที่ 3,10,17,24,31 กรกฎาคม 2561) ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองแพร่ มีผู้เข้าร่วมรับการอบรม จำนวน 30 คน



งานประชาสัมพันธ์ / ข่าว / พิมพ์

สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่เตรียมจัดกิจกรรมปั่นรถถีบแอ่ววิถีเกษตรเงินล้านลุ่มน้ำแม่แคม

สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่เตรียมจัดกิจกรรมปั่นรถถีบแอ่ววิถีเกษตรเงินล้านลุ่มน้ำแม่แคม และอิ่มบุญเมืองแป้ พร้อมเปิดศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer แปลงใหญ่แก้วมังกร ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2561

      สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รับแจ้งจากนายวีระชัย เข็มวงษ์ เกษตรจังหวัดแพร่ว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ได้ศึกษาวิถีเกษตรลุ่มน้ำแม่แคมในเขตอำเภอเมืองแพร่ ซึ่งน้ำแม่แคมเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำยม โดยมีเกษตรกร 2 ฝั่งลุ่มน้ำแม่แคมของตำบลสวนเขื่อน ตำบลบ้านถิ่น และตำบลเหมืองหม้อ ใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำประกอบอาชีพการเกษตรที่หลากหลาย ได้แก่ สวนกาแฟ สวนผลไม้ นาข้าว ข้าวโพด และพืชผัก สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

     ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่จึงมีแนวคิดจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยใช้รถจักรยานเป็นพาหนะแลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร จากแปลงเรียนรู้ที่เกษตรกรดำเนินการพร้อมเปิดศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer แปลงใหญ่แก้วมังกร ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ กับสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภายในตลาดนำการผลิต ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรายย่อย ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 และกิจกรรมปั่นรถถีบแอ่ววิถีเกษตรเงินล้านลุ่มน้ำแม่แคม และอิ่มบุญเมืองแป้ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 เริ่มต้นจากวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เวลา 05.30 น. ไปสิ้นสุดที่วัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร

     เกษตรจังหวัดแพร่กล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ศึกษาเรียนรู้วิถีเกษตรลุ่มน้ำแม่แคมเป็นต้นแบบในการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างคุ้มค่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตร กระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดแพร่ และนำรายได้จากผู้เข้าร่วมโครงการมอบเป้นกองทุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และโรงเรียนบ้านเหล่ารัฐราษฎร์บำรุง ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง ในการดำเนินกิจกรรมเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน รวมถึงทำนุบำรุงวัดพระธาตุช่อแฮ และวัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง อำเภอเมืองแพร่

    จึงขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรมปั่นรถถีบแอ่ววิถีเกษตรเงินล้านลุ่มน้ำแม่แคม และอิ่มบุญเมืองแป้ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 /.



ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

จังหวัดแพร่จัดโครงการค่ายเยาวชนสมานฉันท์ ประจำปี 2561

จังหวัดแพร่จัดโครงการค่ายเยาวชนสมานฉันท์ ประจำปี 2561 ส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละศาสนา เป็นศาสนิกชนที่ดี มีจิตอาสาเป็นผู้ให้แก่สังคม

     สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า เช้าวันนี้(3ก.ค.61) ที่สโมสร ค่ายพระยาไชยบูรณ์ กองพันทหารม้าที่ 12 กองพลทหารม้าที่ 1 อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการค่ายเยาวชนสมานฉันท์ ประจำปี 2561 ซึ่งทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่จัดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของกรมการสาสนา ที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมงานด้านศาสนา และการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชน มุ่งเน้นการสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมโดยองค์กรศาสนาในประเทศไทย ต้องร่วมกันดำเนินการนำหลักธรรมทางศาสนาไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ศาสนิกชน เป็นคนดีมีคุณธรรม ปฏิบัติตนตามหลักธรรมทางศาสนาที่ตนเองนับถือ รวมทั้งส่งเสริมให้ศาสนิกชนทุกศาสนา ร่วมเทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสนับสนุนศาสนิกชนร่วมทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชน ภายในศาสนาเดียวกัน และระหว่างศาสนาสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน และสร้างความสมานฉันท์แก่คนในชาติ ทำให้ประเทศมีความสงบสุขอย่างยั่งยืน

      โดยนำเยาวชน นักเรียน 3 ศาสนา ในจังหวัดแพร่เข้ารับการอบรมจำนวน 100 คน เพื่อส่งเสริมเยาวชนได้เรียนรู้ข้อปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละศาสนา เป็นศาสนิกชนที่ดี มีจิตอาสาเป็นผู้ให้แก่สังคม รวมทั้งการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง /.




ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่