วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เฮือนเย็น




      เฮือนเย็น เป็นหนึ่งในความเชื่อทางวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่เชื่อมโยงพิธีกรรม ความเชื่อ ศาสนา ไสยศาสตร์และชุมชนไว้ด้วยกัน เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมแก่ผู้เสียชีวิตที่ผู้ยังมีชีวิตได้ร่วมกันกระทำให้เป็นการแสดงความห่วงใยที่ปัจจุบันได้จางหายไปจากสังคม จากคำบอกเล่าของพ่ออุ้ยแม่อุ้ยเล่ากันว่า หากมีการเสียชีวิตที่ผิดแปลกจากธรรมดาอย่าง เช่น นอนหลับตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่ผู้ตายเป็นคนแข็งแรง ชาวบ้านจะช่วยกันตะโกนเรียกชื่อของผู้เสียชีวิตดังๆ โดยจะตะโกนกันเป็นทอดๆ เพื่อเรียกขวัญของผู้ตายให้กลับคืนสู่ร่าง บางคนก็จะทำการทุบบ้านตีฝา เพื่อเรียกหรือปลุกผีหอผีเฮือนให้ช่วยตามหาขวัญของผู้ตายอีกที่ ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมี “ขวัญ” อยู่ประจำชีวิตของคนมาตั้งแต่เกิด ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็จะเป็นสิริมงคลอยู่เป็นสุขสบาย มีจิตใจมั่นคง แต่ถ้าตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็จะออกจากร่างไป ซึ่งเรียกว่า ขวัญหาย ขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น ซึ่งหากขวัญไม่กลับเข้าร่างก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

      ดังนั้นก่อนพิธีณาปณกิจญาติผู้เสียชีวิตจะไม่ตอกฝาโลงศพหรือฉีดน้ำยาฟอร์มารีนเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญอาจตกหล่นอยู่ที่ไหนสักแหล่งและกำลังหาทางกลับเข้าร่างอยู่ และถ้าหากครบวันสวดอภิธรรมศพตามกำหนดแล้วก็จะถือว่าผู้ตายได้เสียชีวิตไปแล้วจริงๆ ซึ่งในระหว่างมีศพตั้งสวดบำเพ็ญกุศลอยู่นั้นชาวบ้านจะเรียกเฮือนหลังนั้นว่า “เฮือนศพ”จนกว่าจะมีการนำผู้ตายไปเผาศพเสร็จสิ้น เฮือนที่จัดงานศพนั้นชาวบ้านก็จะเปลี่ยนมาเรียกว่า “เฮือนเย็น” แทนเนื่องจากในขณะที่มีงานอยู่นั้นจะมีเสียงผู้คุยกันตลอดเวลาจากการจัดงานศพ แต่หลังจากเผาศพแล้วบเฮือนที่จัดงานก็จะมีแต่ความเสียใจและเศร้าโศกของญาติพี่น้องที่ได้สูญเสียคนในครอบครัวไป เฮือนก็จะเงียบเหงาเยือกเย็นจริงๆ ญาติพี่น้องและบ้านใกล้เรือนเคียงก็จะมาอยู่เป็นเพื่อน ระบายทุกข์ในใจให้คลายความเศร้าห่างหาย โดยพวกผู้หญิงก็จะทำขนมเล็กๆน้อยๆมานั่งกินกันปรับทุกข์กันไป วางแผนการใช้ชีวิตใหม่เพื่อให้อยู่คงอยู่ดำรงชีวิตต่อไป ซึ่งจะทำเช่นนี้เป็นเวลาเจ็ดวันจน “ออกกรรม” เฮือนเย็นที่มีแต่ความเสียใจ ก็จะถือว่าเป็นการสิ้นสุดความโศกเศร้าเสียใจ ผู้คนก็จะกลับมาใช้ชีวิตต่อไป....มันก็เป็นจะอี้เอง......


ขอบคุณข้อมูล “เรื่องเล่าอาจารย์ยอด”,ผะญา ล้านนา gotoknowและรูปภาพประกอบจาก Google

เขียนและเรียบเรียงโดย
นายคมสัน   หน่อคำ
083-7373307

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สืบชะตาแม่น้ำ บวชป่า สัมพันธภาพ คน ป่า แม่น้ำ ชุมชน





     ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นประเพณีหลายกระทง ที่ชาวไทยจะนำกระทงไปลอยยังแม่น้ำ เพื่อเป็นการบูชาและขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่เราได้ล่วงเกินหรือกระทำการสิ่งไม่ดีกับแม่น้ำลำธาร แต่ลำหรับชาวเหนือนั้นได้ผนวชพิธีสืบชะตาแม่น้ำเข้ามาตามความเชื่อที่มีวิถีชีวิตผูกพันระหว่างคนกับสายน้ำที่เกื้อกูลเกี่ยวพันกับแม่น้ำในการดำรงชีวิต เพื่อเป็นการต่ออายุแม่น้ำและแสดงความเคารพศรัทธาที่แสดงออกถึงความห่วงใยต่อแม่น้ำ โดยแฝงการอนุรักษ์รักษาป่าไม้ ต้นน้ำ และลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ


     พิธีสิบชะตาแม่น้ำ เป็นพิธีกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน มีรากฐานจากพิธีสืบชะตาบ้านเมือง และชะตาคน อันเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีคุณค่าและความหมาย เป็นการเรียกขวัญกำลังใจให้กลับคืนมาและยังเป็นการใช้กุศโลบาย สร้างความร่วมมือ ความสามัคคี เกื้อกูล ช่วยกันแก้ไขปัญหาในชุมชน ก่อให้เกิดความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลแม่น้ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบนิเวศวิทยาแม่น้ำ และประการสำคัญที่สุด เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม โดยก่อนทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน ขุดลอกลำคลองและแหล่งน้ำ เพื่อทำความสะอาดแม่น้ำ โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือพื้นบ้านที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วจะนำเครื่องสืบชะตาประกอบด้วย กระโจมไม้สามขา ท่อนแสก เรียกว่าสะพานเงิน สะพานทอง อีกท่อนหนึ่ง จะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็ก ๆ จำนวนพอประมาณแต่ลงท้ายด้วยเลข 9 เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่กระบอกน้ำ หน่อกล้วย อ้อย ลูกมะพร้าว หม้อเงิน หม้อทอง เทียนถุง เมี้ยง บุหรี่ หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้รวมกันในด้ง บทสวดที่ใช้ในการสืบชะตาแม่น้ำ คือบทสืบชะตาหลวง (อินทชาตา, ชินบัญชร อัฏฐอุณหัสสและธรรมสาลาวิจารสูตร) ซึ่งการสืบชะตาแม่น้ำ ยังเชื่อมโยงกับการบวชป่าหรือบวชต้นไม้ วัฒนธรรมประเพณีกับวิถีชุมชนของคนที่พึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกับป่าไม้ที่กำลังจะเลือนหายไปจากสังคม ด้วยความเชื่อว่าป่าเขาล้วนแต่มีผีปกปักรักษา มิให้ใครมารุกล้ำทำลาย มีพิธีกรรมที่หลากหลายแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่นการเลี้ยงผีขุนน้ำ ผีเจ้าป่าเจ้าเขา ปลูกฝังให้คนต้นน้ำไห้มีจิตใจรักษาป่าและน้ำของเขาไว้ เหมือนพิธีการบวชต้นไม้ หรือบวชป่า ที่มาของการ “บวชป่า” มาจากวิธีการห่มจีวรให้กับต้นไม้เช่นเดียวกับการบวชพระ ส่งผลให้สถานภาพของคนและต้นไม้เปลี่ยนไป นับเป็นการนำความเชื่อทางศาสนามาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ความเชื่อที่ว่าผืนป่าที่ผ่านพิธีบวช เป็นเสมือนดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าผู้ใดก็ไม่อาจเข้าไปทำลายได้ ทำให้ต้นไม้มีโอกาสเติบโต และสายน้ำที่เกิดจากป่าต้นน้ำ ก็จะฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งหนึ่ง



ที่มา/ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
0837373307

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

จิตอาสาแพร่ ร่วมใจจัดทำปุ๋ยมหามงคลตามรอยเท้าพ่อ





     วันนี้( 6พ.ย. 2560) เวลา 09.00 น. ณ สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ จิตอาสา หน่วยงานราชการและประชาชนชาวแพร่ ร่วมกันขนย้ายและคัดแยกดอกเรืองที่ใช้ในประดับตกแต่งภายในจังหวัดแพร่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยกำหนดเป้าหมายปลูกดอกดาวเรือง จำนวน 9,999,999 ดอก หรือ 1,249,999 ต้น ภายใต้แนวคิดความจงรักภักดี “แพร่เหลืองอร่ามงามตาน้อมถวายพ่อหลวง” (PHRAE GOLDEN LAND) โดยน้อมนำหลักแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด จึงนำต้นดาวเรืองที่ใช้ในงานพระราชพิธีดังกล่าว มารวบรวมและจัดทำปุ๋ยดาวเรือง โดยนำดอกดาวเรืองไปจัดเก็บและทำปุ๋ยใน 3 พื้นที่ คือ สถานีพัฒนาที่ดินแพร่จัดทำปุ๋ยไว้ที่สถานีฯ , เทศบาลเมืองแพร่จัดทำปุ๋ยไว้ที่ป่าช้าประตูมาร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ซึ่งเมื่อจักทำปุ๋ยดอกเรืองเรียบร้อยแล้วจะนำไปใส่ต้นไม้สาธารณะของจังหวัดแพร่และแจกจ่ายให้กับประชาชนและเกษตรกรในจังหวัดแพร่ นำไปใช้ในการทำการเกษตรต่อไป

     สำหรับดอกดาวเรือง หรือคำปู้จู้ คำปู้จู้หลวง (พายัพ) เป็นไม้ดอกที่คนไทยนิยมปลูกกันมาก เนื่องจากเมล็ดมีขนาดใหญ่ปลูกง่าย งอกเร็ว ต้นโตเร็ว และแข็งแรงไม่ค่อยมีโรคหรือแมลงรบกวน ให้ดอกเร็ว ดอกดก มีหลายชนิดและหลายสี รูปทรงของดอกสวยงาม สีสันสดใส บานทนนานหลายวัน สามารถปักแจกันได้นาน 1-2 สัปดาห์ ให้ดอกในระยะเวลาสั้น คือ ประมาณ 60-70 วัน หลังปลูก ดังนั้นในการปลูกดาวเรืองสามารถกำหนดระยะเวลาการออกดอกให้ตรงกับเทศกาลสำคัญได้จึงมีผู้นิยมปลูก และใช้ดาวเรืองกันมาก นอกจากนี้ยังสามารถปลูกได้ตลอดปี และปลูกได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่ทำรายได้ให้กับผู้ปลูกสูง ในปัจจุบันการปลูกดาวเรืองนอกจากปลูกเพื่อตัดดอกขายแล้ว ยังนิยมปลูกในกระถางหรือถุงพลาสติก เพื่อประดับตกแต่งอาคารสถานที่ และปลูกเพื่อตัดดอกส่งโรงงานอาหารสัตว์อีกด้วย






ภาพ/ข่าว คมสัน  หน่อคำ
083-7373307





วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เปิดตัวบ้านประทับใจและโมนาลิซ่าล้านนา





     บ้านประทับใจ เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว ชัยวัณณคุปต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 34 ไร่ ในหมู่ที่ 13 ตำบลป่าแมต อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ตัวบ้านมีขนาด 1 ไร่ 3 งาน สร้างมาจากบ้านไม้เรือนเก่า 9 หลังที่ขนมาจากตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เริ่มสร้างในปีพุทธศักราช 2515 ใช้เวลา 6 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์  ตัวบ้านเป็นไม้สักทองทั้งหลัง ใช้เสาไม้สักทอง จำนวน 139 ต้น เป็นฐานค้ำตัวบ้าน มีเสาไม้สักเก่าแก่ ขนาด 2 คนโอบ  ตั้งเด่น เป็นเสาค้ำบ้าน ลวดลายแกะสลัก อันงดงาม บ่งบอกถึง ความสามารถ ความชำนาญ ของช่างฝีมือในอดีต  ภายในบ้านประดับด้วยไม้แกะสลัก ด้วยไม้ลักแผ่นเดียว จำนวน 147 แผ่น มีขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่  ใช้ช่างแกะสลักจากจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ พะเยา เชียงราย ศิลปะลายไทย ที่อ่อนช้อยและงดงามหาชมได้ยากในการแกะสลักงานศิลปะ  
สำหรับบ้านไม้เรือนเก่า 9 หลังที่นำมาสร้างบ้าน ขนย้ายมาจากตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่  เป็นแหล่งกำเนิดของภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง “อี่นายสีเวย” ที่ วัดต้าม่อน ปัจจุบันรูปวาดจริงอยู่ที่หอคำ ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จึงเป็นความผูกพันที่ใกล้ชิดมาตั้งแต่อดีต ของสถาปัตย์กรรม ศิลปกรรม วัฒนธรรม ณ.บ้านประทับใจแห่งนี้แห่งเดียวในประเทศไทย


ด้วยหัวใจ ตะหนัก ประจักษ์จิต             จึงอุทิศ ชีวา มาสร้างสรรค์
ไม้หมดเมือง เมืองหมดไม้ ไปทุกวัน      จะหาทาง ป้องกัน นั้นอย่างไร
เราตรากตรำ ลำบาก ยากยิ่งแท้            จนเปลี่ยนแปร เป็นบ้าน ได้อาศัย
เป็นนุสรณ์ คงอยู่ คู่เมืองไทย                 ดังชื่อบ้าน ประทับใจ ให้กับเรา
สร้างจากบ้าน เรือนเก่า ถึงเก้าหลัง        ใช่เราหวัง ทำลายป่า เช่นใครเขา
หวังเชิดชู คุณค่าไม้ ให้นานเนา             หวังเพียงลูก หลานเรา จะได้ดู
ท่านผู้ชมทำใจให้ประเสริฐ                     อย่าบังเกิดอคติที่อดสู
ท่านอยากดู เราให้ ท่านได้ดู                  แต่จงรู้ เหตุผล คนสร้างเอย

บ้านประทับใจ(บ้านร้อยเสา)






บ้านประทับใจ(บ้านร้อยเสา) 



      บ้านประทับใจ หรือบ้านเสาร้อยต้น เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง สร้างจากไม้เรือนเก่าที่ขนย้ายมาจากตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ จำนวน 9 หลัง เป็นแบบทรงไทยประยุกต์ หลังคาสูงติดต่อกัน 3 หลัง พื้นต่ำจากระดับของบ้าน หลังคามีหน้าจั่วประดับด้วยกาแลซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ บ้านทรงไทย ทางภาคเหนือประตูหน้าบ้านเป็นไม้แผ่นทึบ มีสลักไม้ชั้นในเป็นกลอนประตู หน้าต่างทางซีกขวาของตัวบ้านเป็นไม้แผ่นทึบมีสลักเป็นกลอนหน้าต่างฝากระดานใช้ไม้สักกว้างประมาณ 20-24 นิ้ว เสาบ้านแต่ละเสาฝังลึกลงไปใต้ดินประมาณ 1.2 เมตร แต่ภายหลังเกรงว่าส่วนฝังลงไปในดินจะมีการผุกร่อน เนื่องจากความชื้นของดินและการกัดกินของแมลง จึงได้ขุดดินใต้ถุงให้ลึกลงไปในดินอีกประมาณ 1 เมตร แกะสลักที่โคนเสาและเทปูนลาดพื้นอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

บ้านประทับใจ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2515 โดย คุณพ่อกิจจา ชัยวัณณคุปต์(ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 7 มิถุนายม 2527 ด้วย โรคเบาหวานและหัวใจ) เสาบ้านใช้ไม้สักท่อน ขนาดใหญ่จำนวนทั้งหมด 139 ต้น มีเสาไม้สักเก่าแก่ ขนาด 2 คนโอบ ตั้งเด่น เป็นเสาค้ำบ้าน รวมระยะเวลาก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ เป็นเวลา 6 ปี ใช้เป็นที่พักอาศัยของครอบครัวชัยวัณณคุปต์ ปัจจุบันมีคุณแม่ลำยอง ชัยวัณณคุปต์ เป็นผู้ดูแลและเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม โดยเก็บค่าเข้าชม 40 บาท ซึ่งจะได้รับพวงกุญแจที่ระลึกบ้านประทับใจ จังหวัดแพร่ คนละ 1 ชิ้น ภายในบ้านชั้นล่าง มีอุปกรณ์เครื่องตกแต่งบ้านหลากหลายประเภท เช่น โต๊ะยาวที่ทำจากไม้สักขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียว ชุดรับแขกไม้แกะสลัก แผ่นไม้แกะสลักขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ทำจากไม้สัก ภาพวาดฝาฝนังเรื่องราวในอดีต ไฮไลท์อยู่ที่เสาไม้สักบ้านขนาดใหญ่มีลวดลายแกะสลักลวดลายช้างและป่าไม้ สำหรับชั้นสองของบ้าน เนื่องจากบ้านประทับใจเป็นบ้านที่ทำการเชื่อมต่อบ้านทั้งหมด 9 หลังเข้าด้วยกัน จึงดูเหมือนว่าเป็นบ้านหลังเดียวขนาดใหญ่ บนตัวบ้านสามารถเดินถึงกันได้ กลางบ้านเป็นชานมะปรางอันเป็นชานนั่งเล่นใต้ร่มต้นมะปราง ด้านหลังมีชานตะวันสำหรับนั่งรับแสงแดดในตอนเช้า มีห้องพักจำนวน 5 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องตกแต่งด้วยโต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้ ม้านั่ง แคร่ และเครื่องประดับบ้านอื่นๆทั้งหมดทำจากไม้สัก ไม้สักที่ใช้ก่อสร้างบ้านเป็นไม้ที่เหลือจากการทำสัมปทานไม้ของบริษัทอิสต์ เอเชียติค จำกัด ซึ่งเคยเข้ามารับทำสัมปทานไม้สักในเมืองแพร่ในอดีต


ที่มา:สำนักงานจังหวัดแพร่,สำนักงาน ททท.แพร่
เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
083-7373307


น้ำจ้อม บ้านน้อยในป่าใหญ่สวรรค์แห่งธรรมชาติ ตอนที่ 2





















         เมื่อเข้าสู่หมู่บ้านน้ำจ้อมแล้วก็จะพบกับบรรดาชาวบ้านที่กำลังแบกจอบเสียบออกจากป่ากลับเข้าบ้าน ก้มมองดูเวลาก็พึ่งจะบ่ายสามโมงครึ่งเอง แต่บรรยากาศเหมือนราวจะห้าโมงแล้ว เนื่องด้วยฝนตกและความเขียวขจีของป่าทำใหเวลาเหมือนเดินเร็วกว่าภายในเมือง จึงต้องรีบทำตามจุดประสงค์ที่มาวันนี้คือ ทำข่าวเรื่อง ส้มโอมีกลิ่นคล้ายมะพร้าวและใบเตย และด้วยความมั่นใจจึงรีบมุ่งหน้าไปยังศูนย์กลางของข้อมูลหมู่บ้านนั้นก็คือ เซเว่นประจำหมู่บ้าน หรือร้านขายของชำนั้นเอง ซึ่งก็จะเป็นที่รู้กันในการทำข่าวในที่ต่างๆว่าทุกร้านของชำจะมีกูรู ศิษย์กูลเกิ้ล นั่งประจำพร้อมให้สอบถามเรื่องราวต่างๆความเคลื่อนไหวของหมู่บ้านอย่างถูกต้องกว่าโพลสำนักใดๆ เมื่อได้ข้อมูลจึงรีบไปยังบ้านของลุงวิรุณ ฝั่นเฟือน เจ้าของต้นส้มโอ แต่ก็ไม่เจอพบแต่หลานชายกับภรรยาที่มาอยู่เฝ้าให้ สอบถามข้อมูลก็รู้ว่าลุงวิรุณย้ายไปทำงานที่วัดช่อแฮและอาศัยอยู่ที่วัด จึงขออนุญาตให้หลานชายลุงวิรุณพาไปเก็บภาพต้นส้มโอ ด้วยความใจดีจึงรีบพากันเดินไปยังสวนหลังบ้านที่สายฝนพึ่งหยุดโปรยปรายเมื่อไม่นานมานี้ มุดซุ้มกอไม้ ปีนขึ้นเขาไปหน่อยก็ถึงแล้วนี้คือเสียงบอกทาง เมื่อมาถึงยังต้นส้มโอ ไม่เพียงนำมาถ่ายภาพเท่านั้นเค้ายังสอยส้มโอกลิ่นมะพร้าวใบเตยให้ลงมาให้ชิมถึงสองลูก คุยกันไปกันมามองดูรอบๆบรรยากาศช่างร่มรื่นเขียวไปหมด ก็อดไม่ได้ที่จะยกกล้องที่ห้อยติดคอมากดชัตเตอร์เก็บภาพบรรยากาศไว้เสียหลายรูป ก่อนกลับลงมายังใต้ถุนบ้าน จำได้ว่าต้องผ่านซุ้มไม้เลือย ขาเข้ามามองไม่เห็นผลไม้สีเขียวๆแดงๆที่ห้อยเต็มพุ่มมันคือกระทกรก หรือเสาวรสนั้นเอง ไม่รอช้าหามุมสวยๆกดชัตเตอร์รัวๆไปอีกหลายภาพ สักพักก็ได้ยินเสียงเรียกให้ออกมาจากสวนก็ผละจากออกมาแบบเสียดาย แต่เมื่อออกมาแล้วก็ไม่ผิดหวัง สาวๆนักข่าวเสียงแพร่ที่ล่วงมาก่อนแล้วจัดแจ้งปลอกส้มโอพิสูจน์กันว่ามันหอมดังที่เค้าเล่าลือกันหรือเปล่าที่ใต้ถุนบ้านกันเลย เมื่อได้ชิมแล้วขอรับรองว่าเป็นจริงสมคำเล่าลือ แถมเจ้าของบ้านยังเอาเสาวรสมาให้ชิมอีกคนละหลายลูก ชิมกันไปพูดกันไป แฟนของหลานลุงวิรุณก็กลับออกมาจากป่า ถือขวดน้ำพลาสติกขนาด 1.25 ลิตร ที่เต็มไปด้วยจี้กุ่งมาถึง 3 ขวด เมื่อมาถึงก็จัดการนำน้ำใส่กาละมังแล้วเทจิ้งกุ่งออกมาล้างดินโคลน และหักขาเพื่อป้องกันมันกระโดดหนีใส่ในอีกกาละมัง เมื่อล้างจึ้งกุ่งเสร็จก็นำกระบอกไม้ไผ่ที่มีลักษณะด้านหนึ่งตัน ส่วนอีกด้านเป็นปลายแหลมเฉียง 45 องศ่า มีรูเสียบไม้ไผ่แบนขนาดยาว 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 70-80 เซนติเมตร ครั้งนี้นำเอาถังขนาดใหญ่ออกมาเตรียมไว้แล้วจึงดึงสลักไม้ออกแล้วคว่ำทางปากท่อนไม้ไผ่ลงในถัง ก็มีปูสีดำขนาดเท่าผ่ามือเด็กไหลลงมาในถังตัวแล้วตัวเล่า จนตัวสุดท้ายออกมานับได้แปดตัว ไม่รอช้าจับกล้องขึ้นมาถ่ายภาพเช่นเดิม แน่นอนเมื่อเจอทั้งจิ้งกุ่งและปูก่ำที่จับมาสดๆแบบนี้ก็ต้องเจรจาถามซื้อ เพื่อนำไปทำเมนูอร่อยๆสิครับ ซึ่งการเจรจาการค้าครั้งนี้สำเร็จเพียงครึ่งเดียวคือ ซื้อปูมาได้แปดตัวในราคา 70 บาท ส่วนจิ้งกุ้งนั้นไม่ขายเนื่องจากจะเก็บไว้ทำกับข้าวกินเอง ไม่เป็นไรไม่ว่ากัน แต่ได้ซื้อเสาวรสมาอีกสองถุง ระหว่างบรรจุปูลงกระบอก ก็มีเวลาเดินเล่นแถวบริเวณรอบๆพบต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีดอกสีแดงสดมีขนทั่วทั้งดอก เวลาแก่แล้วจะมีสีน้ำตาล สอบถามว่าคือต้นอะไร ได้คำตอบมาว่า ชื่อต้นคำแสด นิยมเอาเมล็ดจากดอกที่แก่จัดไปย้อมผ้าให้เป็นสีแดงฉาด โดยเฉพาะเมื่อนำไปย้อมจีวรพระสีจะติดแน่นทนนาน แถมยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย ดอก ช่วยในการบำรุงโลหิตและน้ำเหลืองให้เป็นปกติ ช่วยบำรุงหัวใจ ,เมล็ด ช่วยแก้ลม หรือโรคผิวหนังต่างๆ,รก (เนื้อหุ้มเมล็ด) ช่วยให้ระบายท้อง ให้รสหวานร้อนน้ำมันจากเมล็ด ใช้ทาแก้โรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาต หรือแก้ขัดตามข้อ ให้รสร้อน ฯลฯ ช่างเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์มากเสียจริงๆและที่สำคัญหาได้ยากมากอีกด้วย เผลอแปบเดียวเวลาช่างเดินเร็วเหลือเกินเกือบจะห้าโมงครึ่งแล้ว จำต้องรีบลาเจ้าของบ้านเพื่อออกมาสัมภาษณ์ลุงวิรุณเจ้าผู้ปลูกและเจ้าของส้มโอกลิ่นมะพร้าวใบเตยต่อยังวัดพระธาตุช่อแฮ แน่นอนการได้ของติดไม้ติดมือมาแบบเต็มหลังรถ ทริปนี้สนุก สัมผัสธรรมชาติที่ห่างหายมานาน ทำให้รู้ว่า “น้ำจ้อม ไม่ใช่ชุมทางของนักเดินทางอีกต่อไป แต่คือ ชุมทางของธรรมชาติกับมุนษย์”

     สำหรับส้มโอกลิ่นมะพร้าวนั้น ขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่ออายุประมาณ 5-6 ปี ก็ออกลูกโดยออกลูกดก ปีละประมาณ 100 กว่าลูกต่อปี เนื่องจากลูกดกจึงแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านกิน เมื่อได้กินแล้วเพื่อนบ้านก็บอกว่ามีกลิ่นคล้ายมะพร้าวและใบเตย ทำให้เป็นข่าวแพร่ออกไป ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่เกษตรติดต่อมาว่าจะเข้ามาศึกษาและขยายพันธุ์ต่อไป โดยจะตั้งชื่อว่า “ส้มโอวิรุณ” ตามชื่อเจ้าของ   



คมสัน  หน่อคำ เขียน
083-7373307