วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

ต้องเดินถึงจะแพร่ : Must walk to reach Phrae

ขอบคุณภาพบรรยากาศสวยๆในเมืองแพร่จาก thetravelerz

     วันนี้จังหวัดแพร่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก โดยส่วนมากจะมาเที่ยวแบบทัวร์คือนั่งรถโดยสารมากันเป็นหมู่คณะ แวะเที่ยวตามจุดต่างๆ แต่ความจริงแล้วการที่จะเที่ยวเมืองแพร่แล้วให้เข้าถึงความเป็น “เมืองแป้ แท้จริงแล้วมีมากมายหลายวิธี อย่างเช่น รถรางที่สามารถให้บริการนำนักท่องเที่ยวชมเมืองและแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองเก่า ที่สามารถให้บริการเป็นหมู่คณะ ครั้งละ 20-30 คนต่อคัน ใช้เวลาประมาณครึ่งวันก็สามารถเที่ยวได้เกือบทั่ว แต่ถ้าหากมากันเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 6-7 คน ก็ต้องเที่ยวในสไตล์ “นั่งสามล้อผ่อเมืองแป้” โดยมีนักปั่นน่องเหล็กคอยให้บริการปั่นให้นั่งชมเมืองได้เช่นกัน และถ้าอยากจะออกกำลังด้วยขาของตนเองก็สามารถหาเช่ายืมจักรยานถือแผนที่ปั่นเที่ยวเองก็ได้เช่นกัน ซึ่งการเที่ยวแบบนี้ก็มีเสน่ห์ตรงที่สามารถไปไหนก็ได้ด้วยตัวเอง แต่หากคุณต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองแพร่แท้จริงแล้วก็ต้องเที่ยวด้วยสองขาแบบเดิน สไตล์แบ็คแพ็คสะพายเป้ เดินถือแผนที่เที่ยว คุณจะได้พบกับสิ่งใหม่ๆ ถนนสายใหม่ที่ไม่รู้จัก สังคมใหม่ ผู้คนหลากหลาย สัมผัสวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ ที่คุณจะประสบด้วยตัวคุณเอง แท้จริงแล้วเมืองแพร่มีอะไรมากว่าที่คุณเห็นจากหน้าในกระดาษแนะนำการท่องเที่ยว เพียงใช้สองขาออกก้าวเดิน พูดคุย ทักทาย และการสื่อสารที่ดี ง่ายที่สุดในโลกคือรอยยิ้ม ยกตัวอย่างเช่น ชาวต่างชาติเดินเข้ามาถามเส้นทาง ลุง ป้า น้า อา พี่หนาน ก็สามารถบอกทางได้หมด ยิ้มบ้าง ชี้มือ ชี้ไม้บ้าง อู้เมียงผสมฝาหรั่ง เกิดเป็นสำเนียงใหม่แบบ (Language city) เพียงรู้ภาษาอังกฤษเล็กน้อยไม่ว่าจะเลี้ยวซ้าย (turn left) เลี้ยวขวา (Turn right) หรือ ตรงไป (go straight) เลยทำให้ทุกวันนี้เกิดธุรกิจโฮมสเตย์มากมาย ทำให้สามารถเดินเที่ยวได้ สามารถพบเจอกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ที่ยังดำรงคงเดิมกับสายกาลเวลาที่ไหลผ่านเรื่องราวที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น ยามเช้าเพียงคุณตื่นมาก็สามารถเดินไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาด (กาดหมั๊ว) หรือเดินชิลๆ รับละอองไอหมอก ก็จะพบเห็นผู้คนออกมายืนรอพระเพื่อใส่บาตรที่หน้าบ้าน ฟังเสียงพระสวดเป็นจังหวะ ช่างเป็นบุญที่อิ่มใจ สำหรับผู้ใส่บาตรและผู้พบเห็นเหลือเกิน บางเทศกาลคุณอาจจะได้พบกับเสียงสวดภาษาคำเมืองที่ดังลอดรั้วจากพ่ออาจารย์ที่ท่องสวดบูชาท้าวทั้งสี่ (เทพารักษ์ผู้เฝ้าดูแลรักษาชีวิต ป้องกันภัยต่างๆ มิให้กล้ำกรายผู้คนที่อยู่อาศัยในบ้านที่ชาวล้านนานับถือ) สาวท้าวก้าวเดินต่อไป ชีวิตยามเช้าเริ่มเปลี่ยนเป็นการสัญจรเพื่อทำกิจวัตรประจำวันของแต่ละคน เด็กๆ ไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ ผู้ใหญ่รีบไปทำงาน แม่ค้าขนมจีนเริ่มต้มน้ำซุปกระดูกยิ่งใกล้ยิ่งได้กลิ่นหอม โดยเฉพาะกระเทียมเจียวกากหมูที่กระตุ้นต่อมหิวจนเดินต่อไปไม่ไหวต้องแวะจอดพักขาเติมพลังกับขนมจีนน้ำใสอาหารเอกลักษณ์ของเมืองแพร่ อาจจะเช้าไปแม่ค้ายังเตรียมขายไม่เสร็จแต่ก็สามารถนั่งพูดคุยหิ้วท้องรอกันไป ชมวิธีทำขนมจีนและจีบแม่ค้าถึงเคล็ดลับความอร่อยที่เมื่อได้กินขนมจีนเมืองแพร่แล้วจะไม่มีวันลืม เมื่อบรรจุท้องก็พาสองขาเดินเที่ยวต่อไปเพราะ “ต้องเดินถึงจะแพร่ : Must walk to reach Phrae”
เขียนโดย คมสัน  หน่อคำ
083-7373307

วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

กว่าง นักสู้แห่งพื้นดินสู่ฟากฟ้า



     ปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนกันยายนของทุกปีหลังฝนสุดท้ายของปี จะมีหนอนที่อาศัยหากินใต้พื้นดินเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งปีกลายเป็นดักแด้ฟักตัวและลอกคราบโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน กลายเป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ที่ทีลักษณะแตกต่างจากแมลงปีกแข็งอื่นๆ คือ ตัวผู้จะมีขนาดที่ใหญ่ แลดูบึกบึน มีปีกเป็นเปลือกแข็งหุ้มลำตัวด้านบนที่นูนอยู่เหมือนสวมชุดเกราะ มีสีดำคล้ำหรือน้ำตาลเข้มที่เงางาม ขณะที่บางชนิดอาจมีสีอ่อนกว่าหรือแม้กระทั่งสีทองก็มี มีจุดเด่นที่เห็นได้ชัด คือ มีอวัยวะบริเวณส่วนหัวที่งอกยาวออกมาคล้ายเขาอยู่ด้านบนและด้านล่างของส่วนหัว จำนวนอย่างน้อย 1 คู่ บางชนิดมีจำนวนเขาและลักษณะสั้น-ยาวแตกต่างกันออกไป ส่วนตัวเมียจะไม่มีเขา ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะใช้เขาต่อสู้กันเพื่อแย่งผสมพันธุ์ ทำให้เกิดการดักจับกว่างมาชนกันเป็นการละเล่นแบบหนึ่งของล้านนาที่เด็กเล็ก เด็กโตหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เมื่อถึงฤดูหนาวต้องนำอ้อยขนาดประมาณท่อนแขนมาปอกเปลือกสักครึ่งท่อนแล้วนำมาแขวนบริเวณชานบ้านหรือใต้ต้นไม้ในตอนกลางคืน เมื่อกว่างปีกออกหากินก็จะได้กลิ่นไอหอมของน้ำตาลจากอ้อยก็จะมาเกาะท่อนอ้อยที่แขวนดักไว้ ทำให้เด็กๆจะตื่นเช้าเป็นพิเศษเพื่อมาลุ้นว่าจะมีกว่างมาติดหรือไม่??? หากโชคดีก็จะมีกว่างเกาะมากินน้ำหวาน โดยกว่างตัวผู้จะมีขนาด 2-3 นิ้ว(นิ้วมือ)มีสีน้ำตาลแดงคล้ายๆเปลือกมังคุด เขาบนยาวกว่าเขาล่างเรียงเป็นแนวตั้งกับพื้น เรียกว่า “กว่างโซ้ง” กว่างชนิดนี้มักจะส่งเสียง "ซี่ ๆ" ตลอดเวลา และกว่างแซม มีลักษณะคล้ายกับกว่างโซ้ง แต่ตัวเล็กกว่าเล็กน้อย เขาสั้นและเรียวเล็ก กว่างชนิดนี้เลี้ยงไว้เป็นคู่ซ้อมหรือให้เด็กๆเล่นกัน กว่างกิ เป็น กว่างตัวผู้ที่มีเขาข้างบนสั้น(กิแปลว่าสั้น) เขาบนจะออกจากหัวออกมานิดเดียว กว่างกิจะต่อสู้หรือชนกันโดยใช้เขาล่างงัดกัน แต่ไม่สามารถใช้เขาหนีบคู่ต่อสู้ได้ จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นกว่างชน ส่วนกว่างตัวเมียจะตัวเล็กกว่ามากสีดำสนิทไม่มีเขา เรียกว่า “กว่างอีลุ่ม” เด็กๆส่วนใหญ่จะจับเฉพาะตัวผู้ไว้โดยจะนำไม้ไผ่มาเหลาด้านหนึ่งเสียบกับอ้อยและอีกปลายด้านหนึ่งเหลาให้แบนๆสามารถโค้งงอได้ผูกกับเชือกหรือด้าย ซึ่งอีกปลายหนึ่งจะมัดไว้ที่เขาของกว่างป้องกันไม่ให้กว่างบินหนีไป สำหรับตัวเมียก็จะปล่อยไป แต่ต้องป้องกันไม่ให้ผสมกับตัวผู้ที่เลี้ยงไว้ เชื่อว่ากว่างตัวผู้หากได้ผสมพันธุ์หรือหื่นแล้วจะไม่ดุ หรือเวลานำไปชนจะไม่มีแรง สำหรับกรรมวิธีชนกว่างนั้น จะนำท่อนไม้หรือวัสดุที่กว่างเกาะได้ยาวพอประมาณ นำกว่างตัวผู้วางไว้ด้านละตัว ตรงกลางของท่อนไม้จะเจาะเป็นหลุมสี่เหลี่ยมขนาดให้กว่างตัวเมียลงไปอยู่ กว่างตัวผู้จะถูกกระตุ้นด้วยกลิ่นของตัวเมีย จากนั้นก็จะนำไม้ปั่นคอยเขี่ยด้านข้างลำตัวบริเวณปีกทั้งสองข้างให้กว่างวิ่งเข้าหาและชนกัน เสียงไม้ปั่น ริ่งๆๆเป็นจังหวะๆผนวกเสียงเชียร์ เสียงลุ้นเป็นความสุขสนุกสนานอีกแบบที่หากได้แล้วจะไม่มีวันลืม และที่สำคัญหลังจากนำกว่างมาชนหรือเลี้ยงได้สักระยะหนึ่งก็จะต้องปล่อยกว่าคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้กว่างได้สืบเผ่าพันธุ์เกิดลูกเกิดหลาน ฝังไข่ในพื้นดินและฟักตัวเป็นเวลาหนึ่งปีเติบโตเป็น “กว่าง นักสู้แห่งพื้นดินสู่ฟากฟ้า” แมลงปีกแข็งแห่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า


ที่มาข้อมูล วิกิพีเดีย ขอบคุณภาพจาก Google
เขียนโดย คมสัน  หน่อคำ 083-7373307

พิพิธภัณฑ์ ร้านถ่ายรูปฉลองศิลป์ 2499 อำเภอลอง จ.แพร่



     รูปถ่าย หรือ ภาพถ่าย เป็นการบันทึกเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ ผ่านเลนส์กล้องโดยช่างภาพ ที่สามารถใช้บอกกล่าวเล่าเรื่องราวจากมุมมองของช่างภาพที่ต้องการสื่อความหมายของสิ่งที่อยู่ในภาพถ่าย นายฉลอง พานิชพันธ์ เป็นตากล้องคนหนึ่งที่มีมุมมองที่แตกต่างหลากหลายจากช่างภาพผู้อื่นในยุดสมัยที่เมืองลองยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ที่ต้องถ่ายภาพโดยแสงจากธรรมชาติ และส่วนใหญ่เป็นการถ่ายรูปนอกสถานที่ทั้งสิ้น อย่างเช่น งานบวช งานศพ รูปหมู่ครอบครัว งานประเพณีในท้องถิ่นต่างๆ รูปบุคคลสำหรับติดโชว์และเก็บไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งในยุคปี 2499 กล้องถ่ายรูปยังเป็นกล้องไม้สามขาและฟิล์มกระจกแผ่น ทำให้ภาพถ่ายที่ได้เป็นภาพขาวดำ ร้านถ่ายรูปฉลองศิลป์ 2499 เป็นร้านรับถ่ายภาพเพียงร้านเดียวในอำเภอลอง ที่เปิดให้บริการอยู่ใจกลางตลาดห้วยอ้อ ทำให้มีโอกาสเก็บบันทึกเหตุการณ์เรื่องราวในอำเภอลองและจังหวัดแพร่ ตั้งแต่สมัยปี พ.ศ. 2499 ไว้เป็นจำนวนมาก และด้วยความรักในผลงานภาพถ่ายของช่างภาพฉลอง ที่เก็บรักษารูปภาพต่างๆด้วยความพิถีพิถันเป็นอย่างดี ทำให้รูปภาพและฟิล์มอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ หนึ่งในทายาททางสายเลือดและทางอาชีพช่างภาพ อยากจะนำผลงานของช่างภาพฉลองมาจัดแสดง จึงปรับปรุงร้านถ่ายรูปของคุณพ่อเป็นพิพิธภัณฑ์ 
อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ร้านถ่ายรูปฉลองศิลป์ 2499 และพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ซึ่งเป็นบุตรของนายฉลอง พานิชพันธ์ เล่าให้ฟังว่า ร้านถ่ายรูปฉลองศิลป์เป็นกิจการของที่บ้านที่ย้ายจากจังหวัดลำปางมาเปิดบริการที่ตลาดบ้านปินและห้วยอ้อ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 และประมาณปี พ.ศ.2545 ตลาดร้านถ่ายรูปเริ่มเข้าสู่ยุคมืด ด้วยเทคโนโลยีกล้องดิจิตอล ทำให้ใครๆก็ถ่ายรูปได้ ทำให้ยี่ห้อเดิมของร้านถ่ายรูป “ฉลองลำปาง,ฉลองถ่ายรูป,ฉลองศิลป์”กำลังหายไปการเป็นร้านถ่ายรูปแบบดั้งเดิม ด้วยความเสียดายในผลงานของคุณพ่อ จึงมีความคิดเปลี่ยนมาเป็น “พิพิธภัณฑ์ร้านรูปฉลองศิลป์” เพื่อจะจัดแสดงภาพถ่ายและผลงานต่างๆของคุณพ่อ ภาพนางสาวลำปางย้อนยุคสุดแสนจะคลาสิคที่ได้รับบริจาคจากห้องภาพแสงศิลป์ลำปาง ศิลปะสะสมของกุ๊ฟสตาฟคลิม ศิลปินชื่อดังของโลก รวมถึงอุปกรณ์กล้องถ่ายรูปในอดีต กล้องถ่ายรูปไม้สามขา ฟิล์มแผ่นกระจก ฟิล์มแผ่นพลาสติกและฟิล์มม้วน ที่ลักษณะของรูปถ่ายเป็นรูปขาว-ดำ การอัดขยายจะต้องใช้ห้องมืดและแสงแดดในการอัดขยายหรือใช้ตะเกียงในการให้แสงและสินค้าโบราณจากต่างประเทศที่หายากจากร้าน “นิวส์สตาร์สโตร์” กิจการของครอบครัวพานิชพันธ์ที่อยู่ในจังหวัดลำปางมาจัดแสดง ซึ่งในอดีต หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัยดำรงตำแหน่งผู้จัดการไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง เป็นลูกค้าประจำและสั่งสินค้าเป็นประจำ โดยภายในพิพิธภัณฑ์ร้านถ่ายรูปฉลองศิลป์ 2499 จะคงสภาพร้านถ่ายรูปสมัยยุคแรกเริ่ม
      สำหรับผลงานภาพถ่ายของร้านฉลองศิลป์ที่ได้ทำการถ่ายไว้มีจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นรูป เช่น รูปถ่ายสถานโบราณในท้องถิ่น,รูปถ่ายวิถีชีวิต-ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น,ประเพณีต่างๆ,รูปภาพสถาปัตย์กรรมต่างๆ จะได้นำมาจัดสลับหมุนเวียนแสดง และที่คุณฉลองและครอบครัวภูมิใจมากที่สุดคือ ภาพบันทึกการเสด็จเยี่ยมราษฎร์ ณ จังหวัดแพร่ เป็นครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์สมเด็จพระราชินีนาถ เมื่อวันที่ 14-16 พ.ศ. 2501 หายากจำนวนกว่า 50 ภาพ ซึ่งปัจจุบัน(กันยายน 2557)ได้จัดแสดงที่คุ้มเจ้าหลวงจังหวัดแพร่ ให้ทุกท่านได้ชมก่อนพิพิธภัณฑ์จะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2557 นี้ และผู้ใดสนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ร้านถ่ายรูปฉลองศิลป์ 2499 และพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ติดต่อได้ที่ อาจารย์โกมล ที่ 081 807 9960/

























ขอบคุณภาพจาก น้องดอยตากล้องสายแว้น ทริปนี้มีพี่เอนก สมัยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายข่าว สวท.แพร่ ตอนนี้ พ.ศ.2560 เป็น ผอ.สวท.แม่สะเรียง ไปแล้ว กับพี่รุทธ์ นักข่าวผู้มากประสบการณ์ มาร่วมทำข่าวและคอลัมภ์ร่วมกัน  ทริปนี้ทั้งสนุกและได้ความรู้ มุมมองใหม่ๆมากมาย 


เขียนโดย คมสัน   หน่อคำ 083-7373307 
  

2560 ย้อนรอยรำลึก 22 ปี น้ำท่วมแพร่

ขอบคุณภาพจากเฟดบุ๊ครำลึกน้ำท่วมแพร่ปี 2538 และ ร้านนุ้ย 365 (ประตูชัย)

     ราวเดือนสิงหาคมปีพุทธศักราช 2538 ประเทศไทย ต้องรับมือจากการพัดกระหน่ำจากพายุหลายลูกติดต่อกัน ทำให้เกิดในตกหนักอย่างต่อเนื่องหลายวัน แม่น้ำยมเต็มไปด้วยน้ำจากลำน้ำสาขาและน้ำฝน อ่างเก็บน้ำและฝายต่างๆมีปริมาณที่เกินกว่าจะกักเก็บไว้ได้จึงจำเป็นต้องปล่อยระบายออกเพื่อป้องกันการแตกหรือพัง ทำให้น้ำจากแม่น้ำยมไหลเข้าท่วมจังหวัดแพร่ในราววันที่ 30-31 สิงหาคม โดยแม่น้ำยมล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่ติดกับแม่น้ำ และค่อยๆลามกินบริเวณกว้างขึ้นเรื่อยๆ หลายหมู่บ้านถูกล้อมรอบไปด้วยน้ำ สะพานข้ามแม่น้ำหลายแห่งถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถใช้สัญจรได้ ทำให้หลายพื้นที่ระดับน้ำสูงถึงหลังคาบ้าน ทำให้ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องสั่งอพยพและห้ามอยู่ในบริเวณที่ท่วม เช่น หมู่บ้านเชตะวัน ทางเทศบาลเมืองแพร่ได้นำเต้นฑ์มากางให้ประชาชนมาพักชั่วคราวบนบนกำแพงเมืองประตูมาร ด้วยสถานการณ์ในขณะนั้นพายุฝนยังเทลงมาอย่างไม่ขาดสายจึงมีข่าวลือต่างๆนานาว่ามีอ่างเก็บน้ำแตก ชาวบ้านจึงวิตกตลอดเวลา สถานนีวิทยุ สวท.แพร่ 91 Mhz เป็นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญในการแจ้งข่าวและเฝ้าระวังระดับน้ำ และในวันที่ 1-2 กันยายน พ.ศ. 2538 น้ำเริ่มทะลักเข้าสู่อำเภอเมืองแพร่จากการพังของกำแพงเมืองแพร่ทางด้านวัดศรีชุม ด้วยลักษณะทางกายภาพของตัวอำเภอเมืองแพร่ที่เป็นแอ่ง ทำให้ตัวอำเภอเมืองแพร่ในเวลานั้นกลายเป็นเมืองบาดาลเพียงช่วงเวลาข้ามคืน ซึ่งแม้แต่ประตูชัยที่ถือว่าเป็นเนินสูงระดับน้ำยังสูงถึงระดับเอว ย่านเศรษฐกิจถนนเจริญเมืองเสียหายทั้งหมด ข้าวของเครื่องใช้และรถยนต์จำนวนมากจมอยู่ใต้น้ำ ผู้คนต่างตกอยู่ในสภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมเหมือนๆกันหมด ข้าวปลาอาหารขาดแคลน เนื่องจากตัวอำเภอเมืองถูกตัดขาดจากรอบนอก น้ำท่วมขังเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน เมืองแพร่ก็เต็มไปด้วยโคลนและขยะจำนวนมหาศาล ซึ่งกว่าสถานการณ์ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติก็กินเวลานาน ถือได้ว่าน้ำท่วมในครั้งนั้นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดแพร่ที่หลายคนยังจดจำความปวดร้าวกับมหาอุทกภัยน้ำท่วม





























ขอบคุณภาพจากเฟดบุ๊ครำลึกน้ำท่วมแพร่ปี 2538 และ ร้านนุ้ย 365 (ประตูชัย)

คมสัน  หน่อคำ
เขียนและเรียบเรียง