วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2561

ดำหัว ปี๋ใหม่

   
     “ ดำหัว ”หมายถึง การสระผมของคนเหนือ มีใช้ในหลายกรณี เช่น การสระผมตามปกติ การดำหัวโดยเอาน้ำส้มป่อยลูบศีรษะเพื่อไล่เสนียดจัญไร การดำหัวในวันปี๋ใหม่เมือง
ประเพณีดำหัวในวันปี๋ใหม่เมือง กำหนดให้มีขึ้นกลางเดือน 7 เหนือ ซึ่งอยู่ใน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดย
      วันที่ 12 เมษายน ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนครั้งใหญ่ในรอบปี
      วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “ วันสังขารล่อง ” มีการจุดสะโป้ก เพื่อไล่สังขารหรืออายุ และ เผาขยะในตอนเช้ามืด นำเครื่องนอน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน มาทำความสะอาด ตากแดด เพื่อรับปีใหม่
      วันที่ 14 เมษายน คือวันเนาว์ หรือวันเน่า วันนี้ ห้ามกล่าวผรุสวาจา กล่าวร้าย ป้ายสี ด่าทอกัน จะทำให้ปากเน่าเหม็น ชีวิตหมองมัวอับศรี และห้ามสระผม ตกบ่าย จะมีการขนทรายมาก่อเป็นเจดีย์ทรายในวัด ตอนเย็นจะมีการเตรียมอาหารคาวหวานและขนม ส่วนใหญ่นิยมทำขนมเทียน สำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น
     วันที่ 15 เมษายน เป็นวันพญาวัน วันสำคัญที่สุด ตอนเช้าจะมีการนำอาหารคาวหวานที่เตรียมไว้ไปถวายพระ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว และมีการทำบุญตักบาตร ถวายเจดีย์ทราย
      ประเพณีดำหัว จะเริ่มในช่วงสายของวันพญาวันหลังจากกลับจากทำบุญที่วัดแล้ว ชาวบ้านจะนำน้ำอบ น้ำหอม น้ำขมิ้น ส้มป่อย ดอกไม้ ธูปเทียน และสิ่งของ เป็นต้นว่า เสื้อผ้า ผ้านุ่ง ผ้าขาวม้าฯ เพื่อขอขมาผู้เป็น ปู่ ตา ย่า ยาย บิดา มารดา หรือแม้แต่อัฐิหรือรูปของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไป โดยผู้อาวุโสจะรับ และกล่าวอโหสิกรรม พร้อมทั้งให้พรแก่ลูกหลานหรือผู้ที่ไปร่วมด้วยถ้อยคำที่เรียบเรียงไว้อย่างสละสลวย มีคำคล้องจอง ที่ง่ายต่อการจำ (ปอนปี๋ใหม่) เมื่อท่านกล่าวจบแล้ว ก็จะนำน้ำอบน้ำหอม น้ำส้มป่อย ลูบศีรษะ ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีดำหัว
      เมื่อเสร็จการดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวแล้ว ก็จะยกขบวนกันไปดำหัวตามบ้านญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เคารพนับถือคนอื่น ๆ ต่อไป จะมีการเล่นสาดน้ำกันทั้งวัน ทุกคนจะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม สรวลเสเฮฮา ร้องรำ ทำเพลง ซึ่งมักใช้ดนตรีพื้นบ้านประเภทกลองสิ้งม้อง หรือสะล้อซอซึง ตามถนัด บรรเลงไปด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน อบอุ่น เปี่ยมล้นด้วยความรัก ความมีไมตรีต่อกัน ประเพณีดำหัวของชาวแพร่เป็นประเพณีปฎิบัติสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านจิตใจ คุณธรรมที่แฝงอยู่ในประเพณีดำหัวคือ ความกตัญญูกตเวที ต่อ บิดา มารดา และบุพการี ตลอดจนผู้มีอุปการคุณ การให้ทาน การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การให้อภัยซึ่งกันและกัน การแสดงความปรารถนาดีต่อกัน การสร้างความรัก ความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ควรคู่กับการปฎิบัติสืบต่อไป....

 ที่มา....ศูนย์วัฒนธรรมล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่/ขอบคุณภาพจาก Google
เขียนเรียบเรียง คมสัน  หน่อคำ 083-7373307














x

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น