วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

100 ปี สักพันธุ์ดี ศรีเวียงโกศัย




          ในวันที่ 19-20 มีนาคม 2561  ที่สวนป่าแม่เมาะ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เขตลำปาง จังหวัดลำปาง  นำโดยนายอุบลศักดิ์  ขีดสร้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่ พร้อมด้วยบุคลากร และนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนแพร่  เข้าศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ภายใต้กิจกรรม สนับสนุน การเรียนรู้ทรัพยากร 100 ปี สักพันธุ์ดี ศรีเวียงโกศัย โครงการส่งเสริมและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแพร่  ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดโครงการจากจังหวัดแพร่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้แก่นักศึกษา บุคลากรในระดับอุดมศึกษา และเครือข่ายด้านการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนแพร่ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้แก่ผู้ประกอบอาชีพ           ไม้สักในจังหวัดแพร่
           
ที่มา งานประสาสัมพันธ์วิทยาลัยชุมชนจังหวัดแพร่

เทศบาลเมืองแพร่จัดโครงการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อฟื้นฟูความรู้และแนวทางปฏิบัติงานการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค




เทศบาลเมืองแพร่จัดโครงการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ในวันที่ 22 มีนาคม 2561 เวลา 08.30 – 14.30 น. ณ. ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองแพร่ ชั้น 3 เพื่อฟื้นฟูความรู้และแนวทางปฏิบัติงานการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกแก่แกนนำสุขภาพในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ทั้ง 18 ชุมชน

งานประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองแพร่ รายงานว่า โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกพื้นที่ จากสถานการณ์การเกิดโรคของประเทศไทย ที่ผ่านมาพบมีการระบาดปีเว้นปี จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักงานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ใน 2558 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 98 ราย ทางเทศบาลเมืองแพร่ได้ดำเนินกิจกรรมป้องกันและควบคุมโรคต่อเนื่องมาโดยตลอด จนปี 2560 จำนวนผู้ป่วยได้ลดลง เหลือเพียง 8 ราย เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องเทศบาลเมืองแพร่ได้จัดโครงการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ในวันที่ 22 มีนาคม 2561              เวลา 08.30 – 14.30 น. ณ. ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองแพร่ ชั้น 3 เพื่อฟื้นฟูความรู้และแนวทางปฏิบัติงานการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกแก่แกนนำสุขภาพในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ทั้ง 18 ชุมชน






วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2561

เอื้องผึ้งจันผา ดอกไม้โศกนาฎกรรมแห่งความรัก



       ชาวล้านนามีตำนานเล่าขานว่ามีหนุ่มสาวคู่รักคู่หนึ่งรักกันมาก หญิงสาวชื่อเอี้องผึ้งส่วนฝ่ายชายชื่อจันผา ทั้งสองสัญญากันว่าจะรักกันตลอดไป ไม่มีวันพรากจากกันตลอดไป โดยทั้งสองได้สัญญากันไว้ว่า ถ้าหากแม้นคนหนึ่งคนใดตายจากไป อีกคนหนึ่งก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อ และแล้วโศกนาฏกรรมก็มาถึงโดยที่ไม่มีใครคาดคิด วันหนึ่งจันผาพาเอื้องผึ้งไปเที่ยวบนดอย จันผาเหลือบไปเห็นดอกกล้วยไม้ชนิดหนึ่งสีเหลืองอ่อน-เข้มแซมกัน งอกอยู่ที่ต้นไม้ริมผา มีกลิ่นของมันหอมอ่อนๆ จึงคิดจะปีนไปเก็บเพื่อให้เอี้องผึ้งคนรักของตน
     แม้เอื้องผึ้งจะห้ามแต่จันผาก็ยังพยายามจะไปเด็ดดอกไม้มาให้ได้ แต่แล้วจันผาพลาดตกลงไปเสียชีวิตที่ก้นเหว เอื้องผึ้งร้องไห้ประหนึ่งหัวใจแตกสลาย เธอร่ำไห้คร่ำครวญว่าไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป จึงตัดสินใจวิ่งเอาหัวชนกับแง่หินที่หน้าผาตายตามจันผาคนรัก ตามที่เคยให้สัญญาว่าจะรักกันตลอดไป
ส่วนดอกกล้วยไม้สีเหลืองที่จันผาพยายามจะเก็บให้อี้องผึ้งนั้น ต่อมาคนให้ชื่อว่า “ดอกเอื้องผึ้ง” ส่วนที่ๆ จันผาตกลงไปตาย ก็มีต้นไม้ชนิดหนึ่งงอกขึ้นมา ผู้คนกล่าวขานเรียกว่า ต้นจันผา เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ความรักที่ยั่งยืนของคนทั้งคู่ตลอดไป

   
   สำหรับ “เอี้องผึ้งและจันผา”ยังมีอีกตำนานหนึ่งที่เล่าขานว่า เอื้องผึ้งซึ่งเป็นคู่รักกับจันผา โดนพ่อแม่บังคัญให้แต่งงานกับเจ้าจ๋วง เอื้องผึ้งเสียใจที่ไม่ได้แต่งงานกับจันผาคนที่ตัวเองรักจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ด้วยการกระโดดจากหน้าผา เมื่อจันผาตามมาพบว่าเอื้องผึ้งได้กระโดดหน้าผาไปแล้ว จึงกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายตามคนรักตกไปอยู่ใกล้กัน และเจ้าจ๋วงได้เห็นหญิงที่ตนรักกระโดดหน้าผาไปจึงรู้สึกเสียใจและตัดสินใจกระโดดหน้าผาตามลงไปด้วย แต่กระเด็นห่างออกไป ด้วยความรักแท้ระหว่างเจ้าเอื้องผึ้งและเจ้าจันผา ในชาติต่อมาเจ้าเอื้องผึ้งจึงเกิดเป็นดอกกล้วยไม้เกาะอยู่ใต้ต้นจันทน์ผา ส่วนเจ้าจ๋วงก็เกิดเป็นต้นสน ณ จุดที่ตกไปนั้นเอง ( “จ๋วง” เป็นภาษาเหนือแปลว่าต้นสน “เอื้องผึ้ง” แปลว่ากล้วยไม้) ส่วนหน้าผาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาชู้”






เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
083-7373307






วัดพระหลวง ธาตุเนิ้ง




วัดพระหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 177 หมู่ที่ 5 ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ นับเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านพระหลวง ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นในสมัยใด จากตำนานวัดพระหลวง ซึ่งเรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ.2509 โดยพระครูปัญญาภิชัย เจ้าอาวาสรูปที่ 13 ได้กล่าวว่า
                แต่เดิมหมู่บ้านและวัดพระหลวงแห่งนี้ เคยเป็นป่าใหญ่ดงหลวงมาก่อน มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นหนาทึบ มีสัตว์ป่าชุกชุม ในจำนวนนั้นก็มีงูใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง จะคอยจับสัตว์ต่าง ๆ กินเป็นอาหาร แม้แต่สัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน หากพลัดหลงเข้าไปก็จะถูกงูกัดกินทุกคราวไป ครั้งหนึ่งมีพวกพ่อค้าชาวฮ่อ (จีนฮ่อ) นำสินค้าบรรทุกหลังม้ามาขายและพากันพักแรมที่บ้านสูงเม่น โดยปล่อยม้าให้เที่ยวหากินบริเวณใกล้เคียง ม้าบางตัวที่ล่วงล้ำเข้าไปในดงหลวงก็จะถูกงูใหญ่รัดกินเป็นอาหาร เมื่อเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง ก็ทำความโกรธแค้นให้แก่พ่อค้าชาวจีนฮ่อเป็นอย่างมาก จึงช่วยกันหาวิธีกำจัดงูนั้นเสีย โดยช่วยกันตัดไม้ไผ่มาผ่า แล้วเหลาเอาผิวไม้มาสานขัดแตะเป็นตาแสง 6 เหลี่ยม ซึ่งชาวเมืองเหนือเรียกว่า ตาแหลวกะให้รูบ่วงตาแหลวมีขนาดกว้างพอ ๆ กับขนาดขนาดตัวงู แล้วนำไปปิดปากรู ตอกหลักยึดเงื่อนตาแหลวไว้ให้ตรึงแน่นหนา รุ่งขึ้นอีกวันก็พากันมาดูพบว่างูใหญ่ติดบ่วงตาแหลวงอยู่ จึงช่วยกันฆ่างูนั้นเสีย แล้วตัดซากงูออกเป็นท่อน ๆ กองไว้ใกล้ ๆ รูงูนั้น หลังจากวันนั้นพ่อค้าชาวจีนฮ่อก็นำสินค้าไปขายตามปกติ ครั้นเมื่อขายสินค้าหมดก็เดินทางกลับ และพากันไปดูซากงูที่กองไว้ ปรากฏว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง เพราะซากงูกลายเป็นท่อนเงินท่อนทอง จึงแบ่งท่อนเงินท่อนทองนั้นออกเป็น 3 ส่วน พวกพ่อค้าเอาไป 1 ส่วน นำไปถวายเจ้าฟ้า (เจ้าเมือง) 1 ส่วน และฝังไว้บริเวณรูงูนั้น 1 ส่วน
                ต่อมามีกลุ่มชนคณะหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นพวกม่านหรือพม่า ได้พากันมาบุกเบิกป่าดงหลวงนั้น แล้วตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและสร้างวัดขึ้นพร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์ครอบรูงูไว้ จึงเกิดเป็นหมู่บ้านและวัดขึ้น และไม่ปรากฏว่าชุมชนนี้อยู่บริเวณนี้นานเท่าใด ได้อพยพหรือถูกกวาดต้อนเนื่องจากสงครามไปที่ไหนเมื่อไร คงปล่อยให้เป็นหมู่บ้านและวัดร้างอีกเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นป่าใหญ่ดงหลวง โบสถ์วิหารสิ่งก่อสร้างสลักหักพังเหลือแต่ซากและแนวขอบเขตของวัด อีกทั้งเจดีย์ พระพุทธรูปพระประธานก็ชำรุดทรุดโทรมมาก จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2330 ได้มีชนกลุ่มไทลื้อ ชาวเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พากันอพยพลงมาทางใต้ถึงบ้านสูงเม่น จังหวัดแพร่ โดยมีพระภิกษุสามเณรและชาวบ้าน 3 วัด 3 หมู่บ้าน มาสร้างบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านขึ้น และช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้าง ตลอดจนพระประธานองค์ใหญ่ในวิหาร และให้ชื่อวัดนี้ว่า วัดพระหลวงและหมู่บ้านนี้ว่า บ้านพระหลวงซึ่งทั้งวัดและหมู่บ้านมีคำว่าหลวง คงเกิดจากที่มีพระประธานองค์ใหญ่ มีชาวบ้านอพยพมาอยู่มากถึง 3 หมู่บ้านและ 3 วัดด้วยกัน และสถานที่นี้เป็นป่าใหญ่ดงหลวง วัดพระหลวงมีโบราณสถานที่มีความสำคัญหลายแห่งคือ เจดีย์วัดพระหลวง หอไตร หอระฆัง ซึ่งชาวบ้านได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานให้เป็นปูชนียสถานที่ควรค่าแก่การเคารพสักการะ และเป็นศูนย์รวมของชุมชนในท้องถิ่นสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

ที่มา หอประวัติวัดพระหลวง ต.พระหลวง อ.สูงเม่น จ.แพร่



เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
083-7373307

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

ไทลื้อ อัตลักษณ์บ้านถิ่น เมืองแพร่





      ชุมชนบ้านถิ่น ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองแพร่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 7 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ทางด้านตะวันออกเป็นภูเขาสูง ประชากรที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายไตลื้อ สันนิษฐานว่าในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ.2330 เจ้ามังไชย เจ้าเมืองแพร่ ได้ร่วมรบกับเจ้าเมืองน่านที่เชียงรุ่ง สิบสองปันนา ได้มีการกวาดต้อนชาวไทลื้อมาไว้ที่เมืองแพร่ และคนยองบ้านถิ่นก็หนีภัยสงครามโดยอพยพมาจากเมืองลำพูน ป่าซาง(ลื้อเมืองยอง) ในสมัยที่เกิดมีข้าศึกรุกรานเมืองเชียงใหม่และลำพูนเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขต เดียวกับเมืองเชียงใหม่ จึงถูกรุกรานไปด้วยชนเผ่าลื้อยองเป็นชนที่รักความสงบ ไม่ชอบมีเรื่องราวยุ่งกับใคร จึงเกิดมีคนในเผ่าบางส่วนประมาณ 30-50 คน ได้รวมกันอพยพหนีการรุกรานมาทางเมืองโกศัย (แพร่) มาพบสถานที่ ที่อุดมสมบูรณ์บริเวณบ้านถิ่นปัจจุบัน จึงตั้งรกรากประกอบอาชีพ ทำมาหากิน อยู่อย่างสงบจนมีประชากรเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เมื่อมีคนหมู่มากเกิดขึ้น จึงเกิดมีปัญหาตามมามากมายหลายอย่าง ต้องมีหัวหน้าเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

     ชาวบ้านได้ขยายอาณาเขตการทำมาหากินและที่อยู่อาศัยกว้างขวางมากขึ้น จึงแยกการปกครองออกเป็นแคว่น ๆเช่น แคว่นบ้านเหล่าเหนือ แคว่นบ้านเหล่าใต้ แคว่นบ้านเหล่ากลาง แคว่นบ้านใน แต่ละแคว่นมีหัวหน้าคอยดูแลแคว่นของตนเองเรียกว่า “หลักบ้าน”(ผู้ใหญ่)และถ้าแคว่นใด มีประชากรหนาแน่นก็ตั้งให้หัวหน้าแคว่นใหญ่ ซึ่งเลือกจากคนสูงอายุ และเป็นที่เคารพนับถือของทุกแคว่น เป็น “ปู่แคว่น” (กำนัน) สมัยก่อน การเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นประชาธิปไตย ชาวบ้านคัดเลือกกันเองไม่มีคนอาสา ไม่มีการสมัครกันล่วงหน้า ไม่มีใครอยากเป็นหลัก เป็นแคว่น เพราะเมื่อเป็นแล้ว “มีคนรักเท่าผืนหนัง มีคนชังเท่าผืนเสื่อ” แรกเริ่มเดิมทีนั้น บ้านถิ่นมีเพียงหมู่บ้านเดียวคือทั้งหมดคือหมู่ที่ ๑ ต่อมามีประชากรมากขึ้น ก็เพิ่มขึ้นเป็นหลายหมู่บ้านเป็นหมู่2 หมู่ 3 หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 6 หมู่ 7 และหมู่ 8 ตามลำดับ (หมู่ 4- 6 -10) เรียกว่าบ้านโป่งศรีเป็นไทล้านนา

ที่มาข้อมูลอ้างอิง http://www.banthin.go.th/social.php ,ททท.สำนักงานแพร่


เรียบเรียงโดย นายคมสัน  หน่อคำ
083-7373307

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

โรงเรียนการป่าไม้แพร่ หรือ "ศูนย์ฝึกอบรมที่ 1 (แพร่)"




      โรงเรียนการป่าไม้เป็นโรงเรียนที่สอนวิชาการป่าไม้ ตั้งอยู่ ณ ถนนคุ้มเดิม ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เริ่มจากครั้งรัฐบาลมีความพยายามจะสำรวจสถานการณ์ไม้สักในพื้นที่มณฑลพายัพ โดยขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลอินเดียของอังกฤษ เพื่อยืมตัวข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถในการป่าไม้ ซึ่งรัฐบาลอินเดียของอังกฤษได้ให้รัฐบาลไทยยืมตัว เอช. สเลด (H.Slade) เข้ามาช่วยงานตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2438 จนดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2439 โดยนายสเลดได้กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ปีเดียวกัน ถึงข้อบกพร่องต่างๆ รวมถึงการศึกษาและการฝึกฝนทางวิชาการป่าไม้ของไทย ซึ่งในระยะนั้นยังไม่มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการป่าไม้เลย จวบจนในปี พ.ศ.2458 จึงมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาการป่าไม้ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจัดตั้งขึ้นในแผนกยันตรศึกษา โรงเรียนข้าราชการพลเรือน วังใหม่สระปทุม สอนวิชาการป่าไม้เบื้องต้นหลักสูตร 2 ปี แต่หลังจากเปิดได้เพียง 3 ปี ก็ต้องเลิกไปเนื่องจากไม่มีผู้สนใจเรียน

     ภายหลังการเลิกสัมปทานป่าไม้ของบริษัท อีสเอเชียติก จำกัด จึงได้มอบอาคารสถานที่ให้กับกรมป่าไม้ เพื่อใช้ในกิจการของกรมป่าไม้ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478 โดยพระยาพนานุจร (เปล่ง สาครบุตร) อธิบดีกรมป่าไม้ ได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนในฐานะเป็น "กองโรงเรียนป่าไม้" และมอบหมายให้หลวงวิลาสวันวิท (เมธ รัตนประสิทธิ์) เป็นหัวหน้ากอง มีหน้าที่ให้การศึกษาด้านวิชาการป่าไม้ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ แก่เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ในระดับล่าง ตลอดจนบุคคลภายนอกที่มีความสนใจ

     โรงเรียนการป่าไม้ เปิดทำการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2479 โดยรับนักศึกษาจำนวน 25 คน จากการสอบแข่งขันของข้าราชการกรมป่าไม้ และบุคคลภายนอกที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ได้เลื่อนฐานะโรงเรียนการป่าไม้เป็น "วิทยาลัยวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ทำการสอนระดับอนุปริญญา หลักสูตร 3 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2499 ได้ขยายหลักสูตรเป็นปริญญาตรี 5 ปี และย้ายสถานที่ทำการสอนจากเดิม มาเป็นคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร

     กรมป่าไม้ ได้เปิดทำการเรียนการสอน ณ โรงเรียนการป่าไม้ จังหวัดแพร่ อีกครั้ง ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 โดยเปิดทำการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการป่าไม้ (หลักสูตร 2 ปี) มีนายรัตน์ พนมขวัญ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน รับนักศึกษาจำนวน 50 คน จากข้าราชการของกรมป่าไม้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 ได้ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 100 คน ในปี พ.ศ. 2507 ได้มีการเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ร่วมกับการคัดเลือกข้าราชการของกรมป่าไม้ และในปี พ.ศ. 2508 จึงได้เปิดรับบุคคลภายนอกทั้งหมด ในจำนวน 200 คน จากนักเรียนสายวิทย์-คณิต จนถึงปี พ.ศ. 2536 จึงได้ยุติการเปิดสอนของโรงเรียนการป่าไม้ รวมนักศึกษาของโรงเรียนทั้งสิ้น 36 รุ่น มีผู้จบการศึกษาจากโรงเรียนการป่าไม้ 6,180 คน 




เรียบเรียงโดย คมสัน  หน่อคำ
083-7373307