วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ย่ำขาง นวดแก้เมื่อยล้านนา เรียบเรียงโดย นายคมสัน หน่อคำ


ย่ำขาง เป็นวิธีการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดทางร่างกาย  สำหรับวิธีการรักษานั้น หมอเมืองจะใช้เท้าชุบน้ำยา เช่น น้ำไพลและน้ำมันงา  แล้วย่ำบนขางหรือผาลที่เผาไฟจนร้อนแดงแล้วจึงย่ำบนร่างกายของผู้ป่วย บริเวณที่มีอาการเจ็บปวด   พร้อมทั้งเสกคาถาอาคมกำกับด้วย  ในอดีตหมอเมืองจะใช้เท้าย่ำรักษาส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งศีรษะด้วย แต่ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็นใช้มือหรือลูกประคบนวดในส่วนของศีรษะแทน   ส่วนอื่นๆ ของร่างกายยังคงใช้เท้าย่ำเหมือนเดิม  หมอเมืองที่รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการย่ำขางเรียกว่า “หมอย่ำขาง”

          สำหรับ “ขาง” คือผาลไถ สำหรับใช้ไถนา ขนาดประมาณ 8X6 นิ้ว ปลายแหลม เป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบขาง เนื่องจากขางเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการไถนาที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เชื่อกันว่ามีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพราะสามารถไถนาปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลกได้ อีกทั้งมีคุณสมบัติไม่เป็นสนิมง่ายและในตัวขางมีแร่ธาตุบางชนิดที่เป็นตัวยาสามรถใช้รักษาโรคได้ ในสมัยก่อนหากเด็กมีอาการเจ็บปากเจ็บลิ้น จะนำขางที่เผาแล้วไปแช่น้ำให้เด็กดื่ม ทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นหายได้ หมอเมืองบางคนเชื่อว่า ความร้อนจากขางจะทะลุทะลวงเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยได้ลึกกว่าการใช้โลหะอย่างอื่น ในอดีตมีการใช้ขางรักษาหลายวิธี เช่น “ย่ำขาง” คือการเอาเท้าชุบน้ำยาแล้วไปย่ำหรือวางบนขางที่เผาจนร้อนแดงแล้ว ไปย่ำบริเวณร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด การรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีอยู่ในปัจจุบัน, “ปึ๊ขาง” คือ การเป่าหรือการพ่นน้ำยา  ลงบนขางที่เผาจนร้องแดง ทำให้ไอน้ำพุ่งไปประทะกับร่างกายผู้ป่วย บริเวณที่มีอาการเจ็บปวด, “จู้ขาง” คือ การเอาห่อยาสมุนไพรชุบน้ำยา มาวางบนขางแล้วเอาไปประคบบริเวณร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด

กลุ่มอาการหรือโรคที่สามารถบำบัดรักษาด้วยวิธีการย่ำขางได้แก่ กลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดเอ็น ปวดกระดูก กล้ามเนื้อรีบ หรือเป็นโรคที่หาสาเหตุไม่เจอ แต่มีอาการปวด อาการชาตามเนื้อตัว บริเวณหลัง เอว สะโพก หรือตามลำกล้ามเนื้อ ในกลุ่มอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเกิดจากธาตุลมติดขัดทำให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อตึงแข็งย่ำให้เลือดลมมาปรกติ ในสตรีบางรายที่ปวดประจำเดือน และมาไม่ปรกติ ( ข้อห้ามในการย่ำขาง ห้ามย่ำสตรีมีครรภ์ และขณะมีประจำเดือนหรือผู้ที่มีการผ่าตัดร่างกาย โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอด โรคหืด และผู้ป่วยที่มีไข้ขึ้นสูง )

 

          เมื่อรักษาด้วยการย่ำขางเสร็จแล้ว หมอเมืองก็จะบอกให้ผู้ป่วยต้องยึดถือข้อห้าม  เพื่อให้อาการเจ็บป่วยหายเร็วขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาการกินที่หมอย่ำขางเชื่อว่าเป็นของแสลงซึ่งจะทำให้ ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดและจะกลับมาเป็นซ้ำอีก ได้แก่ หน่อไม้ ผักชะเอม บอน ทุเรียน ไข่ เนื้อไก่ เนื้อวัว ปลาไหล ของหมักดอง หอย ปลาไม่มีเกล็ด และกบ




 

ที่มาข้อมูล มูลนิธิโครงการหลวง,อาศรมศรมงคล,สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา


 

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563

แพร่จัดงาน “MISSING PHRAE ไปแพร่ให้หายคิดถึง” กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

 


























วันที่ 11  ธ.ค.2563 เวลา 18.00 น. ณ ลานกว้างตรงข้ามอนุสาวรีย์ไชยบูรณ์ ต.ป่าแมต อ.เมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดงาน "MISSING PHRAE ไปแพร่ให้หายคิดถึง”  เพื่อสนับสนุนธุรกิจ ระดับภาคพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ในรูปแบบ "นิวนอร์มอลพร้อมมาตรการปลอดภัยการป้องกัน Covid 19 โดยจัดกิจกรรม ช่วงวันหยุดยาวของรัฐบาลในวันที่ 11-13 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 16.00 – 22.00 น.

ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับจังหวัดแพร่ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายในพื้นที่ซึ่งเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นในฤดูหนาวและช่วงของวันหยุดยาวตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนได้เดินทางจับจ่ายใช้สอย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงานกล่าวว่า จังหวัดแพร่เป็นจังหวัดที่มีความพร้อม มีศักยภาพ ในด้านของการท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดแพร่มีทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน ประเพณีและวัฒนธรรมที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ททท. จึงได้สนับสนุนให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อจะเสริมกิจกรรมให้ประชานได้เข้ามาท่องเที่ยวและมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล

ด้านนายเอกการ ซื่อทรงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดแพร่กล่าวว่า การจัดกิจกรรม "MISSING PHRAE ไปแพร่ให้หายคิดถึง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง กระตุ้นให้เศรษฐกิจในชุมชน เติบโตขึ้นอย่างยั่งยื่น โดยการพัฒนาอาหารและวัตถุดิบชุมชน ส่งเสริมและต่อยอด เพิ่มมูลค่า ให้แก่คนในท้องถิ่น อีกทั้งให้ความรู้เรื่องธุรกิจท่องเที่ยว ใน แบบนิ้วนอร์มอล รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับ SHA หรือมาตรฐานชา (Amazing Thailand Safty & Health Administration)แก่ธุรกิจท้องถิ่น ให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างความสุขละความบันเทิง ให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วไปที่มาร่วมงาน มุ่งหวังให้สินค้าชุมชนเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เป็นวัยรุ่น ให้หันกลับมามองและใช้สินค้าของท้องถิ่น ซึ่งเป็นสินค้าไทย ให้จังหวัดแพร่เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นทางเลือกที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม และต้องกลับมาเที่ยวซ้ำ