วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ผีโพง

 


        คนที่โดนผีโพงเข้าสิงนั้นผีจะสิงร่างนั้นตลอด คนที่โดนผีโพงสิงมักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองโดนสิง ผีโพงนั้นจะมีรูปร่างเหมือนคนทุกประการ แต่มีแสงไฟออกจากจมูก จะมีอยู่สามสี คือ สีแดง สีม่วง และสีเขียว ส่วนอาหาร ผีโพงจะชอบกินเมือกกบ เมือกเขียด แล้วก็คลายทิ้ง กบ เขียดนั้นก็จะตาย 

        คนในสมัยก่อนเล่าต่อๆกันมาว่า ก่อนออกไปหากิน ผีโพงจะเอาจมูกไปเสียดสีกับบันไดบ้านให้แดงก่อนออกไปหากิน พอใกล้สว่างก็จะกลับมาที่บ้านเหมือนเดิม คนที่มีคาถาอาคมสมัยก่อน ถ้าสงสัยว่าใครเป็นผีโพง ก็จะร่ายคาถา แล้วกลับบันไดบ้านของผีโพง เมื่อผีโพงกลับมาที่บ้าน ก็เห็นว่าบ้านเป็นของตนเอง แต่ถ้าบันไดไม่ใช่ มันก็เดินวนเวียนอยู่หน้าบ้านและจะเข้าบ้านไม่ได้จนรุ่งเช้า เมื่อมีคนมาพบเห็นเข้าก็จะรู้ว่าคนๆนั้นเป็นผีโพง คนที่เป็นผีโพงก็จะอับอาย หรืออาจหลบหนี้ไปอยู่ที่อื่น แต่ถ้าผีโพงรู้ว่าใครแกล้งมัน มันก็จะอาฆาตแค้น เมื่อคนที่ร้ายมันพลังอ่อนลง มันก็จะกลับมาแก้แค้น โดยเอาก้านกล้วยแม่หม้ายพุ่งข้ามหลังคา หรือใต้ถุนบ้าน ทำให้คนที่อยู่ในบ้านเจ็บป่วย หรือตายหมดทั้งบ้าน 
ผีโพงจะเป็นตอนกลางคืน ช่วงที่ชาวบ้านพบเห็นบ่อยจะอยู่ในช่วงฤดูฝน ช่วงตอนฝนตกมักจะเห็นแสงสว่างสีแดง ม่วง เขียว ที่จะสว่างแถวกลางทุ่งนาแล้วดับ แล้วก็ไปสว่างแล้วดับอีก ไปเรื่อยๆบางก็เล่าว่าจะมีแสงไฟตกจากจมูก
เหมือนหยดน้ำด้วย ถ้าตามรอยผีโพงไปก็จะเจอกับ กบ เขียด ที่จะนอนตายตัวแข็งตามท้องนา ถ้าหากว่าคนไปเจอกับผีโพงเข้า แล้วเห็นว่าผีโพงนั้นเป็นใคร มันมักจะบอกว่า มันเป็นวิบากกรรมของมัน ที่ต้องมาชดใช้กรรมแบบนี้และอ้อนวอนอย่าให้บอกใคร แล้วผีโพงก็จะเสก ใบไม้ ก้อนหิน ก้อนอิฐหรือถ่านมี่(ถ่านมี่ คือถ่านสีดำที่ใช้ก่อกองไฟในครัว)ให้กลายเป็นทองคำและเอาจ้างคนที่พบเห็น เพื่อที่จะไม่ให้บอกใคร ถ้าไม่รับปากหรือไม่รับทองคำนั้นมา ผีโพงก็จะทำร้ายหรือทำให้เรากลายเป็นผีโพงเหมือนมัน
เมื่อรับทองคำนั้นมาแล้ว ตอนเช้าทองคำนั้นก็จะกลายเป็นใบไม้ ก้อนหิน ก้อนอิฐหรือถ่านมี่เหมือนเดิม คนที่พบเห็นจะต้องเก็บนี้เป็นความลับ แต่ถ้าจะบอกกับผู้อื่นก็ห้ามพูดชื่อว่าใครเป็นผีโพงหรือเกิดพูดชื่อออกไป ผีโพงจะมีญาณรับรู้ได้ทันทีว่าเราเอาความลับของมันไปบอกคนอื่น มันก็จะตามมาทำร้ายเราที่บ้านโดยใช้ก้านกล้วยแม่หม้าย (ก้านกล้วยแม่หม้าย คือก้านกล้วยที่เอาใบตองออกแล้ว เหลือใบตองส่วนปลายไว้นิดหน่อย) พุ่งข้ามหลังคา หรือใต้ถุนบ้าน 
ฉะนั้นในคนสมัยก่อนมักจะบอกให้เราฟันก้านกล้วย ออกสอง 2 ท่อน หรือหลายๆท่อน เพื่อที่จะไม่ให้ผีโพงนั้นนำไปใช้ได้อีก
ที่มา:http://lannaghost.blogspot.com
แถมเด้อ ผีปุ้งส้าว (ผีพุ่งส้าว) ลักษณะ: เป็นแสง เหมือนดาวตก แต่จะมีลักษณะเป็นเส้นยาวแสงนั้นจะเป็นแสงสีแดง เขียว หรือขาว คนสมัยก่อนเล่าว่า ผีปุ้งส้าว คือดวงวิญญาณที่จะมาเกิดบนโลกมนุษย์ถ้ามีคนเห็นแล้วห้ามทัก ถ้าทักแล้วผีปุ้งส้าวก็จะไม่เกิดในท้องคน แต่จะไปเกิดในท้องสัตว์เดรัจฉานแทน


วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ย่ำขาง นวดแก้เมื่อยล้านนา เรียบเรียงโดย นายคมสัน หน่อคำ


ย่ำขาง เป็นวิธีการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดทางร่างกาย  สำหรับวิธีการรักษานั้น หมอเมืองจะใช้เท้าชุบน้ำยา เช่น น้ำไพลและน้ำมันงา  แล้วย่ำบนขางหรือผาลที่เผาไฟจนร้อนแดงแล้วจึงย่ำบนร่างกายของผู้ป่วย บริเวณที่มีอาการเจ็บปวด   พร้อมทั้งเสกคาถาอาคมกำกับด้วย  ในอดีตหมอเมืองจะใช้เท้าย่ำรักษาส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งศีรษะด้วย แต่ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็นใช้มือหรือลูกประคบนวดในส่วนของศีรษะแทน   ส่วนอื่นๆ ของร่างกายยังคงใช้เท้าย่ำเหมือนเดิม  หมอเมืองที่รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการย่ำขางเรียกว่า “หมอย่ำขาง”

          สำหรับ “ขาง” คือผาลไถ สำหรับใช้ไถนา ขนาดประมาณ 8X6 นิ้ว ปลายแหลม เป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบขาง เนื่องจากขางเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการไถนาที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เชื่อกันว่ามีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพราะสามารถไถนาปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลกได้ อีกทั้งมีคุณสมบัติไม่เป็นสนิมง่ายและในตัวขางมีแร่ธาตุบางชนิดที่เป็นตัวยาสามรถใช้รักษาโรคได้ ในสมัยก่อนหากเด็กมีอาการเจ็บปากเจ็บลิ้น จะนำขางที่เผาแล้วไปแช่น้ำให้เด็กดื่ม ทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นหายได้ หมอเมืองบางคนเชื่อว่า ความร้อนจากขางจะทะลุทะลวงเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยได้ลึกกว่าการใช้โลหะอย่างอื่น ในอดีตมีการใช้ขางรักษาหลายวิธี เช่น “ย่ำขาง” คือการเอาเท้าชุบน้ำยาแล้วไปย่ำหรือวางบนขางที่เผาจนร้อนแดงแล้ว ไปย่ำบริเวณร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด การรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีอยู่ในปัจจุบัน, “ปึ๊ขาง” คือ การเป่าหรือการพ่นน้ำยา  ลงบนขางที่เผาจนร้องแดง ทำให้ไอน้ำพุ่งไปประทะกับร่างกายผู้ป่วย บริเวณที่มีอาการเจ็บปวด, “จู้ขาง” คือ การเอาห่อยาสมุนไพรชุบน้ำยา มาวางบนขางแล้วเอาไปประคบบริเวณร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด

กลุ่มอาการหรือโรคที่สามารถบำบัดรักษาด้วยวิธีการย่ำขางได้แก่ กลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดเอ็น ปวดกระดูก กล้ามเนื้อรีบ หรือเป็นโรคที่หาสาเหตุไม่เจอ แต่มีอาการปวด อาการชาตามเนื้อตัว บริเวณหลัง เอว สะโพก หรือตามลำกล้ามเนื้อ ในกลุ่มอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเกิดจากธาตุลมติดขัดทำให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อตึงแข็งย่ำให้เลือดลมมาปรกติ ในสตรีบางรายที่ปวดประจำเดือน และมาไม่ปรกติ ( ข้อห้ามในการย่ำขาง ห้ามย่ำสตรีมีครรภ์ และขณะมีประจำเดือนหรือผู้ที่มีการผ่าตัดร่างกาย โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอด โรคหืด และผู้ป่วยที่มีไข้ขึ้นสูง )

 

          เมื่อรักษาด้วยการย่ำขางเสร็จแล้ว หมอเมืองก็จะบอกให้ผู้ป่วยต้องยึดถือข้อห้าม  เพื่อให้อาการเจ็บป่วยหายเร็วขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาการกินที่หมอย่ำขางเชื่อว่าเป็นของแสลงซึ่งจะทำให้ ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดและจะกลับมาเป็นซ้ำอีก ได้แก่ หน่อไม้ ผักชะเอม บอน ทุเรียน ไข่ เนื้อไก่ เนื้อวัว ปลาไหล ของหมักดอง หอย ปลาไม่มีเกล็ด และกบ




 

ที่มาข้อมูล มูลนิธิโครงการหลวง,อาศรมศรมงคล,สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา


 

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563

แพร่จัดงาน “MISSING PHRAE ไปแพร่ให้หายคิดถึง” กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

 


























วันที่ 11  ธ.ค.2563 เวลา 18.00 น. ณ ลานกว้างตรงข้ามอนุสาวรีย์ไชยบูรณ์ ต.ป่าแมต อ.เมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดงาน "MISSING PHRAE ไปแพร่ให้หายคิดถึง”  เพื่อสนับสนุนธุรกิจ ระดับภาคพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ในรูปแบบ "นิวนอร์มอลพร้อมมาตรการปลอดภัยการป้องกัน Covid 19 โดยจัดกิจกรรม ช่วงวันหยุดยาวของรัฐบาลในวันที่ 11-13 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 16.00 – 22.00 น.

ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับจังหวัดแพร่ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายในพื้นที่ซึ่งเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นในฤดูหนาวและช่วงของวันหยุดยาวตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนได้เดินทางจับจ่ายใช้สอย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงานกล่าวว่า จังหวัดแพร่เป็นจังหวัดที่มีความพร้อม มีศักยภาพ ในด้านของการท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดแพร่มีทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน ประเพณีและวัฒนธรรมที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ททท. จึงได้สนับสนุนให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อจะเสริมกิจกรรมให้ประชานได้เข้ามาท่องเที่ยวและมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล

ด้านนายเอกการ ซื่อทรงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดแพร่กล่าวว่า การจัดกิจกรรม "MISSING PHRAE ไปแพร่ให้หายคิดถึง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง กระตุ้นให้เศรษฐกิจในชุมชน เติบโตขึ้นอย่างยั่งยื่น โดยการพัฒนาอาหารและวัตถุดิบชุมชน ส่งเสริมและต่อยอด เพิ่มมูลค่า ให้แก่คนในท้องถิ่น อีกทั้งให้ความรู้เรื่องธุรกิจท่องเที่ยว ใน แบบนิ้วนอร์มอล รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับ SHA หรือมาตรฐานชา (Amazing Thailand Safty & Health Administration)แก่ธุรกิจท้องถิ่น ให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างความสุขละความบันเทิง ให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วไปที่มาร่วมงาน มุ่งหวังให้สินค้าชุมชนเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เป็นวัยรุ่น ให้หันกลับมามองและใช้สินค้าของท้องถิ่น ซึ่งเป็นสินค้าไทย ให้จังหวัดแพร่เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นทางเลือกที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม และต้องกลับมาเที่ยวซ้ำ