วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

บอกไฟ



     ในช่วงเทศกาลยี่เป็ง(ลอยกระทง) ที่ผ่านมาชาวล้านนาจะจัดทำพุลไฟหรือบอกไฟ เพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี จุดบูชาประกอบพิธีเทศน์มหาชาติหรือตั้งธรรมหลวง และเป็นเครื่องเล่นของเด็กๆล้านนา ทำให้บรรยากาศแห่งยี่เป็งเต็มไปด้วยสีสันที่สนุกสนาน บอกไฟล้านนา หรือดอกไม้ไฟที่ทำขึ้นมีหลายชนิด เช่น บอกไฟยิง บอกไฟข้าวต้ม บอกไฟหมื่น บอกไฟขึ้น บอกไฟจักจั่น บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟน้ำต้น หรือบอกไฟมะขี้เบ้า บอกไฟช้างร้อง บอกไฟเทียน เป็นต้น ส่วนเด็กๆก็มักจะเล่นบอกถบ หรือประทัด หรือจุดมะผาบ และสะโปก เพื่อให้เกิดเสียงดัง ซึ่งสัญลักษณ์ของประเพณียี่เป็ง


      บอกไฟที่นิยมจุดบูชาในช่วงประเพณียี่เป็ง เน้นที่เกิดประกายแสงงดงาม เพราะใช้จุดในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ลับฟ้าเป็นต้นไป บอกไฟที่นิยมจุด ได้แก่ บอกไฟยิง บอกไฟข้าวต้ม บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟบะขี้เบ้า หรือบอกไฟน้ำต้น การทำบอกไฟแต่ละชนิดมีสูตรการทำ ซึ่งแตกต่างกันไปตามสูตรของสล่าหรือช่างแต่ละคน โดยช่างบอกไฟจะใช้กระบอกไม้ไผ่เป็นภาชนะบรรจุขี้เฝ่า ที่ทำมาจากดินไฟ(ดินประสิว) ผสมกับขี้ขาง (เสื้อสูบรถยนต์ที่กลึงแล้วอย่างละเอียด) ผสมกับมาด (กำมะถัน) และถ่านตามสัดส่วน แล้ว ตอกลงในกระบอกไม้ไผ่ คือ การอัดลงในกระบอกไม้ไผ่ซาง ไม้ไผ่ที่ใช้คือส่วนโคนของไม้ไผ่ ที่มีความหนากว่าส่วนปลาย อัดให้แน่นพอดี ปิดส่วนก้นกระบอกด้วยดินเหนียวแห้ง การจุด ฝังกระบอกลงไปที่พื้นดิน และอัดดินรอบๆให้แน่น ให้ปากกระบอกโผล่พ้นดิน เพื่อใส่สายสายชนวนจุดไฟแล้วลงรูปากกระบอก

     เมื่อจุดบอกไฟแล้วจะมีประกายไฟเป็นพุ่มสวยงาม เปรียบเสมือนดอกไม้เงิน ดอกไม้คำ หรือฝนห่าแก้ว ที่ปรากฏในธรรมมหาชาตินครกัณฑ์ เป็นเวสสันดรชาดกกัณฑ์สุดท้าย ที่กล่าวถึงเหตุการณ์พระเวสสันดรเสด็จออกจากป่ากลับเข้าสู่นคร ปรากฏเป็นฝนห่าแก้วตกทั่วแผ่นดิน บ้างอธิษฐานด้วยข้าวตอกดอกไม้จุดเป็นพุทธบูชา เพื่อให้ชีวิตโชติช่วงเหมือนดอกไฟที่พวยพุ่ง และในขณะที่บอกไฟพวยพุ่ง ชาวล้านนาและผู้คนที่มาชมบอกไฟนั้นก็จะพากันออกมาฟ้อนรำใต้พุ่มไฟ พร้อมด้วยเสียงฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ กลองก็จะบรรเลงกันอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะสล่าบอกไฟและทีมงาน ต่างออกมาโชว์ลีลากันอย่างสนุกสนาน เป็นอีกสีสันของประเพณียี่เป็งที่นับวันเริ่มจะจางหายไปจากสังคม

ขอบคุณที่มาจาก สำนักหอสมุดและสำนักบริการเทคโนโลยีและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ตังเม ลุงเสาร์



      กริ่ง กริ่ง กริ่งๆๆๆปิ๊บ ปิ๊บ ปิ๊บบบบๆๆๆ เสียงสวรรค์ เป็นสัญญาณบอกว่า ขวัญใจของเด็กและผู้ใหญ่หลายๆคน ที่มีรส-สะ-นิ-ยม ชอบขนมหวามที่แสนอร่อย หอม ขาวนวล เต็มไปด้วยถั่วลิสงกรอบๆ เพียงกัดคำเดียวก็หยุดไม่ได้ ต้องเคี้ยว ต้องขบ ต้องดึงจนกว่าจะขาดจากกัน และเมื่อเข้าไปอยู่ในปากแล้วยังไม่วายที่จะต้องขยับบริหารขากรรไกรจนกว่าจะกลืนลงคอ มันคือ ขนมตังเมที่เหนียวๆยืดๆยาวๆขาว ที่ทำจากน้ำตาลน้ำตาลหรือน้ำอ้อยที่เคี่ยวจนเหนียวสอดไส้ด้วยถั่วลิสงคั่ว กินแล้วติดฟันอร่อยดี!!!


     “ลุงเสาร์” คือใครหลายคนคงนึกไม่ออกว่าคือใคร แต่ถ้าบอกหรือพูดว่า “ตังเม ลุงเสาร์” ทุกคนก็จะร้อง อ้อ!!!ตามๆกัน โดยเอาลักษณ์การเร่ขายตังเมสดกว่า 50 ปี ของลุงเสาร์ สินรา ชายชราอายุ 73 ปี(พ.ศ.2561) ชาวบ้านท่าข้าม อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ผู้เริ่มปั่นจักรยานเร่ขายตังเมสดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 จนถึงปัจจุบัน(4 ก.พ. 2558) ซึ่งผมเองเป็นแฟนเหนียวแน่นของลุงเสาร์มาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กนักเรียนจนกระทั่งทุกวันนี้ทำงานแล้ว เมื่อเจอรถลุงเสาร์จอดขายตังเมอยู่ที่ไหนแวะซื้อทุกครั้งไป หรือถ้าวันไหนอยากกินตังเมก็จะขี่รถวนหาซื้อตังเมที่แถวหน้าโรงเรียนเวลาประมาณ 3-4 โมงเย็น โดยเฉพาะโรงเรียนเด็กประถม เวลาซื้อต้องเข้าแถวต่อคิวกับเด็กตัวเล็กๆ หลายครั้งต่อหลายครั้งจะถูกเด็กถามว่า “ลุงๆมาจื้อหื้อลูกกะ อายแทบแทรกแผ่นดิน แต่ด้วยความหอมหวานของขนมตังเมจำต้อง ทำหน้าทนตอบเด็กมันไปว่า “อา(ลดอายุ)มาซื้อไปฝากหลาน ขายผ้าเอาหน้ารอดไปได้อีกครั้งหนึ่ง ใครหนอจะเข้าใจหัวอกคนชอบขนมตังเม???” ด้วยความที่เป็นลูกค้าอุดหนุนขนมตังเมของลุงเสาร์มากว่ายี่สิบปี จึงได้มีโอกาสพูดคุยและถามความเป็นมาของอาชีพการเร่ขายตังเมของลุงเสาร์ โดยลุงเสาร์เล่าให้ฟังว่า “ได้สูตรการทำตังเมมาจากลุงบาน(ลุงบานหมูยอ เด่นชัย) สมัยเป็นหนุ่มตัวลุงเสาร์ไปทำงานเป็นลูกน้องของลุงบานและมีโอกาสรู้จักขนมตังเม จึงขอให้ลุงบานสอน เพื่อเป็นวิชาติดตัวเลี้ยงชีพ ลุงบานจึงถ่ายทอดวิชาแก่ลุงเสาร์ เมื่อสำเร็จวิชาตังเมแล้วลุงเสาร์จึงลาพระอาจารย์ออกมาเป็น จอมยุทธ์ตังเม ปั่นจักรยานเร่ขายตังเมตั้งแต่ปี 2508 ปั่นขายตั้งแต่อันละสลึง(25 สตางค์) ,50 สตางค์,1 บาท,2 บาท,5 บาท จนเดี๋ยวนี้ขายที่ราคา 10 บาท ก็ยังขายดิบขายดีเหมือนเดิม ลุงเสาร์บอกว่าเมื่อก่อนอันละสลึงใหญ่กว่าอันสิบบาทเดี๋ยวนี้เยอะ อันเดียวกินได้ทั้งวัน เพราะเมื่อก่อนข้าวของที่นำมาทำตังเมราคาถูก วันหนึ่งลงทุนไม่เยอะทำตังเม 4-5 กิโลกรัม ขายได้พันกว่าบาท ทุกวันนี้ต้องลงทุนซื้อของวันละประมาณ 500-600 บาท ได้ตังเมน้ำหนักเท่าเดิม พอมีกำไรเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวได้

     ปัจจุบัน(17 พ.ย. 61)ลุงเสาร์อายุ 73ปี แล้วแต่ยังแข็งแรงอยู่ ลุงเสาร์บอกว่าจะขายตังเมจนกว่าจะเดินไม่ไหว สมัยก่อนปั่นจักรยานขายวันหนึ่งไปไกล 10 กิโล 20 กิโลยังไปได้ เดี๋ยวนี้สบายมีมอเตอร์ไซค์ขี่ไปขายตังเม ค่อยๆขี่ไปขายไป ได้คุยได้พูดกับลูกค้าสนุกดี ขี่จนรถมอเตอร์ไซด์พังมา 5 คันแล้ว ถ้าพังก็จะซื้อคันใหม่เอามาขายตังเมไปเรื่อยๆ โดยรถมอเตอร์ไซค์ มีกะบะไม้ใส่ตังเม บนเบาะรถ มาพร้อมเสียงกระดิ่ง กริ่งๆๆๆ เสียงแตร ปิ๊บ ปิ๊บ ปิ๊บบบบๆๆๆ ไปบริการขนมตังเม สีขาว เหนียวนุ่ม หอมอร่อย แก่ชาวเมืองแพร่อยู่เสมอ “ตังเม ลุงเสาร์”

คำมะเก่า ตอน คำเตือน คำสอน



“จิกปิกไหนก่อป้อ จ้อหว้อไหนก่อ ขวัก” หมายถึง คนที่เห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น

“กิ๋นข้าวงายแล้วนอน กินข้าวตอนแล้วแอ่ว แอ่วๆแหวงๆปิ๊กมากินน้ำแกงถ้วยเก่า” หมายถึง ถ้าเอาแต่กิน นอน เที่ยว ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

“กิ๋นข้าวแล้วนอน ผีปั๋นปอนวันละเจ็ดเตื้อ” หมายถึง คนที่ใช้ชีวิตแบบกินๆนอนๆ ไม่รู้จักออกกำลังกาย มักมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอๆ

กิ๋นข้าวหื้อไว้ต่าน้ำ” หมายถึง ทำอะไรให้รู้จักพอประมาณ

“กิ๋นแล้วหื้อเก็บ เจ็บแล้วหื้อจำ” หมายถึง ให้รู้จักเก็บและจดจำประสบการณ์และสิ่งที่เคยทำมาเอาไว้

“กิ๋นหวอมหวอม ผอมจ้อค่อ” หมายถึง ทุ่มเททำอะไรลงไปแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น

“กิ๋นหื้อปอต๊อง หย้องหื้อปองาม” หมายถึง การกินการอยู่ต้องรู้จักพอประมาณ

“เกิดเป็นคนขึ้นห้วยหื้อสุด ขุดฮูไหนหื้อตึก” หมายถึง ถ้าจะทำงานอะไรต้องทำให้ถึงที่สุด

“เก็บผักผลไม้ บ่ดีเก็บไกล๋ เก็บต๋มตัวคันได ปอแก๋งปอนึ้ง” · หมายถึง การทำงาน ทำมาค้าขาย อย่าโหมงานหนักจนเกินกำลัง จงทำแต่พอเหมาะพอควรกับพละกำลัง

“เก็บผักหื้อเอาตึงเครือ เก็บบ่าเขือหื้อเอาตึงขวั๊น” หมายถึง ทำอะไรให้เรียบร้อย อย่าเอาเฉพาะส่วนที่มีประโยชน์แล้วทิ้งส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นไว้

“ข้ามขัวยังบ่ป้น จะไป๋ฟั่งห่มก้มแยงเงา” หมายถึง ทำอะไรยังไม่สำเร็จอย่าเพิ่งโอ้อวด

“จะนั่งหื้อผ่อตี้ จะหนีหื้อผ่อก้น” หมายถึง เวลาจะทำอะไรต้องเป็นคนรอบคอบ

“โจรปล้นยังเหลือเฮือนไว้ ไฟไหมยังเหลือตี้ดิน แต่การพนันมันกิ๋น บ่มีดินจักอยู่” หมายถึง โจรปล้นยังเหลือบ้านไว้ ไฟไหม้ยังเหลือที่ดิน แต่การพนันทำให้แม้แต่ที่ดินก็ไม่เหลือ

ที่มา บ้านเกษตรสมบูรณ์

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

คำ “อิ๊แม่สอน 2 ตอน การตอนการพูดจา และการวางตัว”




การพูดจานั้น อิ๊แม่สอนไว้ว่า

"กำเข้าหู จะไปฟั่งถูออกปาก จักยากใจ๋ปายลูน " ความหมายก็ตรงตัวคือ...

เมื่อเราได้ยินได้ฟังอะไรมา ให้กลั่นกรองให้ดีก่อนจะตอบโต้หรือเอาไปบอกต่อคนอื่น ไม่เช่นนั้น อาจจะมีผลกระทบตามมา สร้างความเสียหายให้ผู้อื่น และทำให้เราต้องลำบากใจ

"กำติเตียนสำเนียงจ่มส้าม ย่อมจะมีมากู้ทิศ" ความหมายคือ คำติฉินนินทานั้นเป็นเรื่องธรรมดาโลก ย่อมจะมีมาจากทั่วทุกสารทิศ เพราะฉะนั้นไม่ควรถือสาใส่ใจ

"กำจ่มกำด่านั้นเป๋นกำดี ก๋อนฟังบ่ถี่มันตึงบ่ม่วนหู" ความหมาย คือ คำบ่นคำว่ากล่าวของคนแก่อาจจะฟังไม่เสนาะหูนัก แต่ฟังให้ดีก็ล้วนเป็นข้อคิดที่ดีทั้งนั้น

"กันว่าจะมัด บ่ต้องมัดด้วยป๋อ กำปากกำคอมัดกั๋นก่อได้" ความหมาย คือ คำสอนว่าด้วยการผูกใจคน ว่าหากจะมัดใจใครล่ะก็ ไม่ต้องใช้เชือก(ป๋อ=ปอ)หรอก แค่ใช้คำพูดดี ๆ นี่แหละที่สามารถผูกใจคนได้

คนเรานั้นแม้คำพูดจะสำคัญ แตการวางตัวนั้นต้องทำตามที่แม่สอนด้วย

“จะนั่งหื้อผ่อตี้ จะหนีหื้อผ่อก้น" ความหมาย คือ ก่อนจะนั่งให้ดูที่นั่งว่าไม่มีอะไรเปรอะเปื้อนหรือมีของมีคมที่อาจจะเป็นอันตราย พอจะลุกจากไปก็ต้องเหลียวดูข้างหลังว่าไม่ทิ้งร่องรอยหรือลืมอะไรไว้

"กิ๋นได้ไว้ในไห กิ๋นบ่ได้ไว้ในใจ๋" ความหมาย คือ เมื่อได้รับอะไรมา ไม่ว่าจะหามาเองหรือมีคนให้

ถ้าเป็นของกินก็ให้เก็บถนอมรักษาไว้(ในสมัยก่อนเขาจะเก็บของกินไว้ในไห)แต่ถ้าเป็นของที่กินไม่ได้ก็ให้จดจำรำลึกไว้ในใจ(ให้สำนึกบุญคุณนั่นเอง)

"แป๋งเฮือไว้หลายต้า หม่าเข้าไว้หลายเมือง" ความหมาย คือ สร้างเรือไว้หลายท่า(ท่าน้ำ) แช่ข้าวไว้หลายเมือง ให้ผูกมิตรไว้หลาย ๆ ที่ เผื่อวันใดเกิดพลาดพลั้งตกอับจะได้มีที่พึ่งพา

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

คำ “อิ๊แม่สอน”



แม่จะมีวิธีว่ากล่าวตักเตือนลูก ด้วยคำพูดคำสอนของคนบ่ะเก่าเอามาบอกเล่าต่อแก่ลูก ซึ่งเป็นแบบ กึ่งบอกต่อ กึ่งสั่งสอนอบรม ให้ลูกเป็นคนดี โดยไม่บอกว่ากำลังสอน และใช้วิธี "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น"มากกว่าที่จะ"พูดให้ฟัง" อิ๊แม่สอนว่า

"กิ๋นหื้อปอต๊อง หย้องหื้อปอตั๋ว" ความหมายก็คือ สอนให้เรานุ่งเจียมห่มเจียม กินอยู่ให้รู้ประมาณและความพอดี

"กิ๋นเข้าหื้อไว้ต่าน้ำ" ความหมายคือ กินข้าวให้พอดี ๆ เหลือพื้นที่ในท้องสำหรับน้ำด้วย เป็นคำสอนให้รู้จักแบ่งสัดส่วนของการกระทำอะไรก็ตามให้พอดี ๆ

"ยามป้อแม่มี กิ๋นขว้างโบ้ะขว้างบ้ะ กันป้อแม่ต๋ายละ เป๋นบ่ะห่อยนอยจา" หมายความว่า ตอนที่พ่อแม่ยังอยู่ก็กินทิ้งกินขว้าง แต่พอพ่อแม่เสียชีวิตแล้วนั่นแหละถึงค่อยรู้สำนึก แต่ถึงตอนนั้น ทรัพย์สินเงินทองก็กระสานซ่านเซ็น ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เหมือน"บ่ะห่อยนอยจา"(มะระขี้นก)

“กำเข้าหู จะไปฟั่งถูออกปาก จักยากใจ๋ปายลูน "ความหมายคือ เมื่อเราได้ยินได้ฟังอะไรมา ให้กลั่นกรองให้ดีก่อนจะตอบโต้หรือเอาไปบอกต่อคนอื่น ไม่เช่นนั้น อาจจะมีผลกระทบตามมา สร้างความเสียหายให้ผู้อื่น และทำให้เราต้องลำบากใจ
"กำติเตียนสำเนียงจ่มส้าม ย่อมจะมีมากู้ทิศ" ความหมายคือ คำติฉินนินทานั้นเป็นเรื่องธรรมดาโลก ย่อมจะมีมาจากทั่วทุกสารทิศ เพราะฉะนั้นไม่ควรถือสาใส่ใจ

“กำจ่มกำด่านั้นเป๋นกำดี ก๋อนฟังบ่ถี่มันตึงบ่ม่วนหู" "กำจ่มกำด่า" ความหมายคือคำบ่นคำว่ากล่าวของคนแก่อาจจะฟังไม่เสนาะหูนัก แต่ฟังให้ดีก็ล้วนเป็นข้อคิดที่ดีทั้งนั้น



ลอยกระทง เมืองแป้


     ใกล้จะเข้าเทศกาลลอยกระทงแล้ว ผู้คนต่างตื่นเต้นและพูดคุยกันไปต่างๆนานาเกี่ยวกับงานลอยกระทงที่จะมีขึ้น ซึ่งวันลอยกระทงตรงกับวันขึ้น 15 คำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน(ปีนี้ ตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายนพ.ศ.2561) ตามปฏิทินสุริยคติ ซึ่งก่อนถึงวันลอยกระทงเราจะตัดต้นกล้วยเพื่อทำกระทงกัน โดยจะตัดต้นกล้วยเป็นแว่นๆหนาประมาณ 2-3 นิ้ว และนำใบตองมาทำพับเป็นกลีบๆติดรอบกระทงประดับด้วยดอกไม้ให้สวยงาม เพื่อนำไปลอยในแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด และเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

     ซึ่งประเพณีการลอยกระทงเป็นขนบธรรมเนียมเพื่อความบันเทิงเริงใจ ผู้คนต่างนัดพบปะสังสรรคกัน ทั่วทุกแห่งจะเปิดเพลงลอยกระทงเพื่อฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน โดยเพลงรำวงวันลอยกระทงแต่งโดยครูแก้ว อัจฉริยกุล ผู้ให้ทำนองคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์ ซึ่งครูเอื้อได้แต่งเพลงนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2498 ขณะที่ได้ไปบรรเลงเพลงที่บริเวณคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผู้ขอเพลงจากครูเอื้อ ครูเอื้อจึงนั่งแต่งเพลงนี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงจึงเกิดเป็นเพลง “รำวงลอยกระทง” มีเนื้อร้องว่า “วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ”

     สำหรับชาวล้านนานั้นในคืนวันลอยกระทงจะนิยมจุดผางประทีสเป็นพุทธบูชา สืบเนื่องมาจากตำนานพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ได้ถือกำเนิดจากแม่กาเผือก วันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองของแม่กาเผือกถูกพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ มีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไข่ไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เป็นเพศชาย และได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้าองค์ เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกัน จึงไต่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าองค์จึงสงสัยว่า แม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐาน จึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงหากคิดถึงแม่ ให้นำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกาจุดเป็นประทีปบูชาในวันยี่เป็ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายประทีป ตีนกา จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์

     เทศกาลลอยกระทงเป็นขนบธรรมเนียมอันดีงาม เป็นการขอขมาที่เรามนุษย์ทั้งหลายได้ล่วงเกินต่อแม่น้ำคงคา และมีความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นประเพณีอันดีงามของคนไทยที่ต่างชาตินิยมชมชม เราควรหวงแหนและประพฤติปฎิบัติรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามสืบต่อไป........

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สโมสรโรตารีแพร่จัดพิธีมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สโมสรโรตารีแพร่จัดพิธีมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แก่ผู้พิการในพื้นที่จังหวัดแพร่
 
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้(6พ.ย.61) ที่ศาลาประชาคมจังหวัดแพร่ ทางนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายบุญทอง ปัญญาสว่างจิตร นายกสโมสรโรตารีแพร่ ได้ร่วมกันมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
ซึ่งทางสโมสรโรตารีแพร่ ร่วมกับสโมสรโรตารีอุตรดิตถ์ มูลนิธิคนพิการจังหวัดแพร่ เหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์เชียงใหม่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับรถเข็นคนพิการ และอุปกรณ์ต่างๆ จากองค์กร Joni and Friends wheels for the world โดยมอบรถเข็นคนพิการ จำนวน 133 คัน และอุปกรณ์ต่างๆ อีก 137 รายการ มูลค่ารวม 4,370,900 บาท แก่คนพิการจากอำเภอเมืองแพร่ อำเภอสูงเม่น อำเภอวังชิ้น อำเภอลอง อำเภอสอง อำเภอร้องกวาง และอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ เพื่อให้ผู้พิการในจังหวัดแพร่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีกำลังใจต่อสู้ชีวิต เพื่อตัวเองและครอบครัว และได้รับโอกาสในการฝึกอาสาสมัครผู้พิการให้ได้รับความรู้ในการดูแลและซ่อม ตลอดจนปรับรถเข็นให้แก่ผู้พิการในอำเภอต่างๆ โดยการปรับอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสภาพของเด็กพิการพัฒนาการช้าและผู้พิการรวมทั้งฝึกการใช้อุปกรณ์สำหรับผู้ได้รับอุปกรณ์
 
พร้อมกันนี้ทางนางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่มในนามเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ได้มอบเงินสนับสนุนมูลนิธิคนพิการจังหวัดแพร่ จำนวน 50,000 บาท เพื่อให้ทางมูลนิธิได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อคนพิการในพื้นที่จังหวัดแพร่ต่อไป /.
 
ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว /พิมพ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

เทศบาลเมืองแพร่ สืบสานประเพณียี่เป็ง “จุดผางปะตี้ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือก” ประจำปี ๒๕๖๑ ๒๑ - ๒๒ พฤศจิกายน นี้



เทศบาลเมืองแพร่ สืบสานประเพณียี่เป็ง

“จุดผางปะตี้ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือก” ประจำปี ๒๕๖๑

๒๑ - ๒๒ พฤศจิกายน นี้

เทศบาลเมืองแพร่ กำหนดจัดงานประเพณีลอยกระทง“จุดผางปะตี้ปตี๋นก๋าปูจาแม่ก๋าเผือก” ประจำปี ๒๕๖๑ ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ กาดสามวัย และ สนามหลวงจังหวัดแพร่ ( สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติร.๙ ) เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงามของท้องถิ่น

นายพัฒนพงษ์ พงษ์นวล รองนายกเทศมนตรี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ เผยว่า เทศบาลเมืองแพร่กำหนดจัดงานประเพณียี่เป็ง หรือ ประเพณีลอยกระทง “จุดผางปะตี้ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือก” ประจำปี ๒๕๖๑ ระหว่างวันที่ ๒๑ -๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ กาดสามวัย และ สนามหลวงจังหวัดแพร่ ( สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ ) เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น กิจกรรมประกอบด้วย พิธีสืบชะตาแม่น้ำยม การประกวดหนูน้อยนพมาศ การแสดงศิลปวัฒนธรรมของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองแพร่ การประกวดโคมลอยตามประเพณีโบราณ การประกวดกระทงฝีมือ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา การประกวดบอกไฟดอก ประเภทขี้ขาง การประกวดเต้นบาสโลป การประกวดนางนพมาศ และ การแสดงของศิลปินนักร้อง จ่อย ไมค์ทองคำ เจ้าของผลงานเพลง “กระเป๋าสมปอง” พร้อมชมขบวนแห่ที่มีความสวยงามที่แสดงถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่น รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของจังหวัดแพร่ โดยเทศบาลเมืองแพร่ ได้จัดสถานที่ลอยกระทงไว้ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าน้ำเชตวัน , ท่าน้ำศรีชุม และบริเวณคูเมืองน้ำคือ

















กำหนดการจัดงาน

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๖๑

ภาคเช้า

เวลา ๐๙.๐๐ น. - พิธีสืบชะตาแม่น้ำยม ณ บริเวณท่าน้ำเชตวัน

ภาคค่ำ

เวลา ๑๙.๐๐ น. -พิธีเปิดงานประเพณีลอยกระทง“จุดผางปะตี้ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือก ”

โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานในพิธี

-การแสดงศิลปวัฒนธรรมของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองแพร่

ชุดการแสดง“ฟ้อนก๋ายลาย”และชุดการ“ฟ้อนสักการะปูจาพระแม่คงคา”

เวลา ๑๙.๓๐ น. -การประกวดหนูน้อยนพมาศ ณ บริเวณกาดสามวัย

เวลา ๒๑.๓๐ น. -ฟังเพลงจากศิลปิน จ่อย ไมค์ทองคำเจ้าของผลงานเพลง

“กระเป๋าสมปอง” ณ บริเวณกาดสามวัย

เวลา ๒๓.๐๐น. - เสร็จกิจกรรม

วันศุกรที่ ๒๒ พ.ย. ๒๕๖๐

ภาคเช้า

เวลา ๐๙.๐๐ น. –การประกวดโคมลอย ณ บริเวณสนามหลวง จังหวัดแพร่

(สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙)

-การประกวดกระทงฝีมือ ๓ ระดับ ในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา

และระดับอาชีวศึกษา ณ บริเวณสนามหลวงจังหวัดแพร่

(สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙)

ภาคค่ำ

เวลา ๑๘.๐๐ น. -ชมขบวนแห่ประเพณียี่เป็งที่มีความสวยงามที่แสดงถึงเอกลักษณ์

อันโดดเด่นและศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของจังหวัดแพร่

เคลื่อนขบวนออกจากโรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่สิ้นสุดที่บริเวณสี่แยกน้ำพุ

เวลา ๑๙.๐๐ น. -การประกวดบอกไฟดอก ประเภทขี้ขาง

ณ บริเวณสนามหลวงจังหวัดแพร่(สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙)

เวลา ๑๙.๓๐ น. - การประกวดเต้นบาสโลป ณ บริเวณกาดสามวัย

เวลา ๒๑.๐๐ น. -ชมการประกวดนางนพมาศ ประจำปี 2561

ณ บริเวณกาดสามวัย

เวลา ๒๓.๐๐ น. - เสร็จกิจกรรม

งานประชาสัมพันธ์ / ข่าว / พิมพ์

***********************************