วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

น้ำจ้อม บ้านน้อยในป่าใหญ่สวรรค์แห่งธรรมชาติ ตอนที่ 1



     บ้านน้ำจ้อม ชื่อนี้ผมรู้จักจาก ลุงเสรี ชมพูมิ่ง นักเขียนผู้มากความสามารถชาวแพร่เคยเขียนลงในนิตยสาร ต่วย’ตูน ที่เขียนถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ที่เกี่ยวกับป่าเป็นตอนๆ และด้วยความชื่นชอบในเรื่องราวของป่าเขา ผมจึงพยายามหาโอกาสพูดคุยกับลุงเสรี หลายต่อหลายครั้งก็จะรบเร้าให้เล่าเรื่องราวต่างๆ ในสมัยยังหนุ่มๆ ที่ประกอบอาชีพทำไม้ ซึ่งต้องอยู่ในป่าเป็นส่วนใหญ่ บ้านน้ำจ้อม เป็นหมู่บ้านที่ลุงเสรีเล่าให้ฟังว่าในอดีตนั้นการเดินทางสัญจรลำบากมาก หมู่บ้านน้ำจ้อมเป็นหมู่บ้านชุมทางกลางขุนเขาที่คนทำไม้เวลาออกจากป่าต้องอาศัยแวะพักค้างแรมก่อนที่จะเดินทางเข้าในตัวเมือง จึงไม่ได้สนใจมากสักเท่าไรเพียงจดจำว่าเป็นเส้นทางเดียวกับบ้านน้ำกลาย แต่เมื่อไม่นานมานี้ (11 ต.ค.2560) ได้มีโอกาสติดสอยห้อยตาม ทีมข่าวหนังสือพิมพ์เสียงแพร่ไปทำข่าวส้มโอกลิ่นมะพร้าวใบเตย ทำให้ต้องเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ว่า “บ้านน้ำจ้อม” คือ บ้านน้อยในป่าใหญ่สวรรค์แห่งธรรมชาติของเมืองแพร่
      

     บ้านน้ำจ้อม เป็นส่วนหนึ่งของตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ การเดินทางนั้นให้มาทางน้ำตกเชิงทอง (ห้วยมุน) พอมาถึงน้ำตกให้ข้ามสะพานด้านขวามือก่อนถึงน้ำตก แล้วขับตามเส้นทางไปเรื่อยๆ ถนนลาดยางตลอดเส้นทาง ด้านขวาเป็นภูเขา ส่วนด้านซ้ายจะเป็นเหว ถนนจะลดเลี้ยวไปตามภูเขา บรรยากาศรอบข้างเต็มไปด้วยป่าไม้สีเขียวขจี ซึ่งในช่วงที่เข้าไปมีละอองฝนโปรยปรายมาเป็นช่วงๆ ขับรถมาได้สักระยะหนึ่งจะผ่านโรงเรียนบ้านน้ำกลายก็จะพบทางแยกที่มีรูปปั้นเตาปูลูสัญลักษณ์บ้านนาตองยืนกางแขนรอรับผู้มาเยือน ให้เลี้ยวขวาเป็นเส้นทางลงไปบ้านน้ำจ้อม (ซึ่งเลี้ยวขวาก็จะเป็นเส้นทางขึ้นไปบ้านนาตอง) แนะนำให้ปิดแอร์แล้วเปิดกระจกรถ เพื่อสูดไอกลิ่นธรรมชาติรับละอองน้ำให้ปะทะใบหน้า จะรู้สึกเย็นสบายและสดชื่น ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางก็เหมือนจะหายไปเสียเฉยๆ ตามเส้นทางนั้นอาจมีสายน้ำไหลผ่านถนนลงจากภูเขาสู่ลำธารน้ำเบื้องล่าง ทำให้ได้ยินเสียงน้ำไหลตลอดการเดินทาง และถ้าหากโชคดีในช่วงนี้อาจะได้พบเห็นปูเดินลงจากภูเขาข้ามถนนลงมายังลำธาร บางที่อาจมาเป็นคู่ๆ ปูชนิดนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ปูก่ำ” เป็นปูภูเขาชนิดหนึ่ง นิยมเอามาตำเป็นน้ำพริกปูกำ จี่ไฟ (ปิ้ง) แล้วเอาข้าวเหนียวเข้าจั้มก็ได้ ปูก่ำในฤดูนี้จะมีรสชาติหวานและมันเป็นพิเศษ พอเขียนถึงเรื่องของกินทีไรยาวออกนอกเรื่องทุกที ขอวกกลับมายังเส้นทางบ้านน้ำจ้อมอีกที ให้ขับตามเส้นทางไป พอขึ้นเนินจะพบทางเข้าหมู่บ้าน น้ำจ้อม หมู่ที่ 8 ให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งเส้นทางในหมู่บ้านก็มีถนนหลักใช้สัญจรเข้าออกเพียงเส้นทางเดียว ถ้าจะมีซอยแยกก็เป็นซอยเข้าบ้านของชาวบ้านและบ้านเรือนส่วนหนึ่งก็ตั้งเรียงรายกันเป็นระยะๆ ทั้งหมดเป็นบ้านไม้แบบยกสูง มีใต้ถุน มีแคร่สำหรับนั่งเล่น บริเวณรอบๆบ้านก็จะมีพืชผักสวนครัวและไม้ยืนต้นปลูกสลับกันเต็มบริเวณอาณาเขต และที่น่าทึ่งคือไม่มีกำแพง หรือรั้ว เลยสักบ้าน เป็ด ไก่ นก หนู สุนัขเดินกันพลุกพล่าน ช่างเป็นบรรยากาศที่หาดูได้ยากมาก กับวิถีชีวิต “บ้านน้ำจ้อม” อ่านต่อฉบับหน้า.......
โดย คมสัน  หน่อคำ
083-7373307

วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แก๋งโฮ๊ะ การรวมตัวของความอร่อย

แกงโฮ๊ะ

     ในช่วงเทศกาลออกพรรษาที่ผ่านมาหลายบ้านได้ทำอาหารไปถวายพระที่วัด ทำให้พระเณรมีอาหารมากเกินจะฉันท์หมดในมื้อเดียว ทำให้เหลืออาหารจำนวนมากและอาหารแต่ละอย่างล้วนเป็นอาหารอย่างดี เมื่อทิ้งไว้นานๆก็จะบูด ครั้นจะนำไปทิ้งก็น่าเสียดาย ขโยมวัด(เด็กวัด)จึงนำมาทำแกงโฮ๊ะ เพื่อเก็บอาหารไว้กินหลายๆมื้อ โดยนำอาหารที่ได้มากทั้งหมดเทรวมกันในกะทะ ไม่ว่าจะเป็นลาบ ห่อนึ่ง ไข่พะโล้ หมูปิ้ง หมูทอด แกงอ่อม ลาบ แคบหมู และแกงกะทิต่างๆ จากนั้นเทน้ำทิ้งแล้วเติมน้ำมันเคียวจนแห้ง ใส่วุ้นเส้น หน่อไม้ดอง ใบมะกรูดฉีก ใบโกสน เติมเกลือ น้ำปลา พริกสด หรือพริกขี้หนู ปรุงรสตามชอบ แล้วจึงใส่ผงกะหรี่เพื่อกลบกลิ่นบูด เชื่อว่าแกงโฮ๊ะน่าจะเกิดจากวัดในพม่าเนื่องจากแกงโฮ๊ะต้องใส่แกงฮังเลซึ่งมีต้องกำเนิดจากพม่า แกงโฮ๊ะจะอร่อยนั้นจะต้องใส่แกงฮังเลเยอะๆ ซึ่งแกงฮังเลจะมีหมูสามชั้นเป็นส่วนประกอบหลัก เมื่อคนแกงโฮ๊ะเสร็จขโยมวัดทั้งหลายก็จะตักเก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อถวายพระสงฆ์และสามเณรในวันถัดไป ส่วนที่เหลือก็จำหน่ายจ่ายแจกกัน ชาวบ้านที่มาเอาแกงโฮ๊ะจากวัดกลับไปกินที่บ้านคนละถุงสองถุง โดยจะนำเงินถวายวัดเท่าไรก็ได้เรียกติดปากว่าปูจาแก๋งโฮ๊ะ ส่วนเงินที่ได้นั้นขโยมวัดก็จะนำมาใช้ในกิจการของวัด เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก็ส เป็นต้น สำหรับแกงโฮ๊ะที่ปูจามาจากวัดนั้นจะอร่อยกว่าทำกินเองที่บ้านมากเพราะกับข้าวที่นำมาทำแกงโฮ๊ะล้วนเป็นอาหารอย่างดี ทำให้เวลาตักแกงโฮ๊ะจะเหมือนการเสี่ยงดวงว่าจะตักได้หมู ไข่ หรือมะเขือ และมรรยาทในการกินในจะต้องไม่เอาช้อนควานหาไซ้กินแต่ของที่ชอบเพื่ออย่าเดียว เพราะอาจจะทำให้คนในวงข้าวไม่พอใจได้ อาจถูกแซวว่าจ้อน(ช้อน)ใบนี้หมานมะใจ๋ตักได้แต่จิ้น ปัจจุบันแกงโฮ๊ะเป็นอาหารที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทำให้เมื่อเวลาทำอาหารเยอะและมากเกินไปก็จำนำอาหารที่เหลือนั้นใส่ช่องฟรีสในตู้เย็น เก็บสะลมไปเรื่อยๆจนได้ปริมาณมากพอ ก็จะทำแกงฮังเลหรือหาซื้อเพิ่ม โดยจะเติมผักสดต่างๆแล้วนำมาทำแก๋งโฮ๊ะ ด้วยวัสถุดิบที่นำมาทำแกงโฮ๊ะนั้นมีมากมายหลากหลายจากรสชาติอาหารที่นำมาปรุง จึงทำให้อาหารแก๋งโฮ๊ะเป็นหนึ่งที่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะจึงเป็นการรวมตัวที่ลงตัว "แก๋งโฮ๊ะ การรวมตัวของความอร่อย"

ที่มาข้อมูล ศูนย์วัฒนธรรมล้านนาและขอบคุณภาพจาก Google

คมสัน   หน่อคำ
083-7373307
เขียน