วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ตำนาน และ ประวัติ “พระธาตุช่อแฮ”

 

พระธาตุช่อแฮ  จ.แพร่
เรียบเรียงโดย คมสัน หน่อคำ

พระธาตุ คือ ??? หลายท่านคงทราบว่า ธาตุ คือ ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคน (ทั้งส่วนที่เป็นกระดูกและอวัยวะภายในอื่น)ที่เหลือจากการถูกเผา ที่เห็นชัดก็คือกระดูกของคนที่เหลือจากการถูกเผาแล้ว ซึ่ง พระธาตุมีความหมายเหมือนกับคำว่า ธาตุแต่มีข้อพิเศษออกไปก็คือเป็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคนที่บรรลุธรรม มีจิตใจบริสุทธิ์หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ซึ่งเหลือจากการถูกเผา บางทีเรียกว่า พระอรหันตธาตุพระสาวก สาวิกาของพระพุทธเจ้า(หมายรวมถึง พระปัจเจกพุทธเจ้า และอุบาสก อุบาสิกาผู้เป็นอรหันต์ด้วย) 

ส่วน พระบรมสารีริกธาตุหมายถึง พระธาตุที่เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปูชนียธาตุอังทรงคุณค่าอย่างสูงสุดในโลกสำหรับพุทธศาสนิกชน เกิดจากการถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้าภายหลังจากที่ได้ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน ส่วนพระธาตุที่เป็นของพระอรหันตสาวกจะเรียกว่า พระธาตุหรือพระอรหันตสาวกธาตุ

จากตำนานกล่าวว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเล็งเห็นว่า พระองค์มีเวลาปฏิบัติพุทธกิจเพียง ๔๕ ปี ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ศาสนาของพระองค์ยังไม่แพร่หลายและหมู่สัตว์ทั้งหลายเกิดมาไม่ทันสมัยพระองค์มีมากนัก หากได้อัฐิธาตุของพระองค์ไปอุปัฏฐากบูชา จะได้บุญกุศลเป็นอันมากจึงทรงอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุ ของพระองค์แตกย่อยออกเป็น ๓ สัณฐาน ยกเว้นธาตุทั้ง ๗ ประการ คือกระดูกหน้าผาก ๑ (พระนลาฏ) พระเขี้ยวแก้ว ๔ และกระดูกไหปลาร้า ๒ (พระรากขวัญ) นอกจากนั้นให้กระจายไปทั่วทุกสารทิศเพื่อยังประโยชน์แก่หมู่สัตว์โลกต่อไป 

จังหวัดแพร่ก็มีพระธาตุช่อแฮ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดสำหรับคนที่เกิดปีเสือ (ปีขาล) ที่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้และเคารพบูชา โดยตำนานกล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าครั้งเมื่อเสด็จมาถึงเมืองพล (เมืองแพร่)ได้ประทับ ณ ดอยโกสัยธชัคคะบรรพต ขณะนั้นมีหัวหน้าชาวลั๊วะนามว่า ขุนลั๊วะอ้ายค้อม (อ่านว่า "ก้อม" ) ได้มากราบไหว้พระพุทธเจ้าที่บนดอยนี้ พระพุทธเจ้าได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ขุนลั๊วะอ้ายค้อมเห็น เนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่ร่มรื่น เหมาะสมที่จะตั้งเป็นสถานที่ไว้ในพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุที่ระลึกโดยเอาเส้นพระเกศาเส้นหนึ่งให้แก่ขุนลั๊วะอ้ายก้อมไว้ มีรับสั่งให้เอาเส้นพระเกศานี้ไปไว้ในถ้ำที่อยู่ใกล้บริเวณนี้ และพระองค์ทรงมีรับสั่งอีกว่าเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ให้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุพระศอกข้างซ้ายมาบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้ และต่อไปภายหน้าจะได้ชื่อว่าเมืองแพร่ โดยเป็นเมืองใหญ่ที่ซึ่งพระองค์เคยเสด็จประทับนั่ง ณ ใต้ต้นหมากนี้ เมื่อทรงทำนายแล้วก็เสด็จจาริกไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ทรงเห็นว่าควรจะเป็นที่ตั้งพระธาตุได้ จากนั้นจึงเสด็จกลับไปยังพระเชตวันอารามและหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี ตรงกับสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์ทั้งปวงได้ร่วมกันอธิษฐานว่าเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น เคยเสด็จไปยังถิ่นฐานบ้านเมืองหลายแห่ง แล้วทรงหมายสถานที่ที่ควรจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 

จึงขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ได้บรรจุในโกศที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตอยู่ในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงหมายไว้นั้นเถิด เมื่ออธิษฐานแล้วพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายก็เสด็จออกจากโกศโดยทางอากาศไปตั้งอยู่ที่แห่งนั้น ๆ ทุกแห่ง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุเหลืออยู่ พระอรหันต์ทั้งปวงก็อัญเชิญไปบรรจุในพระเจดีย์ 84,000 องค์นั้น แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป จนกว่าจะหมดอายุแห่พระพุทธศาสนา 5,000 พระวัสสา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2523

สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งทอจากสิบสองปันนาที่ชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ไต้ (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปีซึ่งถือว่าการจัดงานไหว้พระธาตุช่อแฮ ยึดถือตามจันทรคติเป็นหลัก และขอเชิญเที่ยว
 
งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2558” ในระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 4 มีนาคม 2558 ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อ.เมือง จ.แพร่ ชมขบวนแห่เครื่องสักการะ ขบวนช้างเจ้าหลวง ขบวนแห่จาก 8 อำเภอของจังหวัดแพร่ ชมการแสดงทางวัฒนธรรม มหรสพสมโภช สวนสนุก การแสดงดนตรีศิลปินดังมากมาย เลือกซื้อสินค้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ชุมชน และสินค้าราคาถูกจากโรงงาน ไหว้พระ ขอพร เสริมสิริมงคล ร่วมทำบุญตักบาตร ทำบุญบูรณะศาลาบาตร และเวียนเทียนวันมาฆบูชาในคืนเป็งปุ๊ด